‘บิ๊กตู่’ฉีดวัคซีนเข็ม2/‘โมเดอร์นา’จ่อเข้าไทย


เพิ่มเพื่อน    

 สวนดุสิตโพลเผยคนไทยเชื่อมั่นวัคซีน "ไฟเซอร์" มากที่สุด รองลงมาคือ “โมเดอร์นา” ขณะที่ “ซิโนแวค” ไม่ติดโผ รองโฆษกรัฐบาลระบุวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาเตรียมเข้าไทย คาดจองพุ่ง 5 ล้านโดส นายกฯ เตรียมฉีด "แอสตร้าฯ" เข็มสองวันจันทร์นี้ "หมอยง" แนะเร่งศึกษาแนวทางฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 สลับปรับเปลี่ยนยี่ห้อวัคซีน กทม.เปิดจุดฉีดวัคซีนนอก รพ. “เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า” คาด 2-3 เดือนฉีดเข็มแรกได้ 7-8 ล้านคน

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี “การฉีดวัคซีนโควิด-19” กลุ่มตัวอย่าง 2,644 คน  สำรวจวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2564 พบว่า ประชาชนพอจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ร้อยละ 57.41 รู้และเข้าใจเป็นอย่างดี ร้อยละ 29.32 โดยร้อยละ  56.49 ได้ลงทะเบียนรับการฉีดวัคซีนให้ตนเองหรือคนในครอบครัวแล้ว เชื่อถือข้อมูลโควิดจากกระทรวงสาธารณสุข อสม.และหน่วยราชการ ร้อยละ 31.02 จากบทความ การวิเคราะห์ข่าวของสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ต่างๆ ร้อยละ 17.36
ที่น่าสนใจคือ ประชาชนเชื่อมั่นวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทใดมากที่สุด พบว่า บริษัทไฟเซอร์ ร้อยละ 75.11 รองลงมาคือ โมเดอร์นา ร้อยละ 72.14, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ร้อยละ 68.52, แอสตร้าเซนเนก้า ร้อยละ 65.89, สปุตนิก วี ร้อยละ 61.89 ทั้งนี้ ผลสำรวจไม่ระบุถึงซิโนแวค แต่อย่างใด    
ทั้งนี้ ยังกังวลเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน ร้อยละ 59.64 โดยอยากให้กลุ่มแพทย์ออกมาชี้แจง ร้อยละ 67.74  และตัดสินใจว่าจะไปฉีดวัคซีน ร้อยละ 64.39, ไม่แน่ใจ ร้อยละ 22.30, ไม่ฉีด ร้อยละ 13.31       
    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างถึงกรณีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เผยความคืบหน้าจัดหาวัคซีนทางเลือกตัวที่ 3 ในไทยยี่ห้อ “โมเดอร์นา” ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนในไทยแล้ว คาดมียอดสั่งซื้อ 5  ล้านโดส โดยระบุว่า ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เผยการนำเข้าวัคซีนทางเลือก โดยองค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือก ซึ่งวัคซีนยี่ห้อที่จะจัดหามาในช่วงแรกนี้คือโมเดอร์นา ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนไปเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา
ขณะนี้อยู่ในระหว่างสมาคมโรงพยาบาลเอกชนรวบรวมจำนวนความต้องการ เบื้องต้นสมาคมโรงพยาบาลเอกชนคาดการณ์มีปริมาณสั่งซื้อจำนวน 5 ล้านโดส ซึ่งอยู่ระหว่างทบทวนจำนวนร่วมกันอีกครั้งก่อนดำเนินการขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ การจัดซื้อวัคซีนทางเลือกมีเงื่อนไขการขายของผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศเอง ที่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศผู้ซื้อวัคซีนเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการตามแนวทางของการขึ้นทะเบียน แบบมีเงื่อนไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ Conditional  Approval for Emergency Use
“ในส่วนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นานี้ ผู้ผลิตต้องการให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ องค์การเภสัชกรรมจึงเข้ามาร่วมดำเนินการ ส่วนยี่ห้ออื่นนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการขายของผู้ผลิตว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตจะให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ดำเนินการเช่นกัน ไม่ได้มีการปิดกั้นช่องทางการนำเข้าวัคซีนทางเลือกผ่านโรงพยาบาลเอกชนหรือภาคเอกชนอื่นๆ แต่อย่างใด” น.ส.ไตรศุลีกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 24 พ.ค.นี้ เวลา  08.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีกำหนดเดินทางไปฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง ที่สถาบันบำราศนราดูร โดยไม่อนุญาตให้สื่อเข้าบันทึกภาพหรือทำข่าวเพราะสถานที่คับแคบ โดยจะเผยแพร่ภาพและข่าวผ่านช่องทางต่างๆ ของสำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ นายกฯ ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกของประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 16  มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 24 พ.ค. ถือเป็นวันแรกที่สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบรัฐบาล แต่ยังคงต้องยึดตามมาตรการของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้สื่อมวลชนสถานีโทรทัศน์เข้าทำเนียบฯ ได้วันละ 2 ทีม ส่วนสื่อสิ่งพิมพ์วันละ 2 คน เพื่อเป็นการจำกัดจำนวนคนและลดความแออัด
นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ "โควิต-19 การระบาดของโรค" ระบุตอนหนึ่งว่า "บทเรียนจากทางยุโรปและอเมริกา ในการควบคุมโรคด้วยวัคซีน ต้องให้เร็วและครอบคลุมให้มากที่สุด แม้กระทั่งในอเมริกาเอง ใช้เวลาร่วม 5 เดือนแล้ว อัตราการครอบคลุมยังอยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็เริ่มเห็นผลว่ามีการควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี ประเทศไทยเพิ่งเริ่มให้วัคซีน ขณะนี้ครอบคลุมเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จะต้องทำให้ได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ภายใน 4 เดือน เราจึงจะเห็นผลการให้วัคซีน จะต้องปูพรมไปก่อน ครอบคลุมให้ได้มากที่สุด ด้วยวัคซีนที่เรามีอยู่ AstraZeneca และตามด้วยการกระตุ้นเข็ม 2
ในขณะเดียวกันเราก็จะต้องพยายามหาวัคซีนอื่นๆ เพิ่มเติมมาอีก เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ จำเป็นจะต้องมีการกระตุ้นให้ภูมิสูงอยู่ตลอดเวลา หรือปรับเปลี่ยนวัคซีนให้เหมาะสมกับการกลายพันธุ์ของไวรัส การติดตามภูมิต้านทานในประชากรไทยที่ได้รับวัคซีน มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องประเมินประสิทธิภาพ ในการป้องกัน ในบริเวณที่มีการระบาด ศึกษาแนวทางการกระตุ้นในเข็มที่ 3 เพื่อให้คงสภาพภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา ใช้ในการป้องกันระยะยาวต่อไป มีความจำเป็นที่จะต้องเริ่มทำการศึกษา"
"สิ่งหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา คือการสลับปรับเปลี่ยนชนิดหรือยี่ห้อของวัคซีน เพราะขณะนี้เราเริ่มเห็นปัญหา เช่นนักเรียนหรือผู้ที่จะเดินทางไปยุโรปหรืออเมริกา ยังไม่แน่ใจว่าจะยอมรับวัคซีนจีนหรือไม่ ถ้าไม่ยอมรับ เราจะฉีดวัคซีนเพิ่มเติมหรือมีการสลับปรับเปลี่ยนชนิดของวัคซีนที่กำลังฉีดอยู่ได้หรือไม่ คนที่แพ้วัคซีนเข็มแรก เข็มที่ 2 ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนชนิดวัคซีน  หรือในอนาคตที่มีวัคซีนหลายยี่ห้อมา ถ้าต้องการกระตุ้นในคนที่ได้รับวัคซีนครบแล้ว จะสามารถทำได้อย่างไร  ข้อมูลทั้งหมดจะต้องรีบทำการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในประเทศของเรา” นพ.ยงระบุ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร-หอการค้าไทย” บริเวณ  ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย ว่าเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล เพื่อทดสอบระบบการให้บริการวัคซีนตามขั้นตอน ตั้งเป้าหมายในการให้บริการฉีดวัคซีนจำนวน 1,000  คน/วัน ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. วันนี้ทดสอบระบบโดยฉีดวัคซีน 520 คนให้กลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ พนักงานเก็บขน พนักงานกวาด ครูและบุคลากรทางการศึกษาจากสำนักงานเขตบางกอกน้อยและตลิ่งชัน อาสาสมัคร พนักงานขายอาหาร ผู้ที่ขับรถยนต์สาธารณะ คนขับแท็กซี่  วินจักรยานยนต์ และต่อไปจะฉีดให้กลุ่มเป้าหมายอาชีพเสี่ยงอื่นๆ ที่สำนักอนามัยได้นำเข้าข้อมูลไว้ในระบบของ  กทม.แล้ว
ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า กทม.จะเร่งขยายสถานที่ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลให้ครบตามเป้าหมาย 25 แห่งทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ภายในวันที่ 2 มิ.ย.64 และเมื่อเปิดครบทุกแห่ง จะมีศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 38,000-50,000  คน/วัน และรวมกับศักยภาพการให้บริการฉีดภายในโรงพยาบาล 126 แห่ง วันละประมาณ 30,000 คน/วัน คาดการณ์ว่าภายใน 2-3 เดือน กทม.จะสามารถฉีดวัคซีนเข็มแรกได้ประมาณ 7-8 ล้านคน จากนั้นจะฉีดเข็มที่ 2 รวมทั้งหมดคาดว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนประมาณ 15 ล้านเข็มขึ้นไป.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"