ตรวจสัญชาติอวน เตรียมดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายทำปะการังพัง


เพิ่มเพื่อน    

นายวราวุธ ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) สั่งตรวจสอบสัญชาติอวนที่กู้จากเกาะโลซิน เตรียมลงดาบเรือตัดอวน พร้อมดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายทำปะการังพัง ขณะที่การกู้อวนประสบความสำเร็จ พบความเสียหายบางส่วน เร่งปลูกชดเชย
    เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์กรณีอวนขนาดใหญ่ปกคลุมแนวปะการังเกาะโลซิน จ.ปัตตานี ว่า หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้กู้อวนทั้งหมดขึ้นมาแล้ว พื้นที่ของอวนทั้งหมดเกือบ 3,000 ตารางเมตร ปริมาณอวนที่กู้ขึ้นไม่ได้เกือบ 1 ตัน พื้นที่ของแนวปะการังต่างๆ เสียหายไปเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ ไม่อยากจะคิดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือมูลค่าทางทรัพยากรเลย แต่ค่าใช้จ่ายที่ต้องนำบุคลากรชั้นนำเรื่องการดำน้ำไปดำและใช้เวลาถึง 2-3 วันที่ระดมอุปกรณ์เพื่อไปตักอวนเหล่านั้นขึ้นมา เสียทั้งกำลังกายกำลังทรัพย์ และทรัพยากรต่างๆ 
    ซึ่งเท่าที่ทราบปัจจุบันสามารถดูจากรูปพรรณสัณฐาน และกำหนดจุดบนอวน ขณะนี้กำลังหาว่าอวนนี้มาจากเรือลำใดหรือจากประเทศใด เมื่อพบแล้วหากเป็นเรือที่อยู่ในประเทศไทย ขอยืนยันว่าจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ค่าเสียหายกี่ล้าน ทาง ทส.จะเป็นผู้เรียกร้อง แต่หากเป็นอวนที่มาจากต่างชาติ จะไปดูที่กระบวนกฎหมายว่าจะสามารถดำเนินการทางกฎหมายอย่างไรได้บ้าง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องทำการสำรวจพื้นที่เพิ่มหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า พื้นที่ใต้ทะเลเทียบกับบนแผ่นดินพื้นที่ใต้ทะเลมากกว่าพื้นที่บนบกประมาณ 3 เท่า การที่จะตรวจทุกตารางนิ้วนั้นคงจะเป็นไปได้ลำบาก แต่จากประสบการณ์ของตนที่ได้ดำน้ำในหลายจุด จะเห็นขยะทะเล, เชือก,อวนทะเลอยู่เป็นประจำ จึงเป็นเหตุที่ขอร้องฝากไปยังคนที่จะทิ้งอะไรลงทะเล ขอความกรุณาว่าง่ายที่จะทิ้ง แต่ผลกระทบที่ตามมานั้นมีผลกระทบในระยะยาวอย่างยิ่ง ขอให้ใช้วิจารณญาณและช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรไว้ เพราะเสียหายครั้งหนึ่งใช้เวลาชั่วอายุคนในการฟื้นฟูกลับมา
    ขณะที่ทางด้าน พล.ร.ต.ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เปิดเผยถึงการปฏิบัติภารกิจแก้ปัญหาอวนขนาดใหญ่ปกคลุมปะการังบริเวณเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี วันสุดท้าย (20 มิ.ย.64) ว่าการปฏิบัติภารกิจยังคงดำเนินการตามแผนที่วางไว้ สภาพอากาศท้องฟ้าแจ่มใส โดยทีมนักดำน้ำได้ทำการดำในช่วงเช้า 2 เที่ยว เพื่อทำการตัดอวนที่เหลือ ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถเก็บอวนขึ้นมาได้ทั้งหมด มีน้ำหนักถึง 800 กิโลกรัม ส่วนในช่วงบ่ายได้ทำการดำอีก 1 เที่ยว เพื่อประเมินความเสียหายของปะการังและปลูกซ่อมแซม
    จากการสำรวจพบว่าพื้นที่อวนทั้งหมด 2,750 ตารางเมตร พื้นที่ที่อวนปกคลุมปะการัง 550 ตารางเมตร ผลการประเมินความเสียหายของปะการัง พบลักษณะความเสียหายหลักคือปะการังมีสีซีดจางร้อยละ 10 ของพื้นที่ปกคลุมทั้งหมด รองลงมาคือแตกหัก ร้อยละ 5 ของพื้นที่ปกคลุมทั้งหมด และรอยถลอกเสียดสี บางส่วนบาดจนปะการังเคลือบติดกับเนื้ออวน ร้อยละ 5 ของพื้นที่ปกคลุมทั้งหมด นอกจากนั้นยังมีผลกระทบอื่นที่ไม่ใช่ปะการัง ประกอบด้วยดอกไม้ทะเลและสัตว์หน้าดินเสียหายเล็กน้อย
    สำหรับแผนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู ได้ปลูกปะการังทดแทนในพื้นที่เสียหายประมาณ 500 เข่ง และติดตามผลการดำเนินการในอีก 3 เดือน โดยนักดำน้ำทั้งหมดที่มาจากกองทัพเรือ 16 นาย  นักดำน้ำของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และอาสาสมัครดำน้ำจำนวน 26 นาย รวมทั้งนักข่าวใต้น้ำจำนวน 6 นาย ปลอดภัย การปฏิบัติการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและไม่มีอุปสรรคใดๆ โดย พล.ร.ท.สำเริง จันทร์โส ผอ.ศรชล.ภาค 2/ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 2 (ผบ.ทรภ.2) ได้ขอบคุณหน่วยงานที่ร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ โดยเฉพาะนักดำน้ำและถ่ายภาพใต้น้ำทั้ง 38 นายที่เสียสละเข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ จนทำให้ภารกิจได้สำเร็จลุล่วงเป็นอย่างดี
    โฆษก ศรชล.กล่าวว่า สำหรับการติดตามผู้กระทำความผิด ทาง ศรชล.ร่วมกับ ทร., ทช., กรมประมง เพื่อดำเนินการร่วมกัน โดยเบื้องต้น ทช.จะนำของกลางเข้าแจ้งความเพื่อหาผู้กระทำผิด และ ศรชล.ได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
    1.ให้ศูนย์ยุทธการตรวจสอบเรือประมงพาณิชย์ ประเภทอวนล้อมจับ ที่มีประวัติเดินทางผ่านเกาะโลซิน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.64-ปัจจุบัน
    2.ซากอวนทั้งหมดที่ตัดมาให้นำอวนมาส่งที่ท่าเรือตรวจประมง ปัตตานี และให้ ศรชล.จังหวัดปัตตานีตั้งคณะทำงานร่วมกันกับสมาคมประมง และประมงจังหวัด เพื่อหาที่มาของอวน
    3.ให้ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดต่างๆ ตรวจสอบเรือที่แจ้งเข้าว่า อวนบนเรือมีลักษณะตรงกับตัวอย่างที่เก็บมาได้ และอวนบนเรือได้หายไปเนื่องจากการประมงหรือไม่ เพื่อตรวจสอบหาเรือที่กระทำความผิดต่อไป
    สำหรับโทษที่กำหนดไว้เกาะโลซินเป็นพื้นที่ห้ามทำประมงชอบ/อวน ตาม พ.ร.บ. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมาตรา 17 โทษปรับ 100,000 บาท จำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงโทษตาม พ.ร.บ.สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ฐานทำให้ปะการังเสียหายหรือถูกทำลายจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"