แก้รธน.เดือดส.ว.งัดข้อพปชร.


เพิ่มเพื่อน    

แก้รัฐธรรมนูญ 13 ร่างเริ่มพุธนี้ คาดระอุส่อถกเดือด สภาสูงต้าน พปชร.สอดไส้เปลี่ยนแปลงวิธีการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ-เปิดช่องนักการเมืองแทรกแซงหน่วยงานราชการ ส.ว.ทำฮึดฮัดลั่นไม่ร่วมสังฆกรรม หวั่นทำ รธน.ปราบโกงสิ้นฤทธิ์ รัฐสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ประชามติฉลุย 
    ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในวันพุธที่ 23 มิ.ย.นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราวาระแรกขั้นรับหลักการ  ที่มีด้วยกันทั้งสิ้น 13 ร่าง โดยเบื้องต้นการพิจารณาดังกล่าวจะเสร็จสิ้นและลงมติในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิ.ย.
    ด้านท่าทีจากฝ่ายต่างๆ นายสุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน  กล่าวว่า การพิจารณาดังกล่าวพรรคร่วมฝ่ายค้านจะใช้ผู้อภิปรายไม่เกิน 30 คน พรรคเพื่อไทยประมาณ 13 คน ซึ่งหากไม่จบภายใน 2 วันก็จะขอหารือกับนายชวน หลีกภัย  ประธานรัฐสภา ขยายเวลาเพิ่มไปถึงวันที่ 25 มิ.ย. 
     นายสุทินกล่าวต่อว่า ส่วนทิศทางการลงมติของพรรคเพื่อไทย ในส่วนร่างของพรรคจะเห็นชอบทั้ง 4 ร่าง ไม่นับรวมร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่ไม่ถูกบรรจุในวาระการประชุม ส่วนร่างอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคร่วมรัฐบาล สมาชิกพรรคเพื่อไทยมีมติว่าจะรอฟังการอภิปรายแต่ละร่างก่อนถึงจะมีมติไปทางใดทางหนึ่งในวันสุดท้าย เนื่องจากร่างของทั้งพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลมีส่วนที่ตรงกันกับร่างของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้นส่วนที่ตรงกันก็ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนที่ไม่ตรงจะดูและฟังว่าสามารถปรับปรุงแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการวาระที่ 2 ได้หรือไม่ หากมีโอกาสปรับปรุงแก้ไขได้ก็คงพิจารณารับหลักการไป แต่หากเรื่องใดที่ไม่สามารถปรับปรุงได้และขัดกับเราชัดเจน แน่นอนว่าก็คงจะเห็นชอบไม่ได้
    วันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา นำโดยนายสังศิต พิริยะสังสรรค์ ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ.แถลงว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. กมธ.ประชุมหารือเกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ โดยที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 และมาตรา 185  เนื่องจากบทบัญญัติทั้ง 2 มาตราดังกล่าวห้ามไม่ให้ ส.ส. และ ส.ว.เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือการให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใดๆ ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 40 และ 50 มีการกำหนดบทบัญญัติไว้ และแม้ว่าการเสนอแก้ไขครั้งนี้ไม่ได้ทำลายหลักการ แต่มีการตัดทอนบทลงโทษ ส.ส., ส.ว.,  คณะรัฐมนตรี และข้าราชการประจำ รวมถึงตัดข้อห้าม ส.ส. และ ส.ว.เข้าไปมีส่วนในการใช้จ่ายหรืออนุมัติงบประมาณ  และการเข้ามาแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ  ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากบทบัญญัติส่วนที่ถูกเสนอตัดออกไป 2 มาตราในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐธรรมนูญ 60 ที่ได้รับสมญานามว่ารัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง
        "การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญของคณะ กมธ.จะมีมาตรการแซงก์ชันอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา อาจจะเป็นเรื่องของการงดออกเสียง การลงมติไม่เห็นด้วย หรือการอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่กดปุ่มลงคะแนนใดๆ” นายสังศิตกล่าว
          ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวระหว่างแถลงเช่นกันว่า เป็นความลำบากใจของ กมธ.และ ส.ว.หลายคน  เพราะมาตรา 144 และมาตรา 185 รวมอยู่ใน 5 ประเด็นใหญ่ในญัตติของพรรคพลังประชารัฐ เราแสดงจุดยืนในการแก้ไข 2 มาตราดังกล่าว ซึ่งการแถลงเช่นนี้คงพิจารณากันได้ว่าการลงมติจะเป็นอย่างไร แต่การตัดสินใจก็เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคน  
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังถูกสื่อมวลชนซักถามว่ามีเสียงท้วงติงจาก ส.ว.เรื่องการแก้มาตรา 144 ที่จะให้ ส.ส.,  ส.ว.และคณะกรรมาธิการเข้าไปแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ และมาตรา 185 ที่จะเปิดโอกาสให้ ส.ส.เข้าไปแทรกแซงข้าราชการโดยไม่มีโทษทางกฎหมาย จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงอ่อนแอลงหรือไม่ โดยนายวิษณุตอบว่า เป็นประเด็นที่มีปัญหาใน 2 มาตรานี้ แต่หากรัฐสภาเห็นชอบวาระหนึ่งก็สามารถเข้าไปแก้ไขในชั้นแปรญัตติให้เข้มข้นขึ้น จางลง หรือชัดเจนขึ้น อาจจะมีความรู้สึกว่า 2  มาตรานี้ยังไม่ชัดเจน อะไรที่ได้ อะไรที่ไม่ได้ จะทำให้เกิดปัญหาในการตีความ แต่ตนไม่ทราบว่าเขาจะแก้ไปในแนวทางใด 
    เมื่อถามว่า การแก้ไข 2 มาตราดังกล่าวตามร่างของพรรคพลังประชารัฐจะทำให้กลไกปราบโกงของรัฐธรรมนูญลดลงไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าก็มีส่วน  อาจจะไม่ใช่เจตนารมณ์ของ 2 มาตราดังกล่าวก็ได้ แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับที่ประชุมรัฐสภา เพราะสภาเขาก็อยากให้แก้ทั้งฉบับอยู่แล้ว
    มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่เป็นการประชุม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 13 ร่าง ระหว่างวันที่ 23-24 มิ.ย.ว่า ตัวเองไม่มีปัญหาอะไร หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยเหตุและผล จึงขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลในการพิจารณา ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ไม่ได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้แต่อย่างใด
    วันเดียวกันนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาที่มีนายชวน หลีกภัย  ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติในวาระสอง ต่อจากสมัยประชุมรัฐสภาครั้งที่ผ่านมา 
    โดยหลังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาในประเด็นต่างๆ ตามร่างของคณะกรรมาธิการเสร็จสิ้นลง ที่ประชุมจึงลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติในวาระ 3  ด้วยคะแนน 611 ต่อ 4 งดดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนนเสียง  1 เสียง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"