โควิด-19ยืดเยื้อทำเงินหมดปี๊บ รัฐบาล'ลักหลับ'กู้เพิ่ม7แสนล.


เพิ่มเพื่อน    

 

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ และดูเหมือนจะยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันที่ยังอยู่ในระดับสูง จำนวนผู้ป่วยอาการหนักไปจนถึงยอดผู้เสียชีวิตสะสมที่ยังคงเพิ่มขึ้น อาจเป็นปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 รุนแรงกว่าการระบาดในรอบก่อน ๆ

และในมิติด้านเศรษฐกิจ หลายฝ่ายประเมินว่า ผลกระทบจากมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลที่ไม่เข้มข้นมากนักในรอบนี้ จะไม่สร้างความเสียหายให้ภาคเศรษฐกิจมากเหมือนกับมาตรการขั้นเด็ดขาดที่ใช้ในการควบคุมการระบาดในรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพความบอบช้ำของภาคธุรกิจและประชาชน ไปจนถึงภาคเศรษฐกิจโดยรวมจากมาตรการล็อกดาวน์นั้น ยัง “ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควรจะเป็น” ดังนั้นแม้การระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 รัฐบาลจะไม่ได้ใช้มาตรการควบคุมที่รุนแรง กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนยังสามารถดำเนินไปได้ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมก็ไม่ได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น!

เมื่อ เม.ย. 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) สำคัญ จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ร่าง พ.ร.ก. ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกซอฟท์โลนเพื่อดูแลเอสเอ็มอี วงเงิน 5 แสนล้านบาท 2. ร่าง พ.ร.ก. ดูแลเสถียรภาพการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท และ 3. ร่าง พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยการกู้เงินในส่วนนี้ รัฐบาลได้แบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายออกเป็น 6 แสนล้านบาท สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19, วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท สำหรับเยียวยาเศรษฐกิจ และอีก 4.5 หมื่นล้านบาท สำหรับใช้ในด้านสาธารณสุข

ที่ผ่านมารัฐบาลเดินหน้าออกมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านมาตรการสำคัญที่เน้นการบรรเทาภาระของประชาชน และกระตุ้นการใช้จ่าย อุปโภคบริโภคภายในประเทศ โดยพบว่าที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการอนุมัติโครงการที่เสนอขอใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฉุกเฉิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท ไปแล้วกว่า 287 โครงการ กรอบวงเงินกู้ 8.33 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการทางการคลังอย่างต่อเนื่อง สำหรับรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปี 2563-2564

ผ่านการช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข การช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบและการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อาทิ โครงการเราไม่ทิ้งกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการม33 เรารักกัน การเยียวยากลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร และการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงยังมีมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพในส่วนต่าง ๆ ด้วย โดยการใช้จ่ายเงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินก้อนโต จำนวน 1 ล้านล้านบาท เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีกรอบวงเงินกู้คงเหลือเพียง 1.66 แสนล้านบาท ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยังคงรุนแรงต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องนำเงินส่วนที่เหลือไปดูแลเศรษฐกิจผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ต้องเดินหน้าต่อไปอีกราว 1.5 แสนล้านบาท ทำให้ตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลจะมีวงเงินคงเหลืออยู่เพียง 1.65 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอในการดำเนินการกู้เงินภายใต้ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ…. วงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และจ่ายเยียวยาประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการเพิ่มเติม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และการกู้เงินเพิ่มเติมในจำนวนดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะมีการกันไว้ใช้ในด้านสาธารสุขเพิ่มเติมด้วย

ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการออก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม จำนวน 7 แสนล้านบาท เนื่องจากการประชุมเป็นวาระด่วนและลับ!

“กระทรวงการคลัง” ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในขณะที่ประเทศยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ประกอบกับข้อจำกัดของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพื่อเยียวยา ฟื้นฟูและปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อจำกัดของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณหรือเมื่อรายจ่ายสูงกว่ารายได้ไม่เพียงพอ “รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องมีกรอบวงเงินกู้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และเพื่อบริหารสภาพคล่องทางการคลัง จึงเป็นที่มาของ พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 7 ล้านบาทดังกล่าว เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

โดยกรอบเวลาการกู้เพื่อใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565 โดยวงเงินกู้เพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 7 แสนล้านบาทนั้น ถูกจัดสรรออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ให้กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 3 หมื่นล้านบาท สำหรับใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค และวัคซีนที่ยังมีความจำเป็นในช่วงที่ภาครัฐอยู่ระหว่างการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนตามแผน2. ให้กระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 จำนวน 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อเนื่องไปได้

และ 3. ให้กระทรวงการคลัง เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จำนวน 2.7 แสนล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน/โครงการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และกระตุ้นการลงทุน รวมถึงการบริโภคในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ “กระทรวงการคลัง” ได้ประเมินว่า การกำหนดกรอบวงเงินเพื่อรองรับสถานการณ์ไว้ไม่เกิน 7 แสนล้านบาท สำหรับใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรคและวัคซีนที่ยังมีความจำเป็น การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจ รักษาการจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศได้อย่างต่อเนื่องในระยะ 1 ปีข้างหน้า รวมไปถึงยังสามารถใช้สำหรับการบริหารความเสี่ยงของผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้และสภาพคล่องของรัฐบาลนั้น จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.5% จากที่กระทรวงการคลังเคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.3%

และทันทีที่ ครม. ได้เห็นชอบการออก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาทนั้น เชื่อว่าจะมีคำถามตามมา เกี่ยวกับ “สถานะหนี้สาธารณะ” หลังจากมีการกู้เงินว่าจะพุ่งทะลุเพดานหรือไม่ โดยเรื่องนี้ ได้มีการประเมินแล้วว่า สถานะหนี้สาธารณะคงค้างปัจจุบัน (ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2564) อยู่ที่ 8.47 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 54.28% ของจีดีพี ซึ่งการดำเนินการกู้เงินตาม พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม วงเงินไม่เกิน 7 แสนล้านบาท และเมื่อรวมกับประมาณการการกู้เงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ จะส่งผลให้สถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2564 คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 9.38 ล้านล้นบาท หรือคิดเป็น 58.56% ของจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ที่กำหนดสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อจีดีพีไว้ไม่เกิน 60%


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"