ปล่อยผีก่อสร้าง4ประเภท


เพิ่มเพื่อน    

ข้อบังคับฉบับที่ 25 ใช้ไม่ถึงสัปดาห์ดี “ประยุทธ์” ซุ่มเงียบเซ็นคำสั่งปล่อยผีให้ก่อสร้างและเคลื่อนย้ายแรงงานแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. เฉพาะโครงการที่ปล่อยไว้อาจอันตรายทั้งโครงสร้าง-พื้นที่ใกล้เคียง ให้อำนาจผู้ว่าฯ กทม.และผู้ว่าฯ ออกประกาศ พร้อมให้อำนาจฟันก่อสร้างขนาดเล็กหากส่อแววแพร่โควิด-19
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ลงนามอนุมัติในหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีมีเหตุจำเป็น ตามที่ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติในหลักการ 
นายวิษณุอธิบายว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการผ่อนปรนสำหรับรายที่มีปัญหาว่าถ้าการหยุดหรือปิดแคมป์จะทำให้เกิดอันตรายหรือไม่ปลอดภัย ก็อนุญาตให้เข้าไปเก็บงานหรือปิดงานได้ ไม่ใช่การก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ในคำสั่งดังกล่าวของนายกฯ เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปใช้อำนาจออกคำสั่งในแต่ละจังหวัดอีกครั้ง  ซึ่งแต่ละจังหวัดจะไม่เหมือนกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องไปออกคำสั่ง และสำรวจเองว่าในแต่ละจังหวัดมีการก่อสร้างอะไรบ้าง โดยต้องมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง
        ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามอนุมัติในหลักการการให้อนุญาตสำหรับการก่อสร้างโครงการก่อสร้างบางประเภท และเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อผ่อนคลายมาตรการ  ตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลมีข้อห่วงกังวลกรณีข้อกำหนด (ฉบับที่ 25) นี้มีการสั่งห้ามการก่อสร้างขนาดใหญ่ทุกประเภทในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานภาคก่อสร้างเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งการหยุดก่อสร้างชั่วคราวอาจจะส่งผลกระทบให้ความเสียหายเชิงโครงสร้างทางวิศวกรรมและโครงการก่อสร้างบางประเภทที่มีความจำเป็นอันสมควรได้รับการยกเว้น เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และประโยชน์ด้านสาธารณสุข
        โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันพิจารณา จึงขอเสนอให้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการก่อสร้างบางประเภท ดังนี้ 1.โครงการก่อสร้างซึ่งหากหยุดก่อสร้างในทันที หรือการดำเนินการล่าช้า อาจก่อให้เกิดความเสียหายเชิงโครงสร้างด้านวิศวกรรมจนยากต่อการแก้ไข หรือเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนโดยรอบโครงการก่อสร้างนั้น เช่น โครงการก่อสร้างใต้ดินที่มีความลึก การก่อสร้างชั้นใต้ดินที่ยังไม่ได้เทปูน ปิดล้อม
 2.การก่อสร้างชั่วคราวซึ่งหยุดการก่อสร้างในทันที หรือดำเนินการล่าช้าจะได้รับความเสียหายจนเกิดอันตรายแก่ประชาชนที่สัญจรไปมาหรือชุมชนโดยรอบโครงการดังกล่าว เช่น นั่งร้าน และแบบรอการเทปูน โดยเฉพาะแผ่นพื้น
 3.การก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการจราจร เช่น ไฟสัญญาณจราจร แบริเออร์กั้นช่องจราจร แผ่นเหล็กปิดงานก่อสร้างบนผิวจราจร และ 4.การก่อสร้างในสถานที่ก่อสร้างที่มีความเกี่ยวข้องกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาล สถานพยาบาล หรือสถานที่ก่อสร้างอื่นๆ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค
       นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาขอผ่อนคลายคำสั่งเคลื่อนย้ายแรงงานประเภทก่อสร้างจากสถานที่พักชั่วคราว ทั้งกรณีการข้ามเขตจังหวัด หรือภายในเขตจังหวัด เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคโควิด-19  เช่น การรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรค การตรวจสุขภาพ และการตรวจวินิจฉัยและการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการโรคติดต่อ เป็นผู้พิจารณา อนุญาตโครงการก่อสร้างที่เข้าหลักเกณฑ์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้น ในเขตพื้นที่ของตนเองเป็นรายกรณี
        อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวแล้ว  และได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ ขณะเดียวกันมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข ดังนี้ เห็นสมควรให้ผ่อนคลายคำสั่งห้ามการก่อสร้างในโครงการบางประเภทตามที่ กทม.เสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่แรงงานก่อสร้างนั้นได้รับวัคซีนแล้ว โดยสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานก่อสร้างเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรค และเห็นสมควรให้ผู้ว่าฯ กทม.  หรือผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นผู้พิจารณาอนุญาตโครงการก่อสร้างเฉพาะที่เข้าหลักเกณฑ์ และขอให้ กทม.และจังหวัดปริมณฑลกำกับติดตามการดำเนินการก่อสร้างโครงการที่มีความจำเป็นตามที่ได้รับการผ่อนคลายให้ดำเนินการ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด
       สำหรับการก่อสร้างขนาดเล็กที่ไม่ถูกห้ามตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ถ้าผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่าหากปล่อยให้การก่อสร้างดำเนินต่อไป อันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ให้ผู้ว่าฯ กทม.หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พิจารณาสั่งปิดสถานที่ก่อสร้างหรือหยุดการก่อสร้างนั้นตามอำนาจและหน้าที่ รวมถึงให้ กทม.และจังหวัดปริมณฑลทำการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เข้าใจมาตรการตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ที่ไม่ห้ามการก่อสร้างโครงการขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีการเคลื่อนย้ายแรงจำนวนมาก อันเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของโรค และให้จัดช่องทางสำหรับประชาชน หรือผู้ประกอบการในการที่จะสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการตามคำสั่งตามข้อกำหนดฉบับที่ 25 ด้วย
ทั้งนี้ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนพิเศษ 140 ง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า การผ่อนคลายการล็อกดาวน์กิจกรรมก่อสร้างและเปิดแคมป์คนงานบางส่วน จะช่วยบรรเทาผลเสียหายของอุตสาหกรรมก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างก่อสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของรัฐได้ระดับหนึ่ง จากเดิมที่ประเมินความเสียหายการปิดกิจกรรมโครงการก่อสร้างต่างๆ และธุรกิจร้านอาหารในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ประมาณ 40,000- 50,000 ล้านบาทต่อเดือน การผ่อนคลายจะลดความสูญเสียได้อย่างน้อย 20-30% 
ส่วนคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กแจ้งรายละเอียดงานเยียวยาศิลปินและคนทำงานกลางคืนว่า จะจัดไลฟ์คอนเสิร์ตในวันที่ 9-10 ก.ค. เวลา 18.00-22.00 น. ผ่านทางเฟซบุ๊กและยูทูบของคณะ  โดยคอนเซ็ปต์จัดงานว่า "กูจะเล่น มึงจะทำไม" พร้อมให้ประชาชนร่วมสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบ ผ่านเลขที่บัญชีและคิวอาร์โค้ด
วันเดียวกัน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง มาตรการปิดพื้นที่ควบคุมโรคที่ประชาชนต้องการ  กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพใน กทม. จำนวน 1,068 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่หรือ 63.1% ระบุปิดเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด กำหนดมาตรการควบคุมและกิจกรรมเฉพาะพื้นที่นั้น, 32.6% ระบุปิดทั้งจังหวัดและหยุดทุกกิจกรรม เพื่อควบคุมโรค โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในขณะที่ 3.2% ระบุต้องการให้ใช้มาตรการเดิมที่ผ่านมาก่อนปิดแคมป์คนงาน และ 1.1% ระบุอื่นๆ.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"