แย้มสูตรเพิ่มภูมิคุ้มกัน ‘ซิโนฟาร์ม’ฉีดหมอฟรี


เพิ่มเพื่อน    

ลุ้นข่าวดี! หมอยงแย้มสูตรวัคซีนสร้างภูมิคนไทยสู้โควิดให้พุ่ง 30 เท่า ขณะที่ทีมวิจัยจุฬาฯ ชี้เทคนิคป้องกันนักรบด่านหน้ารับมือสายพันธุ์เดลตาโดยไม่ต้องรอ mRNA เพียงกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ ก็ปลอดภัยเพียงพอ 
    เมื่อวันศุกร์ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข รายงานความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ข้อมูล ณ เวลา 18.00 น. วันที่ 8 ก.ค. เป็นดังนี้ จำนวนผู้ได้รับวัคซีนวันที่ 8 ก.ค. 2564 จำนวน 356,378 โดส ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 305,925 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 50,453 ราย  จำนวนผู้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-8 ก.ค.2564 (131 วัน) 11,975,996 โดส 
    ในพื้นที่ 77 จังหวัด ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 8,800,155 ราย แบ่งเป็น ซิโนแวค 3,714,954 ราย, แอสตร้าเซนเนก้า 4,909,655 ราย และซิโนฟาร์ม 175,546 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 3,175,841 ราย แบ่งเป็น ซิโนแวค 3,112,209 ราย, แอสตร้าเซเนก้า 63,121 ราย และซิโนฟาร์ม 511 ราย
    ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เรื่อง โควิด-19 วัคซีน การให้วัคซีนให้ได้ประโยชน์สูงสุดในทรัพยากรที่จำกัด การสลับวัคซีน โดยมีรายละเอียดว่า วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิดสามารถลดการป่วยรุนแรง การนอน ICU และการเสียชีวิตได้
    นพ.ยงระบุว่า ในปัจจุบันไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมเป็นสายพันธุ์ใหม่มาโดยตลอด ปัจจุบันมีแนวโน้มสายพันธุ์เดลตาจะครองโลก สายพันธุ์เดลตาจะลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง ดังนั้นการให้วัคซีนจึงต้องการภูมิต้านทานที่สูง การศึกษาของทางศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก พบว่าการให้วัคซีนเข็มแรกเชื้อตาย (Sinovac) และเข็มที่ 2 ในเวลา 3-4 สัปดาห์ต่อมา เป็นไวรัสเวกเตอร์ (AstraZeneca) พบว่าภูมิต้านทานหลังเข็ม 2 ที่ 1  เดือนจะสูงขึ้นมากกว่าการให้ Sinovac 2 เข็มประมาณ 8 เท่า และมีเปอร์เซ็นต์การขัดขวางไวรัสสูงถึง 95% inhibition มากกว่า 95%
    “แต่ถ้าให้วัคซีน Sinovac 2 เข็ม และตามด้วยกระตุ้น AstraZeneca ผลภูมิต้านทานจะสูงขึ้นไปอีกมาก (มากกว่า 30 เท่า) (ข้อมูลยังมีน้อยและกำลังศึกษาอยู่) การให้วัคซีนสลับเข็ม ที่ผ่านมา มีการลงทะเบียนในหมอพร้อมประมาณ 1,000 ราย ไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง ทางศูนย์ฯ ยังศึกษาอย่างต่อเนื่อง และภายในสิ้นเดือนนี้จะได้ข้อมูลละเอียดยิ่งขึ้น รวมทั้งความปลอดภัยจากการศึกษาทางคลินิก"  นพ.ยงระบุ 
    ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha" เรื่อง เปิดผลการศึกษาขั้นต้น วัคซีนที่มีในไทย สูตรไหนใช้ต่อกร Covid สายพันธุ์เดลตาได้ โดยมีรายละเอียดว่า
    “ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยไวรัสวิทยา BIOTEC, ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ สถาบันโรคทรวงอก ในขณะที่วัคซีนชนิดอื่นๆ เช่น mRNA, Protein subunit ยังไม่มีการบริหารวัคซีนที่มี 2 ชนิด คือ Sinovac or Sinopharm หรือ Astra Zeneca จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องรีบหาคำตอบว่าสูตรไหนจะป้องกันสายเดลตาได้
    จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า Sinovac 2 เข็ม แม้ระดับ Neutralize antibody ขึ้น 80-90% แม้ว่าจะวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อัลฟาได้บ้าง แต่ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้เลย แต่ในคนที่ได้ AZ ครบ 2 เข็ม และมี ระดับ Neutralize antibody ที่สูงเกิน 90% สามารถป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดีระดับหนึ่ง และผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ B.1.1.7 เมื่อ wave3 ที่ผ่านมา เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วย AZ เข็มเดียวให้ระดับการป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้เทียบเท่า AZ 2 เข็ม
    ส่วนผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อ B.1.1.7 อีกคน แม้ว่าจะมีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อัลฟาที่สูง แต่กับเดลตา กลับมีน้อยมาก วัคซีนสูตรผสม SV + AZ ให้ระดับการป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ดีกว่า SVx2 แต่ไม่เท่า AZx2 สุดท้าย ที่ดูแนวโน้มดีสุด คือผู้ที่ได้ SVx2 + AZx1 ที่เป็นอาสาสมัครในการทดสอบ มีระดับภูมิคุ้มกัน Neutralize antibody สูง 99% รวมถึง ค่า IC50 ต่อสายพันธุ์เดลตาในระดับสูงสุด
    จากข้อมูลการศึกษาเบื้องต้น แม้ว่าเราจะยังไม่มีวัคซีน mRNA แต่สำหรับบุคลากรด่านหน้าผู้เสียสละซึ่งได้รับ SV เป็นส่วนมากในช่วงแรก แต่ระดับการป้องกันตอนนี้คงไม่เพียงพอต่อไวรัสกลายพันธุ์เดลตา การใช้ AZ เป็นเข็มกระตุ้น ก็น่าจะเพียงพอให้เขาปลอดภัยในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนชนิด mRNA
    ขณะที่ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เชิญชวนแพทย์ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และมีความประสงค์ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นเข็มแรก สามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เพื่อเข้ารับวัคซีนซิโนฟาร์มกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ทาง h  ttps://bit.ly/FormForDoc โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
    ทั้งนี้ โปรดระบุเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ (เลข ว.) และเบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะส่งข้อความถึงท่าน แจ้งวัน-เวลานัดหมายเข้ามารับวัคซีน ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์ม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ต่อไป 
    วันเดียวกัน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคก้าวไกล เดินทางไปยื่นหนังสือที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อทวงถามสัญญาการจัดซื้อวัคซีน ตามที่เคยยื่นคำขอข้อมูลข่าวสารของราชการเกี่ยวกับสัญญา ข้อตกลง และเงื่อนไขผูกพันที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่รัฐบาลไทยทำไว้กับทุกองค์กรโดย โดยระบุว่า ยืนยันว่าเหตุที่ต้องทวงถาม เนื่องจากงบประมาณที่ใช้จัดซื้อวัคซีนเป็นเงินภาษีของประชาชน การจัดซื้อควรมีความโปร่งใสและเปิดเผยได้ อีกทั้งจะขอให้มีการเปิดเผยสัญญาการซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มด้วย.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"