แจงยิบวัคซีน5ยี่ห้อ โมเดอร์นาช้าเพราะเอกชน ‘ไฟเซอร์’ได้แน่20ล้านโดส


เพิ่มเพื่อน    

ผอ.องค์การเภสัชกรรมแจงยิบ วัคซีน 5 ยี่ห้อที่รัฐจัดหาคือ แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค เพิ่มเติม  ไฟเซอร์ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สปุตนิกไฟว์ เผยเคยติดต่อโมเดอร์นาตั้งแต่เดือน ก.พ. ได้รับแจ้งว่าสามารถส่งมาได้เร็วที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2565  เปิดเหตุผลยังไม่เซ็นสัญญาเพราะรอโรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินมาก่อน ล่าสุดเสนอมา 9 ล้านโดส รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเผยลงนามกับไฟเซอร์ไปแล้ว 2 ฉบับ เหลือสัญญาการซื้อวัคซีน 20 ล้านโดส เซ็นเร็วๆ นี้
    เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม แถลงถึงการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดย นพ.โสภณเปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคดำเนินการจัดหาวัคซีนตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่จังหวัดสมุทรสาคร ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีวัคซีน 2 ตัวหลักคือ ซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ขณะนี้ได้ดำเนินการฉีดไปแล้วในประเทศไทยกว่า 10 ล้านโดส 
    พร้อมย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการป้องกันการแพร่เชื้อ จึงได้จัดหาวัคซีนตัวอื่นเข้ามาเพิ่มเติม ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ หลังวัคซีนดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากในสัญญาการจัดซื้อมีจำนวนมากประมาณ 20 ล้านโดส จึงต้องมีการพิจารณาในส่วนของเงื่อนไขและสัญญาอย่างรอบคอบ รวมถึงต้องปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
    ขณะนี้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาการจัดซื้อดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ จากนั้นในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุขจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพราะร่างสัญญานี้มีหลายเรื่องเป็นข้อผูกพันที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาล หากผ่านขั้นตอนเห็นชอบจากทุกฝ่าย สามารถลงนามสั่งซื้อได้และจะเดินหน้าเจรจาส่งมอบให้เร็วขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่มีจำนวนมากเช่นกัน 
    ส่วนการจัดซื้อวัคซีนของไฟเซอร์ได้มีการลงนามไปแล้ว 2 ฉบับ คือฉบับแรกเป็นการสัญญาในเรื่องของข้อมูลวัคซีน ฉบับที่ 2 เป็นฉบับจองวัคซีน และฉบับสุดท้ายคือสัญญาการซื้อวัคซีน เนื่องจากการจัดซื้อวัคซีนประมาณ 20 ล้านโดส ซึ่งเป็นจำนวนที่มาก และเงื่อนไขส่วนใหญ่บริษัทผลิตวัคซีนจะเป็นผู้ตั้งเงื่อนไข จึงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระยะหนึ่ง และเมื่อสั่งซื้อไปแล้วก็จะพยายามเร่งรัดให้นำวัคซีนเข้าประเทศให้เร็วที่สุด ซึ่งทางบริษัทวัคซีนไฟเซอร์ได้กำหนดระยะเวลาการส่งมอบไว้ในช่วงไตรมาสที่ 4
    ดังนั้น ถ้าหากหยุดการระบาดไม่ได้ ก็ควรเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุให้เร็วที่สุด รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจกับประชาชน ในภาวะที่มีการระบาดเยอะ หากเดือนนี้ร่วมมือกันเต็มที่ ก็จะควบคุมสถานการณ์ไว้ได้
    ด้าน นพ.วิฑูรย์ กล่าวถึงการดำเนินการเรื่องวัคซีนทางเลือกขององค์การเภสัชฯ ว่า วัคซีนจะแบ่งเป็นวัคซีนที่รัฐจัดหา จะมีอยู่ 5 ยี่ห้อคือ แอสตร้าเซนเนก้า, ซิโนแวค และเพิ่มเติมอีก 3 ยี่ห้อคือ ไฟเซอร์, วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, สปุตนิกไฟว์ 
    ส่วนวัคซีนทางเลือกที่เอกชนนำเข้าเองคือโมเดอร์นาและซิโนฟาร์ม ก่อนการระบาดใหญ่ เราทำงานเชิงรุกไปตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้ติดต่อและแสดงความจำนงโดยตรงไปที่บริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา และได้รับแจ้งว่า ทางบริษัทจะสามารถส่งมาได้เร็วที่สุดในไตรมาสแรกของปี 2565 นอกจากนี้องค์การเภสัชฯ ยังได้ติดต่อวัคซีนอื่นอย่างน้อย 2 ยี่ห้อ ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะซัพพลายให้ทันในปีนี้ แต่เราก็พยายามจะติดต่อให้ได้หลายชนิด โดยยังผลิตเองในประเทศไทยด้วย
ต้องการโมเดอร์นา 9 ล้านโดส
    ผอ.องค์การเภสัชกรรมกล่าวว่า ส่วนที่มีโรงพยาบาลเอกชน 2 แห่งระบุว่าสามารถติดต่อซื้อวัคซีนจากบริษัทโมเดอร์นาได้โดยตรงนั้น ขอชี้แจงว่า การนำเข้าวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาจะต้องติดต่อผ่านบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ตัวแทนบริษัทนำเข้าวัคซีคโมเดอร์นาเท่านั้น ต่อมาที่วันที่ 15 พฤษภาคม ทางบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ได้แถลงว่าการซื้อวัคซีนจะต้องติดต่อผ่านทางภาครัฐเท่านั้นทำให้องค์การเภสัชฯ ถูกมอบหมายเป็นตัวแทน ดังนั้นวัคซีนโมเดอร์นาจะมีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ผู้นำเข้า และเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทะเบียน ไม่ใช่วัคซีนขององค์การเภสัชฯ เราเป็นเพียงตัวแทนภาครัฐที่จะนำมาขายต่อให้กับเอกชน 
    เขากล่าวว่า จากการเจรจา เราได้รับทราบว่าวัคซีนโมเดอร์นาจะมาเร็วก่อน 1 ไตรมาส คือไตรมาส 4 ของปี 2564 เนื่องจากวัคซีนตัวนี้ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากภาครัฐ จึงทำให้ได้รับมอบช้า เพราะเราต้องทำงานคู่ขนานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่มีโรงพยาบาลทั่วประเทศประมาณกว่า 300 โรงพยาบาล เพื่อรวบรวมความต้องการวัคซีนมาและเงิน เพื่อแจ้งว่าเป็นความต้องการวัคซีนจริงๆ ล่าสุดมีความต้องการเสนอมา 9 ล้านโดส โดยคาดว่าจะได้รับมอบวัคซีนภายในปีนี้ 4 ล้านโดส และที่เหลือจะมาต้นปีหน้า แต่ทางบริษัทโมเดอร์นาก็ไม่ได้แจ้งมาว่าจะมาในวันไหน เดือนไหน 
    "นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมองค์การเภสัชฯ ยังไม่เซ็นสัญญาสักที เพราะเราต้องรอให้โรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินมาก่อนที่จะเซ็นสัญญา หากไปเซ็นสัญญาโดยที่ความต้องการไม่มีอยู่จริง องค์การเภสัชฯ  จะรับผิดชอบไม่ไหว เพราะเป็นวัคซีนราคาแพง เราจึงได้วางแผนไว้ว่าจะเซ็นสัญญาบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ภายในต้นสัปดาห์ของเดือนสิงหาคม"
    นพ.วิฑูรย์กล่าวต่อว่า ส่วนเอกสารสัญญาได้ร่างไว้หมดแล้ว รวมถึงเอกสารข้อจำกัดของต่างประเทศที่ได้ส่งไป และเพิ่งได้รับเอกสารตอบกลับจากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เมื่อช่วงเช้าของเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม จากนั้นได้รวบรวมส่งไปที่สำนักงานอัยการสูงสุดช่วงตอนเที่ยงของวันเดียวกันตามขั้นตอน ทั้งนี้ ประเด็นนี้อาจจะต้องนำเข้าไปหารือใน ครม.ด้วย เพราะอาจจะมีบางเรื่องที่อยู่นอกเหนืออำนาจองค์การเภสัชฯ แต่เราก็ต้องทำให้รอบคอบ จากนี้การกระจายของวัคซีนจะต้องกระจายให้ทั่วประเทศ ให้ถึงกลุ่มโรงพยาบาลทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่อย่างเป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด 
    นอกจากนี้ เรายังรวบรวมถึงสิทธิประโยชน์ประกันภัยด้วย หากสัญญาเรียบร้อย จะได้วัคซีนโมเดอร์นาภายในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ส่วนวัคซีนตัวอื่นเรากำลังเฝ้าจับตาดูอยู่ รวมถึงที่วิจัยในไทย เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 2-3 ยี่ห้อ ขณะเดียวกันยังมีวัคซีนที่องค์การเภสัชฯ ผลิตเองด้วย ซึ่งผ่านการวิจัยในเฟสหนึ่งแล้ว ผลออกมาน่าพอใจ กำลังดำเนินการวิจัยในเฟสสองในปลายเดือนนี้ หรืออย่างช้า 10 สิงหาคม 2564
    นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า ข้อมูลดีมานด์และซัพพลายวัคซีนทั้งโลกจากยูนิเซฟระบุว่า ดีมานด์วัคซีนมีอยู่ 1.1 หมื่นล้านโดส ส่วนซัพพลายมีอยู่ 9 พันล้านโดส โดยเราก็ไม่ได้ย่อท้อ ทุกเรื่องที่ถูกปฏิเสธก็พยายามต่อรอง พยายามคุยและขอร้องเขาทุกสัปดาห์ ผู้ใหญ่หลายท่านและรัฐบาลก็ให้ความช่วยเหลือ ถ้ามีข่าวดีเราจะรีบแจ้ง เพราะขณะนี้ข้าศึกไม่ได้มาประชิดบ้านเรา แต่พวกเรากำลังตะลุมบอนอยู่ ก็ขอความเห็นใจ เอาความจริงมาพูดดีที่สุดในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดเช่นนี้
    สำหรับวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบัน ผลการตอบสนองต่อโรคลดลง ผู้ผลิตหลายรายได้พยายามจะปรับต้นเชื้อให้เป็นตามเชื้อที่เปลี่ยนไป ดังนั้นจะเห็นว่าทางทีมวิจัยก็พยายามทำงานอย่างหนัก ผู้ผลิตที่เราใช้อยู่ทุกตัวก็พยายามปรับปรุงเรื่องนี้อยู่ และภายในปีหน้า องค์การเภสัชฯ ก็จะวิจัยว่าในเข็มที่สามจะใช้วัคซีนยี่ห้อที่แตกต่างจากที่เคยฉีดไปแล้วได้หรือไม่ เพื่อตอบสนองต่อเชื้อที่กลายพันธุ์ไปแล้ว เชื้อเปลี่ยนไปตลอดเวลาและเร็วมาก จึงจะต้องเปลี่ยนวัคซีนไปทุกปีหรือไม่ ขอเรียนประชาชนว่าเราไม่เคยอยู่เฉยๆ และไม่เคยอยู่นิ่ง แม้จะดูไม่มีความหวัง แต่เราก็ไม่เคยทิ้ง
ถ้าเลือกได้ก็อยากเลือก
     พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) และประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข  ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขหรือบุคลากรทางการแพทย์อาวุโสได้พยายามให้ความรู้ และจากที่ทางรองอธิบดีกรมควบคุมโรคและผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมได้กล่าวไว้ ทุกคนก็จะได้เห็นว่าเราไม่สามารถที่จะเลือกชนิดได้ เราไม่สามารถจะเร่งกำหนดการส่งได้ เพราะฉะนั้นก็มีความจำเป็นอยู่ดีที่จะต้องใช้วัคซีนที่เราสามารถหามาได้ วัคซีนที่มีอยู่ ซึ่งตนคิดว่าทุกคนก็คิดเหมือนๆ กันหมด 
    "ทาง ศบค.เองก็คิดเหมือนกันว่า ถ้าเลือกได้เราก็อยากเลือกวัคซีนที่ประชาชนต้องการ อยากได้มาเร็ว แต่ในเมื่อบริบทออกมาอย่างนี้ ทำให้ลักษณะของการได้วัคซีนมาเป็นแบบนี้ ตรงนี้ก็ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชน ที่ว่าอาจจะไม่ได้วัคซีนตามที่ต้องการ แต่เราก็พยายามอยู่ จากที่ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมชี้แจงวัคซีนโมเดอร์นาที่ประชาชนอยากได้ หน่วยงานก็พยายามเร่งรัด และวัคซีนไฟเซอร์ที่ประชาชนอยากได้ ทางกรมควบคุมโรคก็พยายามเร่งรัดอยู่ ฉะนั้นในเมื่อทั้งสองอย่างนั้นยังไม่มา วัคซีนที่เรามีอยู่คือซิโนแวคก็น่าจะเป็นวัคซีนที่เหมาะสมกับสภาพเวลานี้" พล.อ.ณัฐพลกล่าว
    ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า สำหรับบุคคลทั่วไป รอฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งอีกไม่นานจะมีข่าวดีแน่นอน แต่ตอนนี้ขอจัดระเบียบโรงพยาบาลที่รับช่วยฉีดให้ได้ดีก่อน คาดอีกไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ ที่สำคัญตนต้องแน่ใจว่าประชาชนหรือบุคคลทั่วไปต้องไม่เสียประโยชน์
    สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มในระยะที่ 1 ต้องไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ใครเสียเงินไปแปลว่าถูกหลอก ซึ่งมีทางเลือก 2 ทางคือ เรียกร้องขอเงินคืน หรือแจ้งความเพราะเราผู้เสียหาย และท่านทำผิดข้อตกลงกับราชวิทยาลัยฯ ตามที่ท่านลงนามไว้ด้วย อันอาจส่งผลให้ประกันไม่ครอบคลุม
    นพ.นิธิยังระบุเพิ่มเติมว่า วัคซีนที่จะจัดฉีดในวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 นี้ของ รพ.จุฬาภรณ์ สำหรับผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ คนชรา ล้นเกือบ 7,000 รายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้พิการ มีผู้สูงอายุมาก     ใครไม่ได้นัดไว้ อย่ามาเบียดแย่งผู้พิการ คนชรา หวั่นจะมาทำให้เกิดความแออัดกัน อาจได้เชื้อกลับบ้านแทน รอไว้วันอื่นเดี๋ยวเปิดบริการฉีดให้อีก รอระยะที่ 2 สัญญาแล้วว่าอีก 1-2 สัปดาห์
    ขณะที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้แจ้งข่าวผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตที่ 2 อีกจำนวน 1 ล้านโดส กำลังเตรียมตัวออกเดินทางมายังประเทศไทยในวันที่ 4 ก.ค. ก่อนหน้านี้วัคซีนตัวเลือก "ซิโนฟาร์ม" เข้ามาประเทศไทยล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดส เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน และล่าสุดได้จัดสรรวัคซีนให้องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ไปแล้ว 2 รอบ รวมการจัดสรรวัคซีนทั้ง 2 ครั้ง 6,437 บริษัท เป็นจำนวน 779,300 คน
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า โรงพยาบาลเอกชนแสดงความพร้อมในทุกด้าน ประชาชนที่มีกำลังและประสงค์จะฉีดวัคซีน mRNA ก็พร้อมแบ่งเบาภาระรัฐบาล 1 วันที่ฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น สามารถลดความสูญเสีย ช่วยชีวิตประชาชนได้นับหมื่นนับแสนคน ไม่มีเหตุผลที่จะไม่กระชับเวลาในการนำเข้าวัคซีนให้เร็วขึ้น แม้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ รายงานการตรวจพบในประชากรวัยหนุ่มสาวหลังฉีดวัคซีน mRNA อาจมีผลข้างเคียง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ แต่พบน้อยและเป็นอาการชั่วคราว
     "คนที่เฝ้ารอวัคซีน mRNA เข้ามาในประเทศไทย อาจมีภาวะจิตใจห่อเหี่ยว หัวใจช้ำ เพราะรอวัคซีนนานมาก ท่ามกลางสถานการณ์ที่วิกฤติมากขึ้นทุกวัน” นายอนุสรณ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"