ผู้ประกอบการเฮ!รัฐจ่ายเงินเดือนลูกจ้างแทน


เพิ่มเพื่อน    

 

“ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุม ศบศ. เคาะ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เปิดตามกำหนดเดิม 1 ก.ค. ผู้ประกอบการระดับกลางเตรียมเฮ รัฐบาลสั่ง “สภาพัฒน์” เคาะมาตรการดูแล เล็งช่วยนายจ้างจ่ายเงินเดือนให้ รอถกรายละเอียดเลือกเวลาอุ้ม 3, 6, 9 เดือน

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ครั้งที่ 2/2564 หรือ ศบศ. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
    ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางของจังหวัดภูเก็ต หรือภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ตามข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่จะดำเนินการในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว โดยต้องดำเนินการดังนี้ 1.นักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาฉีดมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี และเป็นผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลางตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 2.เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6-18 ปี ต้องได้รับการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต
3.มีเอกสารรับรองการฉีดจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของไทย หรือได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) 4.มีการติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน 5.พำนักในโรงแรมที่พักที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ ในเวลา 14 คืน และภายหลังการพำนักตามเวลาที่กำหนด สามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในประเทศไทยได้ และ 6.รายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการควบคุมโรคของ สธ. และทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกัน ตามมาตรฐาน DMHTTA
โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ ททท.นำเสนอรายละเอียดของแผนต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
       นอกจากนั้น ที่ประชุมยังเห็นด้วยกับข้อเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง โดยมุ่งเน้นใน 4 กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย 1.กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง ซึ่งรวมถึงนักลงทุนที่มีกำลังซื้อสูง 2.ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4.กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ
“ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน เป็นประธานในการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำรายละเอียดของแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ และนำเสนอ ศบศ.พิจารณาต่อไป”
ด้านนายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ศบศ.ได้พิจารณามาตรการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องทำอย่างรวดเร็วหลังจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการระบาดจากโควิด-19 ในระลอกล่าสุด และมีผู้ประกอบการที่รอความช่วยเหลือของมาตรการนี้จำนวนมาก
        นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพิ่มเติม โดยใช้เงินจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยเงินกู้ส่วนหนึ่งจะนำมาใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งอาจเป็นผู้ประกอบการระดับกลาง เพราะยังไม่ค่อยได้รับประโยชน์จากมาตรการของภาครัฐ ขณะที่การเข้าถึงสินเชื่อทำได้ยาก ซึ่งในกลุ่มนี้ต้องได้รับมาตรการในการช่วยเหลือที่แตกต่างไปจากเดิม
        “สศช.ได้หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย,   สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ข้อสรุปในแนวทางร่วมกันว่ามาตรการที่จะออกมาจะเป็นลักษณะของการช่วยอุดหนุนค่าจ้างแรงงาน หรือการช่วยจ่ายเงินเดือน ซึ่งขณะนี้กำลังดูว่าจะช่วยเหลือในสัดส่วนเท่าไหร่ของเงินเดือน และจ่ายในระยะเวลาเท่าไหร่” นายดนุชากล่าว
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ มีหลักการที่สำคัญ 3 ข้อคือ 1.เป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้องและยังคงประกอบกิจการอยู่ 2.เป็นกิจการและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คือไม่ได้มีปัญหามาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดการระบาด และ 3.เป็นกิจการหรือธุรกิจที่เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วจะสามารถปรับตัวให้อยู่รอดและไปต่อได้หลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง
        “การช่วยเหลือในลักษณะนี้จะเป็นการช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจง โดยช่วยจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนเพื่อช่วยรักษาและพยุงการจ้างงานในสถานประกอบการต่างๆ อาจเป็นการช่วย 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือน"
    ทั้งนี้ ศบศ.ยังรับทราบรายงานความคืบหน้ามาตรการด้านเศรษฐกิจที่ดำเนินการไปแล้ว ในโครงการต่างๆ อาทิ โครงการเราชนะ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 1 มิ.ย.มีผู้ได้รับสิทธิ์ทั้งหมด 33.1 ล้านคน มูลค่าการใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ รวม 257,997 ล้านบาท และ ม33 เรารักกัน มีผู้ได้รับสิทธิ์ 8,138,627 คน คิดเป็นวงเงิน 48,831.8 ล้านบาท ใช้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 8,040,416 ราย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"