นิวไฮดับ53กทม.วิกฤติ ปลุก‘อึดฮึดสู้’ฝ่าไวรัส


เพิ่มเพื่อน    

 

โควิดพุ่งต่อเนื่องติดเชื้อเพิ่ม 4,786 ราย เสียชีวิตนิวไฮ 53 ราย "ศบค." ห่วงผู้ป่วยโคม่าใน กทม.อาการหนัก 1,911 ราย เร่งระดมเครื่องช่วยหายใจเข้าพื้นที่ มีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 108 แห่ง ขอ ปชช.อึดฮึดสู้ "เลขาฯ สมช." วอนหยุดแคมเปญ“#กูจะเปิดมึงจะทำไม” แบะท่าขอเวลา 15 วันทบทวนใหม่ "สงขลา" ประกาศเคอร์ฟิว 1 เดือน งดออกนอกบ้านช่วง 22.00-04.00 น. สกัดการแพร่ระบาดไวรัส

    เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,786 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,650 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,303 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,347 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 127 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 259,301 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 2,415 ราย หายป่วยสะสม 207,479 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 49,799 ราย อาการหนัก 1,911 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 556 ราย ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม. ดังนั้นจึงจะมีการระดมอุปกรณ์ทางการแพทย์คือ เครื่องช่วยหายใจเข้ามาช่วยในพื้นที่ กทม.ด้วย
    นอกจากนี้ ในส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 53 ราย เป็นชาย 30 ราย หญิง 23 ราย อยู่ใน กทม. 35 ราย ปทุมธานี สมุทรปราการ จังหวัดละ 3 ราย นครปฐม ยะลา สงขลา จังหวัดละ 2 ราย จันทบุรี นครสวรรค์ ปัตตานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี ชลบุรี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 2,023 ราย สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดวันที่ 30 มิ.ย. ได้แก่ กทม. 1,826 ราย สมุทรปราการ 433 ราย สมุทรสาคร 253 ราย ชลบุรี 208 ราย นครปฐม 191 ราย ปทุมธานี 177 ราย สงขลา 157 ราย นนทบุรี 155 ราย ยะลา 106 ราย ปัตตานี 81 ราย
    "ภาพรวมทั้งประเทศมีคลัสเตอร์ใหม่หลายแห่ง ประกอบด้วย จ.สมุทรปราการ ที่โรงงานผ้า อ.เมือง พบ 33 ราย โรงงานผลิตภัณฑ์อาหาร อ.บางบ่อ 54 ราย จ.สุราษฎร์ธานี ที่แคมป์ก่อสร้าง อ.เมือง 19 ราย ส่วนที่ กทม.มีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 108 แห่ง โดยมีคลัสเตอร์ใหม่ที่ชุมชนซอยขุนนาวนา เขตบางรัก แคมป์ที่พักคนงาน พระราม 2 ซอย 50 เขตบางขุนเทียน ขณะเดียวกันมีคลัสเตอร์ที่มีแนวโน้มควบคุมการระบาดได้ ซึ่งไม่พบผู้ป่วยในรอบ 28 วันขึ้นไป 26 แห่ง" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
      ถามถึงกรณีประชาชนจาก กทม.ที่จะเดินทางไป 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องขอเอกสารยืนยันการเดินทางจากพื้นที่ กทม.อย่างไร เนื่องจากมีการไปขอที่สำนักงานเขตแล้วได้รับการปฏิเสธ โฆษก ศบค.กล่าวว่า ทั้ง 4 จังหวัดสามารถมีข้อปฏิบัติโดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่เข้มกว่าจังหวัดอื่นได้ เช่น ถ้าหากเดินทางมาจาก กทม.ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงเข้มเหมือนกันก็ต้องอยู่ในพื้นที่กับตัว 14 วัน เช่นเดียวกับแรงงานที่เดินทางกลับคืนสู่ท้องถิ่นในภาคอีสานก็ต้องถูกกักตัว 14 วัน เพื่อดูอาการ แต่ไม่ต้องมีใบเอกสารให้ดูกัน  
ศบค.ขออึดฮึดสู้โควิด
    "การติดเชื้อโควิด-19 ที่ยาวนานทำให้เกิดความทุกข์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เกิดความเหนื่อยล้ามีผลต่ออารมณ์และจิตใจ สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย ความเหนื่อยล้า อ่อนล้า หรือหมดไฟ ทำให้เราไม่สามารถรวมพลังกันได้ ตนต้องขอกราบขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ในความยากลำบากขณะนี้ คำว่า อึด ฮึด สู้ ที่ทางกรมสุขภาพจิตเคยนำมาใช้ในช่วงที่เจอกับวิกฤติภัยพิบัติต่างๆ ในหลายครั้งแล้วนั้นเราจะต้องนำมาคิดและไตร่ตรองนำมาใช้กันอีกครั้ง หลายครั้งเมื่อหมดพลัง แต่เราได้เห็นคนที่สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง มีกำลังใจให้กันและกัน เป็นความสำคัญที่เผื่อแผ่ถึงคนอื่นได้ เพราะกำลังใจสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง และคนใกล้เคียงที่จะสร้างให้กัน ดังนั้นคำที่ดีๆ และสร้างกำลังใจให้กัน ขอให้เกิดขึ้นในช่วงนี้ให้ได้มากๆ เพื่อก้าวผ่านความทุกข์ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน" โฆษก ศบค.กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เชื่อว่าแต่ละพื้นที่มีมาตรการป้องกันแรงงานที่ทำงานใน กทม.ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งคงแจ้งให้มารายงานตัวเพื่อรับการรักษา ขณะเดียวกันตอนนี้มีคนเดินทางกลับไปในหลายจังหวัด เขาก็มีการป้องกันเอาไว้ให้มารับการรักษา แต่ไม่น่าจะทำให้คนแห่ไปจำนวนมาก เพราะคนที่ยังทำกินได้ก็ยังอยู่ใน กทม. ซึ่งใน กทม.และปริมณฑลเร่งตั้งโรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล และสถานพยาบาลเพิ่มเติมเพื่อดูแลผู้ติดเชื้อ
    "วันที่ 2 ก.ค.นี้ เรื่องดังกล่าวน่าจะดีขึ้นและปัญหาการขาดแคลนเตียงน่าจะดีขึ้น ดังนั้นแรงงานที่อยู่ใน กทม.ยังได้รับการดูแล คงมีแค่บางส่วนที่ไม่ได้ประกอบอาชีพหลังจากรัฐมีมาตรการ จึงเดินทางกลับภูมิลำเนา" พล.อ.ณัฐพลกล่าว
    เลขาฯ สมช.กล่าวถึงกรณีผู้ประกอบการร้านอาหารร่วมกันผุดแคมเปญ “#กูจะเปิดมึงจะทำไม” ในสื่อโซเชียลเพื่อแสดงอารยะขัดขืนต่อมาตรการของ ศบค.ที่ไม่ให้นั่งรับประทานอาหารในร้านว่า รับทราบแล้วและขอความร่วมมือ เพราะถ้าทำอย่างนั้นมีโอกาสเสี่ยงทั้งตัวผู้ประกอบการและผู้บริโภค
    ซักว่า? ถ้ายังมีการเดินหน้าแคมเปญนี้อยู่รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายไปจัดการหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า คงต้องดูด้วย แต่ในขั้นต้นอยากขอความร่วมมือก่อน ในบรรยากาศเป็นอย่างนี้ถ้าไปใช้มาตรการกฎหมายในทันทีอาจทำให้ตึงเครียดมากขึ้น ตอนนี้เราคงเข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือว่าถ้าทำอย่างนั้น อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดมากขึ้น และที่ผ่านมาจากการสอบสวนโรคพบว่ามาจากลักษณะรวมกลุ่มไปรับประทานอาหารแล้วติดเชื้อกันมา
    "คงต้องขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้ทำความเข้าใจในเรื่องนี้กับทุกคนว่าถ้าทำอย่างนั้นจะทำให้เกิดการติดเชื้อและแพร่ระบาดมากขึ้น รวมถึงสังคมโดยรวมเดือดร้อนไปด้วย จึงต้องขอความร่วมมือและความเห็นใจ ส่วนรัฐบาลและ ศบค.จะขอดูสถานการณ์เมื่อผ่านไป 15 วัน ถ้าคลี่คลายก็จะพิจารณาผ่อนคลายให้ขอประเมินก่อน และในวันนี้ยังเห็นว่าตัวเลขทรงตัวอยู่ ทั้งที่มีมาตรการออกมาแล้ว" เลขาฯ สมช.กล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังงดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนแทน
    นายอนุชากล่าวว่า นายกฯ ฝากตนสื่อสารถึงสื่อเรื่องโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งนายกฯ มีคำสั่งให้ขยายเตียงทั้งผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง โดยจะมีการเพิ่มเตียง 1,500 เตียง รวมเป็น 3,700 เตียง สามารถรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่มเติมได้ 125 เตียง และจะเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ เพื่อแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณทล ในส่วนจังหวัดต่างๆ ได้มีการดำเนินการผ่านกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อบูรณาการร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดในการดูแลลูกจ้าง แรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจากการปิดแคมป์คนงาน จึงอยากให้ประชาชนสบายใจ
สงขลาใช้เคอร์ฟิวสกัดเชื้อ
    ส่วน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ยังได้ติดตามเรื่องความเพียงพอของเวชภัณฑ์อย่างใกล้ชิดเพื่อให้ประชาชนมั่นใจ โดยนายกฯ ได้รับรายงานจาก สธ.ถึงข้อมูลสำรองเวชภัณฑ์ รวมถึงสถานการณ์บริหารจัดการยาว่า ขณะนี้ทั้งในส่วนเวชภัณฑ์และยารักษาโรคโควิด-19 อยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยมีอัตราสำรองในระยะเวลาหลายเดือน เช่น กรณีหน้ากาก N95 มีสำรองทั้งคลังส่วนกลางและคลังภูมิภาค 511,439 ชิ้น อัตราสำรองคงคลัง 14 เดือน ชุด PPE แบบ Coverall&Grown มีสำรองคงคลังทั่วประเทศ 3,761,620 ชุด อัตราคงคลัง 4 เดือน ถุงคลุมรองเท้า มีสำรองทั่วประเทศ 1,819,895 คู่ อัตราสำรองคงคลัง 9 เดือน หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ มีสำรองในคลังทั่วประเทศ 194,978,564 ชิ้น อัตราสำรองคงคลัง 13 เดือน เป็นต้น
    ส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์ปัจจุบันมีคงเหลือในคลังทั้งสิ้น 2,989,747 เม็ด โดยแยกเป็นอยู่ในคลังขององค์การเภสัชกรรม 857,700 เม็ด สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 392,962 เม็ด กรมการแพทย์ 2,254,504 เม็ด และกรมควบคุมโรค 31,341 เม็ด ส่วนยาเรมเดซิเวียร์มีคงคลังขององค์การเภสัชกรรม 2,369 ขวด
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยการใช้ยาไอเวอร์เม็กติน (Ivermectin) ซึ่งเป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ว่า ขณะนี้แนวทางการรักษาโรคติดเชื้อโควิดได้ปรับปรุงทุกเดือน ล่าสุดคือแนวทางการรักษาฉบับที่ 15 ลงวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุให้การรักษาด้วยยาไอเวอร์เม็กตินเป็นเพียงแนวทางการรักษาแบบหมายเหตุ ไม่ได้มีการสนับสนุนให้ใช้ยานี้ หรือห้ามนำมาใช้รักษาโดยเด็ดขาด แต่ให้เป็นดุลยพินิจของแพทย์ และขอให้ปฏิบัติแนวทางการรักษาหลักของประเทศ
    "ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการรักษา และแม้มีการทดลองใช้รักษาในประเทศอินเดีย ก็เป็นเพียงการใช้ในระยะเวลาหนึ่ง และมีการประกาศยกเลิกการใช้แล้วอย่างเป็นทางการ เพราะว่าการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินรักษาโควิดให้ผลสำเร็จในหลอดทดลองเท่านั้น" นพ.สมศักดิ์กล่าว
    อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางการรักษาหลักของประเทศไทยยังเน้นการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ อย่างไรก็ตามการนำข้อมูลนี้มาเผยแพร่ เชื่อว่าเกิดมาจากการอ่านรายงานทบทวนการศึกษาและผลการทดลองในต่างประเทศที่ออกมาหลายฉบับ แต่ยังไม่มีประเทศไหนนำมาใช้อย่างชัดเจน ซึ่ง ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ประธานที่ปรึกษาโควิด เห็นว่าควรนำเรื่องนี้เข้าศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยมอบให้ ศ.พญ.ยุพิน ศุพุทธมงคล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาวิจัยเรื่องแนวทางการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วยโควิดจำนวนหลักพันรายให้แล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน
    จ.สมุทรปราการ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 433 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 381 ราย โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อ 52 ราย เสียชีวิต 3 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นคลัสเตอร์ใหม่โรงงานผ้า ในเขตอำเภอเมืองสมุทรปราการ จำนวน 33 ราย โรงงานผลิตภัณฑ์อาหาร ในเขตอำเภอบางบ่อ จำนวน 54 ราย
    จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 26 ราย จังหวัดได้ออกมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด 10 มาตรการ อาทิ สั่งปิดสถาบันการศึกษาทุกประเภทตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.-13 ก.ค.64 ออกคำสั่งให้ทุกอำเภอจัดหาสถานที่กักตัว การตั้งด่านคัดกรองการเดินทางในพื้นที่ อำเภอปากช่อง และอำเภอสีคิ้ว ห้ามไปในพื้นที่ชุมชน พื้นที่แออัด เป็นต้น
    จ.สงขลา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 157 ราย จากกลุ่มเดิมจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกอย่างเข้มข้นในกลุ่มโรงงานและสถานประกอบการ 33 ราย ผู้ป่วยจากการคัดกรองเชิงรุกในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงจากพนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม 46 ราย ผู้ป่วยจากการติดตามค้นหาผู้เดินทางจากโรงเรียนสอนศาสนา 15 ราย ผู้ป่วยจากการติดตามผู้สัมผัสเสี่ยง 63 ราย รวมยอดสะสม 5,463 ราย นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา มีประกาศขอความร่วมมือจากประชาชนงดออกจากเคหสถานตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. และให้ร้านอาหาร ตลาดโต้รุ่ง ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต  ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ไม่เกิดเวลา 21.00 น. ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.-29 ก.ค.64.

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"