‘ฟักทอง’ราคาตก พ่อค้ากดเหลือ2บ.


เพิ่มเพื่อน    

  เกษตรกรชาวไร่ฟักทองเดือดร้อนถูกพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบกดราคาเหลือกิโลกรัมละ 2 บาท ศุภชัย  โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ยื่นมือเข้าแทรกแซงรับซื้อจากกลุ่มเกษตรกรประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จากผลผลิตทั้งหมดในราคากิโลกรัมละ 5 บาท

    ณ ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอบ้านแพง จ.นครพนม นายชยณัฐ ประทุมมาตย์ ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทนนายอำเภอบ้านแพง เป็นประธานการประชุมปรึกษาหารือเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง กรณีราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายสุพรรณ โกศล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านแพง, นายชิงชัย อภัยโส กำนัน ต.บ้านแพง และตัวแทนเกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง จำนวน 14 หมู่บ้าน โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง, นางสาวกัญณฐา อภินันท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม, นายวินัย คงยืน หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต พร้อมคณะเข้าร่วมรับทราบปัญหาดังกล่าว
    นายชยณัฐเปิดเผยต่อที่ประชุมว่า ด้วยทางอำเภอบ้านแพงได้รับรายงานปัญหาความเดือดร้อนจากเกษตรกรในพื้นที่ ว่าในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปี เป็นฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลบ้านแพง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกฟักทอง ซึ่งจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันประกอบกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (covid-19) ทำให้ราคาซื้อขายฟักทองมีอัตราค่อนข้างต่ำกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก จึงได้เชิญส่วนราชการมาประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน
    นางศรีตระกูล ภูฉายยา อายุ 59 ปี ราษฎรหมู่ 6 บ้านนายาง ต.บ้านแพง กล่าวกับผู้ร่วมเข้าประชุมว่า ได้ปลูกฟักทองบนเนื้อที่ 14 ไร่ มีค่าใช้จ่ายเช่นจ้างไถ 2 ครั้ง ครั้งละ 700 บาท/ไร่ ค่าเมล็ดพันธุ์กระป๋องละ 450 บาท จำนวน 17 กระป๋อง ต้องใช้ปุ๋ยไร่ละกระสอบครึ่ง ราคากระสอบละ 1,000 บาท ยังไม่รวมค่าแรงคนงานวันละ 300 บาท เฉลี่ยตกไร่ละ 5,000-6,000 บาท แต่ได้ผลผลิตเพียง 7 ไร่ ปรากฏว่าปีนี้มีพ่อค้าคนกลางมารับในราคาเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท ที่สำคัญถูกพ่อค้าเอาเปรียบด้วยการคัดเกรด ด้วยการคัดของดีเป็นของเสีย และขอซื้อในราคาถูก ซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่านมา มีราคากิโลกรัมละ 11 บาท จึงวิงวอนให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยื่นมือเข้ามาช่วยพยุงราคาให้ได้ในกิโลกรัมละ 5-6 บาท ก็พอจะคืนทุนได้
    ด้านนายสุพรรณ โกศล นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ้านแพง เปิดเผยว่า ตนเป็นเกษตรกรในระดับต้นๆ ที่นำร่องการปลูกฟักทองในพื้นที่อำเภอบ้านแพง ช่วงนั้นประสานกับทางตลาดไทและหอการค้าไทยในการขอทุนมาทำการเกษตร ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการที่เกษตรกรไม่รวมกลุ่มกันต่างคนต่างทำ ถ้าราคาฟักทองมีราคาก็ไม่เป็นไร แต่ราคาตกถึงจะมารวมตัวกันเรียกร้อง ตนจึงขอแนะนำให้เกษตรกรรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และศึกษาข้อดี-ข้อเสียในการตั้งกลุ่ม เพราะในพื้นที่ไม่ใช่จะมีแค่ฟักทองเท่านั้น ยังมีมะเขือเทศ ข้าวโพดหวาน พริก ฯลฯ เป็นต้น แต่ในฐานะที่ตนเป็นนายกเทศมนตรี ก็ใคร่อยากให้ภาครัฐและเอกชนช่วยเหลือ เนื่องจากมีพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ร่วมกับต่างจังหวัด กดราคาฟักทองจนเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท แต่นำไปขายในราคาแพง สร้างรายได้ให้เฉพาะตนเอง แต่เกษตรกรขาดทุนย่อยยับ
    “ฟักทองกิโลกรัมละ 2 บาท 2 ตัน 2,000 กก. กลุ่มผู้ปลูกฟักทองได้เงินแค่ 4,000 บาทเท่านั้น อีกทั้งเอาเปรียบคัดเกรดจนแทบไม่เหลือของดี ต่างจากปีที่ผ่านมาซื้อโดยคละเกรด ราคาเคยพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 25 บาท และไม่เคยประสบปัญหาหนักเช่นนี้มาก่อน อีกอย่างฟักทองบ้านแพงได้รับการการันตีจากผู้มารับซื้อว่ามีรสชาติกรอบหวานและเหนียว เพราะปลูกบนหาดดอนแพงที่มีการสะสมด้วยตะกอนดินแม่น้ำโขง มีแร่ธาตุธรรมชาติที่พืชต้องการจำนวนมหาศาล” นายสุพรรณกล่าว
    ด้านนายศุภชัย โพธิ์สุ หรือครูแก้ว หลังรับทราบปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกฟักทองแล้ว เปิดเผยว่า เพิ่งไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดหวานที่อำเภอโพนสวรรค์และท่าอุเทนมา โดยที่นั่นได้ตั้งกองทุนสำหรับรับซื้อจำนวน 400,000 บาท โดยขอความร่วมมือจาก ส.อบจ.นครพนม ทั้ง 30 เขต ช่วยกันคนละตันสองตัน นำไปจำหน่ายในพื้นที่ของตน ในราคาตันละ 8,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากนายก อบจ. 1 แสน, ตนเอง 1 แสน และภาคเอกชนสมทบอีก 2 แสน และไม่มีการสูญหาย เพราะเงินยังคงเหลือคือเก่า เพื่อเก็บไว้ใช้พยุงราคาพืชผลเกษตรชนิดอื่นต่อไป
    “เมื่อผมทราบปัญหาแล้วก็จะหาทุนจำนวน 100,000 บาท เป็นกองทุนเบื้องต้นเพื่อเข้าแทรกแซงรับซื้อฟักทองจากกลุ่มเกษตรกรประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์จากผลผลิตทั้งหมดในราคากิโลกรัมละ 5 บาท และหาตลาดมารับซื้อช่วยกัน หากราคาขยับขึ้นมาในระดับเกษตรกรยอมรับราคาได้ ก็จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาดต่อไป จึงขอมอบภารกิจนี้ให้นายกเทศมนตรีร่วมกับกำนันผู้ใหญ่บ้านหาช่องทางช่วยเหลือในระยะยาว โดยจะมีการแปรรูปเป็นน้ำฟักทอง หรือขนมกรุบกรอบวางจำหน่ายทั่วๆ ไปด้วย” รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"