‘หมอหนู’ยันเอาอยู่วิกฤติเตียง!


เพิ่มเพื่อน    

ไทยติดเชื้อใหม่ 3,644 ราย  ดับ 44 คน กทม.คลัสเตอร์ใหม่โผล่รายวันพุ่ง 107 แห่ง คุมเข้มโควิดทหารเกณฑ์ 6หมื่นนายเข้าประจำการ "อนุทิน" ยันยังบริหารจัดการเตียงได้ จับมือ กทม.เร่งขยายใน 1 สัปดาห์ คาดรองรับผู้ป่วยสีเหลือง-สีแดงได้เกือบ 600 เตียง ปรับพื้นที่รพ.บุษราคัมจาก 2 พันเป็น 5 พันเตียง ขณะที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ลามกระฉูด สั่งปิดหมู่บ้าน รพ.สนามเริ่มวิกฤติ สภาผวา! ช่างภาพทีวีติดโควิด ระดมฆ่าเชื้อห้องสื่อ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน เวลา 12.30 น. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,644 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,451 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,803 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 648 ราย มาจากเรือนจำ 162 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 31 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ลักลอบเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติ 30 ราย โดยมาจากมาเลเซีย 1 ราย, เมียนมา 1 ราย และกัมพูชา 28 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 236,291 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 1,751 ราย หายป่วยสะสม 193,106 ราย อยู่ระหว่างรักษา 41,366 ราย อาการหนัก 1,603 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 460 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 44 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,819 ราย 
    สำหรับ 5 จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 25 มิ.ย. ได้แก่ กทม. 1,142 ราย,  สมุทรสาคร 295 ราย, ยะลา 215 ราย,  ปทุมธานี 192 ราย, สมุทรปราการ 186 ราย สำหรับภาพรวมทั่วประเทศ พบคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัด ดังนี้ จ.ปทุมธานี 2 แห่ง ที่โรงงานขนม อ.ลาดหลุมแก้ว พบผู้ติดเชื้อ 56 ราย บริษัทผลิตลวดโลหะ อ.เมืองฯ 7 ราย, จ.สมุทรปราการ ที่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อ.บางพลี 129 ราย, จ.นนทบุรี บริษัทผลิต พลาสติก อ.บางกรวย 9 ราย,  จ.นครปฐม ที่โรงฆ่าสัตว์ ต.ท่าข้าม อ.สามพราน 5 ราย, จ.ฉะเชิงเทรา ที่บริษัทผลิตสี อ.บางปะกง 12 ราย ขณะที่ กทม. พบคลัสเตอร์ใหม่ 8 แห่ง ประกอบด้วย ที่เขตคลองสามวา 2 แห่ง คือ แคมป์คนงาน ถนนพระยาสุเรนทร์ และแคมป์ก่อสร้าง ย่านคู้บอน, แคมป์ก่อสร้างย่านพัฒนาการ 32 เขตสวนหลวง, บริษัทจำหน่ายพลาสติกบรรจุภัณฑ์ภาชนะ เขตบางแค, ที่เขตบางขุนเทียน 3 แห่งคือ  บริษัทผลิตภัณฑ์แก๊สปิโตรเลียม, บริษัทขนมขบเคี้ยว และบริษัทผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอาง, บริษัทผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เขตบางบอน ทำให้ขณะนี้ กทม.มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว 107 แห่ง 
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กมีความเป็นห่วงเรื่องเตียงในพื้นที่ กทม. โดยมีแผนการขยายศักยภาพโรงพยาบาลและเตียงผู้ป่วยรองรับผู้ป่วยสีเหลืองกับสีแดงรวม 471 เตียง โดยโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน สีเหลืองจะเพิ่ม 70 เตียง สีแดงเพิ่ม 16 เตียง, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ สีเหลืองเพิ่ม 100 เตียง สีแดงเพิ่ม 40 เตียง, โรงพยาบาลธนบุรี (มณฑลทหารบกที่ 11) สีเหลืองเพิ่ม 200 เตียง สีแดงเพิ่ม 55 เตียง คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์จะสามารถปรับพื้นที่และระดมบุคลากรเข้าบริการได้ 
    อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังหารือกันเรื่องแคมป์คนงาน โรงงาน ตลาด ชุมชน ใน กทม.ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากพบคลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาดมากกว่า 28 วัน จำนวน 25 แห่ง คลัสเตอร์ที่มีการแพร่ระบาด 14-27 วัน จำนวน 13 แห่ง ทั้งนี้ การที่ กทม.ไม่สามารถจบคลัสเตอร์ได้ภายใน 28 วันเหมือน จ.สมุทรสาคร หลังจากบับเบิลแอนด์ซีลบางจุดแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความร่วมมือที่ยังมีการเล็ดลอดจากแคมป์คนงานไปในตลาดชุมชน 
     ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า เรื่องการเตรียมความพร้อมรับทหารกองเกินเข้ากองประจำการ ซึ่งจะมีทหารเกณฑ์ผลัดใหม่ทั้งประเทศ ประมาณ 60,000 นาย จะมีการรายงานตัวที่ที่ว่าการอำเภอ โดยจะมีการคัดกรองยึดมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งระหว่างการพักคอย ก่อนเคลื่อนย้าย และระหว่างการเดินทาง เมื่อถึงค่ายจะมีการปรับตัวและอบรมให้ความรู้เป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผู้ที่ติดเชื้อเข้าไปปะปน สำหรับปลายทางที่จะนำพาทหารไปนั้น ขอให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัด ให้ช่วยย้ำมาตรการเข้มงวดในจังหวัดระหว่างวันที่ 1- 3 ก.ค.นี้ ส่วนเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับครูฝึกและทหารเกณฑ์ที่จะเข้าประจำการใหม่จะได้รับการฉีดวัคซีนในเร็ววันนี้  
    พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงปัญหาเรื่องเตียงไม่เพียงพอ โดยคาดว่าภายใน 7 วัน จะดำเนินการใช้พื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 แจ้งวัฒนะ ที่โรงพยาบาลเอกชนเสนอมา ดำเนินการรับผู้ป่วยสีแดงที่อาการหนักประมาณ 50 เตียง และสีเหลือง 50 เตียง
ยันยังบริหารเตียงได้
    ทางด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยังไม่มีแนวทางการปรับลดการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อ จาก 14 วัน เป็น 10 วัน ส่วนสถานการณ์เตียงผู้ป่วยโควิดนั้น ยืนยันว่ายังบริหารจัดการได้ ควรมองในภาพใหญ่ ไม่ใช่มองแต่พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้มีการร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการบริหารจัดการร่วมกัน และแบ่งพื้นที่โซนรับผิดชอบ ขณะนี้พยายามกระจายผู้ป่วยสีเหลืองไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลรอบ กทม.และปริมณฑล เพื่อให้ใน กทม.มีเตียงเหลือเพียงพอในการรับผู้ป่วยกลุ่มใหม่เข้ามา ขณะที่ รพ.บุษราคัม เพิ่มศักยภาพเตียงได้อีกจาก 2,000 เตียง เป็น 5,000 เตียงได้ แต่ปัญหาตอนนี้คือจะทำอย่างไรเพื่อควบคุมพื้นที่ต่างๆ ในการลดการติดเชื้อ อีกทั้งได้หาสถานที่การรักษาผู้ป่วยโควิดเพิ่ม ในพื้นสี่มุมเมือง ด้านเหนือ รพ.ธัญญารักษ์ และ รพ.ราชวิถี 2 ส่วนด้านตะวันตก กรมควบคุมโรคจะไปหารือ กทม.ที่ รพ.ผู้สูงอายุ บางขุนเทียน และด้านตะวันออก พื้นที่เขตบางนา บางพลี บางบ่อ สมุทรปราการ ซึ่งหากจัดหาสถานที่พร้อม สามารถดำเนินการได้ทันที
    ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่โรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลอื่นงดรับตรวจโควิด-19 และงดรับผู้ป่วยฉุกเฉิน เนื่องจากปัญหาเตียงเต็ม นายอนุทินกล่าวว่า โรงเรียนแพทย์เหล่านี้ต้องจัดการเรียนการสอนด้วย ทำให้ต้องจำกัดการให้บริการลง แต่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถให้บริการได้อยู่ ส่วนที่มีการโพสต์ในสังคมออนไลน์ถึงปัญหาการรอเตียงนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปติดตามทันที มีการแก้ไขปัญหา แต่ยอมรับว่ามีบางกรณีที่เป็นเฟกนิวส์
    ที่โรงพยาบาลราชวิถี นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมแผนกฉุกเฉิน พร้อมให้กำลังใจผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการพบว่า รพ.ราชวิถียังดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ทั้งในส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค เจ็บป่วยทั่วไป หรือผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ามา แต่ยอมรับว่าบุคลากรเองมีความอ่อนล้าเต็มที่ สถานการณ์วันนี้ การรับผู้ป่วยโควิดมีปัญหามาก กลับมาเห็นภาพผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างรอเตียงที่บ้านจำนวนมากใกล้เคียงกับคราวก่อน โดยมีตกค้างในระบบประมาณ 600 คน และยังมีนอกระบบที่ยังไม่ได้แจ้งอีก และเริ่มอาจเห็นการเสียชีวิตที่บ้านแล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนของปลายทางคือการรักษามีผลกระทบมาก
    ทั้งนี้ การแก้ปัญหาต้องทำ 4  เรื่องควบคู่กันคือ 1.มาตรการต้องกลับมาเข้มข้นเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ทัน โดยเฉพาะการป้องกันการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติ เนื่องจากขณะนี้ยังพบแรงงานต่างชาติเข้ามาในแคมป์คนงานใหม่ 2.การส่งสัญญาณของรัฐบาลเพื่อสื่อสารกับประชาชนว่าสถานการณ์วิกฤติแล้วต้องร่วมมือช่วยกันควบคุมป้องกันโรคไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น 3.การฉีดวัคซีนโควิด-19 ใน กทม.และปริมณฑล เน้นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง เพื่อลดการป่วยรุนแรงเข้า รพ. เมื่อมีวัคซีนมากพอก็ฉีดกลุ่มอื่นไปพร้อมกัน แต่เน้นพื้นที่ระบาดก่อน 4.การเปิดเตียงไอซียูสนามเพิ่มเติม ทั้ง รพ.เอกชนและโรงเรียนแพทย์คือ ม.ธรรมศาสตร์, รพ.รามาธิบดี และ รพ.วชิรพยาบาล ประมาณ 50 เตียงภายใน 7 วัน และต้องหาบุคลากรทางการแพทย์มาเพิ่มเติมด้วย ส่วนนโยบายให้ผู้ป่วยอาการสีเขียวดูแลตัวเองที่บ้านนั้นทาง สธ.ก็มีแผนรองรับอยู่
       "ได้เรียนนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค.กทม.แล้วว่า ปลายทางการรักษาเริ่มมามีปัญหาในการรับผู้ป่วย ถ้าไม่ทำอะไร จะมีผู้ป่วยตกค้างรอเตียงจำนวนมาก และอาจเสียชีวิต จึงต้องดำเนินการมาตรการทั้ง 4 เรื่องไปพร้อมๆ กัน เพื่อจะช่วยปลายทางการรักษา ช่วยให้การทำงานของแพทย์และพยาบาลดีขึ้นตามลำดับ การเจ็บป่วยและผู้ป่วยก็จะเริ่มลดลง โดยต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์" รมช.สธ.ระบุ
         นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้เตียงผู้ป่วยโควิดตึงเกือบทุกระดับ โดยเฉพาะภาครัฐ แม้แต่ฮอสพิเทลและ รพ.สนามภาครัฐค่อนข้างตึง ซึ่งภาครัฐเตียงสีแดงเหลืออีกเพียง 2-3% เท่านั้น  อาจมีว่างบางช่วง เช่น ตอนที่รักษาหายอาการดีขึ้น หรือมีผู้เสียชีวิต แต่วันต่อวันตึงมาก บางทีจะย้ายเข้าก็ไม่มีเตียงให้ย้าย อย่าง รพ.ราชวิถี รับคนไข้ฉุกเฉินอื่นด้วย ต้องเตรียมอย่างน้อย 1 เตียงรับคนไข้ สำหรับกรณีที่ รพ.เอกชนและโรงเรียนแพทย์จะเปิดไอซียูสนามเพิ่ม 50 เตียง แต่ยังไม่มีคนทำงาน จึงได้ทำหนังสือไปที่ สธ. ให้นำแพทย์ประจำบ้านที่เพิ่งเรียนจบแล้วต้องไปใช้ทุนวันที่ 1 ก.ค.มาปฏิบัติงานที่นี่ก่อน ส่วนพยาบาลไอซียูอาจจะต้องระดมจากจังหวัดที่ระบาดไม่มากมาช่วยใน กทม.
ชายแดนใต้ รพ.สนามวิกฤติ
    ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า  จะใช้พื้นที่ของศูนย์การเรียนรู้ของโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ เขตทวีวัฒนา จะปรับเพิ่มห้องความดันลบ 4 อาคาร รองรับผู้ป่วยได้ 40 เตียง จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 สัปดาห์ คาดว่าภายในวันที่ 10 ก.ค. จะเริ่มเปิดรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 10 เตียง หลังจากนั้นจะเปิดรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 10 เตียงอย่างต่อเนื่องจนครบ 40 เตียง
    นอกจากนี้ ขยายศักยภาพโรงพยาบาลในสังกัดเพื่อรองรับผู้ป่วยที่แสดงอาการ (สีเหลืองและสีแดง) โดยจะปรับพื้นที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลืองอีก 70  เตียง รวมกับของเดิม 70 เตียง รวมทั้งหมด 140 เตียง และผู้ป่วยสีแดง 16 เตียง สำหรับโรงพยาบาลสนามราชพิพัฒน์ 1 เขตทวีวัฒนา จากเดิมที่รองรับผู้ป่วยสีเขียว จะปรับพื้นที่รองรับผู้ป่วยสีเหลืองเพิ่ม 100 เตียง และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลธนบุรี สนับสนุนเตียงผู้ป่วยสีเหลือง 250 เตียง และผู้ป่วยสีแดง 50 เตียง รวมแล้วจะขยายศักยภาพการรองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลืองและสีแดง เพิ่มขึ้นอีก 596 เตียง 
        ที่รัฐสภา สำนักรักษาความปลอดภัย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ระดมกันเข้ามาทำความสะอาด พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อ น้ำยาทำความสะอาดบนพื้น โต๊ะ เก้าอี้ ประตู และโพเดียมแถลงข่าว บริเวณห้องสื่อมวลชนรัฐสภา ชั้น 1 ภายหลังมีช่างภาพโทรทัศน์ช่องหนึ่งตรวจพบเชื้อโควิด-19  ซึ่งได้เข้ามาปฏิบัติงานภายในรัฐสภา ในช่วงวันที่ 11 มิ.ย., 14 มิ.ย.,  16-18 มิ.ย.ที่ผ่านมา 
    ที่ จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 186 ราย เสียชีวิต 12 ราย โดยมาจากคลัสเตอร์ใหญ่โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ต.บางปลา อ.บางพลี จำนวน 129 ราย สาเหตุเกิดจากการกินเลี้ยงสังสรรค์กันแล้วเกิดการแพร่กระจายเชื้อ  
    ที่ จ.เชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 15 เครื่อง แก่ รพ.นครพิงค์และ รพ.จอมทอง 
    ที่ จ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 115 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ซึ่งขยายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม คลัสเตอร์มัรกัสยะลา และคลัสเตอร์ย่อย ก่อนเชื้อได้ขยายเข้าหมู่บ้านต่างๆ ในหลายพื้นที่ ทำให้จังหวัดได้สั่งปิดหมู่บ้านที่พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากทันที ขณะที่โรงพยาบาลสนามทั้ง 5 แห่ง มีเตียงรองรับไม่เพียงพอ จังหวัดจึงสั่งให้ทุกอำเภอจัดหาสถานที่เพื่อตั้งเป็นโรงพยาบาลสนามด่วน 
     ที่ จ.นราธิวาส การติดเชื้อแพร่ระบาดปกคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ ทำให้ต้องประกาศปิด 32 หมู่บ้าน ใน 8 อำเภอ เนื่องจากมีผู้ติดเชื้อแบบก้าวกระโดดและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรง
    ที่ จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 215 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยตั้งแต่ 20-24 มิ.ย.ที่ผ่านมา มียอดผู้ป่วยรวม 525 ราย ส่งผลให้ในขณะนี้สถานการณ์เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยที่โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลสนามเข้าขั้นวิกฤติแล้ว 
    ที่ จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 134 ราย จากการค้นหาเชิงรุกทั้งในชุมชนและในโรงงานแบบเข้มข้น ส่งผลให้พบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม จึงต้องเพิ่มโรงพยาบาลสนามประมาณ 6 แห่งรองรับ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"