นายกฯสยบวัคซีนขาด ซื้อแล้ว105.5ล้านโดส


เพิ่มเพื่อน    

 "ประยุทธ์" โอ่ลงนามสัญญาซื้อวัคซีนเกินเป้าหมายแล้ว ตอนนี้ได้ 105.5 ล้านโดส เตรียมส่งมอบในปีนี้  พร้อมยันจะหาเพิ่มเติมในปีหน้า ชมรมแพทย์ชนบทตั้งข้อสังเกตจับตา "ก.ค.-ส.ค." แอสตร้าฯ อาจไม่ถึงฝัน เหตุสยามไบโอไซเอนซ์เป็นโรงงานใหม่ยังไม่เข้าเป้า "มาดามเดียร์" บี้ กทม.งัดเงินเก็บซื้อวัคซีนฉีดคนกรุง
    เมื่อวันพุธที่ 16 มิถุนายน หลังเคารพธงชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) ตอนหนึ่งถึงเรื่องการจัดหาวัคซีนว่า "ได้เดินหน้าเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี จนถึงปัจจุบันเราอยู่ในระหว่างการทำงานกับผู้ผลิตวัคซีน 6 รายแล้ว ได้แก่ ไฟเซอร์, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, โมเดอร์นา รวมถึงแอสตร้าเซนเนก้า, ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม โดยได้มีการลงนามในสัญญาจองหรือสัญญาซื้อไปแล้ว 105.5 ล้านโดส ทำได้เกินเป้าหมายที่เราตั้งไว้สำหรับปีนี้ โดยทั้งหมดจะทยอยส่งมอบเข้ามาภายในปีนี้ และจะทยอยฉีดต่อไป พร้อมกันนี้เรายังจะเดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกสำหรับปีหน้า
    "ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขทั้งในสิงคโปร์และไต้หวัน ต่างก็ออกมาพูดว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด คือปัญหาการสั่งซื้อวัคซีนจากผู้ผลิตในต่างประเทศ ตอนนี้เขาคิดเหมือนไทย และได้ตัดสินใจแล้วว่าหนทางที่จะทำให้ประเทศของตัวเองเข้าถึงวัคซีนได้อย่างยั่งยืน คือต้องผลิตในประเทศ นี่คือสิ่งที่เค้ากำลังดำเนินการอยู่ในที่สุด การมีโรงงานผลิตวัคซีนโควิด-19 อยู่ในไทย จะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในระยะยาว ซึ่งแนวทางนี้เราได้เลือกมาตั้งแต่ต้น และถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ก่อนหน้านี้ เพจชมรมแพทย์ชนบทได้โพสต์ในหัวข้อ  "ลับลวงพราง วัคซีนโควิด ตอน 13 โรงงานวัคซีนแอสตร้าไทยแลนด์ ความจริงบางประการที่สังคมไทยควรรู้" ระบุว่า  "แอสตร้าเซนเนก้าเป็นบริษัทยาเอกชนของอังกฤษ โรงงานวัคซีนของแอสตร้าฯ มี 25 แห่งทั่วโลก ซึ่งไทยเองในนามสยามไบโอไซเอนซ์ กำลังการผลิต 200 ล้านโดสต่อปี  โดยสิทธิในการกระจายวัคซีนยังเป็นของบริษัทแม่คือแอสตร้าเซนเนก้า แต่เนื่องจากโรงงานอยู่ในไทย เราก็พอจะเจรจาต่อรองขอกันแบบไทยๆ ได้ในระดับหนึ่ง"
เพจชมรมแพทย์ชนบทระบุว่า "ขณะนี้สยามไบโอไซเอนซ์มียอดการสั่งวัคซีนมาแล้ว 8 ประเทศ กำลังการผลิตที่ตั้งใจไว้คือ 15 ล้านโดสต่อเดือน ซึ่งยังผลิตได้ไม่ถึงเป้า ตัวเลขที่ ศบค.แถลงคือ ตั้งแต่ ก.ค.ส่งไทยเดือนละ  10 ล้านโดส ที่เหลือนั้นก็แปลว่าส่งออก แต่ในเดือน มิ.ย.นี้  ไต้หวัน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้โวยออกสื่อมาแล้วว่าไทยเบี้ยวการส่งวัคซีนให้เขา หากกำลังการผลิตเต็มที่ที่  15 ล้านโดสต่อเดือน การส่งออกเพียงเดือนละ 5 ล้านโดสก็น่าไม่พอ ซึ่งความจริงเป็นอย่างไรคงมีไม่กี่คนที่รู้ เพราะยากที่ใครจะได้เห็นสัญญาการจัดซื้อวัคซีน"
"สยามไบโอไซเอนซ์เป็นโรงงานใหม่ ไม่เคยผลิตวัคซีนมาก่อน ในขณะที่โรงงานแอสตร้าฯ ที่อินเดียและเกาหลีใต้เป็นโรงงานวัคซีนเดิมมาก่อน ทำให้ต้องปรับแก้ให้เข้ามาตรฐาน ยังไม่คล่อง จึงผลิตได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อสถานการณ์ของแอสตร้าฯ ไทยแลนด์เป็นเช่นนี้   เดือน ก.ค.-ส.ค.ก็น่าจะยังต้องลุ้นกับภาวะการมีวัคซีนไม่พอฉีดต่อไป รัฐบาลก็รู้ แต่พูดมากคงไม่ได้ เลยต้องเร่งเจรจากับซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และไฟเซอร์ หวังจะได้ผ่อนหนักเป็นเบา"
    ขณะเดียวกันแอสตร้าเซนเนก้าได้ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ในหัวข้อ "วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตา  (สายพันธุ์อินเดีย)" โดยยืนยันว่าวัคซีนมีประสิทธิผลสูงถึง  92% ในการลดการนอนโรงพยาบาลจากสายพันธุ์เดลตา  รวมทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงถึง 86% ในการป้องกันสายพันธุ์อัลฟา หรือสายพันธุ์อังกฤษ
    วันเดียวกัน ยังถือเป็นวันแรกที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเปิดให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังในกรุงเทพฯ ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม แต่ถูกโรงพยาบาลต่างๆ เลื่อนนัดหมายออกไปให้มาฉีดวัคซีนได้  โดยพบว่ามีกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรังทยอยเดินทางมาฉีดอย่างต่อเนื่อง 
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าสามารถรองรับได้วันละ 2,000 คน หรือเฉลี่ย 200 คนต่อชั่วโมง โดยผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคที่ถูกเลื่อนออกไปฉีดเดือน  ก.ค. แต่ไม่อยากรอสามารถเดินทางมารับการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อได้ โดยโทร.ติดต่อไปที่เบอร์กลางของหมอพร้อมที่มีถึง 200 คู่สายเพื่อนัดหมาย
ขณะเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ  รมว.สาธารณสุข พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อเพื่อตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค โดยนายอนุทินระบุว่า  มีผู้สูงอายุมาฉีดวันนี้วันแรกกว่า 1,000 คน ถือว่าวันนี้เราได้แบ่งเบาภาระของ กทม. จะได้เกิดความชัดเจนว่าเราไม่ได้ขัดแย้งอะไรกัน ช่วยกันทำงาน มีอะไรที่ไม่เข้าใจกันก็ปรับจูนกัน 
    นายอนุทินยังกล่าวถึงจำนวนวัคซีนว่า มีมาเรื่อยๆ  นับไม่ถูก โดยวันที่ 16 มิ.ย. กรมควบคุมโรคได้รับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 6 แสนโดส เมื่อได้มาแล้วก็จะกระจายเลยตามสูตรการจัดสรรวัคซีนของ ศบค. จากนั้นวันที่ 18 มิ.ย.จะรับมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอีก 1  ล้านโดส รวมเป็น 1.6 ล้านโดส
     เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานข่าวมาอีกครั้งว่า มีการจัดสรรวัคซีนของแอสตร้าฯ จำนวนมากลงไปพื้นที่ จ.บุรีรัมย์  นายอนุทินกล่าวว่า เป็นเฟกนิวส์ที่เก่ามากแล้ว ขอยืนยันว่าเป็น ส.ส.บุรีรัมย์ แต่ก็เป็น รมว.สาธารณสุขของไทย ไม่ทำอะไรมักง่ายแบบนั้น เมื่อถามย้ำว่า เพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้ สามารถจะเปิดเผยตัวเลขการจัดสรรวัคซีนไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ได้หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า มีหน้าที่ในการดูระดับนโยบาย ไม่ได้มีหน้าที่ในการลงไปดูตัวเลขในรายจังหวัดขนาดนั้น จึงไม่ทราบ
    ส่วนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้แจ้งปิดระบบการยื่นความประสงค์ขอรับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม  ระยะที่ 1 (สำหรับองค์กรและหน่วยงาน) ในวันที่ 18  มิถุนายน 2564 เวลา 16.00 น.เป็นต้นไป พร้อมเน้นย้ำว่าแต่ละองค์กรหรือหน่วยงานควรตรวจสอบข้อมูลและเอกสารให้เรียบร้อยก่อนส่ง และจะไม่รับแก้ไขจำนวนการขอรับวัคซีน โดยองค์กรและหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกในระยะที่ 1 ต้องชำระเงินค่าวัคซีนเต็มจำนวนและบริจาค 10% ของจำนวนมูลค่าวัคซีนตัวเลือกที่ได้รับการจัดสรรภายใน 3 วันทำการ หลังจากได้รับอีเมลยืนยันการตอบรับการจัดสรรวัคซีน
    ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการโฆษณาฉีดวัคซีนของ รพ.เอกชนว่า ทำได้แต่ต้องอยู่ในเกณฑ์ 5 ข้อ 1.วัคซีนที่จะโฆษณาต้องได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยา และได้รับการอนุมัติให้โฆษณายาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 2.โฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล ต้องยื่นขออนุมัติจากผู้อนุญาตตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 3.หากมีการเรียกเก็บเงินมัดจำ หรือค่าใช้จ่ายใดๆ จากประชาชน หากไม่สามารถดำเนินการต้องคืนเงินมัดจำหรือค่าใช้จ่ายใดๆ  เต็มจำนวน 4.การกำหนดเวลาในการฉีดวัคซีน ต้องใกล้เคียงที่จะได้รับวัคซีนมาให้บริการจริงมากที่สุด และ 5.ในการโฆษณาทุกครั้งต้องระบุข้อความ "รัฐบาลได้มีการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย"  และ "ส่วนการจองวัคซีนโควิด-19 ของสถานพยาบาลเอกชน เป็นทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนสามารถเลือกรับบริการได้ แต่ต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง" เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาตัดสินใจก่อนรับบริการ
    ขณะเดียวกัน ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ พรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) นำโดย น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พร้อมใจกันโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า พวกเราขอเสนอ! ให้ผู้ว่าฯ กทม. นำเงินจ่ายขาดสะสมงบประมาณปี 2564  มาซื้อวัคซีนให้คนกรุงเทพฯ
ส่วนความเคลื่อนไหวต่างจังหวัด ได้เกิดกรณีนายอดุลย์ ดวงสร้อย อายุ 51 ปี ผู้ช่วยช่างภาพทีวีช่องหนึ่ง ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางเข้าพบ พญ.ลดาวรรณ  หาญไพโรจน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังการชี้แจงกรณีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ต่างยี่ห้อกัน ทำให้เกิดความกังวล โดย พญ.ลดาวรรณได้นำนายอดุลย์ไปยังจุดให้บริการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลนครพิงค์ เพื่อชี้แจงขั้นตอนต่างๆ  ก่อนระบุว่าเกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ในการลงรหัสวัคซีนผิด ทำให้ใบรับรองที่ออกมาเข็มที่สองกลายเป็นแอสตร้าเซนเนก้า แต่เมื่อตรวจสอบแล้วยืนยันได้ว่า วัคซีนเข็มที่สองที่นายอดุลย์ฉีดคือซิโนแวคเหมือนเข็มแรก โดยหลังการชี้แจงแล้ว พญ.ลดาวรรณได้นำใบรับรองการฉีดวัคซีน ที่แก้ไขข้อมูลวัคซีนเข็มที่สองให้เป็นซิโนแวคมอบให้แก่นายอดุลย์ เพื่อการันตีว่าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สองเข็มเรียบร้อยแล้ว
    “แม้จะฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อกัน แต่ไม่มีอันตรายและภูมิคุ้มกันก็ขึ้นดีเช่นเดียวกับการฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกัน ซึ่งในต่างประเทศมีการวิจัยไว้แล้ว ส่วนกรณีที่นายอดุลย์ที่เกิดอาการโรคเกาต์กำเริบ ไม่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน" พญ.ลดาวรรณระบุ
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค.แถลงเรื่องนี้ว่า ในโลกโซเชียลของไทยเราก็ได้มีการสอบถามกันมาก และในต่างประเทศเองก็สงสัยในกรณีนี้เช่นกัน ซึ่งในทางการแพทย์ยังต้องมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งในไทยก็มีหลายหน่วยงานพยายามศึกษาอยู่ หรือแม้แต่ที่สหรัฐอเมริกา เกาหลี ก็มีความพยายามที่จะศึกษาอยู่เช่นกัน โดยในเบื้องต้นมีการนำการวัดภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ทั้งจากคนที่ติดเชื้อโดยธรรมชาติ การใช้วัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง เข็มที่หนึ่งเข็มที่สองเหมือนกันมาเทียบกันกับคนที่ฉีดเข็มหนึ่งเข็มสองคนละยี่ห้อ อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าการศึกษาวิจัยเหล่านั้นยังไม่มีใครที่จะกล้าสรุปว่าแบบใดจะได้ประสิทธิภาพดีกว่า  ขอให้ฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและกระทรวงสาธารณสุขด้วย.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"