ประกาศควํ่าร่างปิดสวิตช์ส.ว.


เพิ่มเพื่อน    

พาเหรดยื่นรื้อ รธน. ฝ่ายค้านยื่น 5 ร่างแก้รายมาตรา ตัดอำนาจ ส.ว.-คสช.-ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มั่นใจแก้ 256 ตั้ง ส.ร.ร.ไม่ขัดคำวินิจฉัยศาล รธน. "พิธา" อ้างเป็นเรื่องปกติ ส.ส.เห็นต่างกับฉบับเพื่อไทย ‘กลุ่มรีโซลูชั่น’ ยื่นร่างฉบับ ปชช. ชวน ปชช.ลงชื่อหนุนรื้อระบอบประยุทธ์ ขณะที่ 3 พรรคร่วมรัฐบาลร่วมยื่น 8 ร่าง แต่ ชทพ.ไม่เอาด้วย ตัดอำนาจ ส.ว.เชื่อไม่ผ่าน "ชวน" นัดถก 23 มิ.ย.นี้ "เพื่อไทย" ผวา พปชร.สับขาหลอก สุดท้ายไม่ได้แก้แล้วยุบสภาฯ ใช้กติกาเก่า ส.ว.ประกาศลั่นคว่ำร่างปิดสวิตช์ ส.ว.เล็งผ่านเฉพาะฉบับของ พปชร.
    ที่รัฐสภา เวลา 12.30 น. วันที่ 16 มิถุนายน นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พร้อมคณะแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน อาทิ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย เป็นต้น ร่วมยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  
    โดยนายประเสริฐกล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ได้ยื่นครั้งนี้มี 5 ร่าง ประกอบด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 โดยมีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อบางส่วน 2.การแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นร่างที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านลงชื่อกันอย่างพร้อมเพรียง 3.การแก้ไขเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 มาตรา 29 เรื่องการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา 45 และ 47 เรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 4.การแก้ไขมาตรา 83 ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ให้มี ส.ส.แบ่งเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แทนระบบจัดสรรปันส่วนผสม 5.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 275 และ 279 ในเรื่องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การยกเลิกอำนาจ คสช.  
    “ยืนยันว่า การขอแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการรัฐสภา ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อร่าง พ.ร.บ.ประชามติผ่านความเห็นชอบจากสภาโดยสมบูรณ์ ก็จะสอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านเสนอไป ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอมานานแล้ว ยึดแนวทางเก่าที่พรรคเพื่อไทยเคยทำมา เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เราอาจมีความคิดไม่ตรงกันบ้างบางประเด็น แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ จะเกิดการถกเถียงจนมีทางเลือกดีที่สุดแก่ประชาชน” นายประเสริฐกล่าว  
    นายพิธากล่าวว่า พรรคก้าวไกลจะร่วมกับพรรคเพื่อไทย ในการจะร่วมเสนอแก้ไข โดยเฉพาะมาตรา 272 เรื่องตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ เพราะเป็นต้นตอความบิดเบี้ยว เวลาสื่อสารไม่อยากให้สับสน เพราะการเสนอแก้ไขรอบนี้แต่ละพรรคมีหลายประเด็น สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้คือ การเอา ส.ว. 250 คนออกจากระบบการเมืองไทย  
    ขณะเดียวกัน กลุ่ม Re-solution ประกอบด้วย กลุ่มคณะก้าวหน้า รัฐธรรมนูญก้าวหน้า พรรคก้าวไกล และไอลอว์ นำโดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และ น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ ตัวแทนกลุ่ม ยื่นหนังสือเพื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พร้อมเชิญชวนให้ร่วมลงชื่อร่างรัฐธรรมนูญปี 60 ถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่าน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาฯ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก และนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล
    นายยิ่งชีพกล่าวว่า นาทีนี้ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญที่ควรจะแก้ไขให้เร็วที่สุดก็คือเรื่องที่มาและอำนาจของ ส.ว. หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องใดก็แล้วแต่ แต่ไม่มีการแก้ไขประเด็นที่มาและอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาก็จะไม่มีประโยชน์ และจะไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองในปัจจุบันได้
    “ดังนั้นกลุ่ม Re-Solution จึงยืนยันจุดยืนเดิมคือ จะต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่โดยให้ประชาชนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งขณะนี้กลุ่มอยู่ระหว่างการเปิดรับรายชื่อจากพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งหากได้รายชื่อครบ 5 หมื่นรายชื่อตามกฎหมายกำหนด ก็จะเดินทางมายื่นรายชื่อต่อรัฐสภาอีกครั้ง จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมส่งรายชื่อเพื่อร่วมกันรื้อระบอบประยุทธ์ และแก้ที่มาขององค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อไม่ให้มาจากการแต่งตั้งของ คสช." นายยิ่งชีพกล่าว
    ด้าน นพ.สุกิจกล่าวว่า จะนำร่างในวันนี้ส่งไปยังประธานรัฐสภาเพื่อพิจารณาและตรวจสอบตามกระบวนกฎหมายกำหนด ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน และจะแจ้งความคืบหน้ากลับไปยังคณะผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย
พรรค รบ.ยื่นแก้ รธน. 8 ฉบับ
    ต่อมาเวลา 16.00 น. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ยื่น 8 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา  
นายชินวรณ์กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 3 พรรค มีความเห็นพ้องต้องกันที่จะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน 8 ร่าง ประกอบด้วย ร่างพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 6 ร่าง ได้แก่ 1.ประเด็นแก้ไขมาตราว่าด้วยสิทธิของประชาชน 4 มาตรา 2.ระบบเลือกตั้ง ให้มี ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เลือกตั้งโดยบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ 3.เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี 4.ประเด็นแก้ไข มาตรา 256 5.ประเด็นการตรวจสอบการกระทำที่ผิดจริยธรรมของกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 6.การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น         
    นายศุภชัยกล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยเสนอ 2 ประเด็น คือ 1.เรื่องปากท้องของประชาชน โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมหนึ่งมาตรา เพื่อให้รัฐมีบทบาทหน้าที่เพิ่มขึ้น ในเรื่องหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าให้กับประชาชนอยู่ที่ 36,000 บาทต่อปี 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 65 ซึ่งยุทธศาสตร์ชาติควรที่จะต้องมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้เพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ประเทศและสถานการณ์โลก ส่วนเรื่องการแก้ไขมาตรา 272 เรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาที่มีอำนาจลงมติเลือกนายกฯ พรรคมีหลักการเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์เลย ตัดสินใจนำไปร่วมเป็นร่างเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน 
    ส่วนนายนิกรกล่าวว่า พรรคมี ส.ส. 12 คน ในส่วนของพรรคได้ร่วมลงชื่อกับทุกร่าง ยกเว้นการแก้ไขมาตรา 272 เพราะมองว่าถ้า ส.ว.ไม่ลงชื่อสนับสนุนด้วยก็ไม่ผ่าน อีกทั้งประเด็นการตัดอำนาจ ส.ว.อาจจะต้องไปทำประชามติก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับการไปเปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ 
    เมื่อถามว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านก็เสนอการยื่นเรื่องปิดสวิตช์ ส.ว. พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยจะโหวตให้ด้วยหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ร่างใดที่สมาชิกเห็นพ้องต้องกันไม่ว่าร่างนั้นจะเป็นของฝ่ายไหนก็เป็นเอกสิทธิ์ที่จะลงมติให้ความเห็นชอบได้ และเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาในการตัดสินใจต้องไม่อยู่ภายใต้การครอบงำใดๆ
    ทางด้านนายชวนกล่าวว่า ได้กำหนดวาระประชุมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 22-23มิ.ย. วันที่ 22 มิ.ย. เป็นการประชุมร่างกฎหมายที่ค้าง วันที่ 23 มิ.ย.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ จะพยายามทำให้เสร็จในวันเดียว หากไม่เสร็จจะต่อการพิจารณาในวันที่ 24 มิ.ย.อีกหนึ่งวัน ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะดูว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอร่างแก้ไขมาจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้นำไปพิจารณาพร้อมกับฉบับของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นมารอไว้แล้ว 
    ที่ห้องประชุม Think Lab ที่ทำการพรรคเพื่อไทย มีการจัดเสวนาหัวข้อ "แก้รัฐธรรมนูญ แก้วิกฤติประเทศ?" มีนายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการการเมือง พรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ร่วมเสวนา  
    นายสุทินกล่าวว่า ขอเรียกร้องพรรคร่วมฝ่ายค้านต้องทันเกม ประเด็นการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ของพรรคพลังประชารัฐ เป็นเกมสับขาหลอกของรัฐบาล นอกจากทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านทะเลาะกันแล้ว พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลยังระส่ำระสายด้วย สุดท้ายเมื่อเข้าสภากลายเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาลมีเหตุผลสร้างความชอบธรรมให้คว่ำทิ้ง เพราะอ้างว่าไม่มีฝ่ายใดสนับสนุน สรุปไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญ ใช้ระบบบัตรใบเดียวแบบเดิม มาตราที่จะต่ออำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์อย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่คือมาตรา 272 ที่จะมาต่ออำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งหมดคือเป็นการสืบทอดอำนาจที่แท้จริง จุดนี้เราต้องล้มให้ได้ 
ส.ว.ลั่นคว่ำร่างปิดสวิตช์ ส.ว.
    ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงการยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคฝ่ายค้านที่แก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ แต่ต้องมีเนื้อหาเหมาะสม ไม่ใช่ทำเพื่อประโยชน์ตัวเอง ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ถ้าเป็นเช่นนี้ ส.ว.ไม่ร่วมมือด้วยแน่นอน โดยเฉพาะการตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เป็นการลุแก่อำนาจไม่เห็นด้วย การโหวตเลือกนายกฯ ของ ส.ว. เป็นอำนาจตามบทเฉพาะกาล 5 ปี เพื่อมาแก้วิกฤติประเทศ เสียง ส.ว.ไม่มีผลอะไรเลย ถ้ามีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ไม่ถึงครึ่งในการโหวตนายกฯ การแก้มาตรา 272 ทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกันจึงจะสำเร็จ ถ้า ส.ว.ไม่ร่วมมือด้วยก็ไม่มีทางสำเร็จ 
    "ขอเตือนสติให้รับรู้ว่าใครที่ทำเก่งทำกล้า เสนอแก้รัฐธรรมนูญที่ลุแก่อำนาจ เน้นแต่หาเสียง สนุกปากเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าพรรคใดเสนอมาจะไม่ผ่านแม้แต่ร่างเดียว ส.ว.จะไม่รับร่าง เพราะไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา เป็นแค่การหาเสียง มุ่งแสดงอำนาจบาตรใหญ่" นายเสรีกล่าว
    นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า การที่ฝ่ายค้านจะเสนอแก้รัฐธรรมนูญทั้งการให้ตั้ง ส.ส.ร.และการตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตนายกฯ นั้น โม้ได้แต่จะทำได้หรือไม่ เพราะจะต้องอาศัยเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงขึ้นไปในการสนับสนุน ดูแล้วโอกาสผ่านยาก เพราะเรื่องการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ทำประชามติก่อน หรือการตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ เป็นการทำเพื่อหาเสียง ขณะนี้เสียง ส.ว.ตกผลึก เบื้องต้นจะให้ผ่านเฉพาะร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ส่วนร่างของฝ่ายค้านคงไม่ผ่าน ขณะที่ร่างพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และชาติไทยพัฒนานั้น ถ้าเสนออยู่ในหลักการที่เป็นไปได้ ไม่สุดโต่ง ทำเพื่อหาเสียงให้ตัวเอง ส.ว.ก็ยินดีสนับสนุน 
    "แต่ถ้าสุดโต่งเกินไป ก็คงไม่ผ่าน ต้องไปหาเสียงสนับสนุนเอาเอง ยืนยัน ส.ว.ไม่ใช่อุปสรรคแก้รัฐธรรมนูญ และเป็นที่พึ่งฝากความหวังได้ เห็นแก่บ้านเมืองมากกว่านักการเมืองด้วยซ้ำ" นายกิตติศักดิ์กล่าว
    ทางด้าน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ ส.ว.ประกาศว่าจะไม่ให้ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองที่เสนอตัดอำนาจ ส.ว.ในการร่วมโหวตนายกฯ และจะขอรับร่างของพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ยิ่งตอกย้ำว่ากระบวนการขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2563 ส.ว.และพรรคพลังประชารัฐ จับมือกันสร้างอุปสรรคขัดขวางเพื่อเป็นหลักค้ำยันให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อจนแทบไม่เหลือศักดิ์ศรีของการทำหน้าที่ จึงเสนอให้ ส.ว.เหล่านั้นลาออกแล้วรอเว้นวรรค เพื่อไปสมัครสมาชิกพรรคการเมืองดีกว่า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"