ผวาติดเชื้อหลักหมื่น ป่วยใหม่นิวไฮ6,519ราย/สธ.โยนบิ๊กตู่เคาะล็อกดาวน์


เพิ่มเพื่อน    

ติดเชื้อใหม่พุ่ง 6,519 ราย ตาย 54 พบสายพันธุ์เดลตาติดเชื้อเพิ่ม 2 เท่า หวั่นสัปดาห์หน้าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันแตะหลักหมื่น คาดแพร่ไปใน ตจว.ส่วนหนึ่งแล้ว เหตุ ปชช.พื้นที่สีแดงเดินทางข้าม จว. สั่งทีม จว.เตรียมรับมือ “ศบค.ชุดเล็ก-กทม.” จ่อเปิดศูนย์วอล์กอินแล็บตรวจหาเชื้อโควิด เลขาฯ สมช.ขอประเมินตัวเลข 15 วันถึงขั้นล็อกดาวน์หรือไม่ ​หวั่น​ส่งผลกระทบ ปชช.ใช้งบเยียวยาสูง สธ.เสนอทุกความจำเป็นขึ้นอยู่กับนายกฯ รับผู้ป่วยใน กทม.น่าห่วง ติดในครอบครัวที่ทำงานมากขึ้นเหตุไว้ใจไม่สวมหน้ากาก พบหมอเหนื่อยล้า เตรียมผุดโครงการให้กำลังใจ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 7 กรกฎาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,519 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 6,448 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 4,958 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,490 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 55 ราย และเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 16 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 301,172 ราย ผู้หายป่วยเพิ่ม 4,148 ราย ยอดรวมหายป่วยแล้ว 231,171 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 67,614 ราย อาการหนัก 2,496 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 676 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 54 ราย เป็นชาย 32 ราย หญิง 22 ราย อยู่ใน กทม. 30 ราย, ปัตตานี 4 ราย,  สมุทรปราการ ปทุมธานี จังหวัดละ 3 ราย, นครราชสีมา ยะลา สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย, เชียงราย เพชรบุรี ชลบุรี นครปฐม ชัยภูมิ นราธิวาส นครศรีธรรมราช และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตสะสม 2,387 ราย 
    สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 1,549 ราย,  สมุทรปราการ 548 ราย, สมุทรสาคร 434 ราย, นครปฐม 266 ราย, ชลบุรี 262 ราย, ฉะเชิงเทรา 252 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 241 ราย, นนทบุรี 235 ราย, ปทุมธานี 21 ราย และปัตตานี 190 ราย ส่วนการระบาดในหลายพื้นที่จ.นนทบุรี โรงงานน้ำจิ้ม อ.บางบัวทอง 61 ราย, จ.ปทุมธานี โรงพยาบาลเอกชน อ.คลองหลวง 10 ราย, จ.ตาก โรงงานพืชไร่ อ.แม่สอด 33 ราย ขณะที่ใน กทม.มีคลัสเตอร์ที่ต้องเฝ้าระวัง 118 แห่ง พบ 2 คลัสเตอร์ใหม่คือ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ เขตมีนบุรี และโรงงานผลิตจิวเวลรีเขตบางนา
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า หากดูตัวเลขผู้ป่วยที่มีอาการหนักและใส่เครื่องช่วยหายใจ จะเพิ่มจากก่อนหน้านี้พอสมควร อาการหนักจาก 1,000 ต้นๆ ตอนนี้เป็น กว่า 2,000 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจจาก 300-400 ราย เป็นกว่า 600 ราย ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการรายงานลักษณะผู้ป่วยแยกเป็นอาการเขียว เหลือง แดง ช่วงต้นเดือน เม.ย.ผู้ป่วย 80 เปอร์เซ็นต์เป็นอาการระดับสีเขียว ระดับสีเหลือง 15 เปอร์เซ็นต์ และระดับสีแดง 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปัจุบันสีเขียวเหลือ 70 เปอร์เซ็นต์, เหลือง 20 เปอร์เซ็นต์, แดง 10 เปอร์เซ็นต์ และขอเน้นย้ำผู้ป่วยระดับสีแดง 10 รายใช้เครื่องช่วยหายใจ 4-5 ราย และจำนวนผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย จะเสียชีวิต 1-2 ราย เป็นตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวัง ทำให้จะมีการปรับแผนฉีดวัคซีนระดมไปที่ผู้สูงอายุและผู้มี 7 โรคเรื้อรัง 
    "ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังเป็นประชากรส่วนใหญ่ สัปดาห์นี้จะเน้นย้ำการฉีดวัคซีนในทุกจุด ให้เน้นไปที่กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง เนื่องจากถ้าดูอัตราเสียชีวิต จะพบว่าค่ากลางของผู้เสียชีวิตอายุสูงกว่าคนที่อายุน้อย และข้อมูลจากกรมควบคุมโรคพบว่าผู้สูงอายุที่ติดเชื้อ 10 รายจะเสียชีวิต 1 ราย ถือว่าสูงอยู่ นโยบายจึงเร่งฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและคนที่มี 7 โรคเรื้อรังให้เร็วที่สุด"
    พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า และถ้าไปดูภาพรวมของประเทศ จะเห็นว่าการติดเชื้อของ กทม.และปริมณฑล มีจำนวนเท่ากับจังหวัดต่างๆ จากเดิมที่ กทม.และปริมณฑลมีจำนวนมากกว่า สะท้อนให้เห็นภาพว่ามีการเดินทางข้ามพื้นที่ จากพื้นที่สีแดงกลับไปต่างจังหวัด ทำให้มีการกระจายการติดเชื้อไป 40 จังหวัด ที่สำคัญผู้ติดเชื้อของ กทม.และปริมณฑลจะเป็นการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ทำให้พอจะคาดเดาได้ว่าสายพันธุ์ที่แพร่ไปในต่างจังหวัดเป็นสายพันธุ์นี้ส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน  
สัปดาห์หน้าอาจแตะหลักหมื่น
    "ทางแพทยสมาคมมีความเป็นห่วง และประเมินคร่าวๆ ว่าเราพบสายพันธุ์เดลตาประมาณเดือนมิถุนายน มีผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐอเมริการายงานว่า สายพันธุ์นี้มีความสามารถแพร่กระจายได้เร็ว มีการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ 2 เท่าภายใน 2 สัปดาห์นั้นคร่าวๆ เราเห็นตัวเลข 1,000 เป็น 2,000 และ 2,000 เป็น 4,000 ตอนนี้ ถ้าสมมติว่าเราคาดการณ์ไปในสัปดาห์หน้า อาจจะยังขึ้นได้ถึง 10,000 จึงต้องขอให้ทุกคนเน้นย้ำมาตรการส่วนตัว ลดการเคลื่อนย้าย และเฝ้าระวังผู้สูงอายุ รวมถึงเน้นย้ำการฉีดวัคซีนด้วย" พญ.อภิสมัยระบุ
    ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวต่อว่า วันนี้ กทม.รายงานว่าผู้ป่วยสีแดงอยู่ที่ 40-50 รายต่อวัน, ผู้ป่วยสีเหลือง 200-300 รายต่อวัน, ผู้ป่วยสีเขียวอยู่ที่ 300-400 รายต่อวัน ตัวเลขสะสม 2 สัปดาห์จะเห็นได้ชัดว่าแต่ละวันมีผู้ติดเชื้อใหม่เข้ามา ตัวเลขสะสมจึงสูงขึ้น ขณะที่การส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาศูนย์เอราวัณสามารถดำเนินการส่งผู้ป่วยได้ 500 เที่ยวต่อวัน ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กจึงพูดถึงมาตรการจัดการสองส่วนคือ การเพิ่มศักยภาพการขนผู้ป่วยไปยังศูนย์บริการที่ได้รับการดูแล โดยผู้ป่วยสีแดงต้องเข้าสู่ระบบทันที เหลืองต้องมีระยะเวลาคอยน้อยที่สุด อาจจะเป็น 1 วัน เพื่อนำทุกคนเข้าสู่ระบบ ส่วนผู้ป่วยสีเขียวหรือสีขาวที่แข็งแรงดี จะถูกจัดสรรไปอยู่ที่ศูนย์พักคอย ที่วันนี้มีการเปิดให้บริการ 5 ศูนย์ ที่เหลือจะทยอยเปิดวันที่ 9 ก.ค. 
    พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมศบค.เล็กได้หารือกันว่าในระยะอันใกล้นี้จะเปิดศูนย์วอล์กอินแล็บที่อาคารนิมิบุตร เพื่อให้ไปตรวจเชื้อได้ หากตรวจพบมีผลติดเชื้อ ก็จะมีการจัดการพิจารณาเป็นผู้ป่วยสีเขียว สีเหลือง ก็จัดสรรไปยังศูนย์พักคอย 17 จุดของ กทม. และยังจะมีเพิ่มขึ้นอีก ส่วนสีแดงก็หาเตียงรักษาในโรงพยาบาลต่อไป ขอเน้นย้ำไปยังจังหวัดปลายทาง เพราะขณะนี้มีรายงานทุกวันว่าต่างจังหวัดมีการเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น และในวันเดียวกันนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า กทม.มีผู้ติดเชื้อเป็นสายพันธุ์เดลตา จึงมีความเป็นไปได้ว่าแต่ละพื้นที่เหล่านั้นมีเดลตาเข้าไปแล้ว จึงขอความร่วมมือไปยังทีมสาธารณสุข มหาดไทย ในพื้นที่จังหวัดให้มีการเตรียมทีม และพื้นที่รองรับ เตรียมเตียงรับดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ให้เหมาะสม รวมทั้งทีมสอบสวนโรค ถ้าเจอหนึ่งคนจะต้องรีบตามไปว่าใครเป็นผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง ให้ประชาสัมพันธ์ต่อชุมชนนั้นเฝ้าระวังว่าขณะนี้มีบุคคลพื้นที่เสี่ยงเดินทางเข้ามาในพื้นที่
    พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. กล่าวถึงข้อเสนอให้ ศบค.ล็อกดาวน์ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้นต่อเนื่องว่า ได้ยินอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ตอนนี้รอข้อเสนออย่างเป็นทางการและรับฟังความเห็นจากทางกระทรวงสาธารณสุขก่อนเป็นลำดับแรก โดย ศบค.พร้อมรับไว้พิจารณาอยู่แล้ว จากนั้นจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ แต่ตัวเลขจะถึงขั้นไหนค่อยมาว่ากันอีกที อยากให้สื่อทำความเข้าใจกับคำว่าล็อกดาวน์ ถ้าเป็นเหมือนตอนเดือนเม.ย.63 คือการล็อกดาวน์จริง เพราะรวมถึงการเคอร์ฟิวด้วย แต่หลังจากนั้นไม่ใช่ล็อกดาวน์ แต่เป็นการปิดกิจการและจำกัดการเคลื่อนย้าย ฉะนั้นถ้าใช้คำว่าล็อกดาวน์ ในขณะนี้ที่เป็นการปิดบางกิจการ 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า จะพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 12 ก.ค.นี้หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้นก็อาจจะเร็วกว่านั้น แต่ถ้ายังเป็นลักษณะขึ้นลงแบบนี้ อาจรอดูสถานการณ์ให้ครบ 15 วัน เพื่อประเมินทีเดียวแล้วดูให้ครบถ้วน โดยเราทำอย่างอื่นไปด้วย เช่น ควบคุมการเคลื่อนย้าย การแก้ปัญหารักษาพยาบาลเรื่องเตียงไม่พอ ทั้งนี้ ถ้าจะทำจะเน้นเข้มข้นในพื้นที่แพร่ระบาดทั้งในกทม.และปริมณฑล หรือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นจะมีมาตรการเสริม 
    เมื่อถามว่า การล็อกดาวน์ช่วงเดือนเม.ย.63 ได้ผลจึงมีข้อเสนอให้ล็อกดาวน์ขึ้นมาอีกครั้ง พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ประกอบการหาเช้ากินค่ำ หรือผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำเดือดร้อนมาก ถ้าทำอย่างนั้นคนจะเดือดร้อนจำนวนมาก กระทรวงการคลัง ได้แจ้งข้อมูลในช่วง เม.ย.63 ว่าใช้งบประมาณเยียวยาเดือนละเกือบ 3 แสนล้าน ถ้าเราทำอีกจะต้องหางบประมาณมาเยียวยาประชาชนอีกมาก ซึ่งในข้อเท็จจริงแม้จะใช้งบถึงเดือนละ 3 แสนล้านบาท ก็ยังไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้ทั่วถึง ทาง ศบค.คำนึงผลกระทบตรงนี้ที่มีต่อประชาชน จึงให้บางส่วนยังหากินได้ ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดคือสิ่งที่ดีที่สุด
ชงนายกฯ เคาะล็อกดาวน์ 
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข ประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สธ., นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ., อธิบดีทุกกรม และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมประชุม จากนั้นนายสาธิตแถลงว่า ที่ประชุมหารือกันเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังรอการรักษาในทุกระบบในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ซึ่งจะดำเนินการเรื่องหน่วยเฉพาะกิจฉุกเฉิน ผ่านสายด่วน 1668, 1669 ร่วมมือกับอาสาสมัคร เพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และผู้ป่วยตกค้าง (back log) ไปยังศูนย์แรกรับและส่งต่ออาคารนิมิบุตร ขณะนี้รองรับได้ประมาณ 200 เตียง พร้อมทั้งโรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม ก็เปิดกว้างพร้อมรับผู้ป่วยจากศูนย์นิมิบุตรเข้าไปดูแลด้วย นอกจากนั้น สธ.ก็หาพื้นที่อื่นรองรับเพิ่มเติมให้เหมือนกับ รพ.บุษราคัม เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วยในสถานการณ์ที่มีแนวโน้มคงที่และเพิ่มขึ้น
    “เราพยายามไม่ให้ผู้ป่วยตกค้างเยอะ โดยเราพยายามเคลียร์ออกไปยัง รพ.บุษราคัม เพื่อให้รองรับได้มากที่สุด พยายามจะไม่ให้แอดมิตค้างที่นิมิบุตรมาก จะต้องกระจายไป รวมถึงจะต้องดำเนินการแยกกักที่บ้านด้วย” นายสาธิตกล่าว และว่า กรมสุขภาพจิตก็มีกระบวนการดูแล คัดกรองบุคลากรที่ขาดขวัญกำลังใจ โดยจะเดินหน้าสร้างกำลังใจให้คนทำงาน กรมสนับสนุนบริการและสุขภาพ (สบส.) ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมของ รพ. ทั้งด้านสถานที่และอุปกรณ์ให้มีความพร้อมในการขยายเตียง โดยต้องแล้วเสร็จใน 1 เดือน
     ผู้สื่อข่าวถามถึงผู้ป่วยที่ตกค้างที่บ้าน และไม่ประสงค์ที่จะแยกกักที่บ้าน ต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างไร นายสาธิต กล่าวว่า ในระยะเวลาที่รอเตียง แต่ย้ำว่าสายด่วน 1668 และ 1669 ทำหน้าที่อยู่ ซึ่งหากผู้ป่วยตรวจหาเชื้อจากที่ไหน ขอให้ติดต่อไปที่ รพ.นั้นก่อน หาก รพ.รับไม่ได้แล้ว ก็ต้องดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเขียวไปใน รพ.ต่างๆ ทั้งในสังกัดกรมการแพทย์ หรือ รพ.โรงแรม หรือฮอสพิเทล (Hospitel)
       เมื่อถามถึงมาตรการล็อกดาวน์ตามที่เลขาฯ สมช.เปิดเผยว่าขอฟังความเห็นจาก สธ. นายสาธิตกล่าวว่า ต้องยอมรับว่าล็อกดาวน์เป็นอำนาจสูงสุดที่ต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉะนั้น จึงเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี สธ.เรารายงานสถานการณ์และความจำเป็นในทุกครั้งที่ประชุม ศบค. ฉะนั้นจะล็อกดาวน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารสูงสุดในการใช้อำนาจ เพราะต้องหารือผลกระทบในหลายมิติ
    นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การจัดหาโรงพยาบาลสนามเพิ่ม เล็งไว้ 3 จุด เป็นพื้นที่ของโรงพยาบาลเอกชนที่ฝั่งตะวันออกย่านบางนา เป็นโรงพยาบาลสนามสีเขียวและสีเหลือง มีขนาด 1,000 เตียง และ 500 เตียง ส่วนของโรงพยาบาลสนาม ที่เป็นของหน่วยงานราชการ 5,000 เตียง
    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิดขณะนี้พบผู้ป่วยตกค้างที่บ้านจำนวนมากในชุมชน ทั้งนี้ เตรียมปรับการตรวจหาเชื้อใหม่ มีแนวคิดใช้ rapid test แต่อยู่ระหว่างการหารือ ยืนยันไม่ได้ปกปิดข้อมูลจำนวนคนป่วยตาย หลังมีข่าวแพทย์นิติเวชโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ระบุว่า ผลการชันสูตรศพ ผลคนเสียชีวิตจากการโควิดมากขึ้น บางส่วนเสียชีวิตในบ้าน โดยเตรียมนำข้อมูลผลการชันสูตรศพมาใช้ประกอบกัน และนำเข้าสู่ระบบต่อไป
กทม.ติดเชื้อในครอบครัวพุ่ง
    "สถานการณ์การระบาดของโควิดใน กทม.หนัก โดยพบการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับที่ทำงาน เหตุเพราะความใกล้ชิด ไว้ใจ ทำให้ไม่ได้มีการระมัดระวังตัวหรือป้องกันตนเอง ทั้งไม่สวมหน้ากากอนามัย รับประทานอาหารร่วมกัน มาตรการส่วนบุคคลจึงสำคัญที่สุด การไม่สวมหน้ากากอนามัย โดยมีการพบปะพูดคุยเกิน 5 นาทีมีโอกาสติดเชื้อได้ และในที่ทำงานควรงดรับประทานอาหารร่วมกัน ควรนั่งรับประทานลำพัง การเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคลนี้ หากทำได้อย่างเข้มงวดใน 2-3 สัปดาห์มีผลช่วยลดโรค เพราะระยะเวลาการฟักตัวของโรคยังเป็น 14 วัน" นายโอภาสกล่าว
    นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถานว่า พบผู้ต้องขังติดเชื้อรายใหม่ 55 ราย รักษาหายเพิ่ม 78 ราย รวมมีผู้ต้องขังติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ 1,615 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตในวันนี้
    ที่รัฐสภา ตัวแทน ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย นำโดยนายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ได้รับมอบฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล จากนายธนัท เชี่ยวชาญอักษร ประธานกรรมการผู้บริหารบริษัท ธนัทเฮิร์บ พาณิชย์ จำกัด โดย จำนวน 50,000 กระปุก เพื่อนำไปมอบให้กับ ส.ส.ของทุกพรรค ได้ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนใน
    สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในต่างจังหวัด ยังมีผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง ที่ จ.สมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 548 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่จำนวน 481 ราย เสียชีวิต 3   ราย  
    ส่วนที่ จ.สงขลา จากการลงตรวจคัดกรองเชิงรุกในครอบครัวและชุมชน พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 164 ราย จากผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ เช่น สัมผัสผู้ติดเชื้อในโรงงาน โรงเรียนสอนศาสนา สัมผัสผู้ป่วยยืนยันในตลาดหาดใหญ่ อ.เมือง และชุมชนป้อม 6 กลุ่ม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากโรงงาน กลุ่มผู้ติดเชื้อในร้านค้า และกลุ่มติดเชื้อในหน่วยงาน รวมยอดสะสม 6,997 ราย เสียชีวิตสะสม 26 คน 
    นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ประธานกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา ยอมรับว่าพบผู้ติดเชื้อทุกวัน คณะกรรมการฯประกาศขยายเวลาบังคับใช้มาตรการป้องกันโควิดตามประกาศคณะกรรมการฯ ที่ 55/64 ลงวันที่ 6 ก.ค. ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ห้ามจัดงานสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริงทุกประเภท ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคนเกิน 20 คนโดยไม่ได้รับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.-5 ส.ค.64 
    จ.กระบี่ พบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีกในวันเดียว 91 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยคลัสเตอร์มาจากนักเรียน ครู บุคลากร ของโรงเรียนเอกภาพศาสนวิชญ์ หรือโรงเรียนปอเนาะทรายขาว ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามขนาดใหญ่ หมู่ที่ 2 บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอคลองท่อม  จำนวน 86 คน นอกนั้นเป็นผู้ป่วยติดเชื้อมาจากกรุงเทพมหานคร  
    ที่ จ.ลำปาง เร่งดำเนินการตรวจสอบและแยกผู้ป่วยโควิดกรณีพบเด็กนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์จิตต์อารีย์ 5 ราย และเสี่ยงอีก 56 ราย จึงปรับโรงเรียนเป็นโรงพยาบาลสนาม หากมีอาการไข้ ไอหายใจเหนื่อยหอบ จะส่งต่อไปรับการรักษาในโรงพยาบาล
    จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่ 52 ราย ผู้ป่วยโควิดเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมสะสม 20  ราย ขณะที่นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา สั่งคุมเข้มแคมป์คนงานหลังเกิดคลัสเตอร์จากแคมป์ก่อสร้างหลายแห่ง และต้องตรวจหาเชื้อคนงานก่อนเข้าพื้นที่ทุกคน และต้องขออนุญาตตั้งแคมป์ก่อน 3 วัน ห่วงคลัสเตอร์ 5 คสัสเตอร์ที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้
    จ.อำนาจเจริญ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้ง 15 ราย รวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสม ระลอก 3 จำนวน 136 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 3 ราย 
         จ.พิจิตร พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 15 ราย สถานการณ์ย้อนหลัง 7 วัน ตั้งแต่ 1-7  ก.ค.64 พบผู้ติดเชื้อโควิดรวม 88 ราย เข้ารับการรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลพิจิตรและโรงพยาบาลอำเภอต่างๆ ทั้ง 12 อำเภอ รวม 111 ราย แต่ก็มีจำนวน 46 ราย ที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"