16 ปี “กองทุนสวัสดิการชุมชน” เครือข่ายทั่วประเทศร่วมผลักดัน ‘พ.ร.บ.’ สร้างชุมชน-กองทุนเข้มแข็ง


เพิ่มเพื่อน    

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา  จ.ระยอง  มอบสิ่งของเยี่ยมผู้สูงอายุ  และให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนถือเป็น กองบุญที่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ร่วมกันจัดตั้งขึ้นมา  เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกในยามที่จำเป็น  เช่น  เจ็บป่วย  คลอดบุตร  เสียชีวิต  ทุนการศึกษา  ส่งเสริมอาชีพ  รวมทั้งยังช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ฯลฯ  ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้วจำนวน 6,051 กองทุน  มีสมาชิกรวมกันมากกว่า  5.7 ล้านคน  มีเงินกองทุนทั้งหมดกว่า 18,406 ล้านบาท  !!

          อย่างไรก็ตาม กองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล รวมทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง บางกองทุนมีความเข้มแข็งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่หลายกองทุนยังขาดความเข้มแข็ง  การบริหารจัดการยังไม่เป็นระบบ ฯลฯ

          ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แกนนำ เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศจึงได้เริ่มขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้มี กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชนขึ้นมา  มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้กองทุนสวัสดิการชุมชนมีความเข้มแข็ง  เป็นหลักประกันสร้างความมั่นคงในชีวิตให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีระบบสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการและพนักงานบริษัทเอกชน

 

16 ปี  ‘สวัสดิการภาคประชาชน

          กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2548  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นที่มีความพร้อมจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาลขึ้นมาทั่วประเทศ  จำนวน 99 กองทุน  หลักการสำคัญ  คือ  สมาชิกกองทุนจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือเดือนละ 30-31 บาท  ปีละ 365  บาท  เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกในยามจำเป็น  เช่น  เจ็บป่วย  คลอดบุตร  เสียชีวิต  ฯลฯ

          แนวคิดสวัสดิการชุมชนดังกล่าว  มีที่มาจาก กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรชีวิตของ ครูชบ  ยอดแก้ว(ปัจจุบันเสียชีวิต) ครูประชาบาลในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  ที่เริ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในโรงเรียนวัดน้ำขาวตั้งแต่ปี 2522 เพื่อให้ครูและนักเรียนมีความประหยัด  อดออม  มีสัจจะ  โดยนำเงินออมมาช่วยเหลือกัน  หลังจากนั้นจึงขยายไปสู่หมู่บ้านต่างๆ ในตำบล 

          โดยมีแนวคิดคือ ให้ชาวบ้านลดรายจ่ายเพียงวันละ 1 บาท  แล้วนำเงิน 1 บาทมาสะสมร่วมกัน เพื่อให้คนเดือดร้อนกู้ยืม  หรือนำไปประกอบอาชีพ โดยคิดดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย  เมื่อกลุ่มมีรายได้จากดอกเบี้ยจะนำมาปันผลให้สมาชิก  และช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิกตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

 

ครูชบ  ยอดแก้ว

 

          จากแนวคิด กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรชีวิต ของครูชบ  ยอดแก้ว  จึงมีผู้นำชุมชน  พระนักพัฒนา  ฯลฯ จากทั่วประเทศได้มาศึกษาเรียนรู้และนำไปขยายผล  รวมทั้งครูชบยังได้เดินสายไปบรรยายเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ขึ้นมาทั่วประเทศ   โดยมีหลักการคือ สมาชิกจะต้องสะสมเงินเข้ากลุ่มตามที่กำหนด  เช่น  เดือนละ 1 ครั้ง  อย่างน้อย 100 บาท  เมื่อสมาชิกมีความจำเป็นก็สามารถกู้ยืมเงินไปใช้จ่ายได้ตามข้อตกลงของกลุ่ม  โดยเสียดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย (ไม่เกิน 1 บาทต่อเดือน)

          ขณะเดียวกัน  แนวคิด สะสมเงินเพียงวันละ 1 บาทเพื่อนำเงินมาช่วยเหลือกันนั้น  ได้ถูกต่อยอดจากชุมชนหลายแห่ง  จนพัฒนามาเป็น กองทุนสวัสดิการชุมชนโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.’  สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 2548  เป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล  หรือเทศบาล  (หากเป็นกรุงเทพฯ จะเป็นกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับเขต

          จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี  มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้ว (กรกฎาคม 2564) รวม 6,051 กองทุน  จำนวนสมาชิกรวมกัน  5,739,396 คน  เงินกองทุนรวมกัน  18,406  ล้านบาท (18,406,719,388 บาท)   หรือเฉลี่ยกองทุนแต่ละแห่งจะมีเงินกองทุนแห่งละ 3 ล้านบาทเศษ

 

สวัสดิการชุมชน  เพื่อคนในชุมชน

          การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนใหญ่เป็นการริเริ่มจัดตั้งโดยผู้นำในตำบล (บางแห่งริเริ่มโดยผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาลชักชวนแกนนำหมู่บ้าน  กลุ่ม  องค์กรต่างๆ มาประชุมร่วมกัน  เพื่อชี้แจงเป้าหมาย  วัตถุประสงค์การจัดตั้งกองทุน  คัดเลือกตัวแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการกองทุน  ร่วมกันกำหนดระเบียบกองทุน คุณสมบัติของสมาชิก  การสมทบเงิน  สวัสดิการที่จะช่วยเหลือสมาชิก  ฯลฯ

          กองทุนสวัสดิการชุมชนส่วนใหญ่จะให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนหรือรายปีตามความสะดวก  เช่น  เดือนละ 30 บาท  หรือปีละ 365 บาท  เมื่อเป็นสมาชิกแล้วอย่างน้อย 6 เดือนจึงจะได้รับสวัสดิการช่วยเหลือพื้นฐานตั้งแต่เกิดจนตาย 

          เช่น  คลอดบุตรช่วยเหลือ 500 บาท  นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 100 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน  ช่วยสมาชิกที่เสียชีวิต  3,000-20,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิก)  ช่วยภัยพิบัติไม่เกิน 2,000 บาท ฯลฯ  โดยสมาชิกจะต้องนำหลักฐานมาเบิกจ่ายแก่คณะกรรมการ  แม้จำนวนเงินที่ช่วยเหลือจะไม่มากนัก  แต่ก็เป็นการช่วยเหลือที่ทันท่วงที  ไม่มีระเบียบขั้นตอนมากมาย  ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางเลน จ.นครปฐม  มอบเงินช่วยเหลือผู้ป่วย

 

          นอกจากนี้บางกองทุนอาจจัดสวัสดิการให้สมาชิกได้หลากหลายตามความเหมาะสม  เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน เทศบาลตำบลอุโมงค์  อ.เมือง  จ.ลำพูน จัดตั้งขึ้นในปี 2550 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 7,000 คน  มีสวัสดิการถึง 24 ประเภท เช่น  ค่ารถไปโรงพยาบาล  สวัสดิการเมื่อบวช  เกณฑ์ทหาร  แต่งงาน  ขึ้นบ้านใหม่  จบการศึกษา  ช่วยเหลือผู้สูงอายุ  ส่งเสริมกลุ่มอาชีพ  ฯลฯ  โดยที่ผ่านมาเทศบาลตำบลอุโมงค์จัดสรรงบประมาณสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการประมาณปีละ 1 ล้านบาท

 

สวัสดิการ ควายออกลูกที่ จ.สุรินทร์

          กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง  อ.จอมพระ  จ.สุรินทร์ นอกจากจะจัดสวัสดิการพื้นฐานให้แก่สมาชิกแล้ว ยังส่งเสริมให้สมาชิกมีความมั่นคงทางอาหาร  สร้างแหล่งอาหารปลอดภัย  ทำเกษตรอินทรีย์  ส่งเสริมการเลี้ยงควายเพื่อนำมูลควายมาทำปุ๋ยอินทรีย์   โดยมี สวัสดิการควายออกลูกมอบเงินสวัสดิการเมื่อควายของสมาชิกออกลูกตัวละ 200 บาท   (สมาชิกคลอดบุตรช่วยเหลือ 500 บาทมีสมาชิกกองบุญฯ ประมาณ 2,300 คน  สมาชิกที่เลี้ยงควายจำนวน 228 ครอบครัว  มีควายรวมกันจำนวน 984 ตัว ที่ผ่านมาจ่ายสวัสดิการควายออกลูกไปแล้วจำนวน  443 ตัว รวมเป็นเงิน  886,000 บาท

 

คนออกลูกได้ 500 บาท  ควายออกลูกได้ 200 บาท

 

          วิเชียร  สัตตธารา  เลขานุการกองบุญคุณธรรมฯ  บอกว่า  ตำบลเมืองลีงเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่สำคัญของจังหวัดสุรินทร์  มีผลผลิตส่งขายประมาณปีละ 10,000 ตัน  จึงอยากส่งเสริมให้ชาวบ้านและสมาชิกกองทุนฯ เลี้ยงควายเอาไว้  เพราะถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้ใช้ควายทุยไถนา  เพราะหันไปใช้ควายเหล็กกันหมดแล้ว  

          “แต่มูลควายก็นำเอามาหมักทำปุ๋ยอินทรีย์ใส่ในนาข้าวและแปลงผักได้ผลดี ยิ่งเป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ยิ่งขายได้ราคาดี  คนกินและคนปลูกข้าวก็จะปลอดภัย  เพราะไม่ได้ใช้สารเคมี  กองบุญคุณธรรมฯ จึงส่งเสริมเรื่องการเลี้ยงควาย  เพราะถือว่าเป็นควายเป็นต้นทางของการทำเกษตรอินทรีย์”  วิเชียรย้ำ

 

ร่วมขับเคลื่อน (ร่าง) ...ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน

          แก้ว  สังข์ชู  ประธานอนุกรรมการเครือข่ายสวัสดิการชุมชนระดับชาติ  ซึ่งมีบทบาทส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  บอกว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนถ้าพูดในหลักของธรรมะ  ถือเป็น กองบุญที่สมาชิกทุกคนร่วมกันบริจาค หรือสมทบเงินเข้ามาเพื่อเป็นกองบุญคนละ 1 บาท  เพื่อเป็นเงินเอาไว้ดูแลสมาชิกในยามทุกข์ยากลำบาก หรือคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนก็ยังช่วยเหลือ  

          รวมทั้งยังช่วยเหลือสมาชิกและชุมชนในรูปแบบที่ไม่ได้เป็นตัวเงิน  เช่น  ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์  การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ดูแลป่าชุมชน  สร้างแหล่งอาหารตามธรรมชาติในป่า  ดูแลและปกป้องท้องทะเล  ทำให้มีแหล่งอาหารเอาไว้ให้ลูกหลาน  เป็นสวัสดิการชุมชนที่ยั่งยืน 

          นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปี 2563  กองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศยังนำเงินกองทุนของตนเองมาผลิตหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปประมาณ 1 ล้านชิ้นทั่วประเทศ  รวมทั้งยังนำข้าวปลา  อาหารสดแห้ง  รวมทั้งสิ่งของจำเป็นแจกจ่ายให้แก่พี่น้องในชุมชนและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดด้วย  ถือเป็นการช่วยเหลือจุนเจือกันในยามเดือดร้อน

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง  อ.เวียงสระ  จ.สุราษฎร์ธานี  ร่วมทำหน้ากากผ้าอนามัย

 

          อย่างไรก็ตาม  นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมาในปี 2548  จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี  แต่กองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ ยังไม่มีกฎหมายรองรับ  ยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล  รวมทั้งยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ  อย่างต่อเนื่อง  บางกองทุนมีความเข้มแข็งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่หลายกองทุนยังขาดความเข้มแข็ง  การบริหารจัดการยังไม่เป็นระบบ

          ดังนั้นในช่วง  2-3 ปีที่ผ่านมา  แกนนำและเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศจึงได้เริ่มขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชนขึ้นมา โดยมีนักวิชาการด้านกฎหมายจากสถาบันพระปกเกล้าช่วยร่าง...ส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชน พ....’  ขึ้นมา 

          จากนั้นจึงรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,106 ราย  เสนอร่าง พ...ดังกล่าวต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร  เมื่อ 23 กันยายน 2563 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

 

ผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนยื่นรายชื่อเสนอร่าง พ...ส่งเสริมระบบสวัสดิการฯ ต่อเลขานุการสภาผู้แทนราษฏร เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563

 

          สาระสำคัญของ ...ฉบับนี้  คือให้มี คณะกรรมการส่งเสริมระบบสวัสดิการของชุมชนแห่งชาติ’   โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน  และมี คณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบสวัสดิการของชุมชนระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน  เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชนตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับท้องถิ่น

          ส่วนความคืบหน้าของการขับเคลื่อนร่าง พ...ฉบับนี้  สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏรได้ส่งร่าง พ...ไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม  เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน  ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญ   .. 2560  มาตรา 133  กำหนดว่า  หากเป็นร่าง ...เกี่ยวด้วยการเงินจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ก็ต่อเมื่อมีคํารับรองของนายกรัฐมนตรี  โดยนายกฯ จะต้องลงนาม  หากไม่ลงนาม ร่าง พ...ฉบับนั้นก็จะตกไป  คาดว่าจะรู้ผลได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

          แก้ว สังข์ชู ในฐานะประธานผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย  บอกว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเชิงส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็นเครื่องมือที่จะสร้างให้ชุมชนพึ่งพาตนเองเป็นหลัก คิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่เข้าถึงภาคประชาชนที่มาจากฐานราก และพวกเราก็ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เป็นเครื่องมือสำคัญของชุมชนของสังคม ที่ผ่านมาก็ทำงานเรื่องนี้มาโดยตลอดถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมาย แต่ถ้าเกิดเป็นกฎหมายขึ้นมาแล้ว สาระสำคัญคือ จะเกิดความเชื่อมั่น ความศรัทธา และบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้กฎหมายฉบับนี้เกิดความยั่งยืนมั่นคงต่อการปฏิบัติ  กฎหมายฉบับนี้จะดูแลเราตั้งแต่เกิดจนตาย

          (อ่านรายละเอียดร่าง พ...ฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า  https://www.kpi.ac.th/news/news/data/867)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"