ร่างรธน.ส่อแท้งศาลเคยตีตก


เพิ่มเพื่อน    

 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญส่อเค้าแท้งก่อนบรรจุวาระแล้ว “หมอสุกิจ” นัดหารือทีมกฎหมายด่วน 18 มิ.ย. หลังพบเนื้อหาที่เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก “เพื่อไทย” ยันไม่มีปัญหา เพราะเป็นร่างที่ทำตามข้อเสนอศาลที่ให้ทำประชามติก่อน เพราะย้อนเกล็ดเป็นร่างที่สภาสูงเคยเห็นชอบแล้ว
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน ยังคงมีความต่อเนื่องในญัตติการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้านเสนอรวม 14 ฉบับ โดย นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดของญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.ยื่น 14 ฉบับ พบว่า 13 ญัตติ ไม่มีปัญหาและบรรจุในระเบียบวาระได้ แต่มี 1 ฉบับที่ต้องให้ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาตรวจสอบรายละเอียด คือ ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยขอแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน ว่าจะบรรจุวาระได้หรือไม่ เพราะมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาว่าขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมาหรือไม่ โดยให้ฝ่ายกฎหมายได้นัดหารือด่วนในวันที่ 18 มิ.ย. ก่อนทำความเห็นเสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ในฐานะประธานรัฐสภาพิจารณาต่อไป
ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่าที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภาได้หารือแล้วว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23-24 มิ.ย. โดยได้แบ่งเวลาการอภิปรายระหว่างฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และวุฒิสภา ฝ่ายละ 6 ชั่วโมง คาดว่าการอภิปรายวาระแรกจะแล้วเสร็จในวันที่ 24 มิ.ย. เวลาประมาณ 16.00 น. หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการลงมติแบบเปิดเผยขานชื่อ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาลงมติประมาณ 6 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ
    นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงกรณี ส.ว.ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีว่า อยากถามกลับ ส.ว.ที่บอกจะรับเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทบทวนความคิดของตัวเองดีแล้วใช่หรือไม่ เหตุผลคืออะไร เพราะร่างรัฐธรรมนูญทั้งของฝ่ายค้านและ พปชร.เหมือนกันทุกอย่าง ถือว่า ส.ว.ไม่ได้ยึดหลักการ แต่ยึดหน้าคน ยึดฝ่าย
    นายสุทินยังกล่าวอีกว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อจัดตั้ง ส.ส.ร. ที่ฝ่ายค้านเสนอ คือร่างเดิมที่ ส.ว.เคยรับหลักการและร่วมแปรญัตติไว้เรียบร้อยแล้ว วันนี้ได้นำร่างที่ ส.ว.ให้ความเห็นชอบมายื่น แต่ทำไม ส.ว.ถึงเปลี่ยนใจไม่รับร่าง ขอได้โปรดช่วยชี้แจงต่อประชาชนด้วย ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำว่าการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องทำประชามติ และ ส.ว.เองก็เห็นด้วย วันนี้ฝ่ายค้านกำลังส่งร่างเพื่อให้ทำประชามติสอบถามประชาชน เราทำตามคำแนะนำทั้งหมด การที่ ส.ว.ปฏิเสธตั้งแต่ต้น ถือเป็นการปิดโอกาสประชาชนในการลงมติว่าจะให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่
“ท่านไม่รับหลักการก็ถือว่าปิดโอกาสประชาชน ซึ่งขอให้รับหลักการก่อนแล้วส่งไปให้ประชาชนตัดสิน หรือ ส.ว.กลัวเสียงประชาธิปไตย เพราะถ้าประชาชนไม่ให้ผ่านมันก็ไม่ได้แก้ แสดงว่าท่านกลัวประชาชน แต่ถ้าไม่กลัวก็ขอให้รับและทำประชามติ ส่วนร่างอื่นๆ ที่เสนอก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอำนาจ ส.ว. และมีดีกับประชาชนทั้งนั้น ยืนยันว่าเราไม่ได้แก้เพื่อตัวเอง หาก ส.ว.มีธงในใจแล้วก็บอกมาตรงๆ และการพูดแบบนี้เกรงใจไม่ให้เกียรติประชาชน คนเราต้องมีความอายระดับหนึ่ง” นายสุทินกล่าว          
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โอกาสที่จะผ่านความเห็นชอบทั้ง 14 ร่าง คงต้องดูข้อเท็จจริงว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองหรือไม่ แต่ยังมั่นใจด้วยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะได้รับโอกาส ขอแค่รัฐสภามีมติเห็นควรให้เอาไปทำประชามติถามประชาชนก่อนเท่านี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว  
“หลายเรื่องที่เราเสนอไม่กระทบ ส.ว. และการที่เราจะเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามภายใต้รัฐธรรมนูญเดิม เราจะยังหนีวงจรอุบาทว์ไม่พ้น ดังนั้นอะไรที่ไม่ดีในรัฐธรรมนูญนี้ ถ้าแก้ได้ก็ควรต้องแก้” นพ.ชลน่านกล่าว
ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์ ส.ว.ว่า ขอตั้งคำถามกลับว่า ส.ว.ทำผิดอะไรที่จะมาปิดสวิตช์อำนาจเลือกนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่าที่ทราบการปิดสวิตช์ ส.ว.นั้นมี 2 ประเด็นที่เรียกร้อง คือให้เหลือเพียงสภาเดียว โดยยุบวุฒิสภา ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยยังเหมาะที่จะอยู่ระบบ 2 สภาเหมือนอังกฤษและสหรัฐอเมริกา หากจะให้ยุบเหลือสภาเดียวคงเป็นไปไม่ได้ เชื่อว่าสังคมไทยเองก็ยังไม่พร้อม 
นายสมชายกล่าวอีกว่า ส่วนอีกประเด็นที่เรียกร้องปิดสวิตช์ ส.ว.คือการยกเลิกอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้มีอำนาจส่วนนี้ในช่วง 5 ปีแรก เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ ส.ว.ไม่ได้มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯ มีสิทธิ์เพียงร่วมโหวตเท่านั้น ดังนั้นถ้าสภาผู้แทนราษฎรโหวตเลือกใครเป็นนายกฯ ส.ว.ก็แค่เห็นชอบตาม วันนี้ไม่จำเป็นต้องปิดสวิตช์ ส.ว. เพราะถ้ายุบสภาขึ้นมา และมีการเลือกตั้งใหม่ หาก ส.ส.ลงเสียงมากพอที่โหวตใครเป็นนายกฯ ได้ ส.ว.ก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร 
“ดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่มีการเสนอมา ก็ไม่มั่นใจว่าเสนอมาเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประชาชนจริงหรือไม่ หรือเสนอมาหลายมาตราเพื่อบังหน้าใช่หรือไม่ เพราะจริงๆ อยากแก้เพียง 3 ประเด็น คือบัตรเลือกตั้ง ปิดสวิตช์ ส.ว. และงบประมาณ ดังนั้นควรถามสังคมว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพราะถ้าแก้เพื่อประโยชน์ของฝ่ายการเมืองเท่านั้น” นายสมชายกล่าว และว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ส.ว.จะเห็นด้วยทั้งหมดกับการคัดค้านการปิดสวิตช์ ส.ว. เรื่องอำนาจโหวตเลือกนายกฯ เพราะการพิจารณาครั้งที่แล้วก็ยังมีคนเห็นต่าง แต่เชื่อว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับการยุบ ส.ว.ทั้งหมด
    เมื่อถามว่า หากเป็นเช่นนี้ ส.ว.จะโหวตให้เฉพาะร่างของพรรค พปชร.ใช่หรือไม่ เพราะไม่มีเรื่องของการปิดสวิตช์ ส.ว. นายสมชายกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เพราะครั้งที่ผ่านมา ส่วนตัวก็โหวตให้ร่างของฝ่ายค้านด้วยซ้ำ ดังนั้นต้องดูว่าร่างไหนเป็นประโยชน์ อันไหนที่ไม่เป็นประโยชน์ และเสียเวลาบ้านเมือง ก็ไม่โหวตให้ แต่ยืนยันว่าการโหวต ส.ว.จะปล่อยให้โหวตกันอย่างอิสระหรือฟรีโหวต ซึ่งในวันที่ 18 มิ.ย. วิปวุฒิสภาจะหารือกันเพื่อวางกรอบในการอภิปราย และสัดส่วนการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) พร้อมจัดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ให้กับ ส.ว.ด้วย 
     นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่าทำไมต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควบคู่กับการเสนอแก้เป็นรายมาตรา ว่าเป็นที่ประจักษ์ชัดกันอยู่แล้วว่า รธน.ปี 60 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหามากมาย และถูกวางกลไกให้ยากต่อการแก้ไข ซึ่งการเสนอแก้ไขทั้งฉบับเป็นการยืนยันนโยบายและจุดยืนเดิมของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งเห็นว่าการแก้ไขทั้งฉบับเป็นสิ่งที่จำเป็นผ่าน ส.ส.ร.เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ นี่คือหลักการพื้นฐานที่ถูกต้อง และควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
    “การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับควบคู่กับการเสนอแก้เป็นรายมาตราไม่น่าจะเกิดความเสียหายใดๆ ในทางตรงกันข้าม กลับน่าจะเกิดผลดีมากกว่า เพราะหากเกิดมีอุบัติเหตุทางการเมือง และเกิดการเลือกตั้งขึ้นกะทันหัน อย่างน้อยที่สุดเราอาจได้กติกาบางเรื่องที่ดีและมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ถ้าไม่แก้รายมาตราเลย หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้น เราก็จะต้องกลับเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามกติกาเดิมที่ คสช.กำหนดขึ้น เหมือนการเลือกตั้งครั้งล่าสุด” นายภูมิธรรมกล่าว
       นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้ ส.ว. ระบุว่า โหวตร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พปชร.เท่านั้นว่า เป็นคนกลุ่มเดิมๆ ดาหน้าออกมาหวงอำนาจอันไม่ชอบธรรมของตัวเอง 
    คนกลุ่มนี้ได้แก่พวก ส.ว. 250 คนที่ คสช.เลือกมาที่เที่ยวมาชี้หน้าหาว่าข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญให้ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ คือการลุแก่อำนาจ เป็นแค่การหาเสียง จริงๆ แล้วเป็นพวกท่านต่างหาก ที่แสดงความกำแหงลำพองว่าเสียงของตัวเองเป็นใหญ่ ประกาศกร้าวชี้เป็นชี้ตายล่วงหน้าว่าจะรับแต่ร่างของพรรคพลังประชารัฐ ไม่เอาของพรรคฝ่ายค้านแน่นอน ส.ว.ก็ยังคงเป็น ส.ว.อยู่วันยังค่ำ ในอดีตเคยเกาะขาอิงแอบเผด็จการอย่างไร ทุกวันนี้ก็ยังทำตัวเป็นขวากหนามประชาธิปไตยอยู่อย่างนั้น
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ทางออกของประเทศอย่างสันติคือ การยอมให้ประชาชนได้มีโอกาสร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนเอง โดยเลือก ส.ส.ร.เพื่อหยุดยั้งกลไกเผด็จการครองเมือง จึงขอร้องเรียนไปยังพรรคร่วมฝ่ายค้านให้กลับมาร่วมกันผลักดันการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และต้องไม่ร่วมสังฆกรรมกับขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองเท่านั้น 
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำอดีตพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราโดยพรรค พปชร. คือการสร้างความมั่นคงให้กับระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและเสริมความเข้มแข็งให้กับการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์กับพวก ถือเป็นผลร้ายต่อบ้านเมือง นอกจากนั้นยังแฝงไว้ด้วยเล่ห์เพทุบายที่จะทำให้พรรคฝ่ายค้านขัดแย้งแตกแยก และพลังประชาธิปไตยอ่อนแอลง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"