เบรกเข็ม3‘ส.ส.-ส.ว.’ ชวนหนุนฉีดสัปเหร่อ


เพิ่มเพื่อน    

"ศบค.-สธ." ประสานเสียง วัคซีนซิโนแวคยังมีประสิทธิภาพ ​"เลขาฯสมช." บอกมีชนิดนี้ก็ต้องฉีดไปก่อน หากไฟเซอร์มาพิจารณาใหม่ แย้มกำลังให้ สธ.ศึกษาฉีดข้ามยี่ห้อได้หรือไม่ "ชวน" หนุนฉีดเข็ม 3 ให้แพทย์-พยาบาลก่อน พร้อมส่งหนังสือขอ มท.จัดวัคซีนให้มูลนิธิ-สัปเหร่อด่านหน้าโควิดด้วย "กลุ่มหมอไม่ทน" จี้นำเข้าวัคซีน mRNA ส่วน "กลุ่มเด็กปากแจ๋ว" บุก สธ.ขอวัคซีนเด็ก 
    เมื่อวันที่ 7 ก.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. แถลงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดว่า การฉีดวัคซีนวันที่ 6 ก.ค. ฉีดไปได้ 269,653 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 223,268 ราย เข็มที่สอง 46,385 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 11,328,043 โดส ซึ่งเป้าหมายเราอยากฉีดให้ได้วันละ 300,000-500,000 โดส ตอนนี้ถือว่ายังน้อยกว่าแผน 
    พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ชี้แจงกรณีรัฐบาลยังสั่งวัคซีนซิโนแวคทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นว่า วัคซีนซิโนแวคเป็นไปตามที่สังคมรับรู้ และในแง่ประสิทธิภาพของวัคซีนก็ยังมีอยู่ ซึ่งในช่วงเวลาที่วัคซีนชนิดอื่นยังไม่สามารถจัดหาได้ ถ้ารอวัคซีนเหล่านี้ก็ไม่มีวัคซีนฉีดให้ประชาชนได้ เพราะเวลานี้มีแค่แอสตร้าเซนเนก้า ดังนั้นมีแค่วัคซีนชนิดนี้ก็ต้องฉีดไปก่อน เมื่อมีวัคซีนที่ดีกว่าเข้ามาจึงจะมาพิจารณาอีกครั้ง 
    "กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังพิจารณาว่าจะฉีดอย่างไร และสามารถฉีดข้ามชนิดและคนละยี่ห้อกันได้หรือไม่ โดย สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ และชี้แจงว่าวัคซีนที่เรามียังมีประสิทธิภาพอยู่ แต่อาจจะไม่เท่ากับสิ่งที่ประชาชนต้องการ" พล.อ.ณัฐพลกล่าว
    ถามว่า การจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20ล้านโดส จะฉีดให้บุคลากรด่านหน้าหรือประชาชนก่อน ผอ.ศปก.ศบค.กล่าวว่า ต้องแบ่งสัดส่วนกัน เพราะแพทย์บางส่วนบอกว่ายังพอคอยได้ บางส่วนหน้างานกังวลอยากขอฉีดก่อน รัฐบาลต้องคำนึงเรื่องนี้ โดยเฉพาะขวัญและกำลังใจบุคลากรที่อยู่หน้างานด้วย โดยจะรอผลการพิจารณาจากกรมควบคุมโรคว่าจะแบ่งอย่างไร เพราะเราห่วงทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวและประชาชนทั่วไป ส่วนวัคซีนที่รับบริจาคมาก็ต้องไปฉีดให้ชาวต่างชาติด้วย ถ้าฉีดให้คนไทยทั้งหมดโดยไม่แบ่งก็อาจจะกระทบความรู้สึกของคนต่างชาติ แต่ขึ้นอยู่กับ สธ.พิจารณาจำนวนที่เหมาะสม
    ซักว่า กลุ่มหมอไม่ทนยื่นหนังสือถึงนายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค. ให้พิจารณาจัดหาวัคซีนเชื้อเป็น mRNA เป็นวัคซีนหลักให้ประชาชน รัฐบาลจะตอบสนองอย่างไร ผอ.ศปก.ศบค.กล่าวว่า ต้องรับฟังและให้ความสำคัญ เพราะทุกคนหน้างานมีความเหนื่อยล้า มีความเสี่ยง จึงต้องมองเรื่องขวัญกำลังใจด้วย จะมองแค่หลักวิชาการทางการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ และปัจจุบันเราต้องใช้บุคลากรการแพทย์จำนวนมาก ถ้าขวัญกำลังใจไม่ดีจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานได้ โดยทั้งหมดต้องเป็นไปตามข้อเสนอของ สธ. โดยจะมีวัคซีนส่วนหนึ่ง ถ้าไม่มีอุปสรรคอะไรวัคซีนไฟเซอร์ที่จะเข้ามาในเดือน ก.ค.หรือ ส.ค.นี้ จะพิจารณาจัดสรรให้บุคลากรทางการแพทย์ตามความจำเป็น มีความเหมาะสม และความสมัครใจด้วย
ยันซิโนแวคมีประสิทธิภาพ
    ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการจัดทำความตกลงกับสหรัฐอเมริกา เพื่อรับมอบความช่วยเหลือวัคซีนป้องกันโควิดจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐบริจาคให้กับประเทศต่างๆ รวมถึงที่ประเทศไทยจะได้รับยี่ห้อไฟเซอร์ ซึ่งการมอบวัคซีนของสหรัฐสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐ ที่มีมาอย่างใกล้ชิดยาวนาน 
    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนชนิด mRNA มี 2 ตัวคือ โมเดอร์นาและไฟเซอร์ ซึ่งทั้ง 2 ยี่ห้อประสิทธิภาพและผลข้างเคียงนั้นมีความใกล้เคียงกัน โดยล่าสุด ครม.ได้อนุมัติให้กรมควบคุมโรคลงนามในสัญญาซื้อไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดส และมีมติให้รับคำแนะนำของอัยการสูงสุดไปเจรจากับบริษัทไฟเซอร์ว่าสัญญาส่วนไหนที่จะสามารถปรับปรุงได้บ้าง ซึ่งกรมควบคุมโรคมีการนัดหมายกับไฟเซอร์วันที่ 8 ก.ค.นี้ และจะลงนามสัญญาภายในสัปดาห์นี้
    "ส่วนที่สหรัฐจะบริจาคไฟเซอร์ให้ประเทศไทย 1.5 ล้านโดสนั้น มีการลงนามแล้วจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป โดยวัคซีนจะเข้าสู่ประเทศไทยเร็วๆ นี้" นพ.โอภาสกล่าว
    ถามถึงประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคป้องกันโรคต่ำที่สุด แต่ทำไมรัฐบาลจึงยังมีมติสั่งซื้อเข้ามาเพิ่ม อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า การใช้วัคซีนต้องมอง 2 ส่วน คือเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย ขณะนี้ประเทศไทยมีแผนการสั่งซื้อวัคซีนทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้าและไฟเซอร์ วันนี้มีการทบทวนข้อมูลก็ต้องชี้แจงว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะมีการตรวจ คือ 1.เจาะเลือดตรวจดูว่าภูมิคุ้มกันขึ้นเป็นตัวเลขเท่าไหร่ 2.การทดสอบในมนุษย์จำนวนมาก แต่ในความเป็นจริง เวลาฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศนั้น จะมีการทดสอบวัคประสิทธิภาพจากการใช้จริงว่าป้องกันโรคได้อย่างไร
    "ทั้ง 3 ตัวที่ประเทศไทยใช้และมีแผนนำมาใช้นั้น ไม่มีตัวใดป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้อยู่ บางตัวกันได้ 80%,  90% หรือ 60% ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ยืนยันว่าทุกตัวที่เราเอามาใช้นั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ถ้าเทียบกับการไม่ฉีดวัคซีนเลยนั้น สามารถลดการติดเชื้อได้ ซึ่งวัคซีนทั้ง 3 ชนิด องค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)รับรองแล้วว่าสามารถลดการป่วยหนัก ลดการนอนโรงพยาบาล ลดการใช้ไอซียูและสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 90%" อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว
    ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงวิป 3 ฝ่ายหารือกรณีอยากให้รัฐบาลจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 ให้สภาว่า ไม่ทราบ เพราะไม่ได้เข้าประชุมด้วย คงเป็นเพียงข้อเสนอยังไม่ได้มีการตกลงอะไรกัน แต่จะให้สวอบ
เท่านั้น ยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการฉีดเข็มที่ 3 เพราะต้องฉีดให้กับบุคลากรทางแพทย์ที่ควรได้รับการดูแลก่อน ซึ่งขณะเดียวกันส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากที่เรามีประชุมได้ เพราะเรามีมาตรการที่เข้มงวด 
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวเช่นกันว่า ส่วนตัวคิดว่า ส.ส.มีเงินเดือนแสนกว่าบาท หากจะฉีดเข็มที่ 3 ให้ใช้เงินเดือนตัวเองไปจองวัคซีนทางเลือก ซึ่งส่วนตัวได้ไปจองวัคซีนทางเลือกเข็มที่ 3 เรียบร้อยแล้ว เพราะถือว่าต้องเสียสละให้ประชาชน เพราะประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย ซึ่งตนคิดว่าต้องไปดูแลประชาชนให้ฉีดวัคซีนครบทั้งประเทศก่อน อย่างไรก็ดี เห็นด้วยที่จะฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้แพทย์ เพราะถือเป็นด่านแรก และเป็นบุคคลที่เสียสละมาตลอด 
    นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่าน นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ลงนามในหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ขอความอนุเคราะห์จัดสรรวัคซีนเจ้าหน้าที่มูลนิธิ สัปเหร่อ และผู้ทำหน้าที่ในการจัดการศพของผู้ติดเชื้อโควิดและครอบครัวด้วย 
ม็อบจี้นำเข้าวัคซีน mRNA
    วันเดียวกัน กลุ่มหมอไม่ทนและภาคีบุคลากรสาธารณสุข นำโดย นพ.สันติ กิจวัฒนาไพบูลย์ ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เรียกร้องให้เร่งรัดการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA เพื่อเป็นวัคซีนหลักเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย 
    นพ.สันติกล่าวว่า กลุ่มหมอไม่ทนและภาคีบุคลากรสาธารณสุข มีข้อเรียกร้อง 2 ข้อ 1.เร่งรัดการนำเข้าวัคซีน mRNA เช่น วัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นา โดยลดขั้นตอนการดำเนินการให้กระชับ และรวดเร็วที่สุด รวมทั้งพิจารณาเลือกใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนหลักในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมาบริการฉีดให้แก่ประชาชนทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื่องจากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันว่าวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ครอบคลุมหลากหลายสายพันธุ์ อีกทั้งยังสามารถลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตได้อย่างมีนัยสำคัญ 2.เผยแพร่ข้อมูลกระบวนการในการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิด-19 ให้เป็นปัจจุบัน โปร่งใส สม่ำเสมอ และตรวจสอบได้
    จากนั้น กลุ่มหมอไม่ทนและภาคีบุคลากรสาธารณสุข ยังเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้เร่งรัดการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA มาใช้เป็นวัคซีนหลัก เพื่อป้องกันการเสียชีวิตและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิค-19 ในประเทศไทย
    ส่วนนายไชยา พรหมา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ และ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณี ครม.มีมติอนุมัติให้นำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาเป็นวาระลับที่สุด โดยให้ความเห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำความตกลงตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาว่า ในฐานะประธานคณะ กมธ.ติดตามงบฯ ขอเรียกร้องรัฐบาลเปิดเผยสัญญาการสั่งซื้อวัคซีนโมเดอร์นาต่อสาธารณะ เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งตัวเลขจำนวนยอดสั่งซื้อ ราคาต่อหน่วย ตลอดจนเงื่อนไขและข้อกำหนดในสัญญา 
    เรื่องนี้ไม่สมควรเป็นเรื่องลับที่สุด ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะต้องรู้ว่าจะมีวัคซีนเข้ามาเท่าไหร่ ราคาต้นทุนเท่าไหร่ ประชาชนจะต้องจ่ายเท่าไหร่สำหรับวัคซีนทางเลือก ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ประชาชนต้องได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลโดยรัฐอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม ไทยอาจจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐบาลจัดหา จนต้องยอมควักเงินจ่ายค่าวัคซีนเอง" ปธ.กมธ.ติดตามการบริหารงบฯ กล่าว
    ด้านพรรคไทยสร้างไทยออกแถลงการณ์เรื่อง มติ ครม.อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 47 วรรคสาม ซึ่งระบุ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เนื้อหาตอนหนึ่ง
ระบุว่า การที่ ครม.จัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส วงเงิน 6,100 ล้านบาท เมื่อวัคซีนดังกล่าวไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดได้ การจัดซื้อวัคซีนดังกล่าวจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 47 และมาตรา 55 ผู้ที่สั่งซื้อและคณะรัฐมนตรีอาจมีความผิดฐานจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย อันถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 
    "พรรคไทยสร้างไทยจึงเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและ ครม. ได้ทบทวนการสั่งซื้อวัคซีนที่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเร่งจัดหาวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวให้กับประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย" แถลงการณ์พรรคไทยสร้างไทยระบุ
    ที่กระทรวงสาธารณสุข กลุ่มไพร่พลและกลุ่มเด็กปากแจ๋ว หอบศพจำลอง พร้อมช่อดอกไม้จันทน์ ติดชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว. บุกกระทรวงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ "บุกกระทรวงทวงวัคซีน" เรียกร้องให้มีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 และวัคซีนทางเลือกให้กับเด็ก ประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์
    นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า ตอนนี้วัคซีนที่จะนำมาให้ใช้กับเด็กต้องเป็นวัคซีนที่ขึ้นทะเบียน และอย่างที่เราพูดมาตลอดคือต้องดูเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย ทั้งนี้ การติดเชื้อโควิดในเด็กแล้วโอกาสที่โรคจะรุนแรงและเสียชีวิตมีน้อย อย่างไรก็ตาม เราก็พยายามดูวัคซีนที่มีความปลอดภัยในเด็ก ซึ่งตอนนี้ในส่วนของไฟเซอร์และโมเดอร์นามีรายงานว่าทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจในเด็กค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะผู้ชายวัยรุ่น สาเหตุเกิดจากภูมิคุ้มกันที่อาจจะมากเกินไป อันนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น เพราะฉะนั้นการให้วัคซีนในเด็กต้องมีความระมัดระวังสูง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"