ครม.เยียวยาทุกกลุ่ม เคาะ8.5พันล้านช่วยร้านอาหาร-ก่อสร้าง-ธุรกิจบันเทิง


เพิ่มเพื่อน    

“ประยุทธ์” นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรี เยียวยากึ่งล็อกดาวน์ 10 จังหวัด งัดเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทช่วยแรงงานตามมาตรา 33 พร้อมนายจ้าง วงเงิน  5,000 ล้านบาท ครอบคลุมทุกบริษัททั้งที่ลงและไม่ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม ส่วน “เอสเอ็มอี” ไร้มาตรการใหม่ แค่ทบทวนมติ ครม.ให้ขยายเวลากู้ เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย แถมคลอดมาตรการหยุมหยิมยกเว้นค่าธรรมเนียมโรงงาน-ใบอนุญาต-ลดภาษีช่วยโควิด
    เมื่อวันอังคารที่ 29 มิถุนายน ยังคงมีความต่อเนื่องจากข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งเป็นประกาศคุมเข้มเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ในพื้นที่ 10 จังหวัด เป็นเวลา 1 เดือน
โดยในช่วงเช้า ที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และตัวแทนพนักงานบริการในสถานบริการ อาบอบนวด อะโกโก้ บาร์ คาราโอเกะ และพนักงานบริการอิสระออนไลน์ ประมาณ 20 คนมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผ่านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเยียวยาพนักงานบริการจากคำสั่งปิดสถานบริการเป็นจำนวนเงิน  5,000 บาทต่อเดือน จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติ 
โดยกลุ่มยังได้จัดกิจกรรม "สั่งปิดได้ต้องเยียวยาด้วย  ตบส้นสูงพบกันหน้าทำเนียบ" โดยนำรองเท้าส้นสูง 30  คู่ที่แต่ละคู่จะเขียนข้อความติดไว้ รวมถึงชุดบิกินีมาโชว์เป็นสัญลักษณ์ด้วย
ต่อมาที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาล  สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงแห่งประเทศไทย นำโดยนายนนทเดช บูรณะสิทธิพร ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเสนอแนวทางให้รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาผู้มีอาชีพธุรกิจกลางคืนเช่นกัน
ขณะที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีรายงานแจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดถึงการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 25  รวมถึงกรณีกลุ่มคนทำงานกลางคืนว่า เราต้องช่วยเหลือและรับฟังเขา ต้องเข้าใจความเดือดร้อนทุกฝ่าย เดี๋ยวหาแนวทางช่วยเขา ยืนยันจะช่วยเหลือทุกกลุ่ม 
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี​ (ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบ ในกิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ในระยะเวลา 1 เดือน    
โดยรูปแบบการช่วยเหลือ กลุ่มแรกคือแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน กลุ่มที่สอง ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000  บาทต่อคน และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ภายในเดือน ก.ค.นี้ จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคน
“กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงินผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือน ก.ค.เช่นกัน โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปส.เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้าง แต่ยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับ สปส.ภายในเดือน ก.ค.นี้” นายอนุชาระบุ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า  วงเงินที่ใช้ในการเยียวยาครั้งนี้ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมตามมติในที่ประชุมร่วมกับนายกฯ เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ซึ่งกำหนดวงเงินไว้ 4,000 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 5,000 ล้านบาท โดยมาจากพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท  เพราะต้องเตรียมความพร้อมไว้รองรับกรณีที่อาจมีผู้เข้ามาในระบบมากขึ้น ทั้งระบบประกันสังคมและลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การช่วยเหลือเยียวยาส่วนนี้ ยังไม่รวมวงเงินช่วยเหลือผ่านกองทุนประกันสังคมที่ชดเชยจากมีเหตุสุดวิสัย ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน ซึ่งจะใช้เงินจากกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท หากรวมกับงบประมาณ 5,000 ล้านบาท รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น  8,500 ล้านบาท
ครม.ไร้มาตรการใหม่
    นายอนุชายังกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ยังทบทวนมติ ครม.เพื่อช่วยผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ประกอบด้วย 1.โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยขยายเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิ.ย.ออกไปเป็นวันที่ 30 ธ.ค.นี้ 2.ปรับปรุงโครงการซอฟต์โลนออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย โดยธนาคารออมสิน ซึ่งมีการขยายเวลากู้จากไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี, ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นจากไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และขยายเวลารับคำขอสินเชื่อจากวันที่ 30 มิ.ย.ไปเป็นวันที่ 30 ธ.ค. ​3.ปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเอสเอ็มอี “มีที่ มีเงิน  สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว” โดยธนาคารออมสิน ซึ่งขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม  ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย เป็นต้น รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อรายกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล  จากที่พิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด หรือรอบบัญชีปี 2562 เป็นรอบบัญชีปี 2562 หรือปี 2563  แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า และปรับปรุงการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินจากเดิมไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง รวมถึงขยายเวลารับคำขอสินเชื่อ
“การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย” นายอนุชากล่าวและว่า ที่ประชุม ครม.ยัง​รับทราบความคืบหน้ามาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ, มาตรการสนับสนุนสินเชื่อ และ พ.ร.ก.ฟื้นฟู ที่ดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วย 
ส่วน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเป็นการขยายเวลาการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีที่เรียกเก็บตามพระราชบัญญัติโรงงานปี 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2  ซึ่งมีเครื่องจักรไม่เกิน 50 แรงม้า และคนงานไม่เกิน 50  คน และจำพวกที่ 3 หรือมีเครื่องจักรเกิน 50 แรงม้าและคนงานเกินกว่า 50 คน หรือเป็นโรงงานที่มีมลภาวะ ทุกขนาดเป็นเวลา 1 ปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10  มิ.ย.64 - 9 มิ.ย.65 โดยคาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 272 ล้านบาท แต่จะเป็นการลดภาระและบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการโรงงานจากสถานการณ์โควิด-19 
น.ส.ไตรศุลีกล่าวอีกว่า ครม.ยังอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง โดยให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15  วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 30  เม.ย.65 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19  ซึ่งการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 64.8 ล้านบาท และการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 20 ล้านบาท
“ครม.ยังอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร สำหรับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นการขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร และยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการสำหรับการบริจาคสินค้าให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ซึ่งสิ้นสุดมาตรการไปเมื่อวันที่ 5 มี.ค. โดยการขยายเวลารอบนี้มีผลตั้งแต่การบริจาคในวันที่ 6 มี.ค.64 - 5 มี.ค.65 หรือขยายออกไปอีก 1 ปี ทั้งนี้คาดว่าจะทำให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 5 ล้านบาท”
ยัน 4 มาตรการรัฐเดินตามเดิม
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบทบทวนมติ ครม.เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์และขยายเวลาการดำเนินมาตรการ โดยให้ขยายเวลาการขอสินเชื่อในโครงการ Extra Cash วงเงิน 10,000  ล้านบาทของเอสเอ็มอีแบงก์ วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี  โดยขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 30 ธ.ค.64 นอกจากนี้ยังให้ปรับปรุงการดำเนินโครงการซอฟต์โลน ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply  Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี รวมทั้งขยายกลุ่มเป้าหมายของโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในโครงการเอสเอ็มอีที่มีเงิน  โดยเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดระลอกใหม่ 
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.)  ครั้งที่ 40/2564 ว่า ที่ประชุม ศบค.กทม.ได้หารือถึงการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสำนักพัฒนาสังคมได้จัดทำโครงการค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนทุนประกอบอาชีพ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน สูญเสียงานหรือเสียรายได้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กทม. โดยขอให้สำนักงานเขตสำรวจผู้ค้ารายย่อยที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกับ สปส. สำนักงานเขตละ 200 ราย เพื่อรับเงินช่วยเหลือเยียวยารายละ 5,000 บาท ทั้งนี้เพื่อเป็นทุนสำรองในการดำรงชีพของประชาชนต่อไป
ส่วนนายธนกรกล่าวว่า มาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติโควิด-19 จำนวน 4  มาตรการนั้น รัฐบาลจะดำเนินการตามกำหนดเดิมในวันที่  1 ก.ค.นี้ ประกอบด้วย 1.มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ครอบคลุมผู้มีสิทธิ์ 13.65 ล้านคน  รัฐบาลสนับสนุนให้คนละ 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน  2.มาตรการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ครอบคลุมผู้มีสิทธิ์จำนวน  2.5 ล้านคน รัฐบาลสนับสนุนให้คนละ 200 บาท เป็นเวลา 6 เดือน 3.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ครอบคลุมผู้มีสิทธิ์จำนวน 31 ล้านคน โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่ง 150 บาทต่อวันต่อคน ตลอดโครงการ 3,000  บาท และ 4.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ซึ่งโครงการทั้ง 4 เป็นโครงการที่มีความเชื่อมโยงและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย  51 ล้านคน หรือครอบคลุมคนทั้งประเทศ 70% และนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 473,000 ล้านบาท.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"