วิถีเรียนวิถีชีวิต..อยู่กับโควิด-19 กำกับพื้นที่กิจกรรมแทนปิดล็อก


เพิ่มเพื่อน    

          การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่แค่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาด้านสุขอนามัยโดยเฉพาะเจาะจงผู้ที่ติดเชื้อเท่านั้น แต่ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทำให้วิถีการใช้ชีวิตของทุกคนในสังคมโลกเปลี่ยนแปลง

            ปฏิเสธไม่ได้ว่า "วิถีนิวนอร์มอล" หรือวิถีชีวิตใหม่ได้เกิดขึ้น และทำให้หลายคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และนำมาซึ่งเสียงสะท้อนในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์ของเด็กๆ สลับการเรียนในห้องเรียน ในพื้นที่ซึ่งไม่ใช่สีแดงหรือสีแดงเข้ม หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวันที่ยากลำบากขึ้น เพื่อช่วยกันลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลง

            ทว่า สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนนั้น คือเรื่องการถูกจำกัดพื้นที่ของเด็กๆ เนื่องจากเป็นวัยที่ต้องเรียนรู้ผ่านการเข้าสังคมและการมีเพื่อน งานนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งตัวเด็กเยาวชน และผู้เชี่ยวชาญมาสะท้อนแง่มุม “วิถีชีวิตใหม่กับเด็กและเยาวชน” ซึ่งกล่าวกันว่า ต่อจากนี้ไปเราต้อง "อยู่ให้เป็น" โดยมีไวรัสโควิด-19 ตามติดเราไปตลอดแบบไม่รู้จบ

            นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ จิตแพทย์ และที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต บอกว่า “แน่นอนว่าวิถีนิวนอร์มอลนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นวันเรียนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการจำกัดพฤติกรรมทางสังคม นั่นจึงทำให้เด็กๆ ไปมาหาสู่กลุ่มเพื่อน หรือจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ หรือพบปะเจอเพื่อนได้ลดน้อยลง หรือแม้แต่กลุ่มของผู้ปกครองเองก็ถูกจำกัดสภาพทางสังคมเช่นกัน ทำให้รายได้ลดลง เนื่องจากไม่มีค่าโอทีหรือค่าล่วงเวลาในช่วงนี้ โดยสรุปนั้นเด็กได้รับผลกระทบจากวิถีนิวนอร์มอล ทางตรงคือการถูกจำกัดพื้นที่ เนื่องจากเด็กวัยรุ่นนั้นเป็นวัยที่ต้องมีสังคม มีเพื่อน ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือ กระทบทางเศรษฐกิจในครอบครัว เนื่องจากพ่อแม่มีรายได้น้อยลงในช่วงที่มีการระบาดของโควิด

            “ทางออกของปัญหาเด็กวัยรุ่นกับวิถีนิวนอร์มอลนั้น หมอแนะนำว่าต้องเดินทางสายกลาง หรือการที่สนับสนุนให้เด็กได้ทำกิจกรรม ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงหรือความเสี่ยงต่ำ เพราะการที่เราห้ามไม่ให้เด็กวัยนี้ทำกิจกรรมเลยคงไม่ใช่เรื่องดีนัก เช่น สนับสนุนให้วัยรุ่นทำกิจกรรมที่เขาชอบและสนใจ ยกตัวอย่างของการเล่นเซิร์ฟสเกต หรือเล่นกีฬาบางอย่าง ซึ่งอาจจะต้องเล่นในสวนสาธารณะ หรือสนามเด็กเล่นใกล้บ้าน แต่ทั้งนี้เด็กวัยรุ่นจะต้องออกไปทำกิจกรรมแบบมีระยะห่าง ทั้งนี้เมื่อเด็กได้ทำกิจกรรมที่ชอบ หรือผู้ปกครองทำให้เขามีพื้นที่ทำสิ่งที่ชอบของตัวเอง ก็จะทำให้เด็กรู้สึกดีขึ้น เมื่อต้องใช้ชีวิตท่ามกลางวิถีนิวนอร์มอล"

            คุณหมอยงยุทธไม่เห็นด้วยว่า เมื่อมีข่าวการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นแล้วเราต้องปิดโรงเรียน หรือสวนสาธารณะต่างๆ แต่หมอแนะนำว่ามันจะออกมาเป็นในรูปแบบของการปิดเฉพาะจุดหรือเฉพาะพื้นที่ เช่น หากพบการติดเชื้อในโรงเรียน แนวทางที่ดีคือการปิดเฉพาะห้องเรียนห้องนั้น และให้นักเรียนในห้องเดียวกันหรือนั่งใกล้เพื่อนที่ได้รับเชื้อโควิดไปตรวจหาเชื้อ และทำการกักตัวที่บ้าน ก็จะเป็นการดีกว่าการปิดทั้งโรงเรียน เพราะนั่นจะทำให้เด็กไม่มีกิจกรรม ไม่ได้เจอเพื่อน อย่าลืมว่าเด็กวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องมีสังคม ประการสำคัญ การที่โรงเรียนปิดทั้งโรงเรียนเมื่อมีนักเรียนคนใดคนหนึ่งติดเชื้อนั้น จะทำให้เด็กที่มีฐานะยากจนและปกติได้รับประทานอาหารกลางวันที่ดีในโรงเรียน ก็จะทำให้เด็กกลุ่มด้อยโอกาสเสียประโยชน์ในจุดนี้ด้วย อีกทั้งไลฟ์สไตล์นิวนอลมอร์ยังทำให้เด็กที่มีฐานะยากจน มีโอกาสที่จะติดจอหรือเล่นเกมมากขึ้นเมื่อเด็กต้องปิดเรียนอยู่บ้าน ส่วนเด็กที่มีฐานะทางครอบครัวดีก็จะใช้มือถือและแท็บเล็ตที่มีราคาสูง ซึ่งก็จะไม่เป็นผลดีต่อการเรียนรู้ รวมถึงพัฒนาการทางด้านสมาธิ

            โดยสรุป การส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ ในวัยเรียน และเป็นกิจกรรมที่เด็กวัยรุ่นสนใจ เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการทำกิจกรรมแบบมีระยะห่าง ก็จะสร้างสิ่งที่ดีให้กับเด็กเองและสังคม

            อ.สุปราณี ไกรวัฒน์นุสรณ์ ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา แสดงความเห็นว่า “วิถีนิวนอร์มอลส่งผลกระทบต่อเด็กวัยรุ่นวัยเรียนอยู่แล้วค่ะ ซึ่งช่วงแรกที่มีการประกาศหยุดโรงเรียน เด็กจะดีใจหากโรงเรียนหยุดในระยะสั้นๆ แต่เมื่อเป็นการเปิดเรียนระยะยาวนั้น ด้วยไลฟ์สไตล์ของเด็กวัยรุ่นเขาเป็นวัยที่ต้องการเล่นกับเพื่อน เช่น บางครอบครัวที่มีลูกคนเดียว เมื่อพ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้าน เด็กวัยนี้ยิ่งต้องการมีเพื่อน ดังนั้นการที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนและไม่ได้เจอเพื่อน แน่นอนว่ามันจะกระทบกับทักษะความสัมพันธ์ทางสังคมของเด็กวัยรุ่นกับกลุ่มเพื่อน หรือเด็กไม่มีสังคม ยกตัวอย่างบางครอบครัวที่พ่อแม่ให้ลูกเรียนที่บ้านโดยการจ้างครูมาสอน หรือเรียนแบบโฮมสกูลนั้น จะทำให้เด็กเข้ากับผู้อื่นได้ยาก อีกทั้งตัวเด็กเองไม่รู้ว่าการแข่งขันเป็นอย่างไร แต่การที่เด็กได้เจอเพื่อนและได้อยู่กับเพื่อนมันจะทำให้เขารู้จักแพ้ ชนะ ให้อภัย สมหวัง ผิดหวัง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการที่เด็กมีสังคมและได้พบปะผู้คนที่อยู่ในวัยเดียวกัน

            “แต่สำหรับนโยบายที่ทางภาครัฐนั้นได้จัดให้มีการเรียนแบบผสมผสาน หรือออนไลน์ กับออนไซต์ให้กับเด็ก ก็ได้ใช้นโยบายการเรียนการสอนทั้ง 2 ระบบดังกล่าว เพราะชั่วโมงโฮมรูมหน้าห้องเรียนก็ยังต้องมีอยู่ หรือแม้แต่โรงเรียนสตรีวิทยาเองที่มีเด็กนักเรียนมาจากทั้งจังหวัดใกล้เคียง กทม. เช่น มาจาก จ.สมุทรสาคร หรือ จ.ชัยภูมิ ซึ่งตามผู้ปกครองมาทำงานที่ กทม. ในกรณีที่เด็กอาจจะต้องเรียนออนไลน์นั้น และมีลูกมากกว่า 1 คน ทางโรงเรียนก็จะให้นักเรียนยืมคอมพิวเตอร์ไปใช้เรียนออนไลน์ที่บ้าน"

            การที่ทางภาครัฐนั้นได้มีนโยบายการเรียนออนไลน์ควบคู่กับการมาเรียนที่โรงเรียนแบบเว้นระยะห่าง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่ผู้ปกครองมีฐานะยากจน ตลอดจนการที่ทางโรงเรียนได้ให้คุณครูถอดบทเรียน หรือวิชาเรียนออกมาเป็นเวิร์กชีต เพื่อให้เด็กได้มีความรู้และได้ไปหาอ่านเพิ่มเติม ก็นับเป็นการบูรณาการร่วมกันเพื่อให้ได้มีความรู้ แม้ว่าจะไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือคุณภาพทางวิชาการอาจจะไม่เข้มแข็ง ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็ยังดีกว่าที่เด็กจะไม่ได้รับความรู้เลย เนื่องจากทักษะเรื่องของการเอาตัวรอดด้านอื่นๆ นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ยากจนเกินไป อีกทั้งเด็กๆ สามารถหาความรู้ในเรื่องนี้ได้จากหลากหลายที่ ดังนั้นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในเรื่องของการเรียนแบบผสมผสานดังกล่าว ก็เป็นสิ่งช่วยได้ในระดับหนึ่ง ทั้งครูและตัวนักเรียนเองเพื่อให้มีความรู้.

 

ชีวิตที่ยากขึ้น..แต่ก็ต้องปรับตัว

 

                กัญจน์ภัส นราธำรงค์สิทธิ์ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรีวัดระฆัง บอกว่า “วิถีนิวนอร์มอลส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ในแง่ของการเดินทางที่ลำบากมากขึ้น ที่สำคัญรอรถสาธารณะค่อนข้างนาน ทำให้ออกไปทำธุระได้ยากขึ้น รวมถึงการใส่แมสก์ เพราะไม่ว่าจะออกไปไหนทุกคนต้องระวังตัวมากขึ้น แต่ก็ทำให้ร้อนและรู้สึกอึดอัดเวลาที่ใส่ ขณะที่การเรียนออนไลน์ก็ทำให้การเรียนรู้เป็นไปยากขึ้น และทำให้เรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะเวลาที่เรียนครูจะแนบเอกสารการเรียนมาให้นักเรียนเปิดดู ทำให้บางครั้งนักเรียนถามครูไม่ได้ในทันที ซึ่งต่างจากบรรยากาศในห้องเรียน ที่คุณครูจะอธิบายจนเราเข้าใจค่ะ ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจนั้นก็แย่ลงค่ะ ส่วนตัวนั้นคุณแม่ตกงาน เพราะบริษัทปิดตัวลงช่วงโควิดระบาด ก็ทำให้ต้องมาเปิดกิจการส่วนตัวเล็กๆ ค่ะ สำหรับสิ่งที่อยากได้มากที่สุดในตอนนี้คือ อยากได้วัคซีนดีๆ ค่ะ เพราะเดือนหน้าก็จะได้รอบฉีดวัคซีนที่จองผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมไว้แล้วค่ะ”

            ด้านน้องสายป่าน - “ปราณปริยา เชิดตระกูล” นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนอิสลามวิทยาลัย บอกว่า “วิถีชีวิตใหม่ทำให้การใช้ชีวิตเป็นไปอย่างซับซ้อนมากขึ้น และทำให้การเดินทางค่อนยาก ทั้งรอรถเมล์นานขึ้น และคนที่ใช้บริการก็เยอะขึ้นเพราะรถน้อยลง ก็ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจในครอบครัว หรือแม้แต่การใส่หน้ากากอนามัยก็ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ แต่อย่างไรก็ตามอยากให้สถานที่ต่างๆ เช่น ตลาด ห้างสรรพสินค้ายังคงเปิดได้ตามปกติ หรือแม้แต่สนามฟุตบอล เพราะส่วนตัวหนูชอบไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ ค่ะ เพราะเป็นกิจกรรมที่ชอบมาก และหนูเป็นนักกีฬาของโรงเรียนค่ะ ก็อยากให้มีพื้นที่ตรงนี้ แม้ต้องใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอลค่ะ”

            ไม่ต่างจาก 2 เพื่อนซี้อย่าง “รัฐธรรมนูญ เจริญธราควน” นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม บอกว่า “ถ้าพูดถึงไลฟ์สไตล์นิวนอร์มอลนั้นไม่ส่งผลกระทบอะไรต่อการใช้ชีวิตของผมมากครับ ก็ปฏิบัติตามคำสั่ง เช่น การใส่หน้ากากอนามัยเวลาที่ต้องออกไปนอกบ้าน หมั่นล้างมือ แต่สิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้ คือ การที่รถเมล์น้อยลงทำให้ออกไปไหนลำบาก อีกทั้งตลาด ห้างสรรพสินค้าบางแห่งก็ปิด ทำให้ไม่อยากออกไปไหน เพราะเดินทางไม่ค่อยสะดวกครับ ส่วนการเรียนออนไลน์ในช่วงนี้ ก็ทำให้ไม่ค่อยเข้าใจและโต้ตอบกับอาจารย์ค่อนข้างยากครับ ไม่เหมือนกับการเรียนในห้องเรียน ทุกวันนี้ก็เรียนออนไลน์ 5 วัน วันจันทร์-วันศุกร์ วิชาละ 50 นาทีครับ”

            ปิดท้ายกันที่ “กัญญาวี ชุติมากร” นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนมัธยมวัดสุทธาราม บอกว่า “สิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตช่วงนิวนอร์มอลคือ การเดินทางไม่สะดวก และก็ค่อนข้างจำกัด พูดง่ายๆ ว่าไปไหนได้ไม่ไกลมาก เพราะสถานที่ให้บริการหลายแห่งก็ปิด หรือแม้แต่การใส่หน้ากากอนามัยที่ช่วยป้องกันโรคโควิดได้ แต่บางครั้งก็รู้สึกอึดอัดเวลาใส่ค่ะ และทำให้รู้สึกร้อน แต่ก็เข้าใจว่าเป็นนโยบายที่ทำให้เราทุกคนปลอดภัยจากการติดเชื้อ และสิ่งที่สำคัญคือ การที่เราต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ทำให้ไม่ได้เจอเพื่อนๆ ค่ะ ก็รู้สึกคิดถึงเพื่อนๆ มาก ส่วนเรื่องเศรษฐกิจนั้น ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่ก็ทำงานและไม่มีโอทีตอนนี้ ซึ่งทำให้การใช้ชีวิตประจำวันสะดุดลงบ้างเล็กน้อยค่ะ”.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"