ส.ว.ผ่านพรก.กู้เงิน5แสนล. หนุนแก้เพดานหนี้สาธารณะ


เพิ่มเพื่อน    

 ส.ว.ยกมือพร้อมเพรียง 205 เสียงอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน "ประยุทธ์" ย้ำหนี้สาธารณะไม่เกินเพดาน ลั่นไม่ได้เป็นคนสร้างหนี้ทั้งหมด ส.ว.หวั่นเกิดระบาดระลอกใหม่ ประสานเสียงหนุนรัฐบาลปรับแก้เพดานหนี้สาธารณะเพื่อใช้ยามวิกฤติ "เรืองไกร" ชี้ พ.ร.ก.กู้เงินเหมือนตีเช็คเปล่ามีมาตั้งแต่ยุค "แม้ว-มาร์ค-ปู" ยกคำวินิจฉัยศาล รธน.การันตีว่าเป็นอำนาจของรัฐบาล

    ที่รัฐสภา วันที่ 14 มิถุนายน มีการประชุมสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุม มีวาระพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ พ.ร.ก.ดังกล่าว
     โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ส.ว.และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง  วุฒิสภา อภิปรายว่า การกู้ยืมเงินของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.กู้เงินรอบแรกวงเงิน 1 ล้านล้านบาท พบการอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรีทำได้ 93% แต่เบิกจ่ายไปเพียง 29%  ดังนั้นเชื่อว่ามีข้อจำกัดและการติดขัดสำคัญ โดยเฉพาะรายละเอียดที่กำหนดไว้ในบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก. ดังนั้นควรทบทวนและปรับปรุง นอกจากนั้นต้องพิจารณาการเบิกจ่ายเพื่อไม่ให้งบประมาณรั่วไหล ทั้งนี้ตนสนับสนุนการปรับเพดานหนี้สาธารณะ
     "รัฐบาลเตรียมการรองรับอย่างไร หากต้องกู้เงินมากกว่ากรอบ 5 แสนล้านบาท หากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ยังยืดเยื้อ แม้การใช้กรอบวงเงินแต่ละด้านจะเกลี่ยแต่ละด้านเพื่อใช้ในด้านอื่นๆ ได้ แต่การบริหารจัดการใช้วงเงินรัฐบาลควรมีแผนและรายละเอียด” นายวิสุทธิ์กล่าว
     พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ส.ว.และประธาน กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณ อภิปรายว่า จากการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา พบว่าใช้งบประมาณเพื่อเยียวยา ระลอกละ 3 แสนล้านบาท ทำให้การระบาดระลอกที่ 3 ไม่สามารถใช้กรอบเงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทได้  ดังนั้นหากปัญหาไม่คลี่คลาย เงินจะไม่เพียงพอ ทั้งนี้ขอให้หน่วยงานเร่งการติดตาม ประเมินผล และกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายเงินกู้ 1  ล้านล้านบาททุกโครงการ ทั้งนี้เชื่อว่ามีหลายโครงการที่ทำไม่เสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 และต้องดำเนินการต่อในปีหน้า ดังนั้น สปน.และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องเตรียมดำเนินการ
     “ผมกังวลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ที่มาจาก  พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท และส่วนที่เหลือของ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รวมถึงการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปลายปี 2564 เพราะที่ผ่านมารัฐบาลกู้เงินแล้ว 2.3 แสนล้านบาท อาจจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น ผมเห็นด้วยกับการปรับปรุงเพดานหนี้สาธารณะ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ” พล.อ.ชาตอุดมกล่าว
      จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม  กล่าวชี้แจงว่า สำหรับหนี้สาธารณะตนก็ต้องบริหารการกู้เงิน ไม่ให้หนี้สาธารณะเกินเพดานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ไม่ใช่กู้ทั้งหมดในคราวเดียว หลายคนบอกว่าหนี้สาธารณะเราเกิน ก็จะเกิน กู้มากมันก็เกิน ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องกู้ ไม่จำเป็นจะกู้ทำไม ก่อนหน้านี้ประเทศมีหนี้สาธารณะเท่าไหร่ ตนเป็นคนสร้างหนี้สาธารณะทั้งหมดหรือไม่ ขอความเป็นธรรมให้ด้วย ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าไม่อยากยึดอำนาจ 30 กว่าฉบับเพื่อสั่งการเอง  เพียงแต่ต้องการปลดล็อกให้หน่วยงานภาคส่วนต่างๆ        
    หลังจากนั้น นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า  ที่ผ่านมาตนคัดค้านกฎหมายกู้เงินในรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย เพราะตัดบทบาทการตรวจสอบของอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.2550 แต่รอบปัจจุบันตนจะสนับสนุนและอนุมัติในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะตามกฎหมายรวมถึงรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินการได้ อย่างไรก็ดีตนแทบไม่มีเหตุผลที่จะคัดค้าน พ.ร.ก.ดังกล่าว แต่ขอเสนอแนะรัฐบาลไว้ปฏิบัติในอนาคตเพื่อเป็นทางเลือก คือแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 มาตรา 21  ขยายกรอบยอดเงินกู้ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อใช้เฉพาะกิจยามวิกฤติ เช่น 2 ปี หรือ 5 ปี
     ต่อมาเวลา 17.05 น. ภายหลังจากที่ ส.ว.ได้อภิปรายแสดงความเห็นหลากหลายแล้ว ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติอนุมัติ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นการร่วมชี้แจงครั้งแรกในรอบปี 2564 ด้วยคะแนนเสียง 205 เสียง  งดออกเสียง 2 เสียง
    วันเดียวกัน นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 แถลงความคืบหน้าผลการประชุม โดยนายสรวุฒิกล่าวว่า กรรมาธิการได้พิจารณางบประมาณของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลัง 3 หน่วยงาน คือ 1.กรมศุลกากร งบประมาณทั้งสิ้น  4,095,258,400 บาท 2.กรมสรรพสามิต งบประมาณทั้งสิ้น 2,194,317,000 บาท 3.กรมสรรพากร งบประมาณทั้งสิ้น 9,569,318,900 บาท ในส่วนของกรมสรรพสามิต  กมธ.หารือเกี่ยวกับแนวทางในเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ มีกรรมาธิการบางคนเห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ เพราะในหลายประเทศ  เช่น อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ประเทศในแถบยุโรป มีการประกาศห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีปัญหาด้านสุขภาพตามมา รัฐบาลต้องนำงบประมาณของประเทศมาใช้รักษาปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่จำนวนมาก โรคที่เกิดจากผลของบุหรี่ไฟฟ้า เช่น โรคถุงลมโป่งพองและโรคทางเดินหายใจ ทำให้มีผู้เสียชีวิตต่อปีจำนวนมาก
    นายสรวุฒิกล่าวด้วยว่า ควรมีการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อบูรณาการระบบการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นระบบ โดยองค์กรดังกล่าวต้องมีความเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองหรือกลุ่มบุคคลใด โดยรวมทั้ง 3 หน่วยงาน  คือ กรมศุลกากร, กรมสรรพสามิต, กรมสรรพากร ซึ่งรัฐบาลควรไปหารือต่อไป
     ด้านนายเรืองไกรกล่าวว่า กมธ.หลายคนให้ความสนใจเรื่องหนี้สาธารณะ ประเด็นอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และสถานะทางการเงินการคลังของประเทศไทย สืบเนื่องจากการอภิปราย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินโดยการออกเป็น พ.ร.ก.หลักๆ มี 5 ฉบับ  ได้แก่ ปี 2554 สมัยที่นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7.8 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูสถาบันการเงิน 2.ปี 2552 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ มีการออก พ.ร.ก.กู้เงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท 3.ปี 2555 สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ มีการออก  พ.ร.ก.น้ำ วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่ง กมธ.ต้องถามสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพราะ พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับเป็นเงินกู้ที่ไม่มีรายละเอียด เพราะนำมาใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินรวม 1.53 ล้านล้านบาท  
     "สมัย พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เมื่อปี 2563 มีการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท สปน.ชี้แจงว่าขณะนี้ใช้เกือบหมดแล้ว ล่าสุดรัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท รวม 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งทั้ง 5  ฉบับตัวเลขไม่ต่างกัน การออกเป็น พ.ร.ก.เหมือนการตีเช็คเปล่า จะเห็นได้ว่าไม่ใช่เพิ่งออกแค่สมัยนี้ ตามกฎหมายแล้วสามารถทำได้ ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย นอกจากนี้  กมธ.ยังให้ความสนใจเรื่องการคำนวณหนี้สาธารณะต่อจีดีพีว่าจะใช้ตัวเลขไหนกันแน่ ระหว่างหนี้ที่เกิดขึ้นแล้วหรือหนี้ที่กำลังจะเกิด ซึ่งปี 2564 มีเงินที่รัฐบาลเก็บไม่เข้าเป้าอีก ตรงนี้จะทำอย่างไรคงต้องให้ สปน.ชี้แจงต่อไป" นายเรืองไกรกล่าว.  

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"