สิระบุก‘กกกอก’ ชวนลั่นมีปัญหา มาพึ่งรัฐสภาได้


เพิ่มเพื่อน    

  "สิระ" เผยชี้แจงผู้ใหญ่ในพรรคเข้าใจการทำหน้าที่ของ กมธ.แล้ว  มั่นใจ "บิ๊กตู่" ไม่ติดใจ ลั่นเดินหน้าลุยบ้านกกกอกต่อ "ป้อม" ขานรับ "บิ๊กตู่" ว่าไม่สมควร "ชวน" การันตีใครมีปัญหามาพึ่งสภาได้ มี กมธ.แต่ละชุดทำหน้าที่อยู่ "วิรุตม์" ยัน กมธ.มีอำนาจเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงตาม รธน. ไม่ถือว่าแทรกแซง ยกเว้นคดีอยู่ในชั้นศาล

    ที่รัฐสภา วันที่ 10 มิถุนายน นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม พานายไชย์พล วิภา หรือลุงพล ผู้ต้องหาคดีพรากน้องชมพู่ ที่อยู่ระหว่างประกันตัวชั้นศาล เข้ามาพบนายสิระ และมีการแถลงข่าวในรัฐสภาระหว่างการอภิปราย พ.ร.ก.เงินกู้เพิ่ม 5 แสนล้านบาท ในวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ได้ชี้แจงกับผู้ใหญ่ของพรรคไปแล้วว่าการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนของ กมธ.การกฎหมายฯ มีการปฏิบัติทุกวัน บางวันรับประชาชนกว่า 10 คน และไม่ได้เลือกปฏิบัติ ใครเป็นผู้เสียหายที่มายื่น ไม่ได้เลือกว่าคดีดังหรือไม่ดัง เพราะถือเป็นเรื่องปกติในการทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน ซึ่งส่วนตัวไม่กังวลว่าท่านนายกฯ จะไม่พอใจ เพราะเชื่อว่าท่านจะเข้าใจสิ่งที่ตนชี้แจงไป เมื่อประชาชนมีปัญหามาเรียกร้องต่อ กมธ. ตนในฐานะประธาน ถ้าไม่รับเรื่อง จะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
    "การทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติที่สำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รู้ช่องทางที่จะทำให้ประชาชนสามารถเรียกร้องและปกป้องสิทธิของตัวเองได้ เพราะในบางครั้ง ประชาชนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม มีประชาชนจำนวนมากมาร้องเรียนว่าคดีความไม่คืบหน้า หรือถูกตัดสินแบบไม่เป็นธรรม ไม่แตกต่างจากกรณีของลุงพล แต่ประชาชนเหล่านี้ไม่ได้ถูกสังคมจับตามอง ก็ไม่มีสื่อให้ความสนใจ เพราะฉะนั้นเหตุการณ์เมื่อวาน ผมไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องพิเศษแต่อย่างใด"
    เมื่อถามว่ารู้สึกน้อยใจหรือไม่ นายสิระกล่าวต่อว่า เป็นเรื่องปกติของการทำงาน บางครั้งตนก็ได้รับคำชม บางครั้งก็โดนติ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไร เมื่อรับเรื่องขอความเป็นธรรมจากลุงพลมาแล้ว ก็ต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กมธ.การกฎหมายฯ ภายในสัปดาห์หน้า และก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาหรือไม่ หากบรรจุวาระเรื่องดังกล่าวนี้ จึงค่อยมีมติอีกครั้งว่าจะเชิญใครมาชี้แจงเข้าให้ข้อมูลนี้ ทั้งนี้ ในวันที่ 12 มิ.ย.นี้ ตนและกรรมาธิการจะลงพื้นที่ไปยังบ้านกกกอกเพื่อพบกับแม่ของน้องชมพู่และเจ้าพนักงานสอบสวนด้วย
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพปชร. กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่นายสิระนำนายลุงพลมายื่นหนังสือที่รัฐสภา พร้อมแถลงว่า เรื่องดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงไปแล้วว่าไม่สมควรอย่างไร เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์บอกไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องของพรรคที่จะต้องเรียกนายสิระมาพูดคุย ส่วนขั้นตอนรายละเอียดต่างๆ นั้น ก็ต้องมาดูว่าจะทำอย่างไร และจะมาชี้แจงอะไรกับตนบ้าง
    ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล สภาเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนเข้ามาได้ แต่จะเกี่ยวกับสภาหรือไม่ ก็ต้องดูว่าภารกิจอะไรที่สภาทำได้ โดยทั่วไปคนที่มีปัญหาก็มาพึ่งสภา เนื่องจากมีกรรมาธิการแต่ละชุดทำหน้าที่อยู่
    เมื่อถามว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตำหนินายสิระ ที่นำผู้ต้องหามาแถลงข่าวใต้ถุนสภา นายชวนกล่าวว่า เรื่องความเหมาะสมหรือไม่เป็นเรื่องส่วนบุคคล
    นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า ไม่แปลกใจที่เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะตำหนิกลางสภากรณีมีการเอาผู้ต้องหามาแถลงสู้คดีอยู่ใต้ถุนสภา พร้อมตั้งคำถามเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นมุมเดียวกับที่ผมเป็นห่วง เป็นเรื่องที่นายสิระต้องเร่งทบทวน เพราะการใช้อาคารรัฐสภาเป็นเวทีแถลงข่าวในการสู้คดีฆาตกรรมน้องชมพู่ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เรื่องในทางคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม ที่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ควรไปก้าวล่วง ไม่เช่นนั้นระบบถ่วงดุลตามระบอบประชาธิปไตยจะเสียไป ให้ถอดบทเรียนคดีบอส อยู่วิทยา ที่ใช้ กมธ.การกฎหมายฯ ยุค สนช.เป็นเครื่องมือ เปลี่ยนรูปคดีจนนำไปสู่ข้อกล่าวหาสมคบคิดเปลี่ยนสำนวน สะเทือนทั้งวงการนิติบัญญัติและกระบวนการยุติธรรมตั้งต้นมาแล้ว อย่าให้ซ้ำรอยอีก เพราะกรรมาธิการของสภาไม่ใช่เครื่องมือในการสร้างความได้เปรียบทางคดีให้กับใคร
    ขณะที่ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) กล่าวว่า ประชาชนทุกคนแม้เป็นผู้ต้องหาคดีอาญา หากใครเห็นว่าตนได้รับความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจ ไม่ว่าจะเป็นในชั้นการจับกุมหรือสอบสวน ล้วนมีสิทธิร้องเรียนให้ต่อ กมธ.สภาฯ ให้ตรวจสอบดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ถือเป็นการแทรกแซงหรือผิดกฎหมายระเบียบการปฏิบัติอะไร  โดยเมื่อได้รับเรื่องแล้ว กมธ.ก็มีหน้าที่และอำนาจเรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงการปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตาม รธน.มาตรา 129
    "หากเห็นว่าการกระทำของตำรวจในทุกขั้นตอนถูกต้องแล้ว ก็มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ร้องทราบ และแนะนำว่าหากไม่เห็นด้วย ก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายในการดำเนินคดีอาญาและแพ่งเองต่อไปได้ แต่หากเห็นว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีหนังสือแจ้งให้หัวหน้าหน่วยงานผู้รับผิดชอบทราบให้ดำเนินคดีอาญาและลงโทษทางวินัยตามอำนาจหน้าที่แจ้งผลให้ กมธ.ทราบ และแจ้งผลการดำเนินการนั้นให้ผู้ร้องทราบโดยเร็วเช่นกัน"
    พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า มีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่เป็นข้อห้ามมิให้ กมธ. ตรวจสอบดำเนินการ ก็คือกรณีที่เป็นคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลและการปฏิบัติหน้าที่โดยตรงขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นไปตาม รธน.มาตรา 129 วรรค 4  การพูดของตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่รู้กฎหมายหลายคนที่บอกว่าเป็นการแทรกแซง  แม้กระทั่งการแสดงอารมณ์ของนายกรัฐมนตรีที่บอก "ไม่รู้ว่าสภานี้ทำอะไรได้บ้าง..." คนเหล่านี้ เมื่อไม่มีความรู้ความเข้าใจ ก็ควรอยู่เฉยๆ ดีกว่าการออกมาพูดจาให้สังคมเกิดความสับสนและเสียหายต่อการทำหน้าที่ของ กมธ.ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประชาชนผู้เดือดร้อนไม่ได้รับความยุติธรรมที่เดินทางไกลมาด้วยความยากลำบาก ทนบากหน้ามาร้องเรียนกันต่อสภาผู้แทนราษฎรเช่นนี้.

      


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"