เปิดภูเก็ตต้องรอบคอบ


เพิ่มเพื่อน    

      เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. ได้มีเห็นชอบให้เปิดพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดส และมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางแล้วมีผลเป็นลบ สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ภูเก็ตได้แบบไม่ต้องกักตัว ภายใต้โครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้

            โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ 6 ข้อ ประกอบไปด้วย 1.เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสตามเกณฑ์ของวัคซีนแต่ละชนิด มีระยะเวลาการฉีดมากกว่า 14 วัน แต่ไม่เกิน 1 ปี และเป็นผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศต้นทางที่มีความเสี่ยงต่ำ-ปานกลาง 2.กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางมาพร้อมกับผู้ปกครองที่ฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้าได้ ในขณะที่เด็กอายุระหว่าง 6-18 ปี จะต้องได้รับการตรวจเชื้อเมื่อเดินทางมาถึงสนามบินภูเก็ต

            3.มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทาง โดยวัคซีนจะต้องขึ้นทะเบียนตามกฎหมายของประเทศไทย หรือได้รับการรับรองโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) 4.ติดตั้งแอปพลิเคชันแจ้งเตือน 5.พำนักในโรงแรมที่พักที่ผ่านมาตรฐาน SHA+ สำหรับนักท่องเที่ยวเวลา 14 คืน และหลังการพำนักตามระยะเวลาที่กำหนดสามารถเดินทางไปยังจังหวัดอื่นในประเทศไทยได้ 6.ต้องรายงานตัวและรับการตรวจเชื้อโควิด-19 และทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้ภายใต้มาตรการป้องกันตามมาตรฐาน DMHTTA ได้แก่ เว้นระยะห่างใส่แมสก์ ล้างมือ ตรวจอุณหภูมิ ตรวจเชื้อโควิด-19 และใช้แอปไทยชนะและหมอชนะ

            อย่างไรก็ดี การนำร่องเปิดรับนักท่องเที่ยวในครั้งนี้ก็มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก เพราะมาตรการยังมีจุดอ่อน ซึ่งเป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ถึงแม้จะมีการฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อให้คนอื่นได้เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีคนในวงการสาธารณสุขบางคนพยายามกระตุกมุมคิดของรัฐบาลด้วยเช่นกันว่า การผลักดันภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ อาจจะเป็นนโยบายที่ได้ไม่คุ้มเสีย

            อย่าง นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า "การเปิดภูเก็ตก็ต้องระวังไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนระบาดอยู่ เช่น สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์อินเดีย และที่สำคัญมันเป็นไปไม่ได้ที่จะป้องกันคนภูเก็ตไม่ให้ออกมานอกเกาะ และคงยากที่จะห้ามไม่ให้คนไทยที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแวะเข้าไปที่จังหวัดภูเก็ต ก็จะทำให้มีโอกาสนำเชื้อที่มาจากนักท่องเที่ยวดังกล่าวออกจากภูเก็ตไปยังจังหวัดอื่นๆ และจากข้อมูลบอกว่า คาดว่าสามเดือนจะเข้ามา 100,000 คนเศษ และนำรายได้มา 10,000 ล้านบาท กับถ้ามีจุดอ่อนเกิดขึ้นที่ทำให้เกิดแพร่เชื้อออกไปได้ งบประมาณที่รัฐจะต้องเทลงไปเพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิด อาจจะมากกว่ารายได้ที่ได้จากการเปิดภูเก็ตก็ได้"

            ขณะเดียวกัน การรับวัคซีนที่บอกว่าคนในเกาะภูเก็ตจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนมากกว่า 70% ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะคำว่า 70% ของประชากรที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัด หรือ 70% ของกลุ่มประชากรแฝงที่เข้ามาประกอบอาชีพและทำมาหากินบนเกาะภูเก็ต ซึ่งมาตรการจะประสบความสำเร็จก็ต้องนับรวมกับกลุ่มประชากรแฝงด้วย มิฉะนั้นมันก็จะไม่เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และสุดท้ายหากมีข้อผิดพลาดก็จะกลายเป็นฮอตสปอตการแพร่ระบาด และรัฐต้องมาเสียงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยทั้งไทยและต่างชาติ

            ดังนั้นก่อนจะเปิดทางส่วนราชการก็ดี เอกชน ห้างร้านก็ดี ต้องร่วมใจกันในการระดมฉีดวัคซีนให้มากที่สุด และต้องเปิดจุดฉีดวัคซีนให้กับคนต่างถิ่นด้วย ถ้าทำแบบ Walk in ได้ก็ควรทำ แต่ก็ดูเหมือนว่าโอกาสที่จะทำแบบนี้ได้ก็คงยาก ในเมื่อปริมาณวัคซีนในประเทศยังมีไม่เพียงพอแบบนี้

            ดังนั้นทุกมาตรการที่ออกมาจากนี้จะต้องรอบคอบและครอบคลุมที่สุด.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"