สหรัฐถีบไทย!ค้ามนุษย์หล่นเทียร์2เฝ้าระวัง


เพิ่มเพื่อน    

สหรัฐเปิดรายงานอันดับการค้ามนุษย์ปี 64 "ไทย" ถูกตัดอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 เฝ้าระวัง ระบุภาคประมงเจ้าหน้าที่ยังมีทุจริต-สมรู้ร่วมคิดต่อต้านปราบปรามการค้ามนุษย์ "โฆษก ก.ต่างประเทศ" ผิดหวังจัดระดับไม่สะท้อนอย่างเป็นธรรม บอกเป็นมุมมองของอเมริกาไม่ได้มาตรฐานระหว่างประเทศ
    เมื่อวันที่ 2 ก.ค. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่การประกาศผลการจัดระดับประเทศไทยในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report - TIP Report) ประจำปี ค.ศ.2021 วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ระดับบัญชี 2 กลุ่มประเทศเฝ้าระวัง (Tier 2 Watch List) ลดระดับจากเทียร์ 2 (กลุ่มประเทศที่ดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำโดยสมบูรณ์ แต่มีความพยายามปรับปรุงแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ) เมื่อปี 2563
    รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี 2564 ระบุว่า รัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการกำจัดการค้ามนุษย์อย่างเต็มที่ แต่กำลังพยายามอย่างมากที่จะทำเช่นนั้น ทั้งปรับปรุงการประสานงานกับภาคประชาสังคมในการสืบสวนการค้ามนุษย์และการคุ้มครองผู้เสียหาย มีการฝึกอบรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับอัยการและผู้พิพากษาเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวน มีการสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนได้เสียในอาชญากรรมการค้ามนุษย์ มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อคุ้มครองเหยื่อและกลไกการส่งต่อระดับชาติ มีการจัดตั้งหน่วยงานตำรวจเพื่อต่อต้านการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กผ่านสื่อออนไลน์ แต่เมื่อเทียบกับรายงานครั้งก่อนพบรัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้น 
    รายงานระบุว่า มีการสอบสวนเรื่องการค้ามนุษย์น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยน้อยลง และมีการตัดสินคดีค้ามนุษย์น้อยกว่าในปี 2562 แม้จะมีรายงานอย่างกว้างขวางว่ามีการบังคับใช้แรงงานในหมู่แรงงานข้ามชาติในภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย รัฐบาลระบุเหยื่อการค้ามนุษย์จำนวนน้อยเมื่อเทียบกับขอบเขตของปัญหา เจ้าหน้าที่มักขาดความเข้าใจเรื่องการค้ามนุษย์ และรัฐบาลยังขาดขั้นตอนมาตรฐานสำหรับผู้ตรวจแรงงานในการส่งต่อคดีที่เป็นไปได้ไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 
    นอกจากนี้ ทางการไทยยังไม่เคยรายงานการระบุตัวเหยื่อการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมงที่ท่าเรือ การให้บริการแก่เหยื่อยังคงไม่เพียงพอ และเหยื่อบางรายที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงของรัฐบาลยังขาดเสรีภาพในการเคลื่อนไหว มีการทุจริตและการสมรู้ร่วมคิดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานต่อต้านการค้ามนุษย์ และยังมีการตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดในคดีค้ามนุษย์ 5 คน ทำให้ไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2
    นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า รายงานการค้ามนุษย์ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เป็นการจัดลำดับประเทศต่างๆ โดยยึดหลักการพิจารณาจากความพยายามในการต่อสู้กับขบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากผู้คนทั่วโลกเกือบ 25 ล้านคนตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ 
    ทั้งนี้ ในรายงานจัดอันดับประเทศต่างๆ ทั่วโลกตามการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ (ทีวีพีเอ) มี 6 ประเทศถูกลดระดับจากระดับเทียร์ 1 เป็นเทียร์ 2 คือ ไซปรัส อิสราเอล นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส  และสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศระดับเทียร์ 2 ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายแต่กำลังพยายามอย่างมากที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนด ได้แก่ กินีบิสเซา และมาเลเซีย ประเทศระดับเทียร์ 3 ได้แก่ เกาหลีเหนือ อัฟกานิสถาน เมียนมา จีน คิวบา เอริเทรีย อิหร่าน รัสเซีย ซูดานใต้ ซีเรีย และเติร์กเมนิสถาน
       "รัฐบาลควรปกป้องและให้บริการพลเมืองของตน ไม่ใช่ข่มขู่และปราบปรามพวกเขาเพื่อผลกำไร และสหรัฐอาจจำกัดความช่วยเหลือด้านการต่างประเทศแก่กลุ่มเทียร์ 3 ซึ่งขึ้นอยู่กับการอนุมัติของประธานาธิบดี นอกจากนี้หลายประเทศรวมทั้งเคนยา มาเลเซีย และไทย มีการกักขังคนงานชาวเกาหลีเหนือเพื่อบังคับใช้แรงงาน ขณะที่รัฐบาลรัสเซียมีนโยบายสนับสนุนการบังคับใช้แรงงานของคนงานชาวเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน ส่วนจีนยังคงล้มเหลวในการพยายามระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์ในกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ" รมว.การต่างประเทศสหรัฐระบุ
    ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ไทยรับทราบการจัดระดับดังกล่าว และรู้สึกผิดหวังที่การจัดระดับไม่ได้สะท้อนอย่างเป็นธรรมถึงความพยายามและพัฒนาการความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม การจัดทำรายงานดังกล่าวเป็นการประเมินและจัดระดับประเทศต่างๆ จากมุมมองของสหรัฐ ซึ่งไม่ได้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ
    นายธานีกล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ การดำเนินการเรื่องนี้ของไทยเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย และเพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้ชาวไทย ชาวต่างชาติ รวมถึงแรงงานต่างด้าวในไทยตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การแก้ไขปัญหามีพัฒนาการความคืบหน้าเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
    "รัฐบาลไทยจะเดินหน้าต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อปกป้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชนและหลักมนุษยธรรมที่ไทยให้ความสำคัญมาตลอด และพร้อมร่วมมือกับหุ้นส่วนต่างๆ ที่มีเจตนาสร้างสรรค์ทั้งภายในไทยและต่างประเทศ เพื่อขจัดการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานในทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าว
    ส่วน พล.ต.อ.จารุวัฒน์ ไวศยะ ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี และครอบครัว (ค้ามนุษย์) กล่าวถึงรายงานดังกล่าวว่า ตำรวจยังคงทำงานเหมือนเดิม แต่สาเหตุที่ผลการจับกุมค้ามนุษย์ลดลงเป็นเพราะสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ปี 2562 ดำเนินคดีผู้หลบหนีเข้าเมืองกว่า 1.6 แสนราย ตอนนี้มีโควิดการจับกุมเหลือเพียง 7-8 พันคดี รวมทั้งในระยะหลังไม่พบการบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจเข้มเรือประมงทุกลำ. 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"