"จากเยอรมันผ่านเทพาถึงเปลว"


เพิ่มเพื่อน    

 

วันนี้ยาวครับ อ่านเนื้อหาเลยดีกว่า!

จดหมายถึง คุณเปลวฯ ............

จากเมืองหนาวเยอรมัน

เมื่อเช้าตื่นขึ้นมา มีคนส่งข้อความมาให้อ่านชื่อหัวข้อ "เอ็นจีโอ-รัฐบาล" ในเหตุการณ์ใต้

ในบันทึกว่าด้วยการทำสัประยุทธ์กันระหว่าง NGO-GO ในยุคไอที ต่อสู้กันด้วยภาพ-ข่าว และมองการเดินเท้าของชาวบ้านไปหานายกฯ เพื่อยื่นหนังสือเป็นเรื่องการสร้างภาพดรามาประกอบฉากพูดถึงกลยุทธ์ของฝั่ง NGO กับกลยุทธ์ของฝั่งรัฐบาล GO แล้วมาจบที่ NGO สายแดงกับรัฐบาล คสช.

ผมอ่านแล้วก็อยากให้คุณเปลวลงพื้นที่ไปดูความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องในพื้นที่บ้างก็จะกลับขึ้นมาเขียนข่าวได้น่าชื่นชม สะท้อนปัญหาจริงได้มากขึ้นนะครับ

คราวนี้...คุณเปลวลองสงบสติมโนฯ แล้วอ่านข้อมูลจากผมบ้างนะครับ

ถ้าคุณเปลวรู้ไอที แล้วเอารายชื่อพี่น้องที่ถูกจับทั้ง 16 คนนั้น ไปปักหมุดแบบไอทีลงบนกูเกิลเอิร์ธ คุณเปลวจะทราบว่าพี่น้องทั้ง 16 คน ก็จะมีบ้านอยู่ในหนองจิก เทพา จะนะ สงขลา สตูล ครับ แล้วคนเหล่านี้เป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการใหญ่ที่จะสร้างโครงการในพื้นที่ของเค้าทั้งนั้นครับ การที่เค้าลุกขึ้นมานำเสนอข้อมูล ข้อเรียกร้อง เค้าผิดด้วยหรือครับ มันดูมักง่ายไปหรือเปล่าที่จะยัดเยียดเค้าให้เป็น NGO อย่างที่อคติที่ท่านเขียนในบทความ และถ้าคุณเปลวเอาคนที่ร่วมเดินตลอดเส้นทางไปปักหมุดลงให้หมดตลอดสี่วันที่เค้าเดินกัน คุณเปลวก็จะเห็นเลยครับ ว่ากลุ่มพี่น้องเหล่านี้มีบ้านอยู่ตรงไหนบ้าง แต่ละพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนในอดีตมาอย่างไร? และมีความกังวลต่อโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร?

การเหมารวมว่า พี่น้องเหล่านี้เป็น NGO แล้วออกมาเดินสร้างดรามาให้เป็นข่าวเพื่อต่อสู้ในสังคมสื่อยุคไอที มันจะเป็นความชุ่ยทางการเขียนข่าวมากเกินไปหรือเปล่าครับ?

ถ้าพี่น้องเค้าทราบว่า ท่านนายกฯ จะลงพื้นที่ อบต.ปากบาง ตามภาพข่าวที่ฝ่าย กฟผ.ส่งมาให้ผมดู ผมเชื่อว่าพี่น้องเหล่านี้คงรอยื่นหนังสือให้กับนายกฯ ที่ในพื้นที่อย่างแน่นอน ทำไมจะต้องเดินให้เท้าบวมเพื่อมานวดเท้ากันในตอนค่ำคืน เดินตากฝนเพื่ออะไร ถ้าเรามองลงไปลึกๆ คุณเปลวก็น่าจะเข้าใจมากกว่านี้

สำหรับข้อมูลพื้นที่คุณเปลวลองไปเปิดอ่านเกี่ยวกับโครงการมาตั้งแต่ช่วงเดือน ตุลาคม 2557 นะครับ จนมาถึงปัจจุบันนี้ 3 ปีกว่าแล้วครับ ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ การเลือกแผนพลังงานภาคใต้ ทำไมต้องเป็นธงถ่านหิน ทำไมไม่ปรึกษาคนใต้ด้วย ว่าเค้าอยากจะอยู่กับแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงอะไร?

พี่น้องภาคใต้ได้มีส่วนร่วมในการปักหมุดพื้นที่ร่วมกับทางเจ้าของโครงการของหน่วยงานหรือของรัฐบาลบ้างหรือไม่? ปลูกบ้านตามใจผู้อยู่นะคุณเปลว ทำไมต้องเทพา ทำไมต้องครอบโครงการลงทับซ้อนชุมชน ผมคิดว่ามันจะสร้างภาพลักษณ์ที่แย่ต่อโครงการนี้ไปเปล่าๆ ครับ ชาวบ้านในพื้นที่ได้มีโอกาสเลือกเสียสละชุมชนของตนเองก่อนที่จะทราบว่าจะมีโครงการมาลงครอบในพื้นที่ของเค้าหรือไม่? ครับ

การที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ลอยลงมาพื้นที่ปากบางในพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่ที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ยาวนาน และโครงการก็ครอบทับชาวบ้านประมาณ 250 ครัวเรือนในตอนแรก พอมีการคัดค้านเรื่องทับพื้นที่มัสยิด วัด ปอเนาะ กุโบร์ โรงเรียน และบ้านเรือนชาวบ้าน ก็มีการปรับขอบเขตของพื้นที่อย่างน่าละอายใจนะครับคุณเปลว

คุณเปลวรู้ไหมว่าเค้าปรับให้พื้นที่สำคัญทางศาสนาและโรงเรียนเหล่านั้นอย่างไร เค้าก็แค่ขีดเส้นเพื่อล้อมกรอบให้สถานที่นั้นอยู่นอกเส้นบริเวณของโรงไฟฟ้านะครับคุณเปลว เพื่อบอกว่า เห็นไหม พื้นที่ที่ว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่โรงไฟฟ้าแล้ว พร้อมทั้งล้อมกรอบวัดไว้ด้วยอย่างน่าเศร้าใจ ตรงนี้คุณเปลวคิดว่าเป็นเรื่องของ NGO ไหมครับ

คุณเปลวทราบไหมครับว่าพื้นที่ที่เทพาในพื้นที่จะสร้างโรงไฟฟ้า 2,850 ไร่ (ปรับลดจาก 2,962 ไร่ เมื่อโดนทักท้วง) เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ ติดอยู่กับป่าชายเลนประมาณ 10,000-20,000 ไร่ ทั้งเทพาและหนองจิกรวมกัน ที่นั่นชาวบ้านเค้าทอดแหจับปลาชายหาดครับ จับกุ้งเคยกันชายหาดจนเป็นที่มาของกะปิเทพาชื่อดัง เค้าจับปลาด้วยมือกันในคลอง มีหอยนางรม ป่าโกงกางโอบกอดเป็นซุ้มโกงกาง จนคน กฟผ.บางคนเห็นแล้วสนับสนุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเลย ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่มีโรงไฟฟ้าเข้ามาตรงนี้ก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ครับ อยู่ที่ชาวบ้าน อบต. อำเภอจะบริหารจัดการพื้นที่อย่างไรมากกว่า

คุณเปลวทราบไหมครับว่า ที่นี่ทางเจ้าของโครงการชี้ว่าเป็นพื้นที่ยากจน แต่ถ้าลงไปถามคนที่ทำมาหากิน บางคนหาปลาไม่กี่ชั่วโมง ได้ปลามาเป็น 30 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 200 บาท วันละ 6,000 บาท เดือนนึงทำสัก 10-15 วัน รายได้เค้าคงพอจะเลี้ยงชีพในครอบครัวได้อยู่ใช่ไหมครับ? เค้ามีทะเล คลอง ชายหาด เปรียบเสมือน ATM ที่มีชีวิต แต่ละสาขา เค้าไม่หากินแบบมักง่ายที่จับแบบล้างผลาญ แต่เค้าจับแบบพอเพียง เลือกเอาที่ให้ธนาคารในตู้ ATM มันงอกเติบโตขยายพันธุ์ได้อีกครับคุณเปลว แล้วก็คิดกันเอาเองว่าจะไปกดเอาสักเท่าไรดีในวันนี้ จะเอามาส่งลูกเรียนหรือจะเอามาแค่กิน

ถ้าคุณเปลวว่าง ลองลงมาหาชาวบ้านในพื้นที่แล้วเอาเท้าไปเขี่ยๆ ทรายบริเวณชายหาดครับ ในเวลาไม่เกิน 10 นาที คุณเปลวน่าจะได้หอยบริเวณนั้นมาเป็นสองกำมือครับ

ดังนั้นมันจะแปลกไหมถ้าชาวบ้านที่นี่จะอนุรักษ์แหล่งอาหารของตนเองไว้ ทั้งๆ ที่เค้าขึ้นไป กทม.เพื่อขอพบนายกญ หลายครั้ง แต่เคยเจอสักครั้งไหมครับ ผมก็เคยขึ้นไปนำเสนอกะว่าจะได้เจอกับท่านนายกฯ ที่ กพร. แต่ก็เจอแต่ตัวแทนรัฐบาล ซึ่งหลังจากนั้นก็เงียบเหมือนไม่ได้รับการส่งต่อข้อมูลใดๆ ถึงนายกฯ เลย เหมือนข้อมูลไปไม่ถึงสัมผัสของนายกฯ เลยครับ ถ้าคุณเปลวเข้าถึงนายกฯ รบกวนช่วยส่งต่อข้อมูลนี้ให้ท่านด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ

ผมไม่รู้ว่าคุณเปลวไปผูกใจเจ็บกับ NGO ที่ไหนมานะครับ และอีกหลายๆ สื่อที่ด่า NGO กันจัง ใครกันที่เป็น NGO ที่คุณหมายถึง ทุกคนก็คนไทยในพื้นที่กันทั้งนั้น นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการอีกหลายสิบคนในพื้นที่นะครับ ที่มองเห็นความไม่เป็นธรรมกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นครับ

NGO คือ Non-Governmental Organizations เป็นองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล

NGI คือ Non-Governmental Individual เป็นบุคคลที่ไม่ใช่เป็นคนในหน่วยงานรัฐ

คุณเปลวเป็น NGI หรือ NGO ครับ? ผมอยากจะให้คุณเปลวเจาะลงไปยังต้นปัญหาของพื้นที่มากกว่าครับ อย่าได้ผูกโยงเรื่องของพี่น้องเทพา พี่น้องสวนกงที่จะสร้างท่าเรือใหม่ กับกลุ่มทางการเมืองเลยครับ ไม่น่าจะทำให้คุณเปลวดูดีในสถานการณ์นี้ครับ......ฯลฯ..........

ผมเป็นนักวิชาการในพื้นที่ ที่ยอมให้เรื่องที่ไม่เป็นธรรมที่พี่น้องได้รับถูกกดทับและบิดเบือนไปจากหลักวิชาการและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นไปได้ครับ จึงอยากจะให้เกิดเวทีการนำเสนอข้อเท็จจริง การวิจัย ผลการวิจัยจริงเชิงประจักษ์ เอาข้อมูลจากที่มีจริงๆ มาถกกันทางวิชาการกับทั้งทีมนักวิชาการของฝั่งเจ้าของโครงการให้โจ่งแจ้งกันทีละประเด็นครับ แต่มันเกิดขึ้นได้ไหม? เจ้าของโครงการเปิดพื้นที่นี้ให้ไหม นอกจากเวที ค.1 ค.3 นำเสนอกันได้แค่คนละ 5 นาที พอไหมครับสำหรับคุณเปลวที่จะนำเสนอเรื่องห่วงกังวลในบ้านของตนเองที่จะได้รับผลกระทบ?...ฯลฯ.....

ถ้าลำดับเหตุการณ์มาทั้งหมดในช่วงเวลา 3 ปีนี้ แล้วคุณเปลวเข้าใจบริบททั้งหมด คงจะไม่เขียนบทความแบบวันนี้ออกมานะครับ

ผมแม้ว่าจะนั่งอยู่ที่เยอรมันก็ตาม แต่ผมก็ติดตามข่าว การถ่ายทอดสดจากเครือข่ายครับ อันนี้ก็เป็นข้อดีของยุคไอทีครับ แต่ผมไม่ได้นั่งมโนเขียนเชื่อมโยงกลุ่มความขัดแย้งกับรัฐบาลนี้หรอกครับ ส่วนรัฐบาลเองก็ควรจะพิจารณาให้มากๆ ครับ อะไรที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งให้หยุดพิจารณากันใหม่เสียเถิดครับ เพราะเรื่องมันจะเลยเถิดครับ เพราะทุกคนก็เป็นผู้สื่อข่าวได้หมดครับ นำเสนอข้อมูลจากพื้นที่ขึ้นสื่อได้เองด้วยไอทีในมือของตนเอง...ฯลฯ...

ขอบพระคุณที่อ่านจบครับ แม้ว่ามันจะยาวมาก แต่ก็ไม่ยาวและเหนื่อยเท่าที่พี่น้องเดินเท้ากว่า 80 กิโลเมตร จากเทพาเพื่อไปโดนจับขังโดนคดีหรอกครับ ด้วยมิตรภาพครับ

นายสมพร ช่วยอารีย์

เรียน คุณสมพรที่นับถือ

ผมเขียนคงไม่ถูกต้องไปทั้งหมด ก็ขออภัยและโปรดชี้แนะด้วย

ในกรณีนี้ ผมไม่โต้แย้งข้อมูล ด้วยเคารพเหตุผลคนพื้นที่ แต่มีความเห็นว่า ประเทศไทยด้วยระบบ "เศรษฐกิจทุน" ตามที่เป็น

การสร้าง-ไม่สร้าง "โรงไฟฟ้าถ่านหิน" นั้น ประเด็นใหญ่ ไม่ควรปิดตายในทุกเงื่อนไขแต่แรก

น่าจะเปิดใจ "ใคร่ครวญร่วมกัน" ก่อน ถ้าสร้างแล้ว "ใครได้ประโยชน์-เสียประโยชน์?"

ได้นั้น...ได้เฉพาะคน-เฉพาะกลุ่ม หรือได้ด้วยกันทุกคน ในความเป็นองค์รวม "สังคมชาติ"

และเสียนั้น เสียเฉพาะคน-เฉพาะกลุ่ม หรือเสียด้วยกันทั้งหมดในความเป็นองค์รวม?

"หลักการอยู่ร่วม-หลักการประชาธิปไตย" มีอยู่ว่า ถ้าเสียส่วนน้อย เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ ส่วนน้อยก็ต้อง "เสียสละ"

คนส่วนใหญ่ที่ได้ ก็ต้องยินดี "ชดเชย" ให้กับการสูญเสียของคนส่วนน้อยนั้นด้วย

ไม่เพียง "เศรษฐกิจทุน" ทุกสังคมก็ยึดหลักการนี้ คือสังคมรวมนั้น หนีไม่พ้นภาวะ "เสียเพื่อได้-ได้เพื่อเสีย" ไม่เช่นนั้น สังคมโลกคงไม่มีใครสร้างอนุสาวรีย์ให้ใคร

ทองคำยังมีขี้เลย นับประสาอะไรกับการพัฒนาบ้านเมือง ที่ต้อง "เวนคืน-ไล่ที่" แลกกับการได้ "สิ่งใหม่" เป็นปัจจัยสังคมจากรุ่นสู่รุ่น

สิ่งควรคิดคือ.......

เราจะหาวิธีบริหาร "การได้-การเสีย" นั้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในแต่ละฝ่าย แบบไหน-อย่างไร?

และกำกับดูแล "การได้-การเสีย" ให้อยู่ในจุดพอใจด้วยกันตามฐานานุรูปได้แบบไหน-อย่างไร?

ผมไม่เห็นด้วย ที่ฝ่ายรัฐ-ฝ่าย กฟผ.จะอ้างแต่ประโยชน์รวม แล้วรวบรัดสร้าง โดยไม่ฟัง-ไม่คำนึงหัวอกคนพื้นที่

และผมก็ไม่เห็นด้วย ที่คนพื้นที่-นักวิชาการ จะยึดเหตุผลด้านตนสรุป "ไม่สร้าง" เป็นเงื่อนไขตายตัว

ถ้า "ขึงตึง" ตายตัว จะสร้างอะไรก็ไม่ได้ เป็นกระทบสิ่งแวดล้อม กระทบวิถีพื้นถิ่น ก่อมลพิษภาวะ ไปทั้งหมด

อีกหน่อยแค่ "หายใจ" ก็อาจเป็นปัญหาก่ออากาศเป็นพิษ!?

ถ้าแบบนั้น ก็ต้องร่วมกันคิดเป็น "วาระแห่งชาติ" แล้วละว่าหยุด "ทุกสิ่ง-ทุกอย่าง" ไว้แค่นี้ แล้วพร้อมใจย้อนกลับสู่ยุค "มนุษย์ถ้ำ"

จะเอากันอย่างนั้นมั้ย ถ้าเอา...ก็เอา?

ที่ถามว่าผมเป็น NGI หรือ NGO นั้น ตอบด้วยเคารพว่า ผมเป็นทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียว ที่เป็นไม่ได้ คือ

"เป็นคนที่คนอื่นคาดหมายให้เป็น"!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"