‘ธรรมนัส’โวยึดพื้นที่อีสาน 6ก.ค.ถกชะตาประชุมสภา


เพิ่มเพื่อน    

ส่งสัญญาณแล้ว!  "ธรรมนัส" วางแผนยึดพื้นที่อีสาน มั่นใจตนเองเอาชนะใจคนรากหญ้าได้ เลือกตั้งคราวหน้าต้องได้มากกว่าเดิม เปิดยุทธศาสตร์พรรคเตรียมนำวิธีแก้จนของพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศจีนมาใช้  ส่วนปัญหา "วิรัช-ปารีณา" แค่เรื่องส่วนตัว "ชวน" ให้วิป 4 ฝ่ายคุย จะประชุมสภาฝ่าโควิดต่อหรือไม่ 
    เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการวางยุทธศาสตร์พรรค พปชร. เพื่อเตรียมการเลือกตั้งว่า ตั้งแต่รับตำแหน่ง เลขาธิการพรรคมา ได้เรียกแต่ละฝ่ายมาคุยอยู่แล้ว โดยยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคือ เราจะนำนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน และคิดเรื่องใหม่สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเรามีทีมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีมด้านการศึกษา กีฬา เศรษฐกิจ และการเมือง  
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะเลขาธิการพรรค มั่นใจหรือไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะชนะเลือกตั้งจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ เขาตอบว่า การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน อย่างการเลือกตั้งเมื่อปี 62 เราได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต 101 เขต และมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 20 คน โดยมี ส.ส.อยู่ในมือ 121 คน ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้าเราต้องได้มากกว่านี้  
    เมื่อถามว่าเป็นห่วงภาคไหนเป็นพิเศษหรือไม่ โดยเฉพาะภาคอีสานจะเจาะได้หรือไม่ เพราะส่วนใหญ่ยังชื่นชมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า หลังจากลงพื้นที่มาตลอดเกือบ 3 ปี มีความมั่นใจว่าชนะใจคนรากหญ้าได้ และมั่นใจว่าจะเจาะภาคอีสานได้ สังเกตจากการเลือกตั้งซ่อมหลายๆ ครั้งเราก็ได้เข้ามาหมด 
    ถามว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้จะกวาดได้สักประมาณกี่ที่นั่ง เลขาธิการพรรคพปชร.ตอบว่า จะทำให้ดีที่สุด ตอนนี้ เรามี ส.ส. 14 คน จะทำให้ได้มากที่สุด  
    เมื่อถามว่า ที่เคยระบุว่าจะทำให้พรรคเป็นสถาบันการเมือง จะทำได้หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสยืนยันว่า ทำได้ และต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ส่วนปัญหาในพรรคเป็นเรื่องส่วนตัวมากกว่า ไม่เกี่ยวกับนโยบายของพรรค หรือไม่ใช่เรื่องของผู้บริหารพรรคทะเลาะกัน 
    เขายังกล่าวถึงการวางยุทธศาสตร์การทำงานของพรรคทั้งการเมืองและเศรษฐกิจว่า ไม่ได้เน้นเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว ทั้งนี้ ยังมีกลุ่มนักเรียนทุนที่รัฐส่งไปเรียนจบระดับดอกเตอร์หลายคนที่เรียกเข้ามาคุย เพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของพรรค ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การศึกษา การกีฬา การเมือง และทุกมิติ โดยนโยบายของพรรค พปชร. และการบริหารราชการแผ่นดิน จะต้องไปด้วยกัน เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม
    เมื่อถามว่า ในวันที่ 6 ก.ค. พรรคพลังประชารัฐจะมีการประชุมร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ของประเทศจีน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะแนวทางแก้ปัญหาความยากจน จะมีการเปิดให้คนรุ่นใหม่เข้าร่วมด้วยหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสตอบว่า ได้ให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสังเกตการณ์ด้วย แต่ยังไม่ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เนื่องจากนโยบายจีนได้ทำให้ประเทศเขาพ้นจากกับดักความยากจนกลายเป็นประเทศพัฒนาโดยมีมณฑลกว่างซีจ้วงเป็นต้นแบบแก้ปัญหาความยากจนสำเร็จ ซึ่งตนและรองหัวหน้าพรรคได้มีการประชุมตามเบื้องต้นเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาแล้ว อยากจะเอาโมเดลที่ทำให้ประชากรเขา อยู่ดีกินดีอย่างไร ซึ่งจำนวนประชากรเขากว่า 60 ล้านคน พอๆ กับประเทศไทย เขาทำกันอย่างไร เขาก็อยากมาเสวนาร่วมกับเรา
    ซักว่าระบบการปกครองของจีนและไทยต่างกัน จะนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมอย่างไร ร.อ.ธรรมนัสตอบว่า ระบบการปกครองต่างกัน เราคงเลือกวิธีการที่เข้ากับระบบการปกครองของเรา และสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นไม่ใช่ว่าเราจะไปเลียนแบบทุกเรื่องที่มันไม่เข้ากับการปกครองระบบประชาธิปไตยของเรา เรายังเน้นเรื่องการเป็นประชาธิปไตย 
    เมื่อถามว่า เกรงว่าจะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐอเมริกาหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า เรื่องนี้เรื่องสำคัญ ซึ่งหัวหน้าพรรคก็ฝากให้ฝ่ายกฎหมายดูดีๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเลือกแต่สิ่งที่เกิดประโยชน์กับประชาชนโดยไม่ขัดกับระบบการปกครองของเรา โดยการประชุมวันที่ 6 ก.ค. พล.อ.ประวิตรเข้าร่วมประชุมด้วย
    ถามว่าได้วางตัวทีมเศรษฐกิจไว้แล้วหรือยัง เลขาฯ พรรค พปชร.ตอบว่า ได้ประชุมหลายรอบแล้ว แต่ยังไม่พร้อมจะเปิดตัว เราต้องเฟ้นหาคนมีความรู้ความสามารถในหลายมิติ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ให้คอยดูช่วงเปิดตัว หลายคนเคยเห็นหน้ากัน 
    เมื่อถามย้ำถึงกระแสข่าวที่มีชื่อนายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ร.อ.ธรรมนัสตอบว่า “ดร.อั๋นก็เป็นสมาชิกพรรคคนหนึ่ง”
    นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัสยังให้สัมภาษณ์ถึงความขัดแย้งระหว่างนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. กับ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร. ว่า มันเป็นเรื่องส่วนตัว โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. พยายามให้ตนเคลียร์ทั้งสองฝ่าย และตนพยายามจะคุยกับทั้งสองฝ่าย ซึ่งต้องแยกคุยเป็นรายคนไปก่อน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร 
    "สิ่งที่ผมพยายามเน้นย้ำมาตลอดคือ ผมและหัวหน้าพรรคต้องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของพรรค พปชร. ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีปัญหาลักษณะนี้ในพรรค แต่มันไม่มีปัญหาแล้วเมื่อเราหันหน้าคุยกัน"
    เมื่อถามว่า จะสามารถเคลียร์ได้หรือไม่ เพราะ น.ส.ปารีณาเป็นตัวของตัวเองสูง ร.อ.ธรรมนัสตอบว่า เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วทุกคนสามารถหันหน้าคุยกันได้ เดี๋ยวขอหารือกับหัวหน้าพรรคก่อน  
    ขณะที่นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ไม่ขอพูดถึงเหตุผล และไม่ขยายต่อเรื่องนี้ ส่วนไลน์ดังกล่าวเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประสานงานวิปพรรคระหว่างการประชุมสภา ส่วนไลน์ของพรรค พปชร.เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง  
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ไลน์การประสานงานวิปพรรคระหว่างการประชุมสภา นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะเลขานุการวิปรัฐบาล ได้ดึง น.ส.ปารีณาเข้ากลุ่มไลน์อีกครั้ง หลังจากถูกนายวิรัชดีดออกไปเมื่อวันที่ 1 ก.ค. รวมแล้วโดนดีดออกไปเป็นเวลา 17 ชั่วโมง
    วันเดียวกันนี้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 นัดประชุมวิป 4 ฝ่ายในวันที่ 6 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล วุฒิสภา และตัวแทนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือและตัดสินใจว่าจะเดินหน้าประชุมสภาต่อหรือไม่ ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อไม่ให้รัฐสภากลายเป็นคลัสเตอร์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และหากยังจำเป็นต้องดำเนินการประชุม ก็จะต้องมีความปลอดภัย
      นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังในการประชุมสภา ถ้าบ้านเมืองจะต้องฟังความเห็นสภา ยามศึกสงคราม สภาซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนจะไม่อุทิศเวลากับภารกิจสำคัญได้อย่างไร แม้ไม่ใช่สงครามโลก แต่ก็คือสงครามโรค ที่บ้านเมืองกำลังมีวิกฤติ ประชาชนกำลังเดือดร้อนแสนสาหัส การปิดการประชุมอย่างไร้เหตุผลรองรับ เป็นการไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ในยามบ้านเมืองมีวิกฤติ ทั้งวิกฤติโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ การกระทำดังกล่าวได้ทำลายศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างรุนแรง ประชาชนไม่อาจให้อภัยได้ นับว่าน่าผิดหวังมาก  และไม่ควรมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก
    นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนและวินิจฉัยเอาผิดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 277 คน ที่ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ในการตรากฎหมาย โดยไม่เข้าร่วมประชุมสภา หรือไม่แสดงตนในที่ประชุม เป็นเหตุให้สภาต้องปิดการประชุมไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือว่าทำงานไม่คุ้มกับภาษีประชาชนที่เสียให้ในแต่ละเดือน
    “การที่ ส.ส.ไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ในการตรากฎหมาย โดยไม่มีเหตุอันควร ย่อมถือว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 และตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.กำหนด ส.ส.ได้รับเงินเดือนมากถึง 71,230 บาท และยังมีเงินเพิ่ม 42,330 บาท รวมต่อเดือนแล้ว 113,560 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 3,785 บาทต่อวัน การที่ ส.ส.ทั้งหมดไม่ร่วมประชุมสภาหรือกระทำการอย่างใดๆ ที่เป็นเหตุให้สภาไม่สามารถประชุมต่อไปได้เพียง 1 วัน ทำให้รัฐต้องเสียเงินงบประมาณแผ่นดินที่เป็นเงินภาษีของประชาชนจากจำนวน ส.ส. 483 คน เป็นจำนวนเงิน 1,828,316 บาทต่อวัน” นายศรีสุวรรณ กล่าว
    นายศรีสุวรรณกล่าวว่า สภายังต้องจ่ายเงินให้กับผู้ช่วย ส.ส.อีก 3 คน แบ่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน เงินเดือน เดือนละ 24,000 บาท, ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน เงินเดือนเดือนละ 15,000 บาท การที่ ส.ส.ไม่ปฏิบัติหน้าที่เพียงวันเดียว จึงไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่หมายถึงการที่ทำให้รัฐเสียหาย อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ เข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับจริยธรรมอย่างร้ายแรง สมาคมจึงต้องนำความมาร้องต่อ ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนเอาผิด 277 ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"