EEC มีอะไรที่ 'สมควรรู้' บ้าง?


เพิ่มเพื่อน    

      การเมือง เป็นเรื่อง "กินง่าย-ถ่ายคล่อง"

      เพราะ "กาก" มันเยอะ!

      ฉะนั้น วันนี้ เปลี่ยนเป็นเสิร์ฟสารเคลือบกระเพาะซักวัน

      คือ อีก ๕-๑๐ ปี ข้างหน้า

      "การคมนาคม" จะเปลี่ยนวิถีชีวิตสังคมประเทศ

      ทุกวันนี้ คนต้องง้อรถเมล์ ง้อวินมอไซค์ ง้อแท็กซี่

      ถึงวันนั้น รถเมล์ วินมอไซค์ แท็กซี่ ต้องเป็นฝ่ายง้อคนบ้างแล้ว!

      เพราะกรุงเทพฯ ตะวันตก ปลายทางอาจอยู่ที่กาญจน์ กรุงเทพฯ ใต้ ที่หัวหิน กรุงเทพฯ เหนือ ที่ปากช่อง-เขาใหญ่  

      และกรุงเทพฯ ตะวันออก โน่น...ระยอง-จันทบุรี-ตราด!

      เมื่อรถไฟใต้ดิน-บนดิน ๑๐ สายเสร็จ......

      มอเตอร์เวย์ "ใต้-ตก" และรถไฟเชื่อม ๓ สนามบินเสร็จ

      "วิถีชีวิต-เศรษฐกิจ-งาน" ของคนเป็นสิบ-ยี่สิบล้าน จะเปลี่ยน

      หัวใจ "เปลี่ยนไทย-เปลี่ยนสังคมประเทศ" คือ EEC

      แล้ว EEC มีอะไรนักหนา ถึงสำคัญปานนั้น?

      ฉะนั้น วันนี้ ..........

      ผมจะลอกเขามา คือลอกเพจ "EEC ก้าวใหม่เศรษฐกิจไทย" มาเป็นคำตอบ อ่านดูนะ

      EEC ก้าวใหม่เศรษกิจไทย

      วันนี้ มาดู EEC กับภูมิศาสตร์และโลจิสติกส์กัน

      ทำเลประเทศไทย เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อกลุ่มเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย

      จากเหนือสู่ใต้ ตั้งแต่จีน ลงสู่อินโดนีเซีย

      จากตะวันออกมายังตะวันตก ตั้งแต่เวียดนามถึงพม่า และเป็นจุดยุทธศาสตร์ประชาคม "เศรษฐกิจอาเซียน" (AEC) ด้านการผลิต, การค้า, การส่งออก, การขนส่ง

      ไทย ยังอยู่กึ่งกลาง ระหว่าง "พม่า-ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม" เป็นตำแหน่ง "ดีที่สุด" ของการลงทุนอาเซียน

      กว่า ๓๐ ปี.........

      ที่ Eastern Seaboard บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ครอบคลุม "สมุทรปราการ-ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง"

      เป็น "ศูนย์กลางเศรษฐกิจ" เชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับทั่วโลก เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลัก

      โดยเฉพาะ "อุตสาหกรรมปิโตรเคมี" ที่ติดอันดับ ๑ ใน ๕ ของเอเชีย

      เป็นฐานผลิตยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลก พร้อมท่าเรือน้ำลึกและโครงสร้างพื้นฐานทันสมัย

      เป็นแหล่งพลังงานและวัตถุดิบสำหรับการผลิต เป็นแหล่งจ้างงาน และแรงงานทักษะสูง ที่สำคัญของเอเชีย

      EEC จึงเป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด มีศักยภาพสูงที่สุด ในการพัฒนาต่อยอด เพื่อก้าวเป็น "ผู้นำเอเชีย" ต่อไป

      ดังนั้น...........
      รัฐบาลจึงมีความตั้งใจผลักดันพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกอีกครั้ง โดยยกระดับขึ้นเป็น

      "ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก" หรือ EEC

      บนพื้นที่กว่า ๑๓,๐๐๐ ตร.กม.ที่พร้อมเป็นเขต "ศูนย์กลางแห่งอุตสาหกรรมในอนาคต"

      เป็นที่ตั้ง "สำนักงานระดับภูมิภาค" ของบริษัทชั้นนำโลก เป็นศูนย์กลางทางการค้า, การลงทุน, การขนส่ง

      และเพื่อยกระดับไทยสู่หัวใจการเป็น "ศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจเอเชีย" ในทศวรรษที่จะมาถึง

      ขยายระบบคมนาคมและโลจิสติกส์เต็มรูปแบบและครบวงจรมากที่สุดในประเทศ โดยพัฒนาหลายด้าน ดังนี้

        "การพัฒนาทางอากาศ"

      "ท่าอากาศยานอู่ตะเภา" รองรับผู้โดยสารได้มากกว่า ๓ ล้านคน/ปี

      ยกระดับเป็น "สนามบินนานาชาติ" และ "ศูนย์กลางการซ่อมอากาศยาน" ทันสมัยที่สุด

      รวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องการบินต่างๆ บนพื้นที่ ๕๗๕ ไร่ ประสานกับ "สนามบินดอนเมือง" และ "สนามบินสุวรรณภูมิ"

      จะส่งผลให้ไทยเป็น "ศูนย์กลางทางการบิน" ของภูมิภาคเอเชีย

        "การพัฒนาทางบก"

      ภายในปี ๒๐๒๐ ไทยจะเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อพื้นที่ เริ่มจาก

      -รถไฟความเร็วสูง สาย "กรุงเทพฯ-ระยอง" เชื่อมสนามบินนานาชาติหลัก ๓ แห่ง "ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา"

      -รถไฟทางคู่ ช่วง "ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย" เชื่อมโยงแหล่งอุตสาหกรรมกับท่าเรือทั้ง ๓  แห่ง

      -มอเตอร์เวย์ หมายเลข ๗ สาย "กรุงเทพฯ-บ้านฉาง" ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง ๓๒ กม.

      รองรับการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมระหว่าง "ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือมาบตาพุด" และรองรับ "ท่าอากาศยานอู่ตะเภา"

      -มอเตอร์เวย์ หมายเลข ๖๑ สาย "แหลมฉบัง-นครราชสีมา" ระยะทาง ๒๘๘ กม.

      -มอเตอร์เวย์ หมายเลข ๗๒ สาย "ชลบุรี-ตราด" ระยะทาง ๒๑๖ กม.

"การพัฒนาทางน้ำ"

      "ท่าเรือแหลมฉบัง" ท่าเรือหลักขนส่งตู้สินค้าและรถยนต์ ขยายให้มีศักยภาพรองรับตู้สินค้ามากขึ้น ถึง ๑๘ ล้าน TEU ต่อปี

      และรองรับส่งออกรถยนต์ ๓ ล้านคัน/ปี จะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบัง ขึ้นเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า อันดับ ๑ ใน ๑๕ ของโลก

      เป็นประตูสู่อินโดจีน ศูนย์กลางโลจิสติกส์ และศูนย์กระจายสินค้า ที่สำคัญที่สุดของอาเซียน

      "ท่าเรือมาบตาพุด" เฟส ๓ สำหรับเรือสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ "วัตถุดิบสำคัญ" ในการผลิตพลังงาน รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีชั้นสูงของประเทศ มูลค่า ๓๖๐,๐๐๐ ล้านบาท ภายใน ๕ ปี

      "ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ" ให้เป็นท่าจอดเรือเฟอร์รีและเรือสำราญทันสมัย มาตรฐานระดับโลก

      ทั้งรองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมต่อเรือ การประกอบแท่นขุดเจาะน้ำมัน

      พัฒนาท่าเรือเฟอร์รี เชื่อมต่อจุดท่องเที่ยวหลัก และเชื่อมการเดินทาง "ระหว่าง ๒ ฝั่งทะเล" อ่าวไทยเป็นครั้งแรก

      จะส่งผลให้ EEC..........

      กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์ของภูมิภาคเอเชียอย่างครบวงจร

      รองรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ๓ ล้านคน/ปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละ ๔,๖๐๐ ล้านบาท

      จุดเปลี่ยน...........

      ที่จะผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทันสมัยและธุรกิจการค้าครบวงจร เน้นส่งเสริม ๑๐  อุตสาหกรรมหลัก (S-CURVE)

      ประกอบด้วย การต่อยอด ๕ อุตสาหกรรมเดิม (First S-CURVE) ได้แก่

      -อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

        -อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

        -อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพระดับสูง

        -อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

        -อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

      และเพิ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-CURVE) ได้แก่

        "อุตสาหกรรมหุ่นยนต์" สำหรับภาคอุตสาหกรรมและใช้งานในชีวิตประจำวัน

      "อุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจร" ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ชิ้นส่วนอะไหล่ รวมทั้งศูนย์ฝึกบิน

      "อุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร"

      "อุตสาหกรรมไบโออีโคโนมี" โดยเฉพาะเคมีชีวภาพในด้านพลังงาน

      นอกจากนี้..........

      ขยายเขตอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพปิโตรเคมีที่มาบตาพุดให้ครบวงจรยิ่งขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

      "อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต" เช่น รถยนต์ไฟฟ้า

      ทั้งนี้ รวมถึงจัดตั้ง "เขตปลอดภาษีอากร" บริเวณท่าเรือและสนามบิน

      ตลอดจน จัดตั้ง "เขตเสรีทางการค้าพิเศษ" ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ทางภาษีและทางการเงิน

      เพื่อให้เป็นที่ตั้ง...........

      "สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ" ของบริษัทการค้าระหว่างประเทศ, ศูนย์บริหารเงิน, ศูนย์วิจัยและพัฒนาระดับภูมิภาค ของบริษัทชั้นนำต่างๆ

      รวมถึงจัดตั้ง "เขตนวัตกรรม" และ "เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล"

      นอกจากยกระดับอุตสาหกรรมหลักต่างๆ แล้ว ยังมุ่งส่งเสริมและสร้างความพร้อมในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค

      ทั้งยังยกระดับอุตสาหกรรม "การท่องเที่ยวและการแพทย์แบบครบวงจร"

      การพัฒนา ๔ เมืองใหม่ คือ "ฉะเชิงเทรา-พัทยา-ระยอง" และพื้นที่ ที่จะเป็นมหานครแห่งใหม่

      มีการจัดวางระบบผังเมืองที่อยู่อาศัย ให้ทันสมัย ในระดับสากล

      การพัฒนา EEC ดำเนินการภายใต้ "พ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก"

       ถือเป็น พ.ร.บ.พัฒนาพื้นที่ฉบับแรกของไทย ที่จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า ๑.๕ ล้านล้านบาท

      โดยให้สิทธิประโยชน์ระดับสูงสุดแก่นักลงทุน รวมทั้งจัดให้มีระบบ One-Stop Service

        อำนวยความสะดวกนักลงทุน ในการให้บริการข้อมูลข่าวสาร การขออนุญาต ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบการค้า การส่งออกและนำเข้า

      EEC จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์การลงทุนแห่งอนาคต ที่จะเป็น "มหานครเมืองใหม่" เปิดประตูสู่เศรษฐกิจไทย

      สู่ความสำเร็จในอาเซียน ซึ่งจะกลายเป็น "ศูนย์กลางใหม่ของทวีปเอเชีย"

      ครับ ไม่สนุก แต่คุณค่าควรรู้...........

      "๔ ปี นายกฯ ตู่" ก็นี่แหละ "ฐานประเทศ"!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"