นิทานเด็ก : ความหลากหลายทางเพศ ความแตกต่างที่ท้าทายการเรียนการสอน


เพิ่มเพื่อน    

 ถือได้ว่าเป็นคู่มือสำหรับการเลี้ยงดูบุตรหลานยุคใหม่ก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือนิทานและหนังสือเด็กที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่ม LGBTQ+ เนื่องจากสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการยอมรับเพศสภาพของเด็ก ที่อาจจะไม่ตรงกับรูปลักษณ์ภายนอกนั้นมีมากขึ้น เช่น เด็กผู้ชายที่ออกอาการอ้อนแอ้นเหมือนเด็กผู้หญิง หรือเด็กผู้ชายที่หยิบกระโปรงพี่สาวมาใส่ เป็นต้น เพราะทุกๆ สังคมในโลก ให้การเคารพสิทธิของเด็กหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ ที่อยู่ในกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เพื่อลดความอคติทางเพศมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นองค์ความรู้ดังกล่าวจึงปรากฏเป็นหนังสือเด็ก และนิทานสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศของเด็กกลุ่ม LGBTQ+ เกิดขึ้นในสังคมของคนอเมริกาและยุโรป มาก่อนบ้านเราหลายปีแล้ว

เนื้อหาใจความหลักของการหนังสือดังกล่าว มีทั้งนิทานของเด็กเล็กวัย 5 ขวบ และหนังสือสำหรับเด็กสำหรับเด็กโต ซึ่งธีมของหนังสือดังกล่าว มักนำเสนอเกี่ยวกับอัตลักษณ์และการยอมรับตนเอง อีกทั้งเรื่องราวที่ครอบคลุมหลากหลายเพศ รสนิยมทางเพศ และโครงสร้างครอบครัวที่ส่งเสริมการไม่แบ่งแยก ที่สำคัญหนังสือเด็ก LGBTQ+ เหล่านี้ ถือเป็นพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กๆ ในการพูดคุยเรื่องที่ไม่คุ้นเคย ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง ที่สำคัญไม่เพียงนำเสนอด้วยภาพหรือตัวการ์ตูนที่เข้าใจได้ง่าย อีกทั้งข้อมูลที่นำเขียนเล่าก็ล้วนมาจากประสบการณ์ตรงของผู้ปกครอง ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ตลอดจนการค้นคว้าเพิ่มเติมของผู้เขียน ที่สำคัญหนังสือดังกล่าวเล่าเรื่อง โดยเลือกใช้คำสรรพนามแทนลักษณะของตัวบุคคลว่า “พวกเขา” หรือ “เขาทั้งหลาย” โดยไม่ระบุการเรียกเพศของตัวละครในหนังสืออย่างโจ่งแจ้ง

เมื่อในต่างประเทศนำโด่งเรื่องความหลากหลายทางเพศแซงหน้าบ้านเรา ถึงขั้นมีตำราให้ศึกษาอ่าน งานนี้ทำให้ต้องหาคำตอบว่า ในประเทศไทยนั้นควรมีหรือไม่ และหากมีเนื้อหาที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร? เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกที่ถูกต้องเหมาะสม ท่ามกลางกระแสความหลากหลายทางเพศที่เราเห็นในโทรทัศน์บ้านเราแบบหยุดไม่อยู่

พี่แต้ว-ระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการหนังสือภาพสำหรับเด็ก (อิสระ) บอกว่า “ถ้าจะนำเสนอเรื่องความหลากหลายทางเพศในบ้านเรา เช่น เป็นหนังสือเด็กหรือหนังสือนิทานนั้น ต้องมีความแนบเนียนและกลมกลืนกับการใช้ชีวิตของเด็กๆ เพื่อให้เด็กเห็นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะในชีวิตจริงในโรงเรียนก็จะมีเด็กกลุ่ม LGBTQ+ อยู่ในโรงเรียน ที่เรียนร่วมกับคนทั่วไปอยู่แล้ว เช่น การเล่าเรื่องผ่านภาพของเด็กผู้ชาย 2 คนกำลังเล่นไม้กระดกที่นั่งกันคนละด้าน โดยด้านหนึ่งเป็นเด็กผู้ชายที่ใส่ชุดนักเรียนผู้ชาย และเด็กผู้ชายที่อยู่อีกฝั่งหนึ่งใส่ชุดนักเรียนผู้ชายเช่นกัน แต่มีพวงมาลัยดอกไม้คล้องอยู่ สิ่งเหล่านี้เป็นการบอกเล่าให้เด็กรู้ว่าในสังคม ยังมีเด็กซึ่งมีความหลากหลายทางเพศอยู่ ซึ่งพวกเขาสามารถเล่นหรือใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยที่เด็กทั้ง 2 คนไม่รู้สึกแตกต่างแต่อย่างใด

“ดังนั้นในเนื้อหาของหนังสือสำหรับเด็กกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ควรจะเน้นการระบุเกี่ยวกับความแตกต่าง ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะนั่นอาจเป็นการชี้หรือระบุให้คนโฟกัสไปที่ตัวตนของเราหรือเด็กคนนั้นๆ ที่มีความหลากหลายทางเพศแทน ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศรู้สึกไม่ดี ยกตัวอย่างหากเราต้องการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการให้เด็กปกติอยู่ร่วมกับเด็กพิการนั้น ควรเล่าผ่านภาพตัวการ์ตูนในหนังสือ โดยในทุกๆ หน้าของเนื้อหา ควรมีภาพของเด็กพิการหน้าตาน่ารักนั่งอยู่บนรถเข็น แต่ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ได้

ซึ่งนั่นจะสอนให้เด็กรู้ว่า ภายในห้องเรียนของเด็กปกติก็มีเพื่อนเป็นผู้พิการ ที่สามารถเรียนร่วมกันและทำกิจกรรมกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ โดยที่ไม่ต้องอธิบายเป็นคำพูดใดๆ เพราะทุกอย่างมันกลมกลืนอยู่ในชีวิตของเด็กๆ ที่สำคัญเมื่อทุกอย่างอยู่ด้วยกันอย่างเป็นเรื่องปกติ เด็กพิการก็จะไม่ถูกเพื่อนบูลลี่หรือกลั่นแกล้ง และไม่ถูกมองว่าเป็นเด็กที่น่าสงสาร เป็นต้นค่ะ ดังนั้นการนำเสนอเนื้อหาหนังสือเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศ จำเป็นใช้มีศิลปะและชั้นเชิง ที่ทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างจาก จากการที่ภาพของพวกเขาถูกสะท้อนออกมา โดยการดำเนินชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน กับเพื่อนๆ คนอื่นได้อย่างกลมกลืนลื่นไหล โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีคนไปย้ำ”

ถามเกี่ยวกับหนังสือเด็กกลุ่ม LGBTQ+ ในบ้านเรามีให้เห็นมากน้อยแค่ไหน บรรณาธิการหนังสือภาพสำหรับเด็ก (อิสระ) บอกว่า “ในบ้านเรายังมีหนังสือในลักษณะดังกล่าวค่อนข้างน้อยอยู่มากๆ ค่ะ ส่วนหนึ่งเพราะคนที่ทำไม่กล้านำเสนอ เพราะหากนำเสนอออกไปนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจะมองว่าเป็นแบบอย่างที่ทำให้เด็กๆ เลียนแบบหรือไม่อย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็ต้องย้อนกลับที่วิธีการนำเสนอเนื้อหาข้างต้น ที่บอกว่าเราไม่ควรระบุว่าเด็กคนนี้มีความแตกต่าง เพื่อให้เด็กๆ ยอมรับซึ่งกันและกัน แต่ควรนำเสนอไปในเชิงที่ว่าพวกเขานั้นใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน แม้จะมีความแตกต่างกัน เช่น หากหนังสือต้องการให้ความรู้กับเด็กๆ ว่าคุณครูผู้หญิงที่สอนนั้น เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ในรูปภาพก็ควรวาดให้เป็นครูผู้หญิงตัดผมสั้น กำลังสอนอยู่หน้าห้องเรียน และมีเด็กๆ นั่งเรียนอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงเท่านี้เด็กๆ ก็จะรู้ด้วยตัวเองว่าครูเป็นใคร โดยที่ไม่จำเป็นต้องบอกเด็กๆ ว่าคุณครูผู้หญิงคนนี้ไม่เหมือนคนอื่น หรือมีบุคลิกต่างจากครูผู้หญิงคนอื่น เป็นต้น ดังนั้นหนังสือที่เกี่ยวกับเด็กกลุ่ม LGBTQ+ ในบ้านเรานั้นควรมี และมีได้  แต่ต้องใช้ศิลปะในการนำเสนออย่างเหมาะสมและมีชั้นเชิง”

ระพีพรรณ ทิ้งท้ายว่า “สำหรับการที่สังคมจะยอมรับได้ไหมหากในอนาคตบ้านเราผลิตหนังสือดังกล่าวออกมามากขึ้น ตรงนี้ต้องเรียนว่า หากเนื้อหาที่นำเสนอไปสู่เด็กๆ นั้น เป็นการจิ้มลงไปเลยถึงความแตกต่างของเด็กกลุ่ม LGBTQ+ และเด็กๆ ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ควรยอมรับเพื่อนๆ กลุ่มนี้ ซึ่งเนื้อหาในลักษณะดังกล่าวอาจถูกโจมตี เพราะนั่นเสมือนเป็นการที่เราชี้นำให้ผู้อื่นตอกย้ำตัวตนของเด็กหลากหลายทางเพศ โดยที่ตัวเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศเองก็จะรู้สึกไม่แฮปปี้ เพราะทุกคนจะต้องหันมาพุ่งเป้าหรือจับจ้องเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ซึ่งมันจะนำมาซึ่งความสงสาร หรืออาจถูกกลั่นแกล้งอย่างที่เรียนไปตอนต้น ดังนั้นใจความหลักของหนังสือเด็กกลุ่ม LGBTQ+ คือการทำให้เด็กอยู่ด้วยโดยไม่รู้สึกแตกต่าง ผ่านภาพการ์ตูนที่สอดแทรกเด็กกลุ่มนี้ ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ คนอื่นอย่างเป็นปกติ”

ด้าน “ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร” อดีตผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรมในเด็ก และปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาสรรหา ให้ข้อมูลว่า “ส่วนตัวเท่าที่เห็นหนังสือเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศนั้น หากเป็นในบ้านเราก็จะมีรวบรวมไว้เป็นภาษาอังกฤษ ที่พอจะเห็นผ่านหูผ่านตาบ้าง แต่ในมุมผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กมาก่อนนั้น มองว่าถ้าเป็นหนังสือหรือองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศในเด็ก ก็สามารถทำได้ และไม่ได้จะเป็นที่ขัดข้อง หรือไม่มีปัญหาอะไร ที่สำคัญมองว่า หนังสือหรือตำราที่เกี่ยวกับการให้ความรู้ในครอบครัว ที่มีลูกหลานอยู่ในกลุ่มดังกล่าว ได้เข้าใจ ได้พูดคุยกัน มันก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการหาความรู้ เพื่อดูแลลูกหลานของตัวเองอย่างเหมาะสม ที่สำคัญเมื่อมีหนังสือแนวนี้ออกมาแล้ว มันก็ควรที่จะเปลี่ยนบริบท เกี่ยวกับการมองเด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศ ในแง่ที่ว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่กลุ่มคนที่แปลกประหลาดอีกต่อไป และเด็กกลุ่มนี้เองเมื่อเติบโตขึ้นมา ก็สามารถอยู่ในสังคมได้โดยไม่ก่อปัญหาให้ใครเช่นเดียวกัน

“สำหรับหนังสือเด็กกลุ่ม LGBTQ+ จะเป็นสิ่งที่ขัดกับวัฒนธรรมไทยไหม ก็ต้องบอกว่าตอนนี้สังคมมันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างก็ต้องปรับไปตามบริบทที่เปลี่ยนไป และกลุ่มคนหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับ ในทั่วทุกสังคมโลกมากขึ้น หรือในบ้านเราก็เช่นเดียวกัน เราจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติคู่ชีวิตเป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ที่สำคัญก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของตัวเด็กกลุ่มนี้เอง ที่เขาไม่ได้ทำผิดอะไร”

ด้าน พี่เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งองค์กรสร้างสรรค์อนาคตเยาวชน และเครือข่ายครอบครัวที่มีลูกหลานหลากหลายทางเพศ บอกว่า “โดยส่วนตัวอยากให้มีหนังสือกลุ่มเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ LGBTQ+ เนื่องจากมีเพียงนิทานสำหรับเด็กๆ กลุ่มพ่อแม่ลูกเท่านั้น เพราะสิ่งที่เราลืมไม่ได้นั้น ปัจจุบันมีกลุ่มของเด็กที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง   ให้เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย หรือแม้แต่ครอบครัวที่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว กระทั่งกลุ่มเด็กที่พ่อ 2 คน และมีแม่ 2 คน หรือการที่พ่อแม่หย่าร้าง ทำให้เด็กมี 2 ครอบครัวที่ช่วยกันเลี้ยงลูกเป็นต้น ส่วนหนึ่งหากมีหนังสือดังกล่าวในบ้านเรา ก็จะทำให้เด็กกลุ่มหลากหลายทางเพศนั้น มีตัวตนในครอบครัว ซึ่งความหลากหลายทางเพศ ก็ไม่ได้มีเรื่องของเขาเพียงคนเดียว แต่ยังมีเรื่องราวอื่นในแง่มุมของเด็กกลุ่มนี้ ที่อาศัยอยู่ในครอบครัวอื่นๆด้วยเช่นกัน

เพราะการที่คนยังมีอคติ กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็เท่ากับเป็นการสะท้อนความเกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน เห็นได้จากหนังสือหรือแบบเรียนก็จะไม่ได้สอน และไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในชั้นเรียน ตรงกันข้ามหากเด็กคนไหนที่ชอบเพศเดียวกันในโรงเรียน ในอดีตจะถูกลงโทษโดยการหักคะแนนจิตพิสัยเป็นต้น ที่สำคัญเมื่อเด็กได้ไม่เรียนในห้องเรียนเกี่ยวกับเรื่อง LGBTQ+ นั้น นั่นก็เท่ากับว่าสังคมยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ นั่นจึงทำให้เรื่องของสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการพัฒนา

“ทว่าหนังสือเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ จะขัดแย้งกับวัฒนธรรมบ้านเราหรือไม่ ขอยกตัวอย่างประเทศฮ่องกง ที่มีการนับถือเรื่องของศาสนาอย่างสุดโต่ง แล้วเมื่อ 2 ปีที่แล้วมีการวางหนังสือดังกล่าวในห้องสมุดประชาชน กระทั่งมีกลุ่มผู้ปกครองที่ร้องเรียนอยากให้หนังสือดังกล่าว ห้ามโชว์อยู่ในชั้นวางหนังสือ กระทั่งหนังสือเล่มนั้นยังวางอยู่ในชั้น แต่ถูกหนังสืออื่นบังไว้ไม่ให้เห็น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงสะท้อนให้เห็นว่าถ้ามีหนังสือเด็กเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ถือเป็นการทำลายวัฒนธรรม แม้เรื่องดังกล่าวจะเกิดขึ้นในฮ่องกง แต่การไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ถือว่าเรากำลังถูกวัฒนธรรมกดขี่ทางเพศและละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งนั้นจะทำให้วัฒนธรรมไม่เกิดการพัฒนาในสังคมแต่อย่างใด ที่สำคัญเรื่องดังกล่าวมีอยู่แล้วแต่ไม่ถูกเปิดเผย

ดังนั้นหากในบ้านเรามีการเอื้อ การให้ความรู้ทั้งสื่อกระแสหลัก และหนังสือ หรือหนังสือนิยายต่างๆ เกี่ยวกับนิยายแนว y หรือชายรักชาย ก็ควรที่จะมีหนังสือหรือนิทานสำหรับเด็กกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อให้ความรู้กับเด็กเล็ก ที่เขาสามารถอ่านได้ หรือเห็นภาพและเข้าใจ นอกจากนี้ ลูกสาววัยรุ่นของตัวเองที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 ระดับมหาวิทยาลัย ด้านอาร์ตดีไซน์ และน้องมีแม่ 2 คนคือตัวพี่เจี๊ยบและคู่ชีวิตที่เป็นผู้หญิงด้วยกัน ซึ่งเร็วๆ นี้ลูกสาวพี่เจี๊ยบก็จะทำหนังสือการ์ตูนที่เขาเขียนเองและแต่งเอง พร้อมกับวาดภาพเป็นตัวการ์ตูน เพื่ออธิบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้กับผู้ที่สนใจได้อ่าน เกี่ยวกับบอกว่าตัวเองเป็นเด็กกลุ่ม LGBTQ+ และมีครอบครัวมีคุณแม่ 2 คน ผ่านตัวการ์ตูนที่อ่านแล้วเข้าใจง่าย เพราะอันที่จริงมองว่าเด็กเองควรมีความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เขาอยู่กับผู้อื่นด้วยความเข้าใจ กลมกลืนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ที่สำคัญเด็กกลุ่มนี้เอง ก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย โดยการป้องกันตัวเองจากภัยต่างๆ ในสังคม เช่น การห้ามผู้อื่นจับอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เพราะอย่าลืมว่าถ้าสังคมเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ แน่นอนคนก็จะเคารพ และเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยมากขึ้น”.

///////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////

 

หลายเรื่องนิทานน่าอ่านที่ควรมีติดบ้าน

 

"When Aidan Became a Brother" by Kyle Lukoff

เรื่องเล่าของ ไอแดน (Aidan) ที่ทุกคนคิดว่าเป็นผู้หญิง แต่เขาเป็นเด็กผู้ชายจริงๆ อีกทั้งครอบครัวของไอแดน สนับสนุนเขา โดยร่วมกันช่วยเขาเปลี่ยนชื่อใหม่ ซื้อเสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ในห้องนอนที่เขารัก และตอนนี้ที่แม่ของไอแดนคาดหวัง คือการบอกกับตัวเองว่าจะไม่ตั้งความคาดหวังมากเกินไปหากให้กำเนิดลูกคนใหม่ ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ คือการที่ผู้เขียนบอกเล่าเกี่ยวกับความกังวลที่พี่ๆ น้องๆ ของไอแดน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ จะต้องเติบโตขึ้น โดยนักวาดการ์ตูนประกอบอย่าง Kaylani Juanita แสดงให้เห็นถึงสไตล์ และตัวตนที่พัฒนาขึ้นไปของไอแดน

"Sparkle Boy" by Lesléa Newman

เคซีย์ ชอบความสดใส มีเสน่ห์แพรวพราว ของพี่สาวคนโตที่ชื่อว่าเจสซี แต่เจสซีไม่ชอบให้เขาลอกสไตล์ของเธอ เพราะเขาเป็นเด็กผู้ชาย ขณะอยู่ที่ห้องสมุดด้วยกัน เจสซียอมรับว่าการขาดการยอมรับและความอ่อนไหวนั้นส่งผลต่อน้องชายของเธออย่างไร และปกติแล้วคนที่เป็นแม่ไม่ชอบอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่เด็กๆ ถูกล้อเลียน หรือไปล้อเลียนคนอื่น แต่กรณีของหนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่เป็นข้อยกเว้น เนื่องจากหนังสือเล่มนี้เป็นพูดถึงสิ่งที่เด็กวัยนี้ เริ่มสังเกตพฤติกรรมของผู้อื่น ดังนั้นมันจึงเป็นคู่มือที่สอนเกี่ยวกับคำพูดที่คนในครอบครัว ควรใช้ในการสื่อสารกับเด็กวัยนี้

 "Not Quite Narwhal" by Jessie Sima

ระหว่างสาหร่ายทะเลน้อยแสนหวาน และม้ายูนิคอร์นแห่งท้องทะเลผู้แสนกล้าหาญนั้น และเด็กๆ ไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่มไหนกันแน่ แต่หลังจากที่เด็กๆ สำรวจตัวเองอยู่พักใหญ่ เกี่ยวกับทางเลือกทั้ง 2 นั้น สาหร่ายทะเลตัวน้อยก็รู้ว่า เขาไม่จำเป็นต้องเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการที่เด็กๆ มีเพื่อนแท้ที่แข็งแกร่งและกล้าหาญ สุดท้ายเพื่อนแท้ก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

"Mommy, Mama, and Me" by Lesléa Newman

"แม่ แม่ และฉัน" เป็นเรื่องราวทั่วไปของทุกสิ่ง ที่พ่อแม่ซึ่งรักและทำเพื่อลูก เช่น เตรียมขนม เล่น และอาบน้ำให้พวกเขา เป็นต้น และพ่อแม่ของเด็กคนนี้ก็ล้วนแต่เป็นแม่ หรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในคนคนเดียวกัน ที่สำคัญควรเพิ่มหนังสือเล่มนี้ไว้เป็นหนังสือ ที่คุณอ่านก่อนนอนให้เด็กๆ ฟังโดยเร็วที่สุด

"Elmer" by David Mckee

มีหลายคนที่เล่าเรื่องของ "เอลเมอร์" (Elmer) เพราะบางครั้งคุณรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยที่เมื่อคุณแสดงความเป็นตัวตนออกมา แต่ไม่ได้รับการยอมรับ แต่เพื่อนแท้ของคุณเข้าใจคุณเป็นอย่างดี ว่าตัวตนที่แท้จริงของคุณนั้นเป็นอย่างไร และพวกเขาก็รักคุณในแบบที่คุณเป็น และเมื่อเด็กอ่านหนังสือเล่มนี้ก็จะเข้าได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าพวกเขาจะไม่ใช่ช้างน้อยเอลเมอร์ ที่รอให้ผู้อื่นมาตัดกระดาษและแปะ กระทั่งตัวช้างน้อยสำเร็จเป็นรูปร่าง และหนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลสาขาหนังสือภาพสำหรับเด็ก ที่เล่าเรื่องราวอย่างง่าย และเต็มไปด้วยสีสันที่ทำให้หนังสือน่าอ่านและเหมาะกับเด็กเล็ก.  

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"