เชื้อ'เดลต้า'ระบาดเร็วคาดสัปดาห์หน้าผู้ติดเชื้อทะลุหมื่น ยอมรับผู้ป่วยหนักเฉียด 2,500 ราย


เพิ่มเพื่อน    

 


เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 7 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,519 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,448 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,958 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,490 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 55 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 301,172 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 4,148 ราย ยอดรวมหายป่วยแล้ว 231,171 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 67,614 ราย อาการหนัก 2,496 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย เป็นชาย 32ราย หญิง 22 ราย อยู่ในกทม. 30 ราย ปัตตานี 4 ราย สมุทรปราการ ปทุมธานี จังหวัดละ 3 ราย นครราชสีมา ยะลา สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย เชียงราย เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม ชัยภูมิ นราธิวาส นครศรีธรรมราช และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 2,387 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีน วันที่ 6 ก.ค. ฉีดไปได้ 269,653 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 223,268 ราย เข็มที่สอง 46,385 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 11,328,043 โดส ซึ่งเป้าหมายเราอยากฉีดให้ได้วันละ 300,000-500,000 โดส ตอนนี้ถือว่ายังน้อยกว่าแผน ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสม 185,381,383 ราย เสียชีวิตสะสม 4,008,981 ราย

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,549ราย สมุทรปราการ 548 ราย สมุทรสาคร 434 ราย นครปฐม 266 ราย ชลบุรี 262 ฉะเชิงเทรา 252 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 241 ราย นนทบุรี 235 ราย ปทุมธานี 21 ราย และปัตตานี 190 ราย ส่วนการระบาดในหลายพื้นที่ จ.นนทบุรี โรงงานน้ำจิ้ม อ.บางบัวทอง 61 ราย ,จ.ปทุมธานี โรงพยาบาลเอกชน อ.คลองหลวง 10 ราย ,จ.ตาก โรงงานพืชไร่ อ.แม่สอด 33 ราย ขณะที่ในกทม.มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 118 แห่ง พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่ คือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เขตมีนบุรี และโรงงานผลิตจิวเวลรี่ เขตบางนา

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า หากดูตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการหนักและใส่เครื่องช่วยหายใจจะเพิ่มจากก่อนหน้านี้พอสมควร อาการหนักจาก 1,000 ต้นๆตอนนี้เป็น 2,000 กว่าราย ใส่เครื่องช่วยหายใจจาก 300 -400 ราย เป็น 600 กว่าราย ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการรายงานลักษณะผู้ป่วยแยกเป็นอาการเขียว เหลือง แดง ช่วงต้นเดือนเม.ย.ผู้ป่วย 80 เปอร์เซ็นต์เป็นอาการระดับสีเขียว ระดับสีเหลือง15 เปอร์เซ็นต์ และระดับสีแดง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจุบันสีเขียวเหลือ 70 เปอร์เซ็นต์ เหลือง 20 เปอร์เซ็นต์ แดง 10 เปอร์เซ็นต์ และขอเน้นย้ำผู้ป่วยระดับสีแดง 10 รายใช้เครื่องช่วยหายใจ 4-5 ราย และจำนวนผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย จะเสียชีวิต 1-2 ราย เป็นตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวัง ทำให้จะมีการปรับแผนฉีดวัคซีนระดมไปที่ผู้สูงอายุ และผู้มี 7 โรคเรื้อรัง โดยในหน่วยฉีดของกทม.จุดต่างๆ ทั้งในส่วนของกระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังเป็นประชากรส่วนใหญ่ สัปดาห์นี้จะเน้นย้ำการฉีดวัคซีนในทุกจุดให้เน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง เนื่องจากถ้าดูอัตราเสียชีวิตจะพบว่าค่ากลางของผู้เสียชีวิตอายุสูงกว่าคนที่อายุน้อย และข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่าผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ 10 รายจะเสียชีวิต 1 ราย ถือว่าสูงอยู่ นโยบายจึงเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและคนที่มี 7 โรคเรื้อรังให้เร็วที่สุด

 

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า และถ้าไปดูภาพรวมของประเทศจะเห็นว่าการติดเชื้อของกทม.และปริมณฑล มีจำนวนเท่ากับจังหวัดต่างๆ จากเดิมที่กทม.และปริมณฑลมีจำนวนมากกว่า สะท้อนให้เห็นภาพว่ามีการเดินทางข้ามพื้นที่ จากพื้นที่สีแดงกลับไปต่างจังหวัด ทำให้มีการกระจายการติดเชื้อไป 40 จังหวัด ที่สำคัญผู้ติดเชื้อของกทม.และปริมณฑล จะเป็นการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้า ทำให้พอจะคาดเดาได้ว่าสายพันธุ์ที่แพร่ไปในต่างจังหวัดเป็นสายพันธุ์นี้ส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน อีกทั้งจากข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญเสนอเกี่ยวกับสายพันธุ์เดลต้านั้น พบว่าระบาดไปหลายประเทศ ที่หนักๆคือประเทศอังกฤษ พบผู้ติดเชื้อเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ และพบในส่วนของผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว โดยตัวเลขมีรายงานผู้ติดเชื้อ 92,029 ราย ซึ่ง 20,000 รายในจำนวนนี้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้ว ผู้ที่รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มมีการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ถึง 7,235 ราย แต่ข้อดีคือผู้ที่ฉีดวัคซีนและติดเชื้อสายพันธุ์นี้มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ที่มีอาการหนัก ทำให้ยอดเสียชีวิตต่ำลง สรุปแล้วผู้เชี่ยวชาญจึงเน้นย้ำใครมีผู้สูงอายุในครอบครัวให้ได้รับการฉีดวัคซีน หากได้รับการฉีดวัคซีนแม้เพียง 1 เข็มก็ลดการป่วยหนักและเสียชีวิต

 

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ส่วนการแพร่ระบาดนั้นทางแพทยสมาคมเป็นห่วง มีการประเมินคร่าวๆว่าเราพบสายพันธุ์เดลต้าเมื่อเดือนมิ.ย.โดยผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสหรัฐอเมริการายงานว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้เร็ว จึงคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มผู้ติดเชื้อ 2 เท่าใน 2 สัปดาห์ หากคาดการณ์ไปสัปดาห์หน้าอาจจะยังขึ้นได้ถึง 10,000 ราย จึงขอเรียนให้ทุกคนเน้นย้ำมาตรการส่วนตัว ลดการเคลื่อนย้าย เฝ้าระวังผู้สูงอายุ และเน้นย้ำการฉีดวัคซีน

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับการรายงานตัวเลขกทม.ที่มีประชาชนรอเตียง วันนี้ กทม.รายงานว่า ผู้ป่วยสีแดงอยู่ที่ 40-50 รายต่อวัน ผู้ป่วยสีเหลือง 200-300 รายต่อวัน ผู้ป่วยสีเขียวอยู่ที่ 300-400 รายต่อวัน ตัวเลขสะสม 2 สัปดาห์จะเห็นได้ชัดว่าแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อใหม่เข้ามา ตัวเลขสะสมจึงสูงขึ้น ขณะที่การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาศูนย์เอราวัณสามารถดำเนินการส่งผู้ป่วยได้ 500 เที่ยวต่อวัน ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก จึงพูดถึงมาตรการจัดการสองส่วนคือ การเพิ่มศักยภาพการขนผู้ป่วยไปยังศูนย์บริการที่ได้รับการดูแล โดยผู้ป่วยสีแดงต้องเข้าสู่ระบบทันที เหลืองต้องมีระยะเวลาคอยน้อยที่สุด อาจจะเป็น 1วันเพื่อนำทุกคนเข้าสู่ระบบ ส่วนผู้ป่วยสีเขียวหรือสีขาวที่แข็งแรงดี จะถูกจัดสรรไปอยู่ที่ศูนย์พักคอย ที่วันนี้มีการเปิดให้บริการ 5 ศูนย์ ที่เหลือจะทยอยเปิดวันที่ 9 ก.ค. โดยจะมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงคอยดูแลศูนย์ต่างๆ พร้อมทั้งมีการพูดคุยถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามระดับสูงที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะมีการเตรียมการหลังจากนี้ใช้เวลาอีก 3 สัปดาห์เปิดรับผู้ป่วย ได้ประมาณช่วงเดือนส.ค. ประมาณ 5,000 เตียง สำรองสำหรับผู้ป่วยสีแดงวิกฤติ 1,360 เตียง ที่เหลือเป็นสีเหลือง สีเขียว รวมถึงมีการหารือถึงการให้ผู้ป่วยแยกกักที่บ้าน ซึ่งมีการหารือมาหลายครั้ง เหตุที่ยังไม่ประกาศใช้เพราะการให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านมีความเสี่ยงอยู่ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สิ่งสำคัญต้องมีมาตรการให้ผู้ป่วยประเมินตัวเองได้อย่างแม่นยำ บุคคลากรต้องมีช่องทางในการสอบถามอาการ ประกอบกับต้องมีมาตรการแยกกัก เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อ บุคคลากรทางการแพทย์จึงไม่อนุญาตให้ผู้ป่วยทุกรายเลือกการแยกกัก เพราะต้องอยู่ในดุลพินิจด้วย

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ยังมีประชาชนร้องเรียนจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถหาที่ตรวจเชื้อ โควิด-19 ได้ เพราะไปโรงพยาบาลแล้วไม่รับตรวจ ศบค. จะปรับแผนอย่างไรเพื่อให้ประชาชนได้รับการตรวจหาเชื้อ พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เห็นจากข่าวว่าหลายคนไปถึงโรงพยาบาลแล้วได้รับการปฏิเสธ ซึ่งในความจริงรัฐบาลไม่ได้ห้ามการตรวจหาเชื้อ ที่ประชุมพูดย้ำเสมอ และมีการทบทวนว่าแต่ละแล็ปนั้นจะต้องเป็นห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ทุกโรงพยาบาลตอนนี้มีการรับตรวจ แต่จะเน้นไปยังสองกลุ่มหลัก คือ ทุกโรงพยาบาลตรวจเป็นมาตรฐานในกลุ่มที่เตรียมการผ่าตัด การคลอดลูก ทำฟัน หรือจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เข้าห้องไอซียู แต่ละโรงพยาบาลมีมาตรฐานที่จะต้องตรวจกลุ่มนี้อยู่แล้ว กลุ่มที่สองคือให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ถือได้ว่ามีประวัติเสี่ยงสูง เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งการตรวจของโรงพยาบาลในสองกลุ่มนี้ ตัวเลขอยู่ที่ 300-400 รายต่อวัน ถือว่าเป็นภาระหน้างานเหมือนกัน ดังนั้น ถ้าคนที่วอล์คอินเข้าไปขอตรวจโดยไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องผ่าตัดหรือไม่ได้มีประวัติเสี่ยงสูงใดๆ บางครั้งโรงพยาบาลก็อาจจะบอกว่าขอให้สิทธิ์คิวกับผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องตรวจก่อน

 

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ที่ประชุมศบค.เล็กได้หารือกันว่าการที่กรุงเทพมหานครลงตรวจจะมีสองส่วนด้วยกัน คือถ้าผู้ป่วยวอล์คอินเดินเข้ามาด้วยประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง กับผู้ติดเชื้อที่ยืนยันก่อนหน้านี้ พบว่าในจำนวนตรวจ 100 คน มี 90 คนเป็นผลบวก ถือว่าแม่นยำ 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งทางกรุงเทพมหานครรายงานว่ามีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนที่ตลาด โรงงาน เมื่อไปตั้งจุดตรวจตาม6กลุ่มเขต พบว่าอัตราการตรวจจับการระบาดในระบบเฝ้าระวัง พบผู้ติดเชื้อเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นกรุงเทพมหานครจึงจะมีการปรับระบบการตรวจ คือเน้นย้ำไปในการค้นหาสองส่วนคือ ส่วนการระบาด และตรวจตามไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ เพื่อติดตามไปว่าอยู่ครอบครัวกับใครบ้าง ทำงานสัมผัสเสียงใกล้ชิดกับใครบ้าง แต่ประชาชนที่ไม่เข้าข่าย คือไม่ได้เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน แต่ต้องการตรวจเอง ในที่ประชุมได้มีการหารือเรื่องนี้เหมือนกันว่าในระยะอันใกล้นี้จะเปิดศูนย์วอล์คอินแล็ป ที่อาคารนิมิบุตร เพื่อให้ไปตรวจได้ หากตรวจพบมีผลติดเชื้อก็จะมีการจัดการพิจารณาเป็นผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง ก็จัดสรรไปยังศูนย์พักคอย 17 จุดของ กทม. และยังจะมีเพิ่มขึ้นอีก ส่วนสีแดงก็หาเตียงรักษาในโรงพยาบาลต่อไป จึงขอให้ติดตามข้อมูลในระยะนี้ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการตรวจหาเชื้อ และการจัดการเตียง หรือการแยกกักที่บ้านมาให้ติดตาม

 

ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวด้วยว่า ขอเน้นย้ำไปยังจังหวัดปลายทาง เพราะขณะนี้มีรายงานทุกวันว่าต่างจังหวัดมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น และในวันเดียวกันนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครมีผู้ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์เดลต้า จึงมีความเป็นไปได้ว่าแต่ละพื้นที่เหล่านั้นมีเดลต้าเข้าไปแล้ว ดังนั้น จึงขอความร่วมมือไปยังทีมสาธารณสุข มหาดไทย ในพื้นที่จังหวัดให้มีการเตรียมทีม และเตรียมพื้นที่รองรับ เตรียมเตียงรับ ดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ให้เหมาะสม รวมทั้งทีมสอบสวนโรค ถ้าเจอหนึ่งคนจะต้องรีบตามไปว่าใครเป็นผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง และให้ประชาสัมพันธ์ต่อชุมชนนั้นเฝ้าระวังว่าขณะนี้มีบุคคลพื้นที่เสี่ยงเดินทางเข้ามาในพื้นที่
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"