โวยร่างรธน.เอื้อพรรคใหญ่ ‘ไพบูลย์’โต้ไร้เหตุส่งศาลรธน.


เพิ่มเพื่อน    

ก้าวไกลโวยร่าง รธน.ฉบับปชป.สอดไส้เอื้อพรรคใหญ่ แก้ไขเกินหลักการ บี้ถอนร่างไปอย่าดันทุรัง “ไพบูลย์”  มั่นใจเพิ่มเนื้อหามาตราเกี่ยวข้องได้ให้สมบูรณ์มากขึ้น ไร้เหตุส่งศาลรัฐธรรมนูญ เผย พปชร.แปรญัตติรื้อ 7 ประเด็น "ชินวรณ์” แจงร่างพรรคเสนอแบบกว้าง ตัวเลขมาตราไม่ใช่สาระสำคัญ
     ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) แถลงความคืบหน้าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 
      นายธีรัจชัยกล่าวว่า จากการประชุมคณะ กมธ. เมื่อวันที่ 6 ก.ค. มีการหยิบยกประเด็นว่า ร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่าน การรับหลักการของรัฐสภา จะสามารถแก้ไขมาตราอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุในหลักการของร่างพรรคประชาธิปัตย์ได้หรือไม่ เนื่องจากในหลักการระบุไว้เพียงแก้ไขมาตรา 83 และ 91 แตกต่างจากร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ที่ระบุในหลักการชัดเจนว่า แก้ไขระบบเลือกตั้ง แต่พรรคประชาธิปัตย์ระบุเพียง 2 มาตรา โดยที่ไม่ได้บอกว่าแก้ไขระบบเลือกตั้ง ในประเด็นดังกล่าวทำให้ กมธ.มีความเห็นแตกต่างกัน บางส่วนบอกว่าสามารถแก้ไขมาตราอื่นได้ โดยเฉพาะประธานคณะ กมธ. ที่เห็นว่าสามารถทำได้ แต่ กมธ.บางส่วน โดยเฉพาะเสียงของพรรคฝ่ายค้าน ยืนยันว่า การแก้ไขจะต้องไม่ขัดต่อหลักการ จึงเห็นว่าร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่ระบุแก้ไขเพียง 2 มาตรา ไม่ได้เป็นการแก้ระบบเลือกตั้งทั้งระบบ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นร่างที่ไม่สมบูรณ์ หากดึงดันให้ผ่านไปโดยไปแก้มาตราอื่นๆ ด้วย จะเป็นสิ่งที่ฝืนในหลักการกฎหมาย 
    “การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นการแก้ไขกติกาที่ไม่เป็นธรรม ไม่ใช่แก้เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น แต่พรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่ได้ประโยชน์เลย การกระทำที่ดันทุรังจะขัดกฎหมาย ขัดความรู้สึกประชาชน เราเห็นว่าไม่ควรทำ ถ้าจะทำควรให้รัฐสภาตัดสินหรือถอนเรื่องนี้ไปทำให้สมบูรณ์ ไม่ควรแก้ระบบเลือกตั้งอย่างเดียว แต่ควรแก้ทั้งฉบับ” นายธีรัจชัย ระบุ
    นายรังสิมันต์กล่าวว่า ร่างแก้ไขของพรรคประชาธิปัตย์เป็นร่างที่มีปัญหา และอาจจะนำไปสู่การที่รัฐสภาพยายามสอดไส้แก้ไขเพื่อบิดเบือนต่อหลักการ ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าเราปล่อยให้เกิดกระบวนการในการสอดไส้แบบนี้ คิดว่าเป็นเรื่องที่อันตราย เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แต่จะเป็นรากฐานของการเมืองระบบรัฐสภา ซึ่งในวันที่ 13 ก.ค.นี้ ที่ประชุมคณะ กมธ.จะมีการตัดสินว่าสุดท้ายขอบเขตของข้อบังคับการประชมรัฐสภาข้อ 124 ที่ห้ามไม่ให้มีการแก้ไขเกินหลักการจะเป็นอย่างไร สมมติ กมธ.เห็นว่าแก้ไขอย่างไรก็ได้ พรรคก้าวไกลคงไม่สามารถยอมรับกระบวนการแบบนี้ได้ 
    ทางด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า วันที่ 13 ก.ค.ที่ประชุมจะหารือต่อประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมาตราที่เสนอ โดยจะเชิญฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ เข้าชี้แจงต่อรายละเอียดและเจตนารมณ์ของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124 วรรคท้าย ที่กำหนดว่า การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดกับหลักการที่เสนอแก้ไข เว้นแต่แก้ไขมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการนั้น จากนั้นในวันที่ 16 ก.ค. กมธ.จะกำหนดประเด็นพิจารณา เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อหาสัดส่วน ส.ส. โดยกำหนดให้ได้คะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1% เป็นต้น
      ส่วนที่มี กมธ.ให้ความเห็นว่าการปรับแก้ไขมาตราอื่นนอกเหนือจากที่รัฐสภารับหลักการ จะเท่ากับแก้เกินหลักการและส่อว่าจะผิดนั้น เนื้อหาที่เสนอให้แก้ไข มีสาระคือ การแก้องค์ประกอบของ ส.ส. ที่ให้มีส.ส.เขต 400 เขต และบัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ดังนั้นการแปรญัตติมาตราที่เกี่ยวข้องกันเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์มากขึ้น และเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่ใช่เหตุที่นำไปสู่การยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ
         นายไพบูลย์ยังกล่าวด้วยว่า พรรคพลังประชารัฐเตรียมเสนอคำแปรญัตติให้ปรับแก้ไขเนื้อหา รวม 7 ประเด็น คือ 1.แก้ไขมาตรา 83 ขอเพิ่มเนื้อหาวิธีการการเลือกตั้ง ส.ส.โดยตรงและลับ ด้วยบัตรเลือกตั้งแบบละ 1 ใบ 2.แก้ไขมาตรา 85 ว่าด้วยการลงคะแนนเลือก ส.ส.เขต 3.แก้ไขมาตรา 86 ว่าด้วยวิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. 4.แก้ไขมาตรา 90 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่ง ส.ส.เขต 100 เขต จึงมีสิทธิ์ส่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 5.แก้ไขมาตรา 91 กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำของพรรคการเมืองที่ได้รับจากการเลือกตั้ง ต้องไม่น้อยกว่า 1% จึงมีสิทธิ์ได้รับการคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 6.แก้ไขมาตรา 92 โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ใหม่ หากพบการเลือกตั้งในเขตใดที่เสียงโนโหวต มากกว่าคะแนนเลือกตั้ง และ 7.ขอยกเลิกมาตรา 93 และมาตรา 94
    นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธาน กมธ. แถลงว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคที่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาในวาระแรกนั้น เป็นการเสนอแบบกว้างว่าด้วยระบบการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ จึงอยากเชิญชวนสมาชิกและ กมธ.ช่วยกันแปรญัตติเพื่อให้ร่างดังกล่าวสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอแปรญัตติแก้ไขหลายมาตรา อาทิ เพิ่มเติมความในมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ให้ใช้วิธีบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบละหนึ่งใบ รวมทั้งขอแปรญัตติเพิ่มความเป็นมาตรา 3/1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 85 ของรัฐธรรมนูญ 60 และให้ใช้ข้อความนี้แทน คือ “ให้ ส.ส.ซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ได้เขตละ 1 คน และผู้มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งได้คนละหนึ่งคะแนน โดยจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใด หรือจะลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเลยก็ได้ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งได้รับคะแนนสูงสุด และมีผลคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง” 
    นายชินวรณ์ยังกล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกลระบุร่างของประชาธิปัตย์เสนอเพื่อประโยชน์ของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ว่า พรรคไม่ได้คิดเช่นนั้น แม้แต่จะเป็นประโยชน์กับพรรคประชาธิปัตย์เอง แต่เมื่อมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรายอมรับ และเปลี่ยนวิธีการแก้ไขโดยเสนอแก้ไขเป็นรายมาตรา โดยพิจารณาว่ามีประเด็นใดสำคัญบ้าง ซึ่งการแก้ไขระบบเลือกตั้ง เราต้องเน้นว่าเป็นระบบที่ประชาชนคุ้นเคยเข้าใจได้อย่างดี ต้องส่งเสริมให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง และต้องนำไปสู่การเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น  
    เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลระบุการปรับแก้ไขมาตราอื่นนอกเหนือจากที่รัฐสภารับหลักการ เป็นการแก้ไขเกินหลักการ นายชินวรณ์กล่าวว่า เบื้องต้นพรรคมั่นใจว่าเป็นการเสนอร่างหลักการอย่างกว้าง สมาชิกรัฐสภาและ กมธ.จึงสามารถแปรญัตติได้ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของรัฐสภา ข้อที่ 124 ที่บัญญัติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวเนื่องด้วยหลักการนั้นสามารถแก้ไขได้ ประกอบกับคำวินิจฉัยฝ่ายกฎหมายรัฐสภาและกฤษฎีกา ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการสามารถดำเนินการได้ ที่สำคัญกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าตัวเลขมาตราไม่ใช่สาระสำคัญ แต่สาระสำคัญอยู่ที่เมื่อเราเสนอบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เราต้องไปแก้ไขมาตราอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ 60 ในมาตราที่เกี่ยวเนื่องซึ่งสามารถดำเนินการได้ ส่วนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องแสวงหาความเห็นพ้องกันมากที่สุดก่อน แต่หากใครไม่เห็นด้วย เป็นสิทธิ์ของท่านนั้นๆ เพราะหลังจากร่างแล้วเสร็จ หากใครเห็นว่าร่างนั้นไม่เป็นไปตามบทบัญญัติ ก็สามารถยื่นให้ศาลตีความได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่วันนี้ยังเชื่อมั่นว่าเดินหน้าได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"