รัฐบาล'เปิด' คือสิ่งที่ประชาชนไทยต้องการ


เพิ่มเพื่อน    

อาทิตย์ที่แล้วผมได้รับเชิญจากสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร) ให้เป็นองค์ปาฐกในการสัมมนา เพื่อสรุปหลักการชี้แนะเพื่อการปรับระบบราชการไปสู่รัฐบาลเปิด ซึ่งลักษณะของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลรัฐบาลเปิดเป็นเรื่องสําคัญมากต่อประเทศไทยและเศรษฐกิจไทยในอนาคต จึงยินดีมากที่ กพร มีแนวคิดที่จะผลักดันเรื่องนี้ วันนี้จึงขอแชร์ความเห็นของผมในเรื่องนี้ให้แฟนคอลัมล์ “เขียนให้คิด” ทราบ

การระบาดของโควิดที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี2019 ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมาก และเป็นบททดสอบสําคัญสําหรับรัฐบาลและระบบราชการของประเทศเราในการทําหน้าที่ โดยเฉพาะการทํานโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในประเด็นความเข้าใจปัญหา การออกนโยบายและมาตรการแก้ไข การนํานโยบายไปสู่การปฏิบัติ การสื่อสารกับประชาชน และในเรื่องธรรมภิบาลของการทำนโยบายคือ ความมีเหตุมีผล ความเป็นธรรม ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ เป็นการทดสอบภาครัฐในทุกขั้นตอนของการแก้วิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นช่วงฉุกเฉินที่มีการระบาดมาก ช่วงการฟื้นเศรษฐกิจ และช่วยการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศสำหรับการเติบโตในอนาคตหลังโควิดที่ยังต้องทำ ซึ่งเท่าที่ผ่านมา เห็นได้ว่าบางประเทศทําได้ดีมาก บางประเทศทําได้ไม่ดี และบางประเทศสอบตก

สำหรับประเทศเรา การระบาดของโควิดและผลที่มีต่อชีวิตและเศรษฐกิจทําให้บทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่น การออกกฎและระเบียบต่างๆเพื่อชะลอหรือหยุดการระบาด ได้แก่มาตรการล๊อคดาวน์ ห้ามเดินทาง ปิดประเทศให้ประชาชนรักษาระยะห่าง ล้วนเป็นการใช้อํานาจของภาครัฐจํากัดพฤติกรรมของคนในสังคมอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในแง่การใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจก็สูงมาก วงเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาทถึงขณะนี้มากกว่าวงเงินที่ประเทศไทยเคยกู้ไอเอเอฟช่วงวิกฤติปี 2540 เกือบสามเท่า นอกจากนี้รัฐก็เข้าแทรกแซงและควบคุมกลไกตลาดในการจัดสรรทรัพยากร เช่นการนําเข้าและกระจายวัคซีนให้กับประชาชน สื่งเหล่านี้หลายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงมีคําถามถามมากเกี่ยวกับประสิทธิผลและความมีเหตุมีผลของการทํานโยบายของภาครัฐ

ประเทศเราตอนนี้อยู่ในช่วงสองของวิกฤติคือการฟื้นตัว แต่ก็ไม่เข็มแข็งเพราะการระบาดยังมีอยู่มากและยังบอกไม่ได้ว่าการระบาดได้ผ่านจุดสูงสุดไปหรือยัง และจะมีรอบใหม่หรือไม่ แต่ถึงจุดนี้ ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการทํางานของภาครัฐก็คือ สมรรถนะของภาครัฐในการทําหน้าที่ ทั้งรัฐบาลและหน่วยราชการยังต้องปรับปรุงและยังสามารถทำให้ดีขึ้นได้อีกมาก และหลังโควิดคนในสังคมส่วนใหญ่ขณะนี้ไม่ต้องการให้ประเทศกลับไปจุดเดิมก่อนโควิด แต่ต้องการให้ประเทศกลับไปจุดใหม่ที่ดีกว่าเข้มแข็งกว่าหลังโควิด คือ Build Back Better ให้ประเทศมีความสามารถในการแก้ปัญหาที่กระทบชีวิตคนในสังคมในวงกว้างอย่างที่เกิดขึ้นได้ดีกว่าปัจจุบันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์คล้ายๆกันในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น และสิ่งหนึ่งที่เห็นร่วมกันและต้องเปลี่ยนแปลงใหญ่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือการปฏิรูปการทํางานของภาครัฐ หรือ Public Sector Reform

เป้าหมายของการปฏิรูปภาครัฐ คือ ทำให้ภาครัฐ หมายถึง นักการเมืองและข้าราชการตอบสนองต่อการแก้ปัญหาของประเทศและนำประเทศไปสู่การพัฒนาในระดับที่สูงขึ้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งคำตอบหนึ่งก็คือ รัฐบาล “เปิด” หรือ Open Government เพราะรัฐบาลเปิดสามารถเป็นกลไกสําคัญในการขับเคลื่อนให้สมรรถนะในการทําหน้าที่ของภาครัฐดีขึ้น

ในเรื่องนี้ สิ่งแรกที่ต้องตระหนัก คือ บทบาทภาครัฐนั้นสําคัญมากต่อประเทศ นโยบายที่ทําโดยภาครัฐ คือรัฐบาลและหน่วยราชการ กระทบการตัดสินใจ แรงจูงใจ และการจัดสรรทรัพยากรในประเทศ ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการกินดีอยู่ดีของประชาชน จึงชัดเจนว่านโยบายสาธารณะที่ดีจะทําให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองตรงข้ามกับนโยบายสาธารณะที่ไม่ดีที่จะฉุดรั้งประเทศและทําลายโอกาสของคนในประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต คําถามคือทําอย่างไรเราจะได้นโยบายสาธารณะที่ดี

คําถามนี้มีคนถามกันมาก และช่วง10ปีที่ผ่านมาในระดับสากล เราก็เห็นพัฒนาการในแนวคิดเกี่ยวกับการทํานโยบายสาธารณะที่เปลี่ยนไปชัดเจน คือ ออกจากรูปแบบเดิมที่เป็นแบบ Waterfall เหมือนน้ำตก ที่การทํานโยบายเป็นจากบนสู่ล่าง ทําโดยหน่วยงานรัฐหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบ ทำทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ คือตั้งโจทย์เอง คิดเอง นําไปปฏิบัติเอง ในแง่ธรรมาภิบาลก็เน้นเฉพาะการปฏิบัติตามระเบียบมากกว่าแนวปฏิบัติที่ดีหรือที่ควรทํา และผลออกมาอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรับไป ไม่ดีก็ทําใหม่ นี่คือโมเดลการทํานโยบายสาธารณะที่หลายประเทศทําอยู่ รวมถึงประเทศเรา ทําให้ปัญหาสําคัญๆที่ประเทศมีไม่สามารถแก้ไขได้ ผลคือ ประชาชนเดือดร้อน

ความไม่พอใจต่อนโยบายสาธารณะดังกล่าวจึงเป็นแรงกดดันให้แนวคิดเกี่ยวกับการทํานโยบายสาธารณะต้องเปลี่ยน ขับเคลื่อนโดย 4 ปัจจัยหลัก

หนึ่ง ความเข้าใจของสังคมว่านโยบายสาธารณะมีความสําคัญ ประเทศจะไปได้ดีหรือตกอยู่ในกับดักของการไม่เติบโตก็มาจากคุณภาพของนโยบายสาธารณะ ทำให้นโยบายสาธารณะที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และนโยบายสาธารณะที่ดีก็เป็นสิทธิของคนในประเทศ ทั้งในฐานะประชาชนและในฐานะผู้เสียภาษี นอกจากนี้ประชาชนก็พรัอมมีส่วนร่วมทั้งในและนอกระบบราชการที่จะช่วยแก้ไขปัญหา เพราะปัญหาที่สังคมมีเป็นshared problem คือเป็นปัญหาร่วมกันของคนในสังคม

สอง ปัจจุบันความรู้ในการแก้ปัญหาและทํานโยบายไม่ได้จํากัดอยู่เฉพาะในวงราชการ คือข้าราชการไม่ได้ผูกขาดความรู้ต่างๆในการทํานโยบายและแก้ปัญหา แต่ความรู้มีอยู่มากในสังคมทั้งภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ทั้งในเรื่องความเข้าใจปัญหา อะไรเป็นสิ่งที่ควรทํา ควรทําอย่างไร และจะทําอย่างไรให้สําเร็จดังนั้น ความท้าทาย คือ สังคมที่จะมีวิธีการอย่างไรที่จะนำความรู้ที่สังคมมีมาใช้แก้ไขปัญหา

สาม คือพัฒนาการทางดิจิตอลเทคโนโลยี่ที่มีมาก เช่น Big Data, AI, Machine Learning, Blockchain  เทคโนโลยี่เหล่านี้ใช้กันกว้างขวางในภาคธุรกิจและสามารถนํามาช่วยในการทํานโยบายสาธารณะได้ในทุกขั้นตอน เพื่อให้ผู้ทำนโยบายมีทางเลือกมากขึ้นในการทำนโยบายสาธารณะที่ดี

สี่ การแก้ไขปัญหาหลายเรื่องต้องการความรู้และทักษะหลายด้านผสมกันเพราะปัญหามีหลายมิติ เป็นความรู้ที่หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบอาจไม่มี จําเป็นต้องระดมความรู้มาจากภาคต่างๆเพื่อให้ได้ทางเลือกทางนโยบายที่ดีที่สุด จนมีการพูดกันว่านักนโยบายสาธารณะที่ดีต้องเป็นเหมือนคนที่มีหลายพรสวรรค์ คือ มีหัวแบบวิศรกรคือคิดเป็นระบบ มีใจแบบนักกฏหมายคือคิดในเรื่องความถูกต้องและความเป็นธรรมอยู่เสมอ มีความกระตือรือล้นแบบนักธุรกิจที่ต้องการให้สิ่งที่ทําประสพความสําเร็จ และมีมือแบบนักวิทยาศาสตร์ คือพร้อมยื่นมือและร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อให้งานสําเร็จ นี่คือทักษะที่ต้องมีในการทํานโยบายสาธารณะ

แรงกดดันเหล่านี้ ทําให้บทบาทของภาครัฐและหน่วยราชการจําเป็นต้องเปลี่ยนไปสู่การเป็นรัฐบาลที่เปิดมากขึ้น อย่างน้อยในสามด้าน หนึ่ง เปิดในแง่การเปิดเผยขัอมูลและการสามารถเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้โดยภาคเอกชนและภาคประชาสังคม สอง เปิดในแง่การมีส่วนร่วมจากภายนอกในการทํานโยบาย และ สาม เปิดในแง่การสื่อสารและธรรมาภิบาล คือ โปร่งใสตรวจสอบได้ ทั้งหมดก็ให้เพื่อการทํานโยบายสาธารณะของประเทศเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งจะช่วยรักษาความไว้วางใจหรือ Trust ที่ประชาชนมีต่อภาครัฐ

ด้วยเหตุนี้ การปฏิรูประบบราชการไปสู่รัฐบาลเปิดในประเทศเราจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและจะเป็นรูปแบบการทำหน้าที่ของรัฐบาลที่ตรงกับความต้องการของประชาชนและจะต่างกับรูปแบบของรัฐบาลปัจจุบันมากมาย คือเป็นรัฐบาลเปิดในสามรูปแบบ

หนึ่ง เปิดด้านข้อมูลที่ข้อมูลภาครัฐมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีมาตราฐานตามหลักสากล สามารถเชื่อมต่อในระดับหน่วยงานได้เพื่อประโยชน์ในการทํานโยบาย ขณะเดียวกันก็เปิดให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ นําไปสู่การตัดสินใจที่ดีในภาคเอกชนและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สอง เปิดด้านการมีส่วนร่วม เพื่อระดมความรู้ความสามารถที่สังคมมีเข้ามาร่วมแก้ปัญหาในลักษณะการสร้างCollective Intelligence หรือ ปัญญาสังคมร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา พร้อมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น Big Data, AI มาร่วมวิเคราะห์เพื่อเสนอทางเลือกทางนโยบายที่เหมาะสมต่อการแก้ปัญหา

สาม เปิดในเรื่องธรรมาภิบาลคือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยมีช่องทางให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลภาครัฐ การตัดสินใจ และเหตุผลในการทํานโยบาย ทั้งโดยการตั้งคําถามที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือขอเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องที่สําคัญในอดีตหลังเว้นระยะเวลาหนึ่ง เช่น นโยบายสําคัญ การประมูล การจัดซื้อจัดจ้าง การตัดสินใจของหน่วยงานรัฐ รวมถึงการฟ้องร้องคดี เหล่านี้สามารถทําให้เป็นระบบได้โดยไม่ขัดกับกฏหมายหรือสิทธิส่วนบุคคล และจะช่วยให้การทํานโยบายและการตัดสินใจของภาครัฐต้องมีเหตุมีผลและระมัดระวังมากขึ้น เพราะสามารถถูกตรวจสอบได้ในอนาคต และอันนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะสร้าง trust ให้กับการทําหน้าที่ของภาครัฐ

รัฐบาลเปิดที่เปิดในทั้งสามด้านนี้เป็นสี่งที่ประชาชนไทยต้องการ และตรงกับความหมายของ Open Government ในระดับสากล เช่นของ OECD  ผมจึงยินดีมากที่ กพร ได้ริเริ่มและกำลังขับเคลื่อนเรื่องที่สำคัญนี้ ก็อยากให้คนไทยทุกคนสนับสนุน และช่วยกันเรียกร้องผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของประเทศ

เขียนให้คิด
ดร.บัณฑิต  นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล



 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"