ชวนกรีดบางคนไม่ได้ดังใจ ส.ว.ปล่อยผ่าน‘ร่างพปชร.’


เพิ่มเพื่อน    

 

“ชวน” แจงเหตุไม่บรรจุวาระแก้มาตรา 256 ยึดตามข้อบังคับกฎหมาย กรีดบางคนไม่ได้ดั่งใจจึงโวยวาย “ปชป.” ประกาศหนุนยกยวง แต่ขอสับฉบับพลังประชารัฐ “คำนูณ” ถอดรหัสพบเป้าหลัก “สมนาคุณพรรคใหญ่ ถอดปลั๊กปราบโกง” เลิศรัตน์เชื่อเสียง ส.ว.ปล่อยผ่านก่อนค่อยแปรญัตติแก้ฉบับ  พปชร.
    เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พร้อมคณะ ได้ตรวจความพร้อมของห้องประชุมพระสุริยัน เพื่อเตรียมการประชุมร่วมรัฐสภาในสัปดาห์นี้ ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)       
    โดยนายชวนให้สัมภาษณ์ถึงกรณีไม่บรรจุญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่า เคารพความเห็นของทุกคน แต่ประธานสภาฯ มีหน้าที่ทำตามข้อบังคับตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ว่าอะไรที่บรรจุได้ อะไรที่บรรจุไม่ได้ สภามีวิธีปฏิบัติอยู่แล้ว มีเจ้าหน้าที่กลั่นกรอง กรณีใดที่ต้องการความมั่นใจก็จะประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ความจริงไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแต่บางคนอาจไม่ได้ดั่งใจจึงออกมาโวยวาย แต่โดยทั่วไปมีระบบอยู่แล้ว ประธานจะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้  
    “สมมุติว่าขัดต่อระเบียบและคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญ จะไปทำอย่างอื่นไม่ได้ ทุกอย่างอยู่ในกติกา กฎเกณฑ์โดยเคร่งครัด โดยสุจริตและเปิดเผย ไม่มีอะไรที่เป็นลับลมคมใน และไม่มีใครมายุ่งหรือสั่ง ไม่ว่ารัฐบาลหรือใคร จะเห็นว่าบางครั้งอาจมีบางญัตติที่ไม่ตรงใจรัฐบาลด้วยซ้ำ เช่น ญัตติอภิปรายเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณ รัฐบาลเห็นว่าไม่ควรบรรจุ แต่ผมก็บรรจุ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัย เป็นแค่ให้ความเห็นเท่านั้น ดังนั้นยืนยันทุกอย่างตรงไปตรงมา ขอย้ำว่าประธานไม่มีสิทธิ์ทำอะไรที่ละเมิดกฎเกณฑ์” นายชวนกล่าว  
      ส่วนญัตติดังกล่าวถือว่าตกไปหรือไม่นั้น นายชวนกล่าวว่า ยังไม่วินิจฉัยในเรื่องนี้ 
    นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา กล่าวเช่นกันว่า นายชวนยึดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เป็นกลาง ตรงไปตรงมา ให้เกียรติและเคารพทุกคน สร้างบรรทัดฐานของรัฐสภา ยึดมั่นหลักนิติธรรม การกล่าวหาว่าขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงทั้งสิ้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นถึงครูบาอาจารย์ ต้องย้อนกลับไปดูหลักการรัฐธรรมนูญและข้อบังคับให้ชัด รวมไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ประกอบด้วย ไม่ใช่คิดจะทำตามอำเภอใจตนโดยไม่มีหลัก พอไม่ได้ดั่งใจก็ออกมาโวยวาย ไม่สมราคาของฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
    ส่วนความคิดเห็นในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เป็นเรื่อง ส.ส. ส่วนแนวทางพรรคจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่ได้ประชุม 
เมื่อถามถึงกรณีนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ออกมาระบุการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองเป็นเพื่อประโยชน์ตัวเอง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ประโยชน์อะไร ผมไม่รู้ ก็ต้องถามว่าประโยชน์อะไร ทุกคนก็ทำงานให้กับประชาชน ทุกพรรคการเมืองก็หวังทำประโยชน์ให้ประชาชน ทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้าให้มีความเจริญทั้งนั้น” 
    เมื่อถามว่า การที่ ส.ว.ออกมาติงตั้งแต่ต้นเช่นนี้ จะส่งผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มีหรอก ก็ต้องดูตามเสียงที่รัฐธรรมนูญกำหนด ถ้าเสียงมากก็ได้ เสียงน้อยก็ไม่ได้ ก็ว่าไป  
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. ในฐานะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอแก้ไขมาตรา 144 และ 185 กล่าวถึงข้อทักท้วงจาก ส.ว. และองค์การต่อต้านคอร์รัปชันคัดค้าน ยืนยันไม่ได้แก้ไขเพื่อให้ ส.ส.ไปแปรญัตติงบเข้าพื้นที่ตัวเองได้ ส่วนที่ตัดเรื่องบทกำหนดโทษนั้น เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กฎหมายอาญา ซึ่งมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่แล้ว
“การที่ ส.ว.ไม่เห็นด้วยถือเป็นสิทธิ์ แต่เมื่อรับหลักการร่างแก้ไขแล้ว สามารถไปแก้ในชั้นแปรญัตติได้ อยากขอร้องว่าการพูดอะไรให้คำนึงถึงความถูกต้อง อย่าบิดเบือน และไม่กังวลว่าข้อทักท้วงจะส่งผลให้ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคจะไม่ผ่านในวาระรับหลักการ เพราะเชื่อว่า ส.ว.ส่วนใหญ่จะมีดุลพินิจศึกษาเนื้อหาของร่างกฎหมาย แต่บางส่วนที่ทักท้วงเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยกับยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมั่นใจการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่มีละครปาหี่การเมือง ยืนยันว่าพรรค พปชร.จริงใจอย่างตรงไปตรงมา” นายไพบูลย์ระบุ
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า พรรคพร้อมสนับสนุน 8 ญัตติที่ 3 พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ เพราะ ส.ส.ของพรรคได้ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอแก้ไข ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอื่นๆ นั้น พรรคจะพิจารณาเงื่อนไขประกอบ โดยหากแก้ไขให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่มีการแตะการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชน พรรคก็จะสนับสนุน
        เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจการโหวตเลือกนายกฯ ของวุฒิสภา จะผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ยืนยันว่า พรรคพร้อมสนับสนุนการแก้ไขในประเด็นดังกล่าว เพราะ ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ควรมีอำนาจที่จำกัดตามวิถีประชาธิปไตย เช่น การกลั่นกรองกฎหมาย แต่ไม่ถึงขั้นการโหวตเลือกนายกฯ ซึ่งในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย.นี้ วิปรัฐบาลจะหารือร่วมกันถึงแนวทางการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง
    นายราเมศแถลงภายหลังการประชุม ส.ส.ของพรรค ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ แต่เป็นห่วงในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายไพบูลย์ใน 2 มาตรา คือมาตรา 144 ว่าด้วยการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี และมาตรา 185 ว่าด้วย ส.ส.หรือ ส.ว. ต้องไม่ก้าวก่ายการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ซึ่ง ส.ส.พรรคหลายคนจะแปรญัตติในชั้น กมธ.ต่อไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญแบบไหนก็แล้วแต่ จะต้องมีคนกลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์ และอีกกลุ่มที่เสียประโยชน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ส่วนของพรรคนั้นก็เห็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบและสองใบ แต่ท้ายที่สุดเสียงส่วนใหญ่ของสภาออกมาแบบใด เราก็ต้องเตรียมตัวไว้รองรับทุกรูปแบบสำหรับการเลือกตั้ง 
“พรรคเราไม่ได้ลงนามเพื่อแก้ไขด้วยกับ 2 พรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย โดยมองว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และจะสืบต่อไปสู่ความขัดแย้ง ซึ่งปัจจุบันนี้มีก็ความขัดแย้งจำนวนมากแล้ว อีกทั้งเรื่องนี้ยังจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. ดังนั้นการจะไปตัดอำนาจ ตัดมือตัดเท้าเขา ก็ไม่มั่นใจว่า ส.ว.จะให้ความร่วมมือ ดังนั้นประเด็นใดที่เป็นความขัดแย้งเราก็ขอพักไว้ก่อน” นายวราวุธกล่าวตอบข้อถามเรื่อง ร่างแก้รัฐธรรมนูญที่ยกเลิกมาตรา 272  
    เมื่อถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลควรมีความเห็นในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า ควรเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่เราขอประชุมพรรคกันก่อน และจะประสานงานระหว่างพรรคโดยวิปรัฐบาลว่ามีทิศทางความเห็นเป็นเช่นไร
    ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ใช้เวลาสแกนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับ จาก 3 กลุ่มพรรคการเมือง พอสรุปภาพรวมได้คือ สมนาคุณพรรคใหญ่ ถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง และปิดสวิตช์ ส.ว. ซึ่งเชื่อว่าเป้าหมายหวังผลเต็ม 100% คือประเด็นสมนาคุณพรรคใหญ่ และถอดปลั๊กรัฐธรรมนูญปราบโกง ส่วนประเด็นปิดสวิตช์ ส.ว. แม้ไม่อาจหวังผลได้ แต่ก็เป็นประเด็นที่ต้องเสนอไว้ เพื่อรักษาวาทกรรมประชาธิปไตย
     พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. กล่าวว่า ส.ว.ได้จัดเสวนาเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับ เมื่อช่วงเช้ามี ส.ว.เข้าร่วมรับฟังกว่า 100 คน ส่วนใหญ่ ส.ว.เห็นตรงกันว่าไม่เห็นด้วยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับบทเฉพาะกาล เช่น มาตรา 272 เรื่องตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ ส่วนประเด็นการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เป็นประเด็นที่ ส.ว.อภิปรายให้ความเห็นกันมาก ส่วนใหญ่ไม่ขัดข้อง และอีกประเด็นที่มีการพูดถึงมากคือมาตรา144 และมาตรา 185 
    “ขอให้จับตาดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค พปชร. จะมี ส.ว.ลงมติไม่เห็นชอบด้วย แต่สุดท้ายแล้วน่าจะมีเสียง ส.ว.สนับสนุนเพียงพอให้ผ่านไปได้ เพราะร่างมัดรวมทุกเรื่อง ดังนั้นเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่จะอนุโลมให้ผ่านไปก่อน แล้วไปแก้ไขในชั้นการแปรญัตติให้สามารถควบคุม ส.ส. และ ส.ว.ไม่ให้เข้าไปแทรกแซงการใช้งบประมาณได้” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว        
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ระบุว่า ได้สร้างแคมเปญรณรงค์ผ่าน Change.org หัวข้อ คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้เกิดการคดโกงงบประมาณของประเทศ เชิญชวนให้คนร่วมลงชื่อ และจะเดินหน้ารณรงค์ทุกวิถีทางให้ประชาชนต่อต้านการกระทำของพรรค พปชร.ในการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ที่ทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศล้มเหลว พร้อมกันนี้ขอเรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนได้แสดงจุดยืนในเรื่องนี้ให้ชัดเจนด้วย.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"