‘เดลตา’ยึดกทม.งัด4มาตรการคุม


เพิ่มเพื่อน    

ไทยยังติดเชื้อหนักพุ่ง 6,166 ราย ดับ 50  ราย สายพันธุ์อินเดียแซงอังกฤษยึด กทม. สธ.งัด 4 มาตรการยกระดับคุมโควิดเมืองหลวงให้ได้ภายใน ก.ค. เร่งสอบสวนโรคเร็วขึ้นสกัดก่อนลามเป็นคลัสเตอร์ ระดมฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ-7 โรคเสี่ยง 1.8 ล้านคนจบใน 2 สัปดาห์  ทำงานที่บ้าน 70% เข้มงวดมาตรการบุคคล กทม.ลุยตั้ง  17 ศูนย์พักคอยกระจาย 6 กลุ่มเขต รองรับผู้ป่วยได้  2,560 เตียง
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เวลา  12.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,166 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,070 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 3,961 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 2,109 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 84 ราย  และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 12 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 289,233 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 2,534  ราย หายป่วยสะสม 223,437 ราย อยู่ระหว่างการรักษา  63,520 ราย อาการหนัก 2,199 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 603 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 50 ราย เป็นชาย 34  ราย หญิง 16 ราย อยู่ใน กทม. 17 ราย นนทบุรี 9 ราย  สมุทรปราการ 6 ราย ฉะเชิงเทรา 3 ราย นครปฐม,  นราธิวาส, ปัตตานี, สงขลา, สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย  จันทบุรี, นครนายก, นครสวรรค์, ระยอง, สุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 2,276 ราย 
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม.  1,729 ราย, สมุทรปราการ 411 ราย, สมุทรสาคร 389  ราย, ปทุมธานี 532 ราย, สงขลา 318 ราย, ชลบุรี  279 ราย, นนทบุรี 270 ราย, พระนครศรีอยุธยา 212  ราย, นครปฐม 143 ราย, ปัตตานี 311 ราย โดยพบคลัสเตอร์ใหม่หลายพื้นที่ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร ที่โรงงานอาหารกระป๋อง อ.เมืองสมุทรสาคร 2 แห่ง แห่งแรกพบผู้ติดเชื้อ 13 ราย และแห่งที่สอง 14 ราย โรงงานเสื้อผ้า  อ.อ้อมน้อย พบผู้ติดเชื้อ 53 ราย จ.ชลบุรี ที่บริษัทโลจิสติกส์ อ.ศรีราชา พบผู้ติดเชื้อ 12 ราย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ตลาดใหญ่วังน้อย อ.วังน้อย พบผู้ติดเชื้อ 181  ราย จ.ตาก ที่โรงงานเสื้อผ้า อ.แม่สอด พบผู้ติดเชื้อ 33  ราย จ.ฉะเชิงเทรา ที่แคมป์ก่อสร้าง อ.เมืองฉะเชิงเทรา พบผู้ติดเชื้อ 18 ราย ขณะที่ กทม.มีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 117  แห่ง 
    อย่างไรก็ตาม จากมาตรการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ทำให้เห็นการเคลื่อนย้ายคนงานไปพื้นที่ต่างจังหวัด โดยมีการกระจายตัวไปภาคอีสานมากที่สุด  และพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดเมื่อวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งหลายพื้นที่ให้การดูแลแรงงานเหล่านี้เป็นอย่างดี จึงต้องขอขอบคุณ เนื่องจากเพียงไม่กี่วันเตียงที่เคยว่าง 100% ตอนนี้ใช้  60-70% บุคลากรสาธารณสุขจากพื้นที่ต่างจังหวัดต้องแบ่งกำลังมาช่วยกรุงเทพฯ และยังต้องดูแลพื้นที่ตัวเอง  
กทม.เร่งสร้างศูนย์พักคอย
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กรับทราบความห่วงใย กรณีมีผู้ป่วยจำนวนมากต้องการเตียงที่ยังไม่เพียงพอ โดยรับทราบมาตรการปรับเตียงสีเหลือง สีแดงให้ใช้สำหรับโรงพยาบาล ส่วนเตียงสีเขียวจะปรับไปสู่การแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักที่ชุมชน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสั่งการให้สร้างศูนย์แยกกักในชุมชนที่เคยทำที่วัดแห่งหนึ่งเขตคลองเตย จะใช้โมเดลนี้ทำอีก 20 แห่งภายใน  1-2 วัน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.ได้มอบนโยบายดังกล่าวไปยังรองปลัด กทม.และผู้อำนวยสำนักงานเขตแต่ละเขตแล้ว ตรงนี้เราจะเรียกว่าศูนย์พักคอย ที่จะพักเพียงไม่นานและนำไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสนามที่เป็นเตียงรักษาผู้ป่วยระดับสีเขียว ขณะที่โรงพยาบาลจะมีการเพิ่มเตียง จะมีการปรับวอร์ดในโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีท่อออกซิเจนอยู่แล้ว สำหรับผู้ป่วยทั่วไปถ้ารอได้ให้รอไปก่อน เนื่องจากจะนำผู้ป่วยโควิด-19 ในระดับสีเหลืองมารักษาในวอร์ดที่มีการแยกส่วนไว้อยู่แล้ว และมีความพร้อมมากกว่าโรงพยาบาลสนาม 
    พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวถึงการอนุมัติในหลักการอนุญาตโครงการก่อสร้าง 4 ประเภทให้ดำเนินการต่อได้ และการเคลื่อนย้ายแรงงานในกรณีที่มีความจำเป็นว่า เป็นไปตามคำขอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านวิศวกรรมเสนอมา โดย ศปก.ศบค.หารือแล้วเห็นว่าเหมาะสมและให้ผ่อนคลาย เพราะบางกิจการถ้าปิดไซต์ก่อสร้างไปนานๆ อาจจะส่งผลกระทบได้ และได้เรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค.ทราบแล้ว ซึ่งเห็นชอบตามนั้น ส่วนจะมีการผ่อนคลายหรือเข้มงวดมาตรการใดเพิ่มเติมหรือไม่ต้องรอฟังจากกระทรวงสาธารณสุข
     เมื่อถามถึงกรณีที่ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าควรจัดยาให้คนไข้โดยเร็ว และให้คำนึงถึงการรักษาคนที่ติดเชื้อก่อนจำนวนผู้ติดเชื้อ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เรารับฟังมา 2 เรื่อง คือ 1.ยาฟาวิพิราเวียร์ที่จะแจกจ่ายเร็วขึ้น ขณะที่บางพื้นที่ใช้ยาฟ้าทะลายโจรช่วยในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการเบาบาง และ 2.การรักษาตัวที่บ้านได้เชิญผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาหารือเพื่อขอให้ กทม.เร่งรัดจัดระบบรักษาตัวที่บ้านให้มีมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันผู้ติดเชื้อมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ 1.คนเดินเข้าไปตรวจ 2.จุดบริหารตรวจหาเชื้อของ กทม. 6 จุด ในพื้นที่ 6 กลุ่มเขต และ 3.การตรวจเชิงรุก โดยต้องพยายามนำ 3 กลุ่มนี้เข้าระบบให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งระบบการกักตัวที่บ้าน ที่โรงพยาบาลสนามชุมชน หรือที่ศูนย์พักคอย โดยผู้ว่าฯ กทม. จะดำเนินการให้ได้ 20 จุด ใน 50 เขต 
    ส่วนกรณีที่ยังคงมีการฝ่าฝืนและลักลอบเปิดสถานบันเทิงแบบส่วนตัวในย่านเอกมัยนั้น พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า  นายกฯ เน้นย้ำสำนักงานตำรวจแห่งชาติและฝ่ายความมั่นคงให้ช่วยกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว และจะมีบทลงโทษ โดยสัปดาห์ที่แล้วได้จับกุมในบางพื้นที่ หากประชาชนมีเบาะแสให้แจ้งมาที่ ศบค.เพื่อดำเนินการต่อไป 
     ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าสายพันธุ์โควิด-19 ที่ระบาดในประเทศไทยขณะนี้ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาตรวจสายพันธุ์ในภาพรวมประเทศ พบว่าสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ขึ้นมาเป็น 32.2% ส่วนใหญ่อยู่ใน กทม.และจังหวัดปริมณฑล ซึ่ง กทม.พบสัดส่วนเพิ่มมากถึง 52.2% มากกว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)   ถือว่าเป็นการเข้ามาค่อนข้างเร็วกว่าที่คาดการณ์เล็กน้อย  ในขณะที่ต่างจังหวัดขึ้นค่อนข้างเร็วพบแล้ว 18% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยพบใน 47  จังหวัด อย่างพื้นที่ภาคใต้เดิมไม่มีเดลตา ล่าสุดพบอยู่ในหลายจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี เป็นต้น ขณะที่ภาคอีสานโดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานีที่พบค่อนข้างมาก   
    "เชื้อเดลตาในพื้นที่ กทม. 52% กระจายอยู่ในทุกเขต ทางตอนเหนือจากแคมป์หลักสี่ ไปทางทิศตะวันตกตอนล่างมากพอสมควรและกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ดังนั้นค่อนข้างจะบอกได้ว่าสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในกรุงเทพฯ ขณะนี้คือสายพันธุ์อินเดียหรือสายพันธุ์เดลตา" นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) สัปดาห์นี้เพิ่มมากว่า 50 ราย แต่ยังจำกัดวงอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส มีกระจายไปจังหวัดใกล้เคียงอยู่พอสมควรที่สุราษฎร์ธานี มียืนยัน 1 ราย นครศรีธรรมราช 3 ราย กระบี่ 1 ราย สำหรับกทม.เพิ่มอีก 2 รายซึ่งเป็นญาติของรายแรกที่พบการติดเชื้อ
งัด 4 มาตรการคุมโควิด กทม.
    นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  แถลงแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า การระบาดครั้งนี้เห็นตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลักพันระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ของโรค  อย่างไรก็ตามการระบาดยังอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  ส่วนต่างจังหวัดเป็นผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการระบาดขึ้น ซึ่ง สธ.สั่งการให้บุคลากรทางการแพทย์  พยาบาล เภสัชกร และเจ้าหน้าอื่นๆ ในพื้นที่ที่ยังมีการติดเชื้อจำนวนน้อยเข้ามาช่วยงานในโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งมี  3,700 เตียง ดูแลผู้ป่วยอาการปานกลางไปจนถึงอาการมาก ซึ่งหากอาการรุนแรงมากจะมีการส่งต่อไป รพ.สังกัดโรงเรียนแพทย์ หรือ รพ.ขนาดใหญ่ ในสัปดาห์นี้เราได้ร่วมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะเปิดเตียงไอซียูอีก 24 เตียง และร่วมกับภาคเอกชนเปิดเตียงไอซียูที่ รพ.สนามมณฑลทหารบกที่  11 อีก 58 เตียง โดยมีบุคลากรจากวชิรพยาบาล, รพ.ธรรมศาสตร์, รพ.รามาธิบดีเข้าไปช่วยดูแลผู้ป่วย
    ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้เสนอมาตรการปรับวิธีการควบคุมโรคให้เหมาะสม เพื่อลดปริมาณผู้ติดเชื้อและให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น โดย 4 มาตรการใหม่ ได้แก่ 1.การค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ 2.ปรับระบบรักษาดูแลผู้ป่วย 3.มาตรการวัคซีน และ 4.มาตรการสังคม ซึ่งจะเป็นการควบคุมโรคที่จะใช้ในกรุงเทพฯ โดยทันที เพื่อพยายามควบคุมโรคและลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ ทั้งนี้มีการใช้มาตรการแนวทางแยกกักที่บ้าน (Home Isolation)  ซึ่งจะมีระบบดูแลรักษาผู้ป่วย 
    ปลัด สธ.กล่าวว่า สธ.ได้ประกาศนโยบายการฉีดวัคซีนกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าใน รพ. ผู้ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นสำหรับการป้องกันไวรัส โดยเฉพาะสายที่กลายพันธุ์หรือสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมา ส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ย้ำว่าวัคซีนที่มีในเดือน ก.ค.นี้จะเทให้ 2 กลุ่มนี้ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของวัคซีนที่ได้มา เพื่อลดอัตราการป่วยหนัก หรือการเสียชีวิต ขณะที่การฉีดวัคซีนตามนโยบายปูพรมจะลดลง  
    ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า มาตรการควบคุมโรคจะมี 2 ส่วน คือ 1.พื้นที่ต่างจังหวัดยังใช้มาตรการเฝ้าระวัง โดยเฉพาะจังหวัดที่ยังติดเชื้อไม่มาก จะต้องเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการป่วยระบบทางเดินหายใจ หรือปอดอักเสบที่เข้ามารักษาใน รพ. การใช้มาตรการป้องกันตัวเอง DMHTT มาตรการค้นหาผู้ป่วย เพื่อสอบสวนโรคหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ และใช้มาตรการค้นหาเชิงรุก ดังนั้น เป็นการยกระดับมาตรการเดิมที่มีอยู่ให้มีความเข้มข้นขึ้น และ 2.พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เป็นศูนย์กลางการระบาดดังนั้น มาตรการเดือน ก.ค.-ส.ค.จะมีการปรับให้สอดคล้องมากยิ่งขึ้น เน้นไปที่การป้องกันโรคในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อที่มีโอกาสเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค โดยจะมีฟาสต์แทรกให้ 2 กลุ่มนี้ได้รับการตรวจหาเชื้อและการรักษาในโรงพยาบาลทันที เพื่อลดอาการป่วยและเสียชีวิต สำหรับกลุ่มอื่นที่ยังไม่มีอาการที่เป็นวัยหนุ่มสาวอัตราการป่วยหนักน้อยกว่า จะให้ใช้วิธีการตรวจอื่นควบคู่กันไป 
สกัดก่อนลามเป็นคลัสเตอร์
    สำหรับการปรับการสอบสวนควบคุมโรค จะเน้นไม่ให้เกิดกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ใหญ่ หาจุดเสี่ยงที่จะมีการระบาดให้ทันเวลาและสอบสวนเฉพาะราย หรือการหาไทม์ไลน์จะให้แต่ละจุดตรวจเป็นผู้ดำเนินการแทน และการควบคุมเชิงรุกจะเน้นย้ำระวังในกลุ่มซูเปอร์สเปรดเดอร์ หรือผู้ที่ทำให้มีการกระจายเชื้ออย่างกว้างขวาง รวมทั้งมาตรการบับเบิล แอนด์ซีลในแรงงานต่างด้าว โรงงาน สถานประกอบการ  แคมป์คนงาน ตลาดสด ตลาดขนาดใหญ่ เรือนจำ รวมทั้งแหล่งที่มีคนรวมตัวกัน และสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นมาตรการที่เราจะเสนอและดำเนินการร่วมกับ กทม. นอกจากนี้จะระดมฉีดวัคซีนในกรุงเทพฯ ที่มีกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง รวม 1.8 ล้านคน ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนปริมณฑลจะฉีดให้ได้เดือน ก.ค.นี้ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ใน 2 กลุ่มนี้อีก 17.85  ล้านคนภายในเดือน ส.ค. 
    นพ.โอภาสกล่าวว่า การยกระดับมาตรการทางสังคม ระดับองค์กร โดยเฉพาะประชาชนเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีการระบาดมาก ต้องขอความร่วมมือมาตรการทำงานจากบ้าน (Work From Home) ในสถานที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ สถานประกอบการเอกชนขนาดใหญ่ ขอให้ได้ร้อยละ 70 และส่งเสริมให้ประชาชนเพิ่มความเข้มงวดมาตรการบุคคล ประยุกต์มาตรการบับเบิลแอนด์ซีลมาใช้กับตัวเองและครอบครัว เนื่องจากการติดเชื้อในกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัวและที่ทำงาน จึงขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยให้ได้มากที่สุดทั้งที่บ้านและที่ทำงาน งดเว้นการทำกิจกรรมอื่นที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นในที่ทำงาน จะต้องงดเว้นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
    ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานจัดตั้ง ศูนย์พักคอยกรุงเทพมหานคร เพื่อรอการส่งต่อผู้ป่วยโควิด-19 โดยขณะนี้ทั้ง 6 กลุ่มเขตได้พิจารณาจัดตั้งศูนย์โดยกระจายครอบคลุมทั้ง 6 กลุ่มเขต  รวม 17 ศูนย์ รองรับผู้ป่วยได้ 2,560 เตียง 
    ทั้งนี้ ศูนย์ที่มีความพร้อมสามารถเปิดได้ทันทีมีจำนวน  5 ศูนย์ ได้แก่ 1.อาคารปฏิบัติธรรม วัดอินทรวิหาร เขตพระนคร รับได้ 170 เตียง 2.วัดสะพาน เขตคลองเตย รับได้ 250 เตียง 3.ค่ายลูกเสือกรุงเทพวันวาน เขตหนองจอก รับได้ 200 เตียง 4.วัดศรีสุดารามวรวิหาร เขตบางกอกน้อย รับได้ 90 เตียง และ 5.ศูนย์สร้างสุขทุกวัยบางแคเรืองสอน เขตบางแค รับได้ 150 เตียง รวมจำนวนผู้ป่วยที่สามารถรับได้ทั้งสิ้น 860 เตียง จากนั้นจะทยอยเปิดให้บริการศูนย์ที่เหลือภายในวันที่ 9 ก.ค. สำหรับศูนย์ฯ อาคารกีฬาเวสน์ 2 เขตดินแดง จะสามารถเปิดได้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค.เป็นต้นไป
    นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กำชับให้ทุกเขตเร่งปรับปรุงสถานที่ให้มีความเหมาะสมและมีองค์ประกอบครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขอนามัย ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบรักษาความปลอดภัย CCTV ระบบสื่อสารภายในกับผู้ป่วย และการกำจัดขยะติดเชื้อ โดยตั้งเป้าจะจัดตั้งให้ครบ  20 ศูนย์ รับผู้ป่วยได้ 3,000 เตียงให้เร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยตกค้างและไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในครอบครัว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"