"ไทยนวัตกรรม" ผ่านปตท.


เพิ่มเพื่อน    

         เรามาคุยเรื่อง "ง่าย" ให้มัน "ยาก" ซักวันปะไร!

            ถ้าผมบอกว่า วันนี้ ไทยเรา ......

                สู่ยุค "วิจัย-พัฒนา" ธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ที่เรียก "เทคโนโลยีชีวภาพ" สร้างผลิตภัณฑ์ "เพื่อชีวิตอมตะคนสูงวัย" ขึ้นมาแล้ว

                ท่านเชื่อมั้ย?

                ก่อนเชื่อ-ไม่เชื่อ แค่ได้ยินคำว่า "เทคโนโลยีชีวภาพ" ที่ภาษาอังกฤษเรียก Biotechnology ก็เวียนหัวตึ้บแล้ว?

                ไม่ต้องเวียนครับ...

                มันก็คือกรรมวิธี ต้มเหล้า หมักกะแช่ หมักปลาร้า ทำกะปิ-น้ำปลา ปลาเค็ม-เนื้อเค็ม เต้าหู้ยี้ ประมาณนั้นแหละ

                แต่วิทยาการมันต่อยอดองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ มนุษย์ใช้การ "วิจัย-พัฒนา" ประยุกต์คิด-ประยุกต์ทำ จากฐานเดิมเติมฐานใหม่ไปไม่สิ้นสุด

                จากเทคโนโลยีชีวภาพพื้นฐาน หมักปลาร้า กะปิ-น้ำปลา "วิจัย-พัฒนา" ต่อยอดความรู้ซับซ้อนไปเรื่อยๆ ถึงระดับ

                นำสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งสืบเนื่องจากสิ่งมีชีวิต อะไรๆ ที่เรียก BIO..BIO ...นั่นแหละ

                ประยุกต์เทคโนโลยีปรับเปลี่ยนกระบวนการหรือสร้างผลิตผลเฉพาะอย่างออกมา "ยังประโยชน์ให้สำเร็จ" กับมนุษย์ในด้านต่างๆ

                มันจึงกลายเป็นเรื่องยากด้วยซับซ้อนทางกระบวนการที่เรียก "ชีววิทยาศาสตร์"

                "ชีวะ-ไบโอ-ชีวิต" มันก็สิ่งเดียวกัน!

                ที่พูดกันทุกวันนี้ ว่าเดี๋ยวนี้ "มนุษย์อายุยืน ตายยาก" ก็ตรงนี้แหละ

                เพราะในรอบ ๒๐ ปีนี้....

                "ชีววิทยาศาสตร์" เกิดเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมแขนงใหม่ในโลก รอบ ๒๐ ปี สาขา Life Sciences "วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต" ประมาณนั้น

                อะไรๆ ที่เรียก BIO...BIO...ทึกทักได้เลย

                ว่านี่แหละ "เทคโนโลยีชีวภาพ" ที่ใช้รองรับชีวิตมนุษย์ ด้านยา ด้านเคมี ด้านเกษตร ด้านพลังงาน และ ฯลฯ

                 Life Sciences ในโลกยุคนวัตกรรม

                เน้นผลิตยาชีววัตถุ กลุ่มยาโปรตีน เพื่อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพ อาหารเสริม เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องสำอาง ฯลฯ

                "สยามไบโอไซเอนซ์" ที่ผลิต "แอสตร้าเซนเนก้า" ของเรา ก็ด้วยกระบวนการ Biotechnology คือ เทคโนโลยีชีวภาพ ที่พูดนี่

                พอเห็นภาพคร่าวๆ กันแล้วนะครับ

                บ้านเรา ปีๆ นำเข้ายาเฉียดแสนล้าน ถึงมีบริษัทยาในประเทศร่วม ๒๐๐ แห่ง ก็ผลิตได้แต่ยาสามัญ

                ยาผลิตด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเฉพาะโรค ยิ่งประเภทชีววัตถุ ที่เรียก Biologic ใช้เฉพาะที่-เฉพาะโรค ภายใต้การควบคุมแพทย์ ไม่มีผลข้างเคียง ต่างกับยาสามัญ

                พวกนี้ "แพงมาก" นำเข้าอย่างเดียว.......

                เพราะกระบวนการผลิตซับซ้อน ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ใช้เงินทุนทางวิจัย-พัฒนาสูงมาก และต้องใช้เวลามากในการวิจัย-พัฒนา กว่าจะออกมาได้แต่ละตัว

                ไทยเราไม่มีเลย!

                เหตุที่ไม่มี ประการแรก ยาชีววัตถุ ที่ใช้รักษามะเร็ง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคเกี่ยวกับระบบประสาท กระทั่งยาสังเคราะห์ทางเคมี ที่เรียกยาสามัญก็เหอะ

                ล้วนมี "สิทธิบัตร"

                แต่ถึงตอนนี้ สิทธิบัตรยาทั้งชีววัตถุและยาสามัญ ส่วนใหญ่ หมดอายุสิทธิบัตรแล้ว

                โอกาสจึงเปิด สำหรับคนที่เห็นโอกาสและมีศักยภาพพอ

                ปตท. "บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)" มองเห็นโอกาสและมีศักยภาพ จึงเข้าสู่ธุรกิจอุตสาหกรรมด้านนี้ จะบอกว่า "เจ้าแรก" ก็ไม่ผิด

                ที่สำคัญ ต้องชมบอร์ดและผู้บริหาร ซึ่งตอนนี้ "นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์" เป็น CEO ว่า ไว-ด้วยวิสัยทัศน์

                ไทยถึงยุคสังคมโลกผลัดใบ......

                รัฐบาลประยุทธ์มองทะลุไทยสู่โลกศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยโครงการ EEC อุตสาหกรรมนวัตกรรม New S-Curve

                หลายบริษัทไทยปรับสู่ทิศทางนั้น รวมทั้งปตท.

                ปตท.เป็นองค์ใหญ่ แต่ปรับตัวได้เร็วมาก  แสดงถึงวิสัยทัศน์บุคลากรองค์กรดีมาก

                ปตท.น่าจะเตรียมแผน-เตรียมการมาเรื่อยๆ นานแล้ว เห็นจากการตั้ง "สถาบันวิทยสิริเมธี" เพื่อการวิจัยและพัฒนา

                และการตั้งโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เพื่อเพาะเมล็ดความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์กับเด็กรุ่นใหม่

                ทำให้รู้ว่า ปตท.มองเห็นอะไรในอนาคต....

                จาก "เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน" ปตท.แตกหน่อ "ก่อต้นใหม่"

                ข้ามมิติไปสู่....

                "ความมั่นคงทางยาและเวชภัณฑ์" แตกตัวจากยานแม่ไปตั้งบริษัทใหม่ แยกขาดจาก ปตท. ๑๐๐%

                คือ "บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด

                "วิจัย-พัฒนา" เป็นหัวใจ มุ่งธุรกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ "สาขา Life Sciences สู่ตลาดภูมิภาคและตลาดโลกโดยตรงและเต็มตัว!

                อินโน ย่อจาก innovation ส่วนบิก ก็ bioscience

                งานก็ตรงตัวตามชื่อ.......

                ปตท.แยกร่างจากพลังงานไปสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจนวัตกรรม bioscience

                คือทางยาชีววัตถุ ยาสามัญ เวชภัณฑ์ อาหารสุขภาพ เครื่องสำอาง การแพทย์และการวินิจฉัยโรค

                เมื่อปลายปี ๖๓ "นายบุรณิน รัตนสมบัติ" รองผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายของ ปตท.              เปิดตัวในฐานะ "ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ปตท.ถือหุ้น ๑๐๐% ผ่านทาง PTTGM บริษัทลูก

                เห็นแนวเดินสู่ยุทธจักรใหม่ของ ปตท.ผ่านนายบุรณินแล้ว ต้องย้อนถามว่า

                "ไหน...ใครว่าไทยทำธุรกิจไม่เป็น?

                เป็น-ไม่เป็น ดูแต่ละย่างก้าวของการเป็น "นักเลงข้ามซอย" ของ ปตท.เขาก็แล้วกัน

                -ร่วมทุน IRPC ตั้ง บ.อินโนโพลีเมด ผลิตหน้ากากอนามัย N 95, ชุดกาวน์, แผ่นกรองอากาศ ทั้งหมดด้วยเทคโนโลยีชั้่นสูง

                โรงงานเสร็จแล้วที่ระยอง ปลายปีออกสู่ตลาด

                -ตั้ง บ.อินโนบิก เอลเอล โฮลดิ้ง ซื้อหุ้น บ.โลตัส ฟามาซูติคอล บริษัทผลิตยาชั้นนำของไต้หวัน

                -ตั้งบริษัทร่วมทุนกับ โนฟ ฟูดส์ บริษัทลูกของ NRF ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เจ้าตลาดอาหารโปรตีนจากพืช ครบวงจร มีตลาดถึงสหรัฐฯ

                ร่วมทุนเพื่อใช้เทคโนโลยีชั้นสูงผลิต ให้มี รส-กลิ่น ใกล้เคียงเนื้อสัตว์ ตามแผนสู่ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและยา

                มาดูด้าน Life Sciences บ้าง

                -ปตท.ร่วมพัฒนาโครงการโรงงานผลิตยารักษามะเร็งกับองค์การเภสัชกรรม สร้างโรงงาน "วิจัย-พัฒนา" ผลิตได้ในปี ๒๕๗๐

                -ร่วมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์-องค์การเภสัชกรรม "วิจัย-พัฒนา" ผลิตภัณฑ์ชีววัตถุ

                เตรียมผลิตยามะเร็งเต้านมแห่งแรกของไทย เป็นตำรับ "ยาชีววัตถุคล้ายคลึง" วิจัย-พัฒนาเอง ๑๐๐%

                ไม่ต้องซื้่อสารตั้งต้นหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

                ก็อย่างที่บอก....

                เราสามารถวิจัย-พัฒนาเป็น "ยาชีววัตถุคล้ายคลึง" ด้วยเทคโนโลยีชีววัตถุเราเองได้แล้ว เพราะสิทธิบัตร "ยาชีววัตถุต้นแบบ" หมดอายุแล้ว

                -ร่วมคณะแพทย์ศิริราช-มหาวิทยาลัยมหิดล "วิจัย-พัฒนา" ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทย

                 โดยนำสูตรยา-ตำรับยาสมุนไพรดั้งเดิม มาวิจัยและพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้

                ปตท.ซึ่งเป็นฝ่ายผลิต ตั้งเป้าภายในปี ๖๔ นี้ จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้เรียบร้อย และปี ๖๕ จะออกจำหน่าย

                -ร่วมสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)-องค์การเภสัชกรรม

                "วิจัย-พัฒนา" กระบวนการสังเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม คือทางยา

                ตรงนี้ จะสร้างความมั่นคงทางยาและด้านอุตสาหกรรมทางการแพทย์ให้ประเทศ

                กำลังวิจัย-พัฒนา "สารออกฤทธิ์ทางยา ชนิดครบวงจรของยา "ฟาวิพิราเวียร์" และ "เรมเดซิเวียร์" ที่ใช้รักษาโควิด-๑๙

                เนี่ย...ตอนนี้เราผลิตได้แล้ว

                ปกติสารตั้งต้นทางยา ต้องนำเข้าจากอินเดีย จากจีน เป็นส่วนใหญ่ จากนี้ไป ไม่ต้อง

                ที่น่าสนใจ ตรงที่ไปซื้อหุ้นโลตัสที่ไต้หวัน เพราะโลตัสเป็นธุรกิจลูกกลุ่มบริษัท Alvogen

                ซึ่งเป็นบริษัทเภสัชกรรมนานาชาติใหญ่มาก คุมตลาดในอเมริกาเหนือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

                โลตัสก็มีสถาบันวิจัย-พัฒนาผลิตภัณฑ์และโรงงานทั้งที่ไต้หวันและเกาหลี แถมอยู่ในตลาดหลักทรัพย์

                ตอนนี้ ยาสามัญที่หมดสิทธิบัตรจำนวนมาก การที่ ปตท.มีทุน โลตัสมีตลาด เมื่อร่วมกัน การเติบโตในตลาดอุตสาหกรรมยาของปตท.จึงมีมากและเร็ว

                ครับ....

                นี่ขนาดจับแพะ-ชนแกะฉบับย่นย่อ ยังเป็นรามเกียรติ์ ก็เพียงบอกให้รู้ว่า จากปี ๖๕ ไป

                ด้วยการ "แตกยอด-แตกตัว" ทางนวัตกรรมของไทยหลายๆ บริษัท เมื่อเหลียวหลัง อาจจำประเทศไทยไม่ได้

                ขนาดนั้นเชียวแหละ!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"