เศรษฐกิจและประเทศจะเดินต่ออย่างไรหลังโควิด


เพิ่มเพื่อน    

24 ส.ค. 64- วิกฤติโควิดต้องถือรุนแรงมากสุดในแง่ผลกระทบที่มีต่อชีวิต เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนในประเทศ เป็นความท้าทายและจุดทดสอบสำคัญทั้งต่อภาคธุรกิจและรัฐบาลในการบริหารจัดการวิกฤติและผลกระทบที่เกิดขึ้น ในทุกประเทศวิกฤติโควิดได้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งและจุดอ่อนที่ประเทศมี และจุดอ่อนเหล่านี้จำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้ประเทศกลับอยู่ในจุดเริ่มต้นที่ดีขึ้นหลังวิกฤติ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

สำหรับภาคธุรกิจ วิกฤติโควิดเป็นจุดทดสอบสำคัญในเรื่องโมเดลธุรกิจ การบริหารความเสี่ยง และความสามารถของธุรกิจว่าจะปรับตัวและรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดีแค่ไหน โดยเฉพาะผลที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท เช่น ลูกค้า พนักงาน และบริษัทคู่ค้า ในขณะเดียวกัน ในแง่ธรรมาภิบาล สังคมก็มีความคาดหวังสูงว่าในวิกฤติที่เกิดขึ้นภาคธุรกิจหรือบริษัทจะแสดงตนอย่างรับผิดชอบ  เป็นบริษัทที่ดีในสังคมด้วยการปฏิบัติต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมีเหตุมีผลและเป็นธรรม คาดหวังให้บริษัทต้องมองเลยตัวเองออกไป และให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะมีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ลูกค้า พนักงาน บริษัทในห่วงโซ่การผลิต รวมถึงบทบาททางสังคมที่บริษัทควรมี เป็นการคาดหวังที่สูงและสำคัญ

ช่วงปีครึ่งที่ผ่านมา เราเห็นภาคธุรกิจในประเทศเราโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ คือ ไม่ได้มองแต่ตัวเองเฉพาะเรื่องกำไรขาดทุน แต่ให้ความสำคัญต่อบทบาทที่บริษัทควรมี ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและสังคมในภาวะที่ทุกคนยากลำบาก เราจึงเห็นบริษัทในประเทศ โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ปรับตัวในทิศทางที่ควรเป็น เช่น ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง ให้ความสำคัญกับการรักษาเงินสดและสภาพคล่อง พยายามพยุงการผลิตและรักษาการจ้างงาน ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการแก้ไขและป้องกันโรคระบาดของรัฐ สื่อสารต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมไม่เอาเปรียบผู้อื่นในภาวะที่ทุกคนเดือดร้อน บางบริษัทปรับไลน์การผลิตมาผลิตสินค้าที่ขาดแคลนเพื่อช่วยแก้ปัญหา เช่น เปลี่ยนโรงแรมและสถานที่พักเป็นสถานที่รักษาหรือกักตัวผู้ป่วย นอกจากนี้เราก็เห็นบริษัทจำนวนมากบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือสังคม สิ่งเหล่านี้น่ายินดีและสอดคล้องกับการคาดหวังของสังคม แม้บริษัทขนาดเล็กและกลางจะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้มากเท่าบริษัทใหญ่เพราะถูกกระทบมาก

สำหรับภาครัฐ คือ หน่วยงานราชการและรัฐบาล วิกฤติโควิดเป็นจุดทดสอบแท้จริงถึงความสามารถในการบริหารจัดการประเทศ เพราะจากผลกระทบที่เกิดขึ้นสังคมมองไปที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐที่ต้องแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนตามหน้าที่ และสังคมก็พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้การระบาดและปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นสามารถควบคุมหรือบรรเทาได้

 เราจึงเห็นบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในวิกฤตนี้ ทั้งในแง่การออกกฎเกณฑ์จำกัดพฤติกรรมการใช้ชีวิตของประชาชน การระดมทรัพยากรการเงินโดยกู้ยืมจากประชาชนและต่างประเทศเพื่อช่วยเศรษฐกิจ และการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ล็อคดาวน์ หรือห้ามเดินทางเพื่อป้องกันการระบาด มาตรการสาธารณสุขที่จะลดการระบาด เช่น วัคซีนและยา การดูแลระบบสาธารณะสุขของประเทศให้มีเพียงพอที่จะรักษาและช่วยชีวิตผู้ที่เจ็บป่วย มาตรการการคลังที่เยียวยาประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการการเงินที่รักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการด้านการเงินที่อัดฉีดและกระจายสภาพคล่องไปสู่บริษัทในภาคเศรษฐกิจจริงที่ได้รับผลกระทบ การลดภาระการชำระหนี้ของบริษัทและครัวเรือนที่เป็นหนี้ด้วยมาตรการพักหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ และลดการฟ้องร้องที่มาจากความไม่สามารถชำระหนี้ ด้วยมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้

สิ่งเหล่านี้เป็นการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจในระดับที่สูงมาก และสร้างต้นทุนที่ให้กับคนทั้งประเทศ คือ วงเงินกู้เยียวยาเศรษฐกิจจำนวน 1.5 แสนล้านล้านบาทนั้นใหญ่กว่าวงเงินที่รัฐบาลเคยขอความช่วยเหลือจากกองทุนระหว่างประเทศสมัยช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เกือบสามเท่า

และเหมือนทุกวิกฤติหรือการระบาดใหญ่ที่เคยเกิดขึ้น ทุกอย่างมีขึ้นก็ต้องมีจบ วิกฤติคราวนี้ก็เช่นกัน การระบาดใหญ่คงจะลดลงและหมดไปอย่างน้อยระยะหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจและประเทศกลับไปสู่ความปรกติได้ คำถามคือ เราควรจะกลับไปสู่ความปรกติแบบไหน เพราะวิกฤติคราวนี้ชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนมากมายที่ประเทศมี เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง ระบบการช่วยเหลือสังคมที่อ่อนแอและไม่ทั่วถึง ปัญหาความสามารถและสมรรถภาพของภาครัฐ คือ หน่วยราชการ ข้าราชการ รัฐบาล และนักการเมืองในการบริหารจัดการประเทศ

ความอ่อนแอและปัญหาเหล่านี้ทำให้คนในประเทศส่วนใหญ่อยากให้ประเทศกลับไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหลังโควิด ไม่ใช่กลับไปเหมือนเดิม ความคาดหวังคือ

 หนึ่ง ประเทศจะต้องกลับไปสู่จุดใหม่ที่ดีกว่าเดิม คือ Build Back Better เพื่อให้ประเทศมีความสามารถและมีความพร้อมมากกว่าเดิมที่จะการแก้ปัญหาที่กระทบคนทั้งประเทศเหมือนกรณีโควิดในอนาคต

สอง แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ประเทศและเศรษฐกิจเสื่อมถอยลงถึงปัจจุบัน ที่ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน มีปัญหาความเหลื่อมล้ำติดอันดับท็อปของโลก มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นรุนแรงต่อเนื่อง และล่าสุด ความสามารถในการบริหารของภาครัฐวัดจากการแก้ไขปัญหาโควิดประเทศไทยเทียบกับอีกร้อยกว่าประเทศในโลกไทยก็อยู่ท้ายตาราง นี่คือความเสื่อมถอยของประเทศเราที่ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตนเองแต่เป็นพลวัตของความไม่ถูกต้องต่าง ๆ ที่ประเทศมี ที่ได้สะสมจนทำลายศักยภาพเศรษฐกิจและลดต่ำความเป็นอยู่ของคนในประเทศ ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ประชาชนคาดหวังคือ การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่จะปฏิรูปหรือผ่าตัดระบบเศรษฐกิจเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นหลังโควิด

สาม ประชาชนคาดหวังว่าภาครัฐไทย หมายถึงระบบราชการและระบบการเมือง จะมีการปฏิรูปเพื่อให้ประเทศมีความสามารถและสมรรถภาพด้านนโยบายสาธารณะดีกว่าปัจจุบัน ความอ่อนแอต่าง ๆ ที่วิกฤติโควิดแสดงให้เห็นเปรียบเหมือนการฟ้องให้เห็นถึงจุดต่ำสุดของภาครัฐไทยในการทำหน้าที่ ทำให้การปฏิรูปภาครัฐเป็นสิ่งที่ต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้กับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศที่จะมีตามมา และถ้าไม่ทำอนาคตของประเทศและคนในประเทศก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น จะยิ่งเสื่อมถอยลงมากไปอีกหลังโควิด

สามเรื่องนี้ คือ ความคาดหวังที่สังคมมี ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นหลังโควิด เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการและพร้อมขับเคลื่อน และประชาชนพร้อมแสดงความต้องการเหล่านี้ออกมาให้เห็น จนเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจและประเทศจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของระบบทุนนิยมที่ประเทศมีเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ อีกส่วนผลักดันโดยภาวะเศรษฐกิจโลกและภูมิศาสตร์การเมืองโลก ซึ่งในความเห็นของผม การเปลี่ยนแปลงในประเทศไทยหลังโควิดจะเกิดขึ้นในสามลักษณะ

 หนึ่ง การปรับตัวของเศรษฐกิจจะนำโดยภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมไม่ใช่ภาครัฐ ส่วนหนึ่งเพราะทรัพยากรการเงินในภาคธุรกิจมีมากเห็นได้จากบริษัทขนาดใหญ่มีกำไรดีในช่วงโควิด ขณะที่ภาครัฐมีหนี้มากขึ้นและต้องใช้เวลาหลังโควิดไม่ให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ขณะเดียวกันแรงกดดันด้านการแข่งขันก็จะทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว ซึ่งต้องทำเร็วรอการชี้นำหรือมาตรการจากภาครัฐไม่ทัน ผลคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังโควิดจะนำโดยภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่ประเทศมี

สอง ภาคธุรกิจจะปรับตัวมากเพื่อความอยู่รอด เช่น ใช้นวัตกรรมและดิจิตัลเทคโนโลยี่มากขึ้น  เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีต่อภาคธุรกิจในระยะยาว รวมถึงที่จะลดโอกาสในการทำธุรกิจ เช่น ปัญหาโลกร้อน ความปลอดภัยด้านสาธารณสุข สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงกดดันให้ภาครัฐต้องออกมาสนับสนุนการปรับตัวของภาคเอกชน ด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้นและแข่งขันได้ กล่าวคือ ภาคธุรกิจต้องการภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจที่เอื้อต่อการปรับตัวและการเติบโต ซึ่งต้องมาจากการสนับสนุนของระบบราชการและภาครัฐแบบ 4.0 ไม่ใช่แบบ 1.0 หรือ 2.0 เช่นในปัจจุบัน

สาม ภาครัฐเองจะทนต่อแรงกดดันไม่ไหวและต้องปรับตัวทั้งในระดับหน่วยราชการ ข้าราชการ และนักการเมือง โดยเฉพาะคุณภาพของนักการเมือง เพื่อให้นำไปสู่การทำนโยบายที่มีคุณภาพ ที่สามารถระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายมากลั่นเป็นนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างสำเร็จ ไม่ใช่การทำนโยบายแบบท็อปดาวน์ (Top down) อย่างในปัจจุบัน แต่เป็นกระบวนการทำนโยบายสาธารณะที่เปิดกว้าง นำไปสู่การตัดสินใจบนเหตุผล หลักวิชาการ และข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ รวมถึงมีการใช้วิทยาการสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการตัดสินใจ เช่น การใช้ประโยชน์ Big  Data และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่หลายประเทศกำลังใช้ในการทำนโยบายสาธารณะ ไม่ใช่การทำนโยบายแบบคุณพ่อรู้ดี ที่การตัดสินใจให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าเหตุผลและข้อเท็จจริง

นี่คือ ทิศทางที่เศรษฐกิจและประเทศจะเปลี่ยนหลังโควิด เป็นสิ่งที่ต้องเกิดและควรต้องเกิด.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"