อัปสกิลออมแก้ปม“หนี้ครัวเรือน”


เพิ่มเพื่อน    

             สถานการณ์เรื่อง “หนี้ครัวเรือน” เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตา โดยพบว่า ตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยปรับตัวสูงขึ้นมา อยู่ที่ระดับ 86.6% ต่อจีดีพี หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ครัวเรือนดังกล่าว อาจกลายเป็นปัจจัยที่สะท้อนถึงความ “เปราะบาง” ของสถานะทางการเงินของคนไทยเมื่อต้องเผชิญภาวะวิกฤติในมิติต่างๆ

                โดยผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับการออมของภาคครัวเรือนไทย เมื่อไตรมาส 3/2561 พบว่า 5.8 ล้านครัวเรือนไทย หรือ 27.1% ไม่มีเงินออม และครัวเรือนที่มีการออมเงิน มีประมาณ 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% โดยเมื่อพิจารณาถึงวิธีการออมพบว่า คนไทย 38.9% มีพฤติกรรมใช้ก่อนออม, 38.5% มีพฤติกรรมการออมที่ไม่แน่นอน และอีก 22.6% มีพฤติกรรมออมก่อนใช้ นั่นอาจจะเป็นประเด็นที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ทักษะความรู้ด้านการออมของคนไทยยังไม่แข็งแกร่งมากพอ

                ก่อนหน้านี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี 2564 ยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 89-91% ต่อจีดีดี แม้ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวขึ้น ก็น่าจะทำให้เงินกู้ยืมของภาคครัวเรือนปีนี้มีโอกาสเติบโตสูงกว่าปี 2563 ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อเนื่องมาถึงสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในปีนี้ด้วย

                โดยจากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 4/2563 บ่งชี้ว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปิดสิ้นปี 2563 ด้วยจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 18 ปี โดยระดับหนี้ครัวเรือนทะลุ 14 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 89.3% เมื่อเทียบกับจีดีพีปี 2563 อย่างไรก็ดี หากมองในมิติอัตราการเติบโตของหนี้ จะพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนปี 2563 เพิ่มขึ้นเพียง 3.9% เป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี แสดงให้เห็นว่า ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ ต่างเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากผลกระทบของโควิด-19

                ขณะที่ปัจจุบัน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า ครัวเรือนไทยยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ระดับเงินออมมีแนวโน้มลดลง และเริ่มส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยจากการสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้จ่ายของครัวเรือนในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยลดลง หรือไม่ได้ทำเลย โดยเฉพาะการทานอาหารที่ร้าน การซื้ออาหารสดปรุงจากซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงการสั่งอาหารทางแอปพลิเคชัน สะท้อนว่าฐานะทางการเงินของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบาง และอยู่ในช่วงระมัดระวังการใช้จ่าย

                ส่วนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงกลางเดือน พ.ค. 2564 และมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ทยอยออกมา ช่วยหนุนให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 37.3 จาก 37.0 ในเดือน เม.ย.2564 และเมื่อพิจารณาภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือน เม.ย. ที่ 39.4 บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลต่อภาวะการครองชีพจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่มีความยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย.2564 โดยเฉพาะเรื่องของมุมมองต่อเงินออมที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าอย่างมาก

                โดยในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการฟื้นตัวของภาคส่วนต่างๆ จะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการกระจายวัคซีนที่ปูพรมฉีดทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา หากอัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจให้ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่สิ้นสุด ในขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ จะส่งผลให้การออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงมีความจำเป็นเช่นกัน

                ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้วยการ “วางแผนที่ดี และให้ข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ” กับประชาชนที่ต้องมีการปรับตัวเกือบทุกด้านจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้เกิดทักษะในการบริหารจัดการเงินให้มีความพร้อมที่จะรองรับกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว.

ครองขวัญ รอดหมวน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"