หลอนทุกปี! ตีข่าวป่วนขึ้นภาษีแวต 10% ขย่มเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

คอลัมน์ อีโค โฟกัส

หลอนทุกปี! ตีข่าวป่วนขึ้นภาษีแวต 10% ขย่มเศรษฐกิจ 

เป็นข่าวที่ถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างกระแสโจมตีถล่มทุกรัฐบาลไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด สำหรับเรื่องการ “ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จาก 7% เป็น 10%” เรียกว่ามาตามนัดทุกปี ที่จะเกิดจากการแชร์ข่าวดังกล่าวผ่านโซเชียลมีเดีย สร้างความวิตกกังวล และความไม่พอใจให้กับประชาชนอยู่เรื่อง ๆ เป็นแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาทุกปีจริง ๆ แม้ว่าที่ผ่านมาทุกรัฐบาลจะพยายามชี้แจงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงถึงความจำเป็น และความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าว ว่า “ยังไม่ถึงเวลา” และ “ยังไม่มีความจำเป็น” แต่ดูเหมือนจะแรงสู้กระแสที่ถูกสร้างขึ้นมาโจมตีไม่ได้

โดยตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระบุเกี่ยวกับการขยายการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ออกไปอีก 1 ปี และจัดเก็บในอัตรา 9% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 ตรงนี้เองอาจเป็นจุดที่ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนได้ แต่หากพิจารณาในรายละเอียดที่แท้จริง จะพบว่า การจัดเก็บภาษีแวตตามเพดานที่กำหนดไว้สูงสุด จะต้องจัดเก็บในอัตรา 10% แบ่งเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 9% และภาษีท้องถิ่นอีก 1% ตามสัดส่วนการคำนวณภาษีท้องถิ่นที่คิดอัตรา 10% ของแวต หรือหากแวตจัดเก็บ 10% ภาษีท้องถิ่นคิด 10% ของแวต ก็จะได้เท่ากับภาษีท้องถิ่น 1% นั่นเอง

ขณะเดียวกัน การคงอัตราภาษีแวตไว้ที่ 7% ที่เกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้วนั้น การคิดคำนวณก็คิดเช่นเดียวกัน คือ หากจัดเก็บภาษีแวตที่ 7% จะแบ่งเป็นภาษีท้องถิ่น 10% ของภาษีแวต หรือเท่ากับภาษีท้องถิ่น 0.7% และภาษีแวตจะอยู่ที่ 6.3% เมื่อรวมกันแล้วจะได้ภาษีแวตที่จัดเก็บในอัตราแท้จริงที่ 7% นั่นเอง ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นไปจะคงอัตราหรือจะขึ้นอัตราเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจในขณะนั้นจะเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาของรัฐบาล

และล่าสุดกับปี 2561 ข่าวการปรับขึ้นภาษีแวตก็ มาตามนัด! อีกเช่นกัน ร้อนถึงหน่วยงานรับผิดชอบอย่าง “กระทรวงการคลัง” ที่ต้องเร่งออกมาชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด และช่วยคลายความวิตกกังวลของประชาชนทั่วประเทศ โดย ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 10% เป็น 7% ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย. 2561 ออกไปอีก 1 ปี ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ เศรษฐกิจของไทยกำลังขยายตัวไปได้ด้วยดี จึงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าวในขณะนี้ ซึ่งนั่นเป็นเครื่องสะท้อนชัดเจนว่า กระแสข่าวลือที่ว่า อัตราภาษีแวตจะปรับเพิ่มเป็น 10% ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จึงไม่เป็นความจริง!

การขึ้นภาษีแวตเป็น 10% มีการลือกันทุกปี เพราะยังมีบางกลุ่มที่ต้องการหาเรื่องสร้างข่าวลือเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยปั่นป่วน แม้ว่ากระทรวงการคลังจะตอบแทนรัฐบาลไม่ได้ว่าจะมีการขยายเวลาการลดอัตราาภาษีแวตต่อไปอีกหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะต้องพิจารณา แต่ก็อยากให้ย้อนดูผลในอดีตที่ผ่านมาด้วยว่า มีการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีแวตที่ 7% ต่อเนื่องทุกปี

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังดีดลูกคิดคำนวณตัวเลขการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีแวตไว้ที่ 7% ว่า การขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 ปี จะทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้ประมาณ 3 แสนล้านบาท ตัวเลขจำนวนมหาศาลนี้ เพิ่มขึ้นตามภาพรวมเศรษฐกิจและจีดีพีของไทยที่มีขนาดใหญ่ขึ้ันต่อเนื่อง และด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ขยายเพิ่มขึ้นนี้เอง ทำให้การใช้จ่าย อุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ก็มีผลทำให้การจัดเก็บภาษีแวตขยายตัวตามไปนั่นเอง

นั่นเป็นการยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า ภาษีจากการใช้จ่ายอุปโภคบริโภคอย่าง “แวต” มีความสำคัญต่อรายได้ของรัฐบาลอย่างมหาศาล แต่หากมองในมุมเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว การขยายระยะเวลาการจัดเก็บภาษีแวตไว้ที่ 7% ต่อไป จะมีผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างต่อเนื่องและเป็นไปตามเป้าหมายมากกว่า ดังนั้นหากมองในภาพรวม การขยายระยะเวลาการจัดเก็บภาษีแวตไว้ที่ 7% จึงอาจเป็นประโยชน์ในระยะยาวกับประเทศมากกว่าการโกยรายได้ 3 แสนล้านบาท ซึ่งคิดภาพตามได้ทันทีว่าหากรัฐบาลปรับขึ้นภาษีแวตในช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวเช่นนี้ จะทำให้การใช้จ่ายภาคประชาชนเกิดอาการ ช็อค! ซึ่งคงไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาวอย่างแน่นอน

ด้าน “กรมสรรพากร” หัวเลี้ยวหัวแรงหลักในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ออกมาขยายความถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะปรับขึ้นอัตราภาษีแวต ว่า แทบเป็นไปไม่ได้เลย

กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดที่จะปรับขึ้นภาษีแวตในขณะนี้ เพราะเป็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวนี้เองไม่ได้มีสัญญาณของความร้อนแรงจนเกินไป หรือภาคการคลังเองก็ยังไม่ได้มีปัญหาเรื่องการจัดเก็บรายได้จนทำให้ต้องปรับขึ้นภาษีดังกล่าว

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร อธิบายในรายละเอียดเพิ่มเติมด้วยว่า การขยายเวลาการลดอัตราภาษีแวตออกไปอีก จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดการสะดุด และที่ผ่านมาประเทศไทยเองก็มีการขยายเวลาการลดอัตราภาษีดังกล่าวมาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2535 ที่เริ่มเก็บภาษีแวต ซึ่งในกฎหมายประมวลรัษฎากรให้เก็บในอัตรา 10% แต่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาประกาศลดอัตราภาษีแวตให้เหลือ 7% มาโดยตลอด ทำให้ที่ผ่านมาเราจะได้เห็นการขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีแวตเหลือ 7% มาโดยตลอดทุกปี หรือมีบางช่วงเท่านั้นที่ขยายเพิ่มเป็น 2 ปี พอใกล้ช่วงครบระยะเวลาที่ขยาย รัฐบาลก็จะมีการทบทวนตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และมีคำสั่งขยายเวลาเพิ่มมาโดยตลอด

พูดกันง่าย ๆ ให้เข้าใจมากขึ้น ก็คือ ประเทศไทยอาจยังไม่อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ประประกาศขึ้นอัตราภาษีแวต ซึ่งเก็บจากฐานการใช้จ่าย อุปโภค บริโภคของประชาชนนั่นเอง ด้วยเหตุผลสำคัญคือ เศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ซึ่งการฟื้นตัวที่กำลังเกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีความร้อนแรงมากเกินไป หรือประเทศไม่ได้เจอวิกฤติเศรษฐกิจจนเป็นเหตุผลให้ต้องนำเครื่องมือในการปรับขึ้นภาษีมาลดความร้องแรงลง

ไม่แปลกที่จะเกิดความไม่เข้าใจในทุก ๆ ปี เพราะในทุกปีตามกฎหมายที่ประกาศการคงอัตราภาษีแวตไว้ที่ 7% ทุกตัวอักษรก็ยังใช้เหมือนกันทุกปี เปลี่ยนเพียงวันที่เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าคนที่มีการส่งต่อข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย หรืออื่น ๆ จนทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนและอาจเข้าใจผิดได้จริง ๆ แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่า มีกลุ่มคนบางส่วนที่หวังจะดิสเครดิตรัฐบาล เป็นคนที่คิดสิ่งไม่ดี หรือเป็นผู้ไม่หวังดีนั่นเอง

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ค่อยเป็นค่อยไปนี้เอง คงเป็นเครื่องตอกย้ำได้ชัดเจนว่า ประเทศไทยอาจจะยังอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นภาษีแวต เพราะการคงอัตราภาษีดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการอุปโภคบริโภคของประชาชนได้ รวมทั้งยังช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลทำให้ภาพรวมการบริโภคและการลงทุนของประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องและมั่นคงขึ้น

บรรยง พงษ์พาณิชย์ อดีตคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ค “Banyong Pongpanich” เกี่ยวกับกรณีข่าวรัฐบาลมาเลเซียประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ กับการลดภาษีแวตเหลือ 0% จากปัจจุบันที่ 6% โดยระบุว่า ในส่วนของประเทศไทย สามารถจัดเก็บภาษีแวตได้ปีละ 7.5 แสนล้านบาท ถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 31% ถ้าเลิกจัดเก็บ ก็ต้องไปเก็บทางอื่น เพราะการลดงบประมาณหรือการขาดดุลงบประมาณมากขนาดนั้นทำไม่ได้ (ถ้าทำก็เจ๊งทันที เข้าไอเอ็มเอฟทันที)

เหมือนพวกเรียกร้องให้เลิกเก็บภาษีน้ำมัน ซึ่งเก็บได้รวมภาษีเงินได้ปิโตรเลียมปีละ 2.5 แสนล้านบาท เป็นรายได้กว่า 10% ของรายได้รัฐ ซึ่งถ้าเลิกเก็บในส่วนนี้ก็ต้องเลิกอย่างอื่น และมีงานวิจัยชัดว่า ภาษีน้ำมันนี้เก็บจากคนรวย 10% แรก มากกว่าจากคนจน 10% สุดท้ายถึง 27 เท่านั้น ดังนั้น หันไปควบคุมประสิทธิภาพการใช้งบประมาณกันดีกว่า ภาษีไทยรวมแค่ 17% ของจีดีพี ลดไม่ได้ มีแต่ต้องเก็บเพิ่ม และต้องพยายามเพิ่มจากคนรวยให้มากกว่า

ด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่มีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การใช้จ่ายของประชาชน ที่ปัจจุบันค่าครองชีพหลายตัวต่างพาเหรดปรับขึ้นราคากันแบบฉุดไม่อยู่ ด้วยเหตุผลเรื่องต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่ปรับขึ้น อาจเป็นตัวแปลสำคัญที่ชี้่เป็นชี้ตายว่า “ไทยยังไม่จำเป็นที่จะปรับขึ้นภาษีแวต” เพราะหากมีการปรับขึ้นจริงแล้วนั้น การรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กำลังเพิ่งเริ่มต้นขึ้นนั้น อาจสะดุด! ล้มลงอีกครั้งก็เป็นได้

ไทยยังจำเป็นต้องอาศัยการใช้จ่าย การอุปโภค และการบริโภคภายประชาชนในประเทศ เป็นตัวช่วยสำคัญส่งหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกทั้งการคงอัตราภาษีแวตไว้ที่ 7% ก็ยังมีผลต่อความเชื่้อมั่น ความมั่นใจและการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันทิศทางการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้นจนกลายมาเป็นอีกเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"