ล็อกดาวน์คุมโควิดกระทบ ศก.


เพิ่มเพื่อน    

 

           เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศใช้ “มาตรการกึ่งล็อกดาวน์” เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยสาระสำคัญหลักๆ ของมาตรการคือ มาตรการเร่งด่วนเพื่อสกัดกั้นการระบาดในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการและสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา ที่หลักๆ ให้มีการปิดแคมป์ก่อสร้างและห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวอย่างน้อย 30 วัน ส่วนการจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มนั้น ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคเท่านั้น (Take Home) เป็นต้น

                เหล่านี้ถือเป็นมาตรการที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าจะส่งมาเพื่อควบคุม จำกัด และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ปัจจุบันสถานการณ์น่าเป็นห่วง จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และยอดผู้เสียชีวิตรายวันที่ยังอยู่ในระดับสูง และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้สั่งล็อกดาวน์แบบเบ็ดเสร็จก็ตาม

                “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ประเมินในเบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ดังกล่าว โดยคาดว่าจะมีผลกระทบสุทธิในด้านมูลค่าธุรกิจก่อสร้างและยอดขายร้านอาหาร-เครื่องดื่มใน 6 จังหวัด (กทม.-ปริมณฑล) ในกรอบเวลา 1 เดือน อาจคิดเป็นเม็ดเงินราว 40,000 ล้านบาท หรือ 0.25% ของจีดีพี โดยมาตรการเยียวยาของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบได้ในระดับหนึ่ง

                มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ถือเป็นความพยายามของภาครัฐที่ออกมาเพื่อจะควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางความกังวลต่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายงานที่ไม่ลดลง และอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อลูกจ้างและนายจ้าง สะท้อนถึงเจตนาที่ภาครัฐต้องการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น ผ่านการออกแบบแนวทางให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะพอทำได้ในขณะนี้

                อย่างไรก็ตาม “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า กลไกความช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคมดังกล่าว ยังมุ่งเน้นไปที่แรงงานและธุรกิจที่เป็นปลายทางของงานก่อสร้าง บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่ากลุ่มเหล่านี้ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก แต่ยังมีกลุ่มอื่นๆ ในห่วงโซ่ธุรกิจหรือซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบมาเป็นทอดๆ จากการหยุดกิจกรรมที่กำหนดอย่างน้อย 1 เดือน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมูลค่างานก่อสร้างและยอดขายร้านอาหาร-เครื่องดื่มหายไป กลุ่มซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ก็จะไม่ได้รับเม็ดเงินที่เดิมควรจะได้รับ หรือมีปัญหาสภาพคล่องได้เช่นกัน

                สำหรับธุรกิจก่อสร้าง ยังมีประเด็นเฉพาะด้านกฎหมายเกี่ยวกับการส่งมอบงาน ซึ่งหากล่าช้าจะมีบทลงโทษเป็นค่าปรับ ถูกขึ้น Blacklist หรือถึงขั้นถูกดำเนินคดีฟ้องร้อง นั่นหมายความว่าผลกระทบที่มีต่อธุรกิจจะมากกว่าเพียงมูลค่างานที่หายไปเท่านั้น

                ขณะที่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” ก็ได้ระบุว่า มาตรการควบคุมพื้นที่สีแดงเข้ม 6 จังหวัด (กทม.-ปริมณฑล) เป็นเวลา 30 วันนั้น จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดก็ยังเห็นความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งหากมีความรุนแรงมากขึ้น ยืดเยื้อ ก็ต้องพิจารณาตัวเลขประมาณการที่เหมาะสมต่อไป

                หลังจากนี้ รัฐบาลอาจจะต้องมีการประเมินความสำเร็จของมาตรการล็อกดาวน์ ทั้งในมิติของการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าได้ผลตามที่ตั้งเป้าหมายหรือไม่ และในมิติของเศรษฐกิจ เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบ 100% แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการกึ่งล็อกดาวน์นี้ได้ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ต้องหยุดชะงักอีกครั้ง หลายภาคธุรกิจยังบอบช้ำจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดตั้งแต่ระลอกแรกเมื่อปี 2563 ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ในหลายระลอก แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการช่วยเหลือ แต่ก็ดูเหมือนว่าหลายส่วนยังเข้าไม่ถึงด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง หากรัฐบาลไม่เร่งควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเหมาะสม บาลานซ์มาตรการในมิติต่างๆ ให้ดีพอ ก็อาจจะเป็นผลเสียกับการฟื้นตัวระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้.

 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"