การเมืองทำให้เศรษฐกิจประเทศไหลยาวสู่ความมืด


เพิ่มเพื่อน    

อาทิตย์ที่แล้วนิตยสารนิเคอิ เอเซียน รีวิว ได้เผยแพร่บทความ ขาลงยาวสู่ความมืดทางเศรษฐกิจของไทย (Thailand's long descent into economic darkness) เขียนโดย นายวิลเลียม พีเซ็ค (William Pesek) ซึ่งเป็นข่าวไม่ค่อยดีสำหรับเศรษฐกิจไทยและไม่ดีมาก เพราะนิเคอิ เอเซียน รีวิว เป็นนิตยสารที่ทรงพลังและมีคนอ่านมาก

 

นายพีเซ็ค ผู้เขียนก็เป็นคอลัมนิสต์ทางเศรษฐกิจที่เป็นที่ยอมรับ รู้เรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างดี ที่สำคัญผู้อ่านนิตยสารนี้ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจจากทั่วโลก โดยเฉพาะนักธุรกิจญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ของไทยและมีอิทธิพลมากต่อการค้าและการลงทุนในบ้านเรา แต่ความเห็นที่ปรากฏในบทความก็เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ และเราโดยเฉพาะผู้บริหารประเทศควรต้องยอมรับและพยายามแก้ไขปัญหาจริงจัง เป็นเรื่องที่ละเลยอีกไม่ได้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

 

เนื้อหาของบทความแบ่งได้เป็นสามประเด็น หนึ่ง ผลกระทบของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างรุนแรงเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพราะผลกระทบที่มีต่อธุรกิจท่องเที่ยวและผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันระหว่างเศรษฐกิจด้านบน คือ ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเศรษฐกิจของคนส่วนน้อย กับเศรษฐกิจด้านล่าง คือ ภาคบริการท่องเที่ยวและเกษตรกรรม ซึ่งเป็นเศรษฐกิจของคนส่วนใหญ่ เป็นการฟื้นตัวแบบตัวอักษร K ที่จะใช้เวลานานในการฟื้นตัว โดยอ้างตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทยที่ประเมินว่า ไทยอาจจะใช้เวลาฟื้นตัวนานถึงปี 2023 ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่มองการฟื้นตัวจะเกิดขึ้นในปีหน้า

 

สอง ความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยมีมาตั้งแต่ก่อนโควิดเป็นผลจากการทำนโยบายของทุกรัฐบาล ช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา ที่เมื่อเข้ามามีอำนาจแล้วส่วนใหญ่ก็บริหารเศรษฐกิจไปวันๆ แบบไม่มีแผน ทำให้ปัญหาต่างๆ ที่ประเทศมีไม่มีการแก้ไข มีแต่คำมั่นสัญญาแต่ไม่มีผลงาน รัฐบาลปัจจุบันก็ไม่ต่างกันคือ เริ่มต้นเข้มแข็งแต่จากนั้นก็ทำนโยบายเหมือนรัฐบาลในอดีต คือ แจกจ่ายเงิน ไม่แก้ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ไม่สนใจเรื่องนวัตกรรม ไม่ปฏิรูปประเทศในช่วงที่ควรทำคือ ปี 2004-2020 ที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ไม่กล้าเผชิญงานหนักที่จะปฏิรูประบบราชการ ลงทุนในระบบการศึกษา และเพิ่มผลิตภาพการผลิตของประเทศ ผลคือ ประเทศไทยไม่มีการปฏิรูปและตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจอย่างอินโดนีเซีย และเวียดนามที่มีการปฏิรูป

 

 

นอกจากนี้เราไม่ยอมฝึกหรือลงแส้กำลังแรงงานของประเทศให้ทำงานที่ยากขึ้นเก่งขึ้น เพื่อการเติบโตในอนาคต แต่เลือกทางออกแบบง่ายๆ เดิมๆ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว ส่งออกสินค้าแบบเดิมๆ ดึงเงินทุนต่างประเทศ และกระตุ้นการบริโภคของประชาชนด้วยการก่อหนี้ จนเศรษฐกิจและแรงงานของประเทศไม่มีความเข้มแข็งเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด

 

สาม เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่พร้อมที่จะเดินต่อแม้วิกฤติโควิดจบลง จากที่ครัวเรือนไทยมีระดับหนี้สูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย คือ ร้อยละ 89.3 ของรายได้ประชาชาติ ไม่มีพลังที่จะไปต่อ เงินที่รัฐบาลกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็หมดไปกับแจกเงินเยียวยา ซึ่งก็คือการบริโภค ไม่ใช้วางรากฐานเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจหลังโควิด และยิ่งโควิดยืดเยื้อ เศรษฐกิจไทยก็เหมือนเรือที่แล่นออกจากแผนที่เดินทางโดยไม่รู้ว่าจะไปจบที่ไหน และมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจจะเดินถอยหลังช่วงสองปีข้างหน้า คือ รายได้ต่อหัวลดลง

 

 

ทั้งหมดนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการเมืองของประเทศที่ไม่ทำหน้าที่ (Thailand's political dyfunction) ทำให้ 10-20 ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่สูญเปล่าของประเทศ (lost years) และที่น่าเจ็บปวดคือ ผู้บริหารขณะนี้เหมือนจมอยู่ในอดีต คือประเทศไทยตอนนี้ก็เหมือนประเทศไทยในปี 1997, 2006 หรือ 2014 คือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เหมือนเดิม ทำให้ไทยจะไม่ใช่ประเทศยิ่งใหญ่หลังโควิดจบลง

 

ใครที่สนใจบทความนี้น่าจะอ่านต้นฉบับ ผมพยายามเก็บความอย่างละเอียด เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกของผู้เขียนที่สันทัดเรื่องเศรษฐกิจเอเชียติดตามและมองประเทศไทยมาตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา เป็นข้อเท็จจริงที่เราต้องเปิดใจแม้เป็นสิ่งที่เราไม่กล้าและไม่ชอบพูดกันทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ และสำหรับผู้ที่เดินทางต่างประเทศมากๆ ช่วงก่อนโควิดคงจะเห็นภาพว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยเหมือนหยุดอยู่กับที่ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคก้าวกระโดดจนเราเหมือนเป็นคนป่วยของเอเชีย

 

ในเรื่องนี้ต้องเข้าใจว่า ขณะที่ประเทศต่างๆ ไปได้ดีในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย ปี 1997 โดยเฉพาะประเทศที่เกิดวิกฤติเหมือนเรา เช่น เกาหลีใต้ ที่ประเทศพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมระดับต้นๆ ของโลก หรืออินโดนีเซียที่มีการพัฒนาและปฏิรูปเศรษฐกิจต่อเนื่องโดยรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารโดยทหารเลยช่วง 21 ปีที่ผ่านมา และประเทศก็ไปได้ดี และแม้ทุกประเทศในภูมิภาคจะเผชิญความผันผวนและความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกเหมือนเราช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ทุกประเทศก็ทำได้ดี ทำให้ชัดเจนว่าเราเป็นประเทศที่มีปัญหา และปัญหาของเราอยู่ที่การบริหารจัดการ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการทำหน้าที่ของนักการเมืองในฐานะผู้นำประเทศ และระบบการเมืองของเราที่ผลิตผู้นำเหล่านี้ขึ้นมาบริหารประเทศ ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเราได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากทุกพรรคการเมืองใหญ่จากการปฏิวัติรัฐประหาร ได้รัฐบาลที่มาจากการผสมกันของพรรคการเมือง ข้าราชการ ทหาร และนักธุรกิจ แต่การเมืองที่ได้มาก็ไม่ทำหน้าที่เหมือนที่บทความวิเคราะห์ ทำให้ยี่สิบปีที่ผ่านมาเป็นยี่สิบปีที่สูญเปล่า ทำให้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของคนในประเทศเหมือนหยุดอยู่กับที่ไม่ไปไหน คำถามคือทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมการเมืองถึงได้กดต่ำเศรษฐกิจและอนาคตของประเทศได้มากขนาดนี้ ซึ่งคำตอบน่าจะอยู่ในสามเรื่องนี้

    

 

 

หนึ่ง หลังวิกฤติปี 40 การเมืองไทยถูกแปรสภาพเป็นการเมืองแบ่งขั้วที่ห้ำหั่นกันรุนแรง ไม่ใช่เพื่ออุดมคติทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ แต่เป็นการแบ่งขั้วเพื่อแย่งอำนาจรัฐ ไม่ใช่เพื่อบริหารประเทศให้เจริญก้าวหน้า แต่เพื่อใช้อำนาจรัฐหาประโยชน์และทำลายคู่แข่งทางการเมือง เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องโจ่งแจ้งรุนแรงจนสถาบันหลายสถาบันของประเทศต้องเลือกข้างไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถาบันสื่อ สถาบันข้าราชการ หรือบางหน่วยงานที่ดูเรื่องความมั่นคงและยุติธรรม เช่น การใช้บังคับกฎหมาย เมื่อเป็นอย่างนี้ประเทศก็ไม่มีพลัง ไม่มีความสามัคคีที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหา เห็นได้ชัดกรณีวิกฤติโควิดคราวนี้ที่นักการเมืองดูจะหมกมุ่นกับเรื่องอำนาจและการทำลายคู่แข่งมากกว่าเรื่องเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนของประชาชน หรืออนาคตของประเทศที่เสื่อมถอยลง

 

สอง ระบบข้าราชการที่เคยเป็นเกราะป้องกันสำคัญไม่ให้มีการใช้อำนาจการเมืองอย่างผิดๆ ที่จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศก็อ่อนแอลงไปมาก เพราะการเมืองสองขั้ว ทำให้บ้างต้องเลือกข้างหรือรับใช้นโยบายที่ไม่ได้ความเพื่อความอยู่รอด ซึ่งน่าเห็นใจมาก แต่อีกส่วนของข้าราชการที่พร้อมไปด้วยกับการเมือง ทำตัวเป็นผู้ตามที่ดี คือนักการเมืองที่เข้ามาเป็นใหญ่ในกระทรวงมักจะไม่มีความคิดหรือเตรียมแผนงานมาก่อนว่าจะทำอะไร ต้องอาศัยข้าราชการเป็นผู้แนะนำหรือเสนอ หรือช่วยทำให้ประเด็นที่หาเสียงไว้เกิดเป็นนโยบาย ข้าราชการก็พร้อมตอบสนองตราบใดที่การเมืองไม่เข้าไปแตะหรือปฏิรูประบบที่มีอยู่ โดยเฉพาะขุดคุ้ยการทำไม่ดีไม่งามต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ ผลคือ นโยบายที่ออกมาจากนักการเมืองจะเป็นแบบเบาๆ เพื่อสร้างคะแนนนิยม แต่เรื่องสำคัญที่ต้องแก้ไขจะไม่แตะ และการผิดพลาดใหญ่ๆ ในระบบราชการที่มีอยู่ เช่น การทุจริตคอร์รัปชันก็จะไม่แตะต้อง เราจึงเห็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องแก้ด้วยการปฏิรูปไม่เกิดขึ้น และการทุจริตคอร์รัปชันยิ่งรุนแรงขึ้นจนเหมือนจะแก้ไขไม่ได้ ผลคือเศรษฐกิจและภาคธุรกิจกลายเป็นเชลยของระบบนี้ ทำให้ประเทศกลายเป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีพลังทางด้านนโยบายที่จะนำพาประเทศ เป็นประเทศที่มีต้นทุนแอบแฝงสูงในการทำธุรกิจ ขาดทิศทางและไม่น่าลงทุน

 

สาม ภาคธุรกิจก็เป็นเชลยกับระบบนี้ที่ไม่มีการปฏิรูปเรื่องสำคัญที่ควรแก้ไข มีแต่ความไม่แน่นอน เพราะไม่รู้ว่านโยบายและการเมืองในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้ภาคธุรกิจส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะชะลอการลงทุน และเมื่อไม่ลงทุน ไม่มีนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็ถดถอย และเมื่อแข่งขันไม่ได้ บริษัทขนาดใหญ่ที่เคยมีชื่อติดอันดับโลกก็ถูกลดบทบาท ถูกแซงโดยบริษัทจากประเทศอื่น ทำให้บริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้หันมาทำธุรกิจในประเทศมากขึ้น ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำเพื่อหาฐานรายได้ใหม่ กระทบการแข่งขันในประเทศและโอกาสทางธุรกิจของบริษัทขนาดกลางและเล็ก ผลวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อิทธิพลทางธุรกิจและสัดส่วนทางเศรษฐกิจของบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศได้เพิ่มสูงขึ้นมาก จนทำให้การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจลดลง คือเศรษฐกิจเข้าข่ายมีการผูกขาดตัดตอนมากขึ้น ปิดโอกาสของบริษัทเล็กๆ ที่จะเติบโต และบางบริษัทต้องเข้าหาอำนาจรัฐ ทำธุรกิจที่ตนเองไม่เคยทำเพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐ ผลคือ ภาคธุรกิจไม่มีพลวัตที่จะขับเคลื่อนตัวเอง ไม่มีการลงทุน ไม่มีนวัตกรรม ไม่มีการจ้างงานใหม่ วนเวียนอยู่กับสิ่งเดิมๆ ขณะที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศรุนแรง

 

 

นี่คือประเทศไทยที่เป็นผลจากการเมืองของทุกพรรคช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ 20 ปีที่ผ่านมาเป็นปีสูญเปล่าของคนไทยและประเทศ เป็นข้อสรุปของบทความที่ผมเห็นด้วย และชัดเจนว่าถ้าสิ่งเหล่านี้มีอยู่และไม่แก้ไข เศรษฐกิจเราก็จะยิ่งถลำลึกไปในความมืดจากการทำไม่ทำหน้าที่ของฝ่ายการเมือง และปีสูญเปล่า หรือ lost years ก็อาจยืดเยื้อไปอีกห้าปีสิบปี ซึ่งจะกระทบอนาคตคนรุ่นหนุ่มสาวของประเทศมาก ที่น่าเสียใจคือ คนไทยรุ่นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ก็ตระหนักเรื่องนี้ แต่เลือกที่จะวุ่นวายและเอาเป็นเอาตายกับการเมืองเลือกข้าง โดยไม่สนใจความตกต่ำและความเสียหายต่อประเทศที่ได้เกิดขึ้น

 

 

คอลัมน์ เขียนให้คิด

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"