ถอดสมณศักดิ์7รูป สึก'อดีตพระพรหมสิทธิ'นอนคุก


เพิ่มเพื่อน    

   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ถอดถอนสมณศักดิ์ 7 พระเถระ โดนคดีทุจริตเงินทอนวัด มติ "มส." รับทราบปลด "พระพรหมดิลก-พระพรหมสิทธิ-พระพรหมเมธี" พ้นกรรมการ มส.  พร้อมตั้งรักษาการตำแหน่งทางปกครองแทนพระผู้ใหญ่ 3 รูป "เจ้าคุณธงชัย" มอบตัวกองปราบฯ ตร.ส่งฝากขังค้านประกัน "ศาล" อนุญาต "อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ" โดนจับสึกเปลี่ยนนุ่งชุดขาวนอนคุกทันที "วิษณุ" ชี้ต้องแยกคดีทางโลกกับทางธรรม หากพ้นผิดกลับมาครองผ้าเหลืองได้ "พงศ์พร" ลุยเปรตโกงเงินต่อ  
    เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 15 ข เผยแพร่ประกาศเรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์ ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ด้วยปรากฏว่ามีกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่า กระทําการทุจริตและถูกดําเนินคดีอาญาในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต
    อาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ตามความในมาตรา 5 ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอนสมณศักดิ์ จํานวน 7 รูป 
    ดังนี้ 1.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร 2.พระพรหมเมธี (จํานงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม 3.พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา 4.พระราชอุปเสณาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระเมธีสุทธิกร) (สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 5.พระราชกิจจาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระวิจิตรธรรมาภรณ์) (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 6.พระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา 7.พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คํามา) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
    ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ยกเว้นลําดับที่ 3 5 6 และ 7 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ถูกจับกุมและสละสมณเพศ ผู้รับสนองพระราชโองการ  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
    ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีการประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ครั้งที่ 15/2561 มีสมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ  เป็นประธานประชุม เนื่องจากสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  ทรงติดภารกิจ ร่วมกับกรรมการมหาเถรสมาคมท่านอื่นอีก 14 รูป และ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยพระพรหมเมธาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดบูรณศิริ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
    นายสิปป์บวร แก้วงาม ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม และรองโฆษกสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมส.ได้รับทราบประกาศราชกิจจานุเบกษา ในการที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ถอดถอนสมณศักดิ์จำนวน 7 รูป ได้แก่ 1.พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 2.พระพรหมเมธี (จำนง เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศารามฯ 3.พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา 4.พระราชอุปเสนาภรณ์ (สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 5.พระราชกิจจาภรณ์ (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร 6.พระอรรถกิจโสภณ(สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา 7.พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คำมา) วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
    "ที่ประชุมยังรับทราบถึงพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้กรรมการ มส.ทั้ง 3 รูป ประกอบด้วย พระพรหมดิลก, พระพรหมสิทธิ, พระพรหมเมธี พ้นจากตำแหน่งกรรมการ มส. รวมทั้งยังมีมติให้พระพรหมสิทธิ พ้นจากตำแหน่งประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ" นายสิปป์บวรกล่าว
เจ้าคุณธงชัยมอบตัว 
    รองโฆษก พศ.กล่าวว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการ มส. ยังได้เสนอแต่งตั้งพระเทพวิสุทธิโมลี (พรหมา สปฺปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส อายุ 76 พรรษา 56 รองเจ้าคณะภาค 10 เป็นรักษาการเจ้าคณะภาค 10 แทนพระพรหมสิทธิ  สำหรับตำแหน่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานครที่ว่างลงนั้น สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการ มส.  ได้แจ้งให้ มส.รับทราบถึงการแต่งตั้งให้พระธรรมสุธี(นรินทร์ นรินฺโท) เจ้าอาวาสวัดหัวลำโพง รองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เป็นรักษาการเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร
    นอกจากนี้ สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้แจ้งให้ มส.ได้รับทราบถึงการแต่งตั้ง พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช  เจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) เป็นรักษาการเจ้าคณะภาค 4-5-6-7 แทนพระพรหมเมธีด้วย
    "เรื่องการแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหารและวัดสามพระยานั้น ขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้ง โดยให้รองเจ้าอาวาสหรือผู้ช่วยเจ้าอาวาส ตามลำดับลงมาปฏิบัติดูแลความเรียบร้อยภายในวัดไปก่อน ซึ่งต้องรอดูการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งต่อไปว่าทางเจ้าคณะปกครองจะเสนอรูปใดมาทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสแทน ส่วนเรื่องของการตั้งกรรมการ มส.ที่ว่างลง ต้องเป็นพระอำนาจของสมเด็จพระสังฆราช จะพระวินิจฉัย" รองโฆษก พศ.กล่าว
    ถามถึงการจับกุมดำเนินคดีพระสงฆ์ รองโฆษก พศ.กล่าวว่า ขอให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่นเดียวกับเรื่องของการลงโทษเจ้าหน้าที่ของ พศ.ที่ทุจริตเงินทอนวัด ตนก็ไม่ทราบ ขอให้เป็นการพิจารณาของผู้บริหาร พศ.ต่อไป
    ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้ามีรายงานว่า พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโน) เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ผู้ต้องหาคดีทุจริตเงินอุดหนุนการศึกษาโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งหลบหนีการจับกุมจะขอเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ทำให้ทางปราบปรามจัดกำลังรอรับมอบตัว อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่สื่อมวลชนรอการเดินทางมาของเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กระทั่งเวลา 12.00 น.ปรากฏว่ามีรถตู้ของกองปราบฯ วิ่งเข้ามา 2 คัน ก่อนจะอ้อมไปด้านหลังอาคาร โดยภายในรถมีพระพรหมสิทธิ อยู่ในรถ ก่อนที่ตำรวจจะพารีบขึ้นอาคารทันที เพื่อหลบผู้สื่อข่าว โดย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) และ พล.ต.ต.ไมตรี ฉิมเฉิด ผู้บังคับการปราบปราม (ผบก.ป.) เข้าร่วมสอบปากคำทันที 
    จากนั้น เวลา 15.15 น. พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวนกองปราบปราม กก.1 บก.ป. ได้นำตัวพระธงชัย สุขโข อายุ 60 ปี เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรืออดีตพระพรหมสิทธิ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตฯ คดีร่วมกันฟอกเงินอุดหนุนโครงการศูนย์กลางเผยแผ่พระพุทธศาสนา และโครงการของสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความมั่นคงฯ ของวัดสระเกศฯ รวม 63,700,000 บาท เดินทางมาที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน ตั้งแต่ 30 พ.ค.-10 มิ.ย.นี้ เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องรอสอบปากคำพยานอีก 20 ปาก และรอผลการตรวจพิมพ์ลายนิ้วมือจากกองทะเบียนประวัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
    คำร้องฝากขังระบุพฤติการณ์สรุปว่า ผู้ต้องหาร่วมกับนายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กับพวกซึ่งเป็นฆราวาสและพระ ในการโอนเงินและซุกซ่อนเงินที่ได้จากการกระทำ ด้วยการโอนเงินที่ได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากทั้ง 2 โครงการจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาวงเวียนโอเดียน ใน 2 บัญชี รวม 32 ครั้ง ให้แก่กลุ่มฆราวาสที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไปโดยทุจริต โดยมีการขอหมายจับจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2561 
ไม่ให้ประกันจับศึก
    ขณะที่ท้ายคำร้องพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการให้ประกันตัวผู้ต้องหาด้วย เนื่องจากมีเอกสารจำนวนมากอยู่ในความครอบครองของผู้ต้องหา เกรงว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน นอกจากนี้ พฤติการณ์ของผู้ต้องหามีการกระทำเป็นขบวนการ มีการแบ่งหน้าที่กันทำ อีกทั้งคดีมีอัตราโทษ จึงเกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาจะหลบหนีด้วย
    ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์พิจารณาคำร้องฝากขัง ซึ่งได้อ่านรายละเอียดให้ผู้ต้องหาและทนายความฟังแล้ว แจ้งให้พนักงานสอบสวน ผู้ร้อง และผู้ต้องหากับทนายความทราบว่า ต้องพิจารณาว่าพฤติการณ์มีความจำเป็นตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 หรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า ทนายความได้แถลงคัดค้านการฝากขัง โดยอ้างว่าจากการนำเสนอข่าวของสื่อต่างๆ ทราบว่าพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ วจึงไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาอีก
    พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชรได้แถลงยืนยันการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังมีเหตุจำเป็นต้องสอบปากคำพยานอีก 20 ปาก ซึ่งเกี่ยวข้องการเส้นทางการเงินและการกระทำผิดของกลุ่มผู้ต้องหา ซึ่งเป็นพระวัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่, ราชบุรี, ขอนแก่น และนครศรีธรรมราช โดยจะเร่งดำเนินให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
    ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นต้องสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องอีก จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วันตามคำร้อง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการฝากขังแล้ว ในเวลา 17.00 น. ขณะที่พระธงชัยถูกควบคุมตัวจากห้องพิจารณาที่ 3 (ห้องเวรชี้) ไปยังห้องควบคุมชั้นล่างของศาล เพื่อรอฟังสั่งขอประกันตัว ซึ่งผู้ต้องหาได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวน 1 ล้านบาท เสนอต่อศาลเพื่อพิจารณาขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฝากขัง ซึ่งมีรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ เป็นผู้พิจารณา
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างการพิจารณาฝากขัง ก็มีเจ้าหน้าที่จาก พศ. มาร่วมฟังการพิจารณาด้วย โดยไม่มีการนำพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่มาเพื่อทำพิธีสึกพระ  โดยเจ้าหน้าที่ พศ.แจ้งว่าเมื่อศาลอนุญาตฝากขังแล้วหากไม่อนุญาตให้พระธงชัย ผู้ต้องหา ประกันตัวระหว่างฝากขังแล้ว กระบวนการก็จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 30 ระบุว่า "เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาลมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น" 
    ต่อมาศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวพระธงชัย ผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ พศ.และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงถอดจีวรผู้ต้องหาเพื่อเปลี่ยนเป็นชุดขาว คุมตัวไปขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างการฝากขัง 12 วันต่อไป
    ทนายความของพระธงชัยกล่าวว่า ในวันที่ 31 พ.ค.นี้ จะเดินทางมายังศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อยื่นอุทธรณ์ขอประกันตัวอีกครั้ง
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 18.30 น. รถเรือนจำได้นำตัวอดีตพระธงชัยออกจากศาลเดินทางไปส่งคุมขัง ปรากฏว่าอดีตพระธงชัยขณะที่นั่งในรถคุมขังของเรือนจำนั้น ได้นั่งลักษณะก้มศีรษะลงต่ำเพื่อหลบผู้สื่อข่าวและช่างภาพที่รอถ่ายภาพด้วย
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับกลุ่มฆราวาส 4 ราย คือ น.ส.ฑัมม์พร นิพนธ์พิทยา มารดาของ ร.ท.ฐิติทัศน์, น.ส.นุชรา สิทธินอก แม่บ้านร่วมรับโอนเงิน 25 ล้านบาท, นายธีระพงษ์ พันธุ์ศรี และนายทวิช สังข์อยู่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ บริษัท ดีดีทวีคูณฯ ที่รับผลิตสื่อให้กับวัดสระเกศฯ ที่ถูกฝากขังพร้อมอดีตพระเถระชั้นผู้ใหญ่ 5 รูป วัดสระเกศฯ และวัดสามพระยา เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น
    วันนี้ศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งเรื่องขอประกันตัวระหว่างการฝากขังออกมาด้วยว่า ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวด้วย กลุ่มฆราวาสจึงต้องถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงต่อไป
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อสังเกตพระสงฆ์ซึ่งถูกดำเนินคดีและถูกถอดสมณศักดิ์สามารถกลับมาบวชเป็นพระได้หรือไม่ว่า การถอดสมณศักดิ์กับการบวชไม่เกี่ยวกัน ต้องแยกจากกัน เพราะความผิดทางโลกเป็นเรื่องหนึ่ง ความผิดทางธรรมเป็นเรื่องหนึ่ง สมมติว่าพระอยู่กับสีกา ถือเป็นความผิดทางธรรม แต่ไม่ผิดทางโลก ส่วนการจะสึกนั้นทางกฎหมายบังคับให้สละสมณเพศ แต่จะด้วยความสมัครใจหรือไม่สมัครใจหรือไม่ ต้องไปว่ากันภายหลัง เมื่อคดีทางโลกจบแล้ว 
    "เรื่องสมณศักดิ์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทาน และสามารถเรียกกลับคืนได้ เรียกว่าถอดถอนสมณศักดิ์ ซึ่งพระบางรูปอาจเจอทุกเรื่อง ยกตัวอย่างพระพิมลธรรม อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพฯ ซึ่งถูกข้อกล่าวหาเสพเมถุน ต่อมากลับมาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ก็โดนทั้งให้สละสมณเพศ ถอดจากสมณศักดิ์ และถูกดำเนินคดีอาญา แต่เมื่อศาลทหารตัดสินว่าไม่ผิด ทุกอย่างก็กลับคืนมาสามารถกลับไปนุ่งครองผ้าเหลืองตามเดิม เนื่องจากยังไม่ได้เปล่งวาจาว่าสึก เมื่อเดินเข้าไปกราบพระในแต่ละวัด แล้วสมเด็จพระวัดต่างๆ รับไหว้ แสดงว่ายังคงยอมรับว่าเป็นพระ จนต่อมาได้ขอพระราชทานสมณศักดิ์คืน เป็นต้น" รองนายกฯกล่าว
ลุยคดีเงินทอนวัด
    ขณะที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เดินทางเข้าพบนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแล พศ. เพื่อรายงานการทำงานของ พศ. และความคืบหน้าการดำเนินการสอบสวนเรื่องการทุจริตเงินทอนวัด ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง
    พ.ต.ท.พงศ์พรกล่าวว่า กรณีพระผู้ใหญ่ถูกดำเนินคดีเรื่องเงินทอนวัด ซึ่งกระทบศรัทธาของประชาชน ทาง พศ.จะทำให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องคดีว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม
    ถามถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะประชุมเรื่องทุจริตเงินทอนวัดล็อตที่ 3 ได้ประสานขอข้อมูลจาก พศ.หรือไม่ พ.ต.ท.พงศ์พรกล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่ถ้าขอมาจะให้ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีหนังสือจาก ป.ป.ช.เพื่อขอพยานหลักฐานมาเป็นประจำ
    "เรื่องการดำเนินคดีพระผู้ใหญ่ในขณะนี้ ไม่สะดวกที่จะตอบ" ผอ.พศ.ระบุ
    ด้านนายสุวพันธุ์กล่าวว่า ได้เชิญ ผอ.พศ.มาเพื่อหารือเรื่องคดีเงินทอนวัดที่ดำเนินการไปแล้วในล็อตที่ 1-3 ส่วนล็อตที่ 4 ยังไม่ได้คุยกัน ตอนนี้หลักการที่ให้ไปคือ ให้ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ไปดำเนินการตามหลักฐาน และอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ส่วน พศ.ให้ดำเนินการเกี่ยวกับข้าราชการที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม 
    "ได้กำชับ พศ.ในเรื่องของการใช้งบประมาณในปี 2561 ให้เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ ซึ่งหลักเกณฑ์เดิมถือว่าดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจำเป็นหรือเห็นว่ามีจุดอ่อนก็ขอให้พิจารณาดู เพื่อให้มันรัดกุมเพิ่มมากขึ้น" นายสุวพันธุ์กล่าว
    วันเดียวกัน นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณี บก.ปปป.ตร.ส่งสำนวนการสอบสวนคดีเงินทอนวัด 4 คดี ให้สำนักงาน ป.ป.ช.ดำเนินการว่า ที่ประชุมเห็นว่า ปปป.ได้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาบางรายในความผิดฐานฟอกเงิน ซึ่งมีมูลฐานจากคดีความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาบางรายไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ป.ป.ช.จึงมีมติส่งเรื่องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบหมายให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป และส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาพิจารณาดำเนินการทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่
    ที่กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงความเป็นอยู่ของอดีตพระทั้ง 5 ราย ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า การดูแลของผู้ต้องขังระหว่างนี้กิจกรรมจะไม่เข้มข้นเท่าผู้ต้องขังเด็ดขาด เพราะว่าเขาจะต้องต่อสู้คดี แม้ว่าหลายคนจะถอดผ้าเหลืองแล้ว แต่ก็ยังอยากถือศีล ไม่รับประทานอาหารเย็น เราก็อนุโลมตามที่สมควร เฉพาะที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อระเบียบปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่น ชาวมุสลิมที่อยู่ในเรือนจำ ช่วงนี้เป็นช่วงรอมฎอนถือศีลอด เราก็อนุโลมให้ปฏิบัติศาสนกิจได้ตามสมควร บางคนนุ่งโสร่ง สวมหมวก และต้องทำละหมาด เพราะฉะนั้นทุกศาสนาก็ดีทั้งสิ้น.

ถอดถอนสมณศักดิ์-7-พระเถระ บก.ป. พ.ต.ท.สัณห์เพ็ชร-หนูทอง พระพรหมดิลก-(เอื้อน-หาสธมฺโม) พระพรหมมุนี-(สุชิน-อคฺคชิโน) พระพรหมสิทธิ-(ธงชัย-สุขญาโณ) พระพรหมเมธี-(จำนงค์-ธมฺมจารี) พระราชกิจจาภรณ์-(เทอด-วงศ์ชะอุ่ม) พระราชอุปเสนาภรณ์-(สังคม-สังฆะพัฒน์) พระศรีคุณาภรณ์-(บุญทวี-คำมา) พระอรรถกิจโสภณ(สมทรง-อรรถกฤษณ์) พระเทพวิสุทธิโมลี-(พรหมา-สปฺปญฺโญ) พล.ต.ต.ไมตรี-ฉิมเฉิด พล.ต.ท.ฐิติราช-หนองหารพิทักษ์ ฟอกเงิน มส. ยักยอกทรัพย์ ราชกิจจานุเบกษา สมเด็จพระพุฒาจารย์-(สนิท-ชวนปญฺโญ) สมเด็จพระวันรัต-(จุนท์-พฺรหฺมคุตโต) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ-บดินทรเทพยวรางกูร สิปป์บวร-แก้วงาม หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"