ท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน    

ร่วม 2 ปีที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลุบๆ โผล่ๆ รอบแรกก็ว่าสาหัสสากรรจ์แล้ว มาเจอรอบ 2 ก็ยังพอรับมือได้ แต่มารอบ 3 ล่าสุดแสนสาหัส เศรษฐกิจที่กำลังจะโงหัวขึ้นก็ดิ่งลงทันที แม้กระทั่งการท่องเที่ยวก็ดิ่งลงเหวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นี่ก็ได้แค่คาดหวังการปูพรมฉีดวัคซีนของรัฐบาล และ “โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่จะเริ่ม 1 ก.ค.2564 ทดลองเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว จะเป็นต้นแบบที่คุ้มและเหมาะสมจนสามารถขยายไปในพื้นที่อื่นได้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

                เพราะในช่วงที่ผ่านมานั้น แม้หลายคนคงจะมีความอึดอัดกับการที่ต้องงดการเดินทางหยุดเชื้อเพื่อชาติ และไม่สามารถที่จะท่องโลกกว้างเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากหน้าที่การงานเช่นที่ผ่านมาก็ตาม แต่ก็หวังลึกๆ ถึงการปูพรมฉีดวัคซีนของรัฐบาลให้กับประชาชน และจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมเข้ามาเสริมทัพเพื่อให้ครอบคลุมประชากร 70% ในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายในสิ้นปีนี้ เป็นนสัญญาณที่ดีสำหรับการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ให้กลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ซึ่งก็รวมถึง “การท่องเที่ยว”

                แม้ว่ารัฐบาลจะปูพรมฉีดวัคซีน แต่ก็ไม่ได้ราบรื่นเหมือนที่คิด ยังลุ่มๆ ดอนๆ เลื่อนบ้างไม่เลื่อนบ้าง ก็เข้าใจเมื่อความต้องการมีมากกว่าการผลิต ก็เป็นปกติที่จะเกิดปัญหาล่าช้า แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาประกาศว่าประชาชนจะได้ฉีดวัคซีนก็ใจชื้นขึ้นมาหน่อย เชื่อไม่นานเกินรอได้ฉีดกันแน่ ส่วนใครที่ยังไม่ลงทะเบียนก็รีบดำเนินการซะ และในระหว่างการท่องโลกกว้างก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยนิวนอร์มอล โดยการท่องโลกกว้างด้วยปลายนิ้วผ่านหน้าจอมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ เหมือนกับที่หลายๆ คนได้เริ่มปักหมุดท่องโลกกว้างด้วยปลายนิ้ว หรือที่หลายๆ คนเรียนกันว่าเที่ยวทิพย์

                ซึ่งหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น การท่องเที่ยวในวิถีชุมชนได้รับความสนใจมากขึ้น ดังนั้นที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้ทำหน้าเป็นพี่เลี้ยงนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอด ยกระดับมาตรฐาน โดยมุ่งหวังเพื่อสร้างเศรษฐกิจในระดับชุมชนให้เกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และสามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนผู้เป็นเจ้าของพื้นที่ ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกทางการตลาด ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง แต่เหนืออื่นใด การพัฒนาของ อพท. ต้องไม่ละเลยที่จะนำวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียมประจำถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์มาเป็นจุดขายผ่านการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ จึงมีความทันสมัย ทำให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนหลายแห่งสร้างชื่อเสียงไปไกลถึงต่างประเทศ

                นอกจากนี้แล้วยังได้มุ่งสร้างเครือข่ายชุมชนจนมีความพร้อม และสามารถยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network - UCCN) ภายใต้แผนงานด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนต่างๆ ของจังหวัดสุโขทัย เช่น ชุมชนกงไกรลาศ ชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย ชุมชนนาเชิงคีรี ชุมชนทุ่งหลวง อำเภอคีรีมาส แต่ละชุมชนนับว่ามีต้นทุนเป็นแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกทั้งจังหวัด

                ยังมีจังหวัดน่านที่เป็นแหล่งศิลปะและหัตถกรรมที่สำคัญ ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งพื้นที่อนุรักษ์ด้านโบราณสถานและศาสนสถาน อุดมสมบูรณ์ไปด้วยงานฝีมือและหัตถกรรมผ้าทอมือที่เลื่องชื่อ ภายใต้แบรนด์ “น่านเน้อเจ้า” ด้วยลวดลายซับซ้อนและงดงาม จนสามารถนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้สอดรับกับยุคสมัยปัจจุบัน สร้างเป็นรายได้ให้กับชุมชนได้ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากวิถีการทอผ้าสู่การสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน

                นอกจากนี้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชน “นาเกลือ” ในเมืองพัทยา ที่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายของ อพท.ที่อยู่ในแผนการยกระดับให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมก้าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลก หรือ GSTC ดังนั้น “ชุมชนนาเกลือ” เป็นอีกจุดหมายของการส่งเสริมท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ แม้ภายใต้สภาวะการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น การท่องเที่ยวหยุดชะงัก แต่ได้มีการนำผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขึ้นชื่อเข้าสู่ตลาดออนไลน์ https://smartdastaapp.dasta.or.th ใครพร้อม เตรียมตัวแพลนออกเดินทางได้ เพราะระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ.

บุญช่วย ค้ายาดี

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"