รื้อรธน.ส่อเดือด พรรคเล็กไม่ยอม เขี่ย‘ส.ส.ปัดเศษ’


เพิ่มเพื่อน    

 “ชวน” ขอ “มหาดไทย” เปิดทาง ส.ส.เดินทางมาประชุมสภา นัดวิป 3 ฝ่ายถกเลื่อนประชุม กมธ.งบฯ ขณะที่ กมธ.แก้ รธน.อีก 2 สัปดาห์เสร็จ “พรรคจิ๋ว” ดิ้นแปรญัตติปรับเกณฑ์คำนวณเสียงตกน้ำ เพื่อไทยยันไม่ยื่นศาล รธน.ตีความ 
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ประกาศล็อกดาวน์ว่า ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และตนได้โทรศัพท์ไปประสานว่ากรณีที่ห้ามเคลื่อนย้ายหรือห้ามเดินทาง ก็ขอให้ความร่วมมืออนุมัติให้ ส.ส.สามารถเดินทางมาปฏิบัติภารกิจได้ ส่วนผลกระทบต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ที่มีกรอบระยะเวลากำหนดไว้ 105 วันนั้น จะเชิญตัวแทนของวิป 3 ฝ่ายมาหารือ อาจจะเป็นวันที่ 12 ก.ค. หรือวันที่ 13 ก.ค. เพื่อเป็นความเห็นร่วมกันว่าหากจำเป็นต้องเลื่อนประชุมออกไป จะเลื่อนกี่วัน ต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อไม่ให้มีปัญหาขัดแย้ง
“ได้พูดเสมอว่าต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ อย่าหนีโควิด-19 แต่ต้องไม่ประมาท ต้องเข้มงวดในการป้องกันตัวเอง แต่ยอมรับว่าต้องเห็นใจ ส.ส.บางคนที่กลัวและกังวล จึงเสนอให้งดประชุมไปก่อน แต่แนะนำคนที่กลัวมากว่าให้มาลงชื่อประชุมแล้วฟังการประชุมในห้องส่วนตัว ส.ส. เมื่อถึงเวลาลงมติก็ค่อยเดินเข้าไปลงมติ ซึ่ง ส.ส.ไม่ได้บ่นกับผมโดยตรง แต่ให้สัมภาษณ์ เลยขอให้เลื่อนประชุมไปเรื่อยๆ ถ้าเราไปทำอย่างนั้นก็จะมีปัญหา  เมื่อวันที่เปิดสมัยประชุมในเดือนพฤษภาคม หากเราเลื่อนเพื่อหวังให้โควิด- 19 หมดนั้น วันนี้มันเพิ่มขึ้น แต่ในขณะที่เราทำมาเกือบ 2 เดือน กฎหมายก็ผ่านไปหลายฉบับ ยังค้างอยู่ฉบับครึ่ง ดังนั้นเรื่องที่จำเป็นต้องออกกฎหมายรัฐบาล ซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ไม่มีกฎหมายค้างเลย ดังนั้นสมาชิกควรจะภูมิใจที่ทำงานภายใต้สถานการณ์ที่เราถือว่าใช้แนวทางปฏิบัติในการเผชิญหน้ากับปัญหา โดยความรอบคอบ ไม่ประมาท สามารถทำงานไปได้ด้วยดี” นายชวนกล่าว 
ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กม.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ กล่าวว่า การประชุมกมธ.ในสัปดาห์หน้าเป็นไปตามปกติ เพราะมีมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดย กมธ.จะพิจารณาอีกเพียง 4 ครั้ง หรือประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะแล้วเสร็จ โดยจะสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อในวาระ 2 และวาระ 3 ได้ในช่วงเดือน ส.ค.นี้ เชื่อมั่นว่าการแก้ไขในมาตราอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการแก้ไขที่รัฐสภารับหลักการมานั้น จะไม่นำไปสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้เสนอแปรญัตติแก้รายละเอียดในประเด็นระบบการเลือกตั้งแล้วเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่พรรคเสนอต่อรัฐสภา อาทิ การใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตไม่น้อยกว่า 100 เขต จึงจะส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ โดยพรรคใดที่ได้คะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1 ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้ง เพื่อป้องกัน ส.ส.ปัดเศษ พร้อมเพิ่มบทเฉพาะกาลคุ้มครองสมาชิกภาพ ส.ส.ปัจจุบัน และกำหนดให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ยืนยันว่าพรรคไม่ได้หารือกันถึงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งเพียง 2 มาตรา  แต่ไปเกี่ยวพันกับมาตราอื่นด้วย เพราะมั่นใจว่ารัฐสภาสามารถดำเนินการแก้ไขได้ เพราะข้อบังคับการประชุมรัฐสภาในข้อ 124 ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมที่ขัดต่อหลักการ เว้นแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการเดียวกันในมาตราอื่น 
นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย กล่าวว่า กลุ่มพรรคเล็กร่วมเสนอคำแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 83 และ 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้งต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฯ แล้ว เนื้อหาที่สำคัญคือคงจำนวน ส.ส.ไว้ที่ 500 คน แบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และกำหนดคะแนนขั้นต่ำที่จะใช้คำนวณเพื่อหา ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ 0.02% เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคขนาดเล็กมีที่ยืนในสภา 
    “กรณีที่พรรคการเมืองใหญ่กำหนดเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำ 1% ของการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเล็กที่ได้หารือร่วมกับพรรคก้าวไกลเห็นว่าไม่ยุติธรรม เพราะปิดกั้นโอกาสการเข้าทำหน้าที่ผู้แทนในสภาของพรรคการเมืองขนาดเล็ก เพราะหากใช้เกณฑ์ 1% จะทำให้การได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ต้องใช้คะแนนเลือกตั้งถึง 3.5 แสน จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 35 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสิทธิ์ตัดโอกาสพรรคเล็กอย่างสิ้นเชิง แต่หากปรับเป็นเกณฑ์ 0.02% จะทำให้ใช้ฐานคะแนน 7.1 หมื่นเสียง จะทำให้พรรคเล็กมีสิทธิ์ได้รับเลือกเข้าสภา” นายพิเชษฐกล่าว
    นายพิเชษฐกล่าวต่อว่า คำแปรญัตติที่พรรคเล็กเสนอ ยอมรับว่าหากไม่ผ่านในชั้น กมธ.หรือไม่ได้รับการพิจารณา ตัวแทนพรรคเล็กรวมถึงพรรคก้าวไกล และอาจมีบางส่วนของพรรคภูมิใจไทยที่เห็นด้วยจะเข้าชื่อให้ถึง 1 ใน 10 เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าเนื้อหาที่ปรับแก้นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตัดสิทธิ์ตัดโอกาสของประชาชนที่สนับสนุนพรรคเล็กหรือไม่ รวมถึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ผ่านประชามติ ซึ่งเคารพทุกเสียงของประชาชนหรือไม่ ยอมรับว่าได้หารือกับพรรคก้าวไกล และเห็นว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำนั้นเหมาะสม โดยพรรคเล็กที่ร่วมลงชื่อเสนอคำแปรญัตติ และเห็นด้วยกับทิศทางที่เสนอ ได้แก่ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลังไทยรักไทย และพรรคประชาธรรมไทย ทั้งนี้ ในการลงชื่อเสนอญัตติพรรคพลังท้องถิ่นไทได้ร่วมลงชื่อด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"