ตายนิวไฮ57ราย สธ.รับเอาไม่อยู่


เพิ่มเพื่อน    

  โควิดหนักติดเชื้อรายใหม่อีก 5,533 ราย เสียชีวิตเป็นนิวไฮ 57 ราย "กทม." ยังแตะเกือบ 2 พันต่อวัน "นครปฐม-สระแก้ว" เจอคลัสเตอร์ใหม่ "รองปลัด สธ." บอกสถานการณ์วิกฤติหนักจริง รับเสียงสั่นเครือ "วันนี้เอาไม่อยู่จริงๆ" ระดมอายุรแพทย์จบใหม่เสริมอีก 144 คน "อายุรแพทย์" ลั่นยินดีปฏิบัติหน้าที่ แต่ขอฉีดวัคซีนคุณภาพเข็ม 3 ให้คนด่านหน้า "ปากน้ำ-สงขลา-ปัตตานี" โควิดแพร่เชื้อไม่หยุด

    เมื่อวันที่ 1 ก.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,533 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 5,477 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,788 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,689 ราย จากเรือนจำ และที่ต้องขัง 44 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 264,834 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 3,223 ราย หายป่วยสะสม 210,702 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 52,052 ราย อาการหนัก 1,971 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 566 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 57 ราย ถือเป็นนิวไฮ เป็นชาย 30 ราย หญิง 27 ราย อยู่ใน กทม. 34 ราย สมุทรปราการ 9 ราย ปทุมธานี 3 ราย นครปฐม นครนายก จังหวัดละ 2 ราย เชียงราย ชัยภูมิ สงขลา นครศรีธรรมราช นราธิวาส สมุทรสาคร สุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 2,080 ราย
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 1,960 ราย สมุทรปราการ 435 ราย ปทุมธานี 321 ราย สมุทรสาคร 298 ราย สงขลา 272 ราย ชลบุรี 261 ราย นครปฐม 231 ราย นนทบุรี 224 ราย ปัตตานี 180 ราย ยะลา 136 ราย โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ 2 แห่ง ที่โรงงานไก่ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม พบผู้ติดเชื้อ 104 ราย วิทยาลัยเทคนิค อ.วังน้ำเย็น จ. สระแก้ว พบผู้ติดเชื้อ 11 ราย ขณะที่ข้อมูลลักษณะทางระบาดวิทยาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย.-ปัจจุบัน พบประวัติผู้เดินทางมาจากพื้นเสี่ยงคือ กทม.และปริมณฑล กระจายไป 32 จังหวัด อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ อ่างทอง สุพรรณบุรี ศรีสะเกษ ยโสธร ภูเก็ต ดังนั้นจึงขอความร่วมมือผู้ที่เดินทางจากพื้นที่เสี่ยงไปยังจังหวัดต่างๆ ขอให้กักตัวเอง ส่วนจังหวัดเจ้าของพื้นที่ขอให้ติดตามผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และกรณีมีผู้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หากใครมีอาการปอดอักเสบขอให้ตรวจเชื้อโควิดทุกคน พร้อมกับขอให้ผู้ป่วยอย่าปกปิดข้อมูล ถือเป็นการช่วยกันในการรักษาระบบสาธารณสุข
    ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางไปหารือร่วมกับ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เพื่อวางแผนการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมลงพื้นที่ตรวจโรงพยาบาลพลังแผ่นดิน ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะเปิดขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มอาการสีแดง
    นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า พื้นที่ กทม.ยังมีการติดเชื้อโควิดจำนวนมาก โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 1,000 รายต่อวัน ทำให้สถานการณ์เตียงรักษาผู้ป่วยค่อนข้างตึงตัว ทั้งเตียงดูแลผู้ป่วยอาการสีเขียว สีเหลือง และสีแดง สธ.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบูรณาการแก้ไขปัญหาเรื่องเตียงในเขตพื้นที่ กทม. โดยจะมีการเปิดฮอสพิเทลเพื่อรองรับผู้ป่วยอาการสีเขียวเพิ่มขึ้น และเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลให้ดูแลผู้ป่วยอาการสีเหลืองและสีแดงมากยิ่งขึ้น โดยจะเปิดเตียงรองรับผู้ป่วยอาการสีเหลืองในโรงพยาบาลบุษราคัมเพิ่มอีกประมาณ 2,000 เตียง
    "ส่วนโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะจะเพิ่มเตียงไอซียูในโรงพยาบาลพลังแผ่นดิน จำนวน 24 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยอาการสีแดง สธ.สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เป็นต้น มาร่วมปฏิบัติงาน ซึ่งวันที่ 1 ก.ค.จะมีการอบรมอายุรแพทย์จบใหม่ 4 สาขา ได้แก่ อายุรแพทย์ อายุรแพทย์โรคปอด อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ และเวชบําบัดวิกฤติ ที่จบการศึกษาวันที่ 30 มิ.ย.2564 เพื่อส่งไปช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ กทม. นอกจากนี้ยังได้วางแผนการทำงานร่วมกันในการรับส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลบุษราคัมและโรงพยาบาลพลังแผ่นดิน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยในระยะต่อไป" ปลัด สธ.กล่าว
สธ.รับวิกฤติหนักจริง
    ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ.และ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ. ประชุมชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของอายุรแพทย์และแพทย์เวชบำบัดวิกฤติสนับสนุนภารกิจ รพ.สนาม โดยมีอายุรแพทย์ 4 สาขาจบใหม่ จำนวน 144 คน
    นพ.สุระกล่าวว่า ขณะนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ สถานการณ์วันนี้มีผู้ติดเชื้อโควิดครึ่งหมื่น เสียชีวิตครึ่งร้อย เตียงไอซียูไม่พอ ไม่สามารถรับคนไข้สีแดงไปนอนได้ ต้องขยายเตียงไอซียู ซึ่งจะมีการเปิดเพิ่มที่ รพ.ธรรมศาสตร์ รพ.รามาธิบดี รพ.วชิรพยาบาล และ รพ.พลังแผ่นดิน และต้องการบุคลากรแพทย์ พยาบาล มาปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยใน กทม.และปริมณฑล  สธ.จึงจัดแพทย์และพยาบาลไอซียูมาสนับสนุน โดยได้หารือกับแพทยสภาและโรงเรียนแพทย์ที่ฝึกแพทย์ 4 สาขาดังกล่าว ที่เป็นสายหลักในการทำงานห้องไอซียูได้ จึงเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขาที่เพิ่งจบมาอบรม ชี้แจงว่าต้องส่งไปทำงานในจุดที่มีการระบาดของคนไข้มากขึ้น ซึ่งแพทย์เหล่านี้ไม่ใช่แพทย์เพิ่งจบใหม่ แต่จบมาหลายปีแล้วมาเรียนต่อ 3-5 ปีตามหลักสูตร เพื่อดูแลคนไข้ที่ซับซ้อนมากกว่าปกติ เมื่อจบแล้วก็เป็นแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และผ่านการดูแลคนไข้โควิดกันมาแล้ว
    นพ.สุระกล่าวว่า แพทย์ที่อยู่ในสังกัดของเขตสุขภาพที่ 4, 5, 6 และ 12 จะกลับไปพื้นที่ตนเอง เนื่องจาก 4 เขตดังกล่าวมีการติดเชื้อจำนวนมาก ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 4 คือ นนทบุรี ปทุมธานี เขตสุขภาพที่ 5 นครปฐม สมุทรสาคร เขตสุขภาพที่ 6 ชลบุรี สมุทรปราการ เขตสุขภาพที่ 12 คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา ส่วนแพทย์ที่มาจากเขตสุขภาพอื่นที่เหลือ 69 คนจะส่งตัวไปปฏิบัติงานยังห้องไอซียู 4 แห่งที่จะเปิดเพิ่มขึ้น และถ้าเหลือจากนี้จะส่งไปช่วย รพ.บุษราคัมเพิ่มเติม ทั้งนี้ จะให้ปฏิบัติภารกิจประมาณ 1 เดือน คือเดือน ก.ค.ก่อน และประเมินสถานการณ์ว่าจะต้องอยู่ช่วยปฏิบัติหน้าที่ต่อหรือไม่ ถ้าดีขึ้นก็ส่งกลับไปปฏิบัติหน้าที่ฐานที่เดิมต่อไป
    “วันนี้วันสำคัญที่สุดวันหนึ่ง เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทำงาน สธ.ต้องขอแรงความร่วมมือแพทย์ทั้ง 4 สาขาช่วยปฏิบัติภารกิจเร่งด่วน ถือเป็นการรวมพลอัศวินเสื้อกาวน์มือดีของกระทรวงมาช่วยปฏิบัติงาน ซึ่งวันนี้ในการประชุมก็ได้มีการให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพราะเราไม่อยากบังคับให้ทำงาน อยากให้ทำด้วยความสมัครใจ และเห็นปัญหาร่วมกับเราว่าตอนนี้อยู่ในภาวะวิกฤติ ถ้าเราไม่ช่วยเหลือคนไข้ การระบาดก็จะกลับไปต่างจังหวัด ถ้าเราคุม กทม.ไม่ได้” นพ.สุระกล่าว
    รองปลัด สธ.กล่าวว่า สำหรับการส่งมาปฏิบัติงานนั้น ได้ออกเป็นหนังสือส่งตัวไปปฏิบัติราชการที่ รพ.พระนั่งเกล้า เพื่อไม่ให้แพทย์ต้องเสียสิทธิ์รับค่าตอบแทนต่างๆ โดยสามารถเบิกค่าตอบแทนและ ค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าที่พัก จาก รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งจะมีการจัดระบบมาดูแล ส่วนค่าเวรจะรับจากหน่วยงานปลายทางที่ไปปฏิบัติ ซึ่งจะต้องได้มากกว่าหรือเท่ากับที่ สธ.ให้ โดยการปฏิบัติงานจะขึ้นเวรเป็นผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมงต่อวัน และสัปดาห์หนึ่งมีการพัก 2 วัน แต่ขึ้นกับพื้นที่
    "หากมีความจำเป็นอาจขอให้ช่วยขึ้นผลัดนอกเวลาราชการ หากสถานการณ์คนไข้มีมาก และหน่วยที่ตั้งเดิมไม่สามารถจัดคนมาได้ อาจต้องขอร้องกัน ส่วนพยาบาลไอซียูจะดูตามความต้องการของเตียงว่าต้องการพยาบาลไอซียูเท่าไร และจะมีการระดมจาก รพ.ทุกจังหวัด โดยเขตสุขภาพจะรวบรวมและจัดส่งมา เพื่อจัดสรรลงไปปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ส่วนการดูแลบุคลากรทางการแพทย์กลุ่มนี้ เรามีการจัดฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนประกันก็มีการทำให้ และอาจจะดูเพิ่มเติมว่ามีใครที่ยังไม่มีประกันก็จะช่วยดำเนินการ" รองปลัด สธ.กล่าว
    ส่วน นพ.ธงชัยเสริมด้วยเสียงสั่นเครือปนสะอื้นเล็กน้อยตอนหนึ่งว่า ต้องขอโทษและขอบคุณแพทย์ที่มาช่วยกันวันนี้ ต้องเรียนว่า กทม.และปริมณฑลสีแดงวิกฤติจริงๆ มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน ซึ่งประเทศไทยคงไม่อยากเหมือนยุโรปเมื่อปีที่แล้วที่ไม่มีการขยายเตียง ให้ผู้ป่วยไปนอนที่บ้าน แต่วันนี้ประเทศไทยไม่ใช่อย่างนั้น ขอให้ทำงานยึดตามพระบิดาฝากดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด
หมอขอวัคซีนเข็ม 3
    “ขอขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือ หลายคนคิดว่าทำไมต้องเป็นตัวเอง แต่ต้องขอความร่วมมือจริงๆ ซึ่งทางคณบดีแพทย์ต่างๆ ก็เห็นว่าคุ้นเคยกับการเรียนที่ กทม. และเป็นมือดีที่สุด ซึ่งปีนี้ยอมรับว่าเป็นสายพันธุ์ที่เราคุมยาก กระจายไปทั่วหมด วันนี้เอาไม่อยู่จริงๆ เลยต้องเกณฑ์พวกเรา ต้องขอบคุณจริงๆ และพร้อมขอโทษด้วย” นพ.ธงชัยกล่าว
    รองปลัด สธ.กล่าวว่า ก่อนหน้าเราระดมอาสาสมัครไปทำ รพ.บุษราคัมดูแลผู้ป่วยสีเหลืองขนาด 2 พันเตียง จะขยาย 1.5 พันเตียง เป็น 3.5 พันเตียง ถือเป็นประวัติศาสตร์ของพวกเรา ชั่วชีวิตนี้เราไม่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ตอนนี้กำลังผ่านสงครามโรคที่ทั่วโลกกำลังสู้อยู่ ใครก็หลุดพ้นไม่ได้ ทุกคนกำลังต่อสู้กันหมด น้องๆ เป็นกำลังสำคัญ ทั้งต่างจังหวัดและ กทม.ก็คือคนไทย เชื้อชาติไหนก็อยู่ในแผ่นดินไทยเช่นกัน ไม่ดูแลก็ไม่รอดเช่นกัน ทุกคนในแผ่นดินไทยต้องรอดหมด ทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้ ถือเป็นครั้งแรกที่ระดมทำกันอย่างนี้ ถ้าไม่ทำคงเจอคนนอนตายที่บ้านและไม่มีที่ไป ประเทศไทยไม่ควรเป็นเช่นนั้น ที่จะต้องเลือกว่าใครจะอยู่ใครจะไป ไม่อยากเห็นภาพนั้น
    นพ.คมชาญ อุตมวาทิน อายุรแพทย์ทั่วไป รพ.อ่างทอง หนึ่งในแพทย์ที่ต้องใช้ทุนและได้รับภารกิจให้มาช่วยเหลือ กล่าวว่า แพทย์ทุกคนยินดีปฏิบัติ เพราะเคยปฏิบัติหน้าที่และเข้าใจสถานการณ์ ยอมรับว่าภาระงานครั้งนี้หนักกว่าทุกครั้ง และยังมีคนไข้อื่นที่ไม่ได้เป็นโควิดที่ต้องรับผิดชอบ อยากให้ต้นสังกัดเร่งจัดหาวัคซีนเข็ม 3 ที่มีประสิทธิภาพมาฉีดให้กับแพทย์ที่ปฏิบัติงานด่านหน้าโดยเร็ว แม้จะได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว แต่แพทย์พยาบาลส่วนใหญ่ก็ยังมีการติดเชื้อ การปฏิบัติหน้าที่ทำให้แพทย์ พยาบาลทุกคนไม่กล้าไปเจอคนในครอบครัว เพราะกลัวว่าจะเป็นการนำเชื้อไปสู่ครอบครัว ทำให้หลังปฏิบัติหน้าที่แม้จะได้หยุดพักก็ไม่ได้กลับบ้าน
    "อยากให้ต้นสังกัดพิจารณาตามข้อเสนอแนะและข้อเรียกร้องของทั้งราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยที่จะเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะวัคซีนทุกวันนี้มีประสิทธิภาพลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต แต่อยากให้ครอบคลุมถึงการป้องกัน" หนึ่งในอายุรแพทย์ที่เข้าปฏิบัติงานครั้งนี้กล่าว
    จ.สมุทรปราการ สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดรายวันยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยวันนี้พบรายใหม่ 435 ราย เสียชีวิต 9 ราย
    จ.นครศรีธรรมราช พบผู้ป่วยใหม่ 19 ราย นอกจากนี้ที่โรงพยาบาลท่าศาลา ได้ทำคลอดหญิงท้องแก่อายุ 36 ปี ติดเชื้อโควิด โดย พญ.ปาระณีย์  พัฒนไทยานนท์ สูตินรีแพทย์ รพ.ท่าศาลาและทีมงานได้ทำคลอดสำเร็จปลอดภัยทั้งแม่และลูกในที่สุด เป็นทารกเพศหญิง น้ำหนัก 2,770 กรัม ลูกไม่พบการติดเชื้อโควิด
    จ.สงขลา ตรวจเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 272 ราย เสียชีวิต 1 ราย มาจากกลุ่มสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในพื้นที่
    จ.ปัตตานี ยอดผู้ติดเชื้อยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 180 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 5 คน และมีกลุ่มเสี่ยงรอผลตรวจอีก 2,000 กว่าคน เนื่องจากคลัสเตอร์ใหม่เป็นโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารทะเลจำกัด พบพนักงานติดเชื้อหลายราย ทำให้พนักงานอีก 1,000 กว่าคนต้องกักตัวและรอตรวจหาเชื้อ.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"