ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว เดิมพันสำคัญ บิ๊กตู่-ศบค.


เพิ่มเพื่อน    

 

....................................

ล็อกดาวน์-เคอร์ฟิว 10 จังหวัด เดิมพันครั้งสำคัญ บิ๊กตู่-ศบค.        

                รัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ศบค. ได้ตัดสินใจออกมาตรการที่มีความเข้มข้นมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติโควิดในประเทศไทย หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

                โดยมาตรการที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา มีทั้งการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เช่น มาตรการให้บุคคลงดการเดินทางที่ไม่จำเป็น และห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่มีความจำเป็นที่ให้ใช้กับพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 4 จังหวัดภาคใต้-การให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารเครื่องดื่ม ธนาคาร ร้านขายยา เป็นต้น โดยให้เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น. เป็นต้น

                การออกมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นดังกล่าวของ ศบค. มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ที่เป็นบุคคลในวงการสาธารณสุข ที่ช่วยปฏิบัติราชการใน ศบค.-นักระบาดวิทยา-อดีตแพทย์-อดีตรัฐมนตรีในกระทรวงสาธารณสุข มาสะท้อนความเห็นถึงมาตรการต่างๆ ที่ออกมาครั้งนี้

                เริ่มที่ นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (รก.11) นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ปฏิบัติราชการ ศบค. กล่าวว่า มาตรการของ ศบค.ที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ค. ซึ่งเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนี้ต้องอาศัยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน และประชาชนทุกคน ซึ่งโดยภาพรวมจากการคาดการณ์สถานการณ์จะไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ทุกฝ่ายต้องคงไว้ซึ่งการรักษามาตรการ โดยเฉพาะต้องขอความเข้าใจและความอดทนของประชาชน สำหรับมาตรการเร่งฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหาสูงสุดในขณะนี้ จะต้องเร่งดำเนินการภายใน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งสถานการณ์หลังจากนั้นเรื่องการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง ที่นำมาซึ่งการเสียชีวิตจะดีขึ้น โดยข้อมูลที่นำมาสู่การเสนอให้ ศบค.ออกมาตรการต่างๆ มีการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ดี

            -หลังใช้มาตรการที่ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ก.ค. เมื่อผ่านไปแล้ว 14 วัน ประเมินว่าตัวเลขของผู้ป่วยโควิดจะออกมาอย่างไร?

                จากข้อมูลทางวิชาการทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ เรายอมรับว่าถ้าทำได้ตามข้อกำหนด จะเท่ากับการให้วัคซีนจำนวนมากเทียบเท่ากับสิบล้านโดสในพื้นที่ ดังนั้นสถานการณ์จะเริ่มชะลอตัว การพบผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ ที่มีอาการรุนแรงจะเริ่มชะลอตัว แต่สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นเมื่อผ่านพ้นไปแล้ว 14 วันแล้วยังธำรงรักษามาตรการให้ได้ต่อเนื่อง

 ขณะเดียวกัน ขณะนี้เราต้องการลดการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต ดังนั้นการฉีดวัคซีนจะเป็นการระดมฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงวัย ผู้มีโรคประจำตัว และสิ่งสำคัญคือเราระดมกำลังจากทุกส่วนของประเทศมาเพิ่มศักยภาพในพื้นที่เสี่ยงเพื่อจะได้ดูแลประชาชนเพิ่มมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเราไม่ได้รับความร่วมมือใดๆ เลย จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งเมื่อมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือผู้มีโอกาสเสียชีวิตก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ดังนั้นเราทำสองอย่างพร้อมกันคือ การลดจำนวนการติดเชื้อลง และลดการที่จะมีผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิต โดยการให้วัคซีน

                ถามถึงสถานการณ์โควิดในประเทศ ในช่วงสัปดาห์หน้าที่ ศบค.เคยบอกว่าผู้ติดเชื้อใหม่อาจแตะระดับหลักหมื่นคนต่อวัน เรื่องนี้ นพ.รุ่งเรือง ที่เป็นแพทย์ที่เป็นนักระบาดวิทยา เคยอยู่กรมควบคุมโรคมาหลายปี ตอบว่า ต้องบอกว่า พอเราเริ่มมาตรการต่างๆ ออกมา มันคงไม่ได้ว่า จะดีขึ้นแบบปุ๊บปั๊บ เป็นไปไม่ได้

                "โดยสถานการณ์อาจจะยังพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้  หรือจะคงตัว หลังจากนั้นก็จะเรียกว่า เพิ่มอย่างชะลอตัว และจะเริ่มลดลงอย่างชัดเจน น่าเชื่อว่าจะอยู่ในช่วงประมาณต้นเดือนสิงหาคม ถ้าเราทำตามมาตรการทั้งหมดได้อย่างเต็มที่ น่าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้น"

                ....เราทราบดีว่า ประชาชนลำบาก แต่สถานการณ์ขณะนี้มันเหมือนสภาวะสงครามโลก และเป็นสงครามที่เกิดจากเชื้อโรค เราเจอสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุดในรอบหนึ่งร้อยปีทั่วโลกเลย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดในสภาวะสงคราม ก็คือการดูแลชีวิตของเรา ส่วนเรื่องต่างๆ ก็เชื่อว่ามีผลกระทบแน่นอน ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ก็เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ทางภาครัฐ จะออกมาดูแลบรรเทาปัญหาต่างๆ ลงไปได้ระดับหนึ่ง เชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันได้

ต้องเตรียมพร้อม แผนการจัดการศพ

                ด้านความเห็นจาก อาจารย์แพทย์ด้านระบาดวิทยาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่ง ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ สาขาระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)-คณะที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุขในเรื่องภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโควิด-19" ให้ความเห็นต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศในวันที่ให้สัมภาษณ์คือ 9 ก.ค. อยู่ที่ 9,276 ราย มีผู้เสียชีวิต 72 คน

                ศ.นพ.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริง คงสูงกว่าตัวเลขที่มีการประกาศ เพราะว่าพอมีผู้ป่วยจำนวนมาก ก็ทำให้การสอบสวนโรคทำไม่ทัน เพราะการสอบสวนโรคจะนำไปสู่การหาผู้ป่วยที่ยังไม่ปรากฏอาการ และรีบหยุดเขาให้ทัน โดยหากมีผู้ป่วยวันละไม่กี่ร้อยคน การสอบสวนโรคก็สามารถทำได้ แต่หากมีผู้ป่วยวันละเกือบหมื่น ทีมสอบสวนโรค ก็สอบสวนไม่ไหว ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เราเห็นจึงน้อยกว่าความเป็นจริงเยอะ แต่จะน้อยกว่าเท่าไหร่ พูดยาก แต่คิดว่าน้อยกว่าหลายเท่า โดยยิ่งมีรายงานการตรวจพบคนติดเชื้อมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงว่าคนป่วยที่เหลือที่ไม่ได้อยู่ในรายงานยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

            -ประเมินว่าในสัปดาห์หน้านี้  สถานการณ์โควิดในประเทศจะเป็นอย่างไร หลัง ศบค.ออกมาตรการต่างๆ เช่น การประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่สีแดง ดูแล้วการจำกัดการเคลื่อนย้ายจะช่วยลดการติดเชื้อโควิดได้หรือไม่?

                การเกิดโรคมันเกิดจากการสัมผัสระหว่างมนุษย์ ระหว่างผู้มีเชื้อกับผู้ไม่มีเชื้อ โดยยิ่งมีการสัมผัสมากเท่าใด เชื้อก็ยิ่งขยายออกไป การที่รัฐบาลออกมาตรการที่ผมใช้คำว่าล็อกดาวน์ แต่ไม่รู้ว่ารัฐบาลใช้คำว่าอะไร ก็จะมีผลที่ค่อนข้างจะรวดเร็ว โดยสมมุติว่าการล็อกดาวน์แล้วลดการเคลื่อนไหว ลดการสัมผัสได้ ที่สมมุติว่าลดลงมาได้ 3-4 เท่า เราก็จะเห็นได้ว่าการแพร่ของโรคมันจะลดลงตามนั้น แต่ว่ามันจะได้ผลแค่ไหน ลดแล้วมันยังมีการสัมผัส มีการติดต่อระหว่างคนมากแค่ไหน ซึ่งเรื่องของการติดต่อระหว่างคนภายในครัวเรือนเดียวกัน ยังไงก็ต้องมี แต่การติดต่อนอกครัวเรือนเป็นสิ่งสำคัญ การล็อกเพื่อไม่ให้มีการสัมผัสข้ามครัวเรือน เป็นมาตรการที่สำคัญมากที่จะลดเชื้อลง

...แต่หากถามว่าลดการสัมผัสระหว่างคนแล้ว ยอดคนป่วยมันจะลดลงทันทีหรือไม่ ก็คือยังไม่ลดลงทันที อย่างเก่งก็ต้องรอเป็นสัปดาห์กว่าที่เราจะเห็นว่ายอดคนติดเชื้อมันลดลง อย่างรอบที่แล้ว หากไปดู Curve ของโควิดรอบแรก ที่เป็น wave ที่เล็กมาก ก็จะเห็นได้ว่าก็ไม่ได้ผลทันที ก็ต้องรอประมาณหนึ่งเดือน (หลังล็อกดาวน์) ก็จะเห็นได้ว่ามันลดลงอย่างชัดเจน แต่ขณะนี้มวลของผู้ติดเชื้อโควิด โมเมนตัมมันเยอะมาก มันใหญ่และเคลื่อนเร็ว การจะไปคิดว่าหลังจากนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็วเหมือนโควิดรอบแรก ที่คิดว่า 14 วันต่อจากนี้จะอยู่ แต่สำหรับผมคิดว่า 14 วันนี้คงต้องรอดูก่อน โดยหากคุมไม่อยู่จริงๆ ก็ต้องขยายต่อ เพราะว่าฐานที่มีการติดเชื้อมันสูง และโอกาสของการแพร่เชื้อมันเร็ว

            -ที่เคยแสดงความเป็นห่วงว่าหากสถานการณ์ยังคงเป็นแบบนี้ ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยอาจอยู่ในสภาพล้มเหลว หมายถึงอย่างไร?

                คือเมื่อมีคนไข้ติดเชื้อ ก็จะกลายเป็นคนป่วยที่ต้องการเข้าโรงพยาบาล และส่วนหนึ่งก็อาจจะป่วยหนัก ต้องเข้าห้องไอซียู และในที่สุดส่วนนี้ก็อาจเสียชีวิต ซึ่งถ้าระบบมันยังเหมือนปกติ ยังมีคนไข้ติดเชื้อเข้ามาเท่าเดิมตลอด สัดส่วนคนที่เสียชีวิต มันก็คงที่ แต่ว่าถ้าต้นทางมาเยอะ แล้วกำลังแพทย์ เตียงไอซียู ไม่เพียงพอจนล้นออกมาข้างนอก คนที่อยู่ข้างนอกไอซียู ก็มีโอกาสที่จะเสียชีวิตเยอะ อัตราการเสียชีวิตที่เดิม ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเพิ่มเป็น 2-3 เปอร์เซ็นต์ หรือมากกว่านั้น ในช่วงที่มีผู้ป่วยมากๆ ในช่วงนี้และช่วงต่อไป คนไข้โควิดที่เข้าไปในโรงพยาบาล โดยส่วนหนึ่งที่ไม่ได้เข้าไป และอยู่ตามบ้าน กลุ่มนี้ก็อาจเสียชีวิต ที่กลุ่มนี้จะมีมากกว่าอยู่แล้ว ถึงแม้จะมีการบอกว่าหากไม่เป็นอะไรมากให้อยู่ที่บ้านไปก่อน แต่เราก็เห็นแล้วว่าอยู่ที่บ้าน ก็มีคนเสียชีวิตที่บ้านเยอะ เพราะกว่ารถจะเข้าไปรับ มีการหาเตียงให้ได้ แต่เมื่อถึงเวลา เตียงไม่มี ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่เสียชีวิตที่บ้าน ยอดดังกล่าวก็จะสูงขึ้น เพราะว่าผู้ป่วยไม่ได้ถูกส่งไปโรงพยาบาล แต่ยังอยู่ที่บ้าน

ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย แต่ก็เดินไปเดินมา ก็ทำให้เกิดการแพร่เชื้อ เพราะไม่สามารถไปกักเขาไปบอกเขาว่าไม่ให้ออกมาจากบ้านได้ เพราะไม่มีกำลังทหาร กำลังตำรวจมากพอในการช่วยการกักตัวประชาชนจำนวนมากที่อยู่ตามบ้าน ทำให้เชื้อก็จะแพร่สมทบเข้ามาเร็วขึ้น จำนวนมากขึ้น ตอนนี้ไอซียูก็กำลังเต็มหมดแล้ว ต่อไปก็ไม่มีทางที่จะเข้า แม้เราจะปล่อยให้เขาไปรักษาตามบ้าน แต่ว่าที่ไอซียู ที่โรงพยาบาลก็จะไม่มีช่องว่าง เพราะก็ยังมีคนไข้อื่นๆ ที่ไม่ได้มีแต่คนไข้โควิด เช่น คนไข้โรคหัวใจที่ต้องใช้โรงพยาบาล แต่ก็ไม่มีโรงพยาบาลให้ใช้ พวกนี้ก็เสียชีวิตสมทบเข้าไปอีก ยอดเดิมของคนเสียชีวิตตามปกติ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับโควิด มันก็จะเพิ่มขึ้นเยอะ ที่ผมเคยพยากรณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวในสามสัปดาห์ และจริงๆ แล้วมันมากกว่านั้น ถ้าเราไปดูจำนวนการตาย มันก็จะมากกว่าและใช้เวลาสั้นกว่า จากเดิม 2-3 สัปดาห์ ก็จะกลายเป็นประมาณหนึ่งสัปดาห์กว่าๆ ก็จะเพิ่มเป็นเท่าตัวมันก็จะเกิดผลกระทบสูงเรื่องอัตราการตาย

 ถึงแม้ว่าเราจะล็อกดาวน์ แต่คลื่นที่มันมาจากการเจ็บป่วย มันยังไม่หยุดทันที โดยคลื่นลูกหลังของคนที่ติดเชื้อไปแล้ว เพราะเราล็อกดาวน์ แต่เราไม่สามารถหยุดคนที่ติดเชื้อไปแล้วไม่ให้ป่วยได้ ไม่สามารถไปล็อกไม่ให้เขาแพร่เชื้อได้ เขาป่วยก็ต้องป่วย ตอนนี้เขายังป่วยน้อยอยู่ ที่วันหนึ่งบอกว่าอาจเป็นหมื่น แต่พวกนี้ก็อาจกลายเป็นป่วยหนักแล้วทยอยเข้าโรงพยาบาล แล้วก็อาจเสียชีวิต

            ..เรื่องจำนวนยอดคนเสียชีวิต อย่างที่เห็นกันในข่าว ตอนนี้มีการเผาศพกันเยอะมาก ตีหนึ่ง ตีสอง ก็ยังเผากันไม่เสร็จ ทีนี้ยอดเผาศพ ก็จะเพิ่มเป็นเท่าตัว สองเท่าตัว สามเท่าตัวในเวลาอันสั้นแบบเดียวกัน ซึ่งเราต้องเตรียม เพราะเรากำลังเข้าสู่  funeral phase เราต้องเตรียมอันนี้เลย (แผนการจัดการศพ) ต้องมีวิศวกร เทศบาลต้องคุยกันเช่นระหว่างที่ศพยังเผาไม่ได้ จะนำไปไว้ที่ไหน แล้วให้ลงทะเบียนว่าศพใครอยู่ที่ไหน พอโควิดหายถึงค่อยนำศพไปเผา มันจะมีเรื่องเยอะมาก เพราะอย่างเรื่องเตาเผาศพ ที่มีการร้องเรียนว่ากำลังจะพัง ก็ต้องดูว่าจะมีเตาเผาศพสำรองเพิ่มขึ้นกี่หลัง หรือจะทำแบบเตาเผาแบบน็อกดาวน์ที่มีฉนวนพิเศษกันความร้อน ก็จะเป็นเรื่องที่้ต้องการวิศวกรจำนวนมาก ต้องการ อปท.เข้ามาหรือผู้บริจาค เช่น บริจาคที่ดิน เพื่อมาช่วยดูแลเรื่องการจัดการศพ ที่ต้องใช้ทั้งวิศวกร-อปท.-กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ เป็นต้น ซึ่งต้องระดมสมองกันว่าหากเกิดเหตุอะไรขึ้นที่ไม่ดีแล้วเราจะทำอย่างไร เพราะเราจะใช้รูปแบบเก่าๆ ไม่ได้ เพราะตอนนี้มันฉุกเฉินแล้ว มันเป็นสึนามิที่กำลังเข้ามา ต้องเตรียมการไว้เลย

            เมื่อถามถึงที่เคยเสนอให้ภาครัฐเตรียมเรื่องการจัดหาออกซิเจน เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยหนัก เกิดจากเหตุใด .นพ.วีระศักดิ์ ขยายความเรื่องนี้ว่า หากดูบางประเทศเช่นอินโดนีเซีย อินเดีย จะเห็นข่าวผู้ป่วยไปขโมยถังออกซิเจนในโรงพยาบาลเพื่อนำไปไว้ที่บ้าน ซึ่งถ้าเราไม่มีออกซิเจนที่มากพอไปไว้ตามชุมชน หรือเกิดการขาดแคลน เพราะคนไข้ที่ต้องได้ออกซิเจนมีทั้งที่ป่วยโควิด แต่อีกส่วนหนึ่งก็ไม่ใช่ เพราะตอนนี้เรามีผู้สูงอายุจำนวนมาก มีคนป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องได้ออกซิเจน หากอุปทานเรื่องออกซิเจน เช่น ถังออกซิเจน มีไม่เพียงพอก็จะเกิดการโกลาหล อาจทำให้คนเสียชีวิต มีการควบคุมอะไรกันไม่อยู่

 เรื่องนี้จำเป็นมากที่รัฐบาลต้องขอความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ ก็ต้องเตรียมไว้ในช่วงโอกาสที่ยังทำได้ แม้แต่เรื่องการเผาศพ หากว่าทางเทศบาลจัดการไม่ได้ รัฐบาลก็อาจต้องเข้าไปดูด้วยเพื่อจัดการเรื่องให้ทันจะได้แบ่งเบา อปท. และวัดต่างๆ เพราะโควิดรอบนี้มาแรงมาก สมัยโรคเอดส์ระบาด เรามีวัดพระบาทน้ำพุ แต่ว่าเอดส์ค่อยๆ มา แต่ว่าโควิดมารอบนี้รุนแรงมาก แล้วเราจะรับมือไม่ทัน เพราะว่าจำนวนการเพิ่ม มันเพิ่มเป็นอนุกรมเรขาคณิต 1-2-4-8-16 แต่ว่าที่เรามีอยู่เป็นแบบเลขคณิต 1 2 3 4 5 6 ที่กว่าเราจะหาเมรุเผาศพได้ ใช้เวลามาก ก็จะไม่ทัน อย่าง รพ.สนาม ก็จะเห็น เราหาเต็มที่แล้ว แต่ที่สุด มันก็จะรับไม่ได้ จนที่สุดก็ต้องให้ไปอยู่ที่บ้าน ซึ่งเรื่องนี้คือกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ ซึ่งรัฐบาลต้องเข้าใจว่าเราสู้กับเชื้อนี้ไม่ได้สู้ง่ายๆ ทุกอย่างที่มันเป็นเรื่องร้ายๆ เราต้องคิดว่ามันกำลังเพิ่มมาอย่างทวีคูณ มันไม่ได้แค่ทวีบวก ถ้าเราไม่เพิ่มกำลังของเราในการสู้ เราก็จะรับปัญหาแบบทวีคูณไม่ได้ แล้วมันก็จะมีเรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องปัญหาทางสังคมที่มันจะแทรกซ้อนตามมา      

                "การล็อกดาวน์เฉยๆ มันช่วยเฉพาะต้นน้ำไม่ให้คนป่วยรายใหม่เกิดขึ้น แต่ว่าคลื่นที่มันตามมาจากการป่วยที่มันเยอะในขณะนี้ เรายังไม่มีแผนในการจัดการที่ดีพอ การล็อกดาวน์ก็เป็นอันหนึ่งที่ได้ผล แต่ถ้าล็อกดาวน์แล้วไม่มีวัคซีน แล้วจะล็อกได้นานแค่ไหน"

            - ตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วง crisis mode แล้วหรือยัง และสถานการณ์หากเลวร้ายที่สุดจะไปถึงจุดไหน?

            ต้องช่วยกันเช่น จะจัดการเรื่องการขนศพอย่างไร เรื่องเมรุเผาศพที่กำลังจะพัง ต้องดูว่าหากพังแล้วจะให้ไปเผาที่ไหน ศพจะไปเก็บไว้ที่ไหน ทุกอย่างต้องวางแผนหมด ต้องมีการจัดการ มันเหมือนกับสึนามิ แต่ว่าสึนามิลูกนี้มันใหญ่มาก แล้วมันเข้ากรุงเทพฯ แต่ยังมีเวลาที่เราจะจัดการได้ แต่หากยิ่งช้า สึนามิอันนี้เราจะรับมันไม่ทันในทุกเรื่อง ที่ผมยกตัวอย่างมามันแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

            หากเราดูที่อินเดีย ตัวเลขเขาลดลงเพราะมีการล็อกดาวน์ ที่เราล็อกดาวน์ ถ้ายังดี อีกสักหนึ่งเดือนเราจะเห็นผล แต่ถ้าของเรา ถ้า 14 วันแล้วปล่อย มันจะเร็วเกินไป แล้วการล็อก เมื่อล็อกดาวน์แล้วต้องมีกิจกรรมที่เตรียมพร้อมสำหรับคลื่นที่จะตามมาจากคนป่วย เช่นเรื่อง Home isolation-การเผาศพ-การจัดการศพ ช่วงนี้รัฐบาลยังอาจพอมีเวลาทำได้อยู่ เรื่องวัคซีนก็ทำไป เพราะหากล็อกดาวน์แล้วใช้วิธีการแจกเงินอย่างเดียว มันไม่มีอนาคต การล็อกดาวน์ช่วยได้ระยะหนึ่ง อันที่สองก็คือวัคซีน ที่ขึ้นอยู่ว่าวัคซีนจะมาได้เร็วแค่ไหน ซึ่งหากเราหาวัคซีนมาได้ช้า ก็จะมีคนเสียชีวิตเยอะ ถ้ามีวัคซีนแล้วระดมฉีด ระยะยาว เราก็จะฟื้นได้

 

การล็อกดาวน์เท่ากับยอมรับที่ผ่านมา ยังสู้ได้ไม่ดีพอ

            ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์-ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ-อดีต รมช.สาธารณสุข ในยุครัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยรัฐบาล คสช.  ให้ความเห็นหลังรัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์-เคอร์ฟิวออกมาว่า การประกาศล็อกดาวน์ที่พยายามจำกัดพื้นที่ไม่ได้ใช้แบบเดียวกันหมดทุกจังหวัดและออกมาตรการต่างๆ ออกมา ดูแล้วก็สมเหตุสมผล แต่ที่บอกสมเหตุสมผล เรามองแค่มุมเดียวคือ พยายามจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อด้วยการห้ามไม่ให้มีการไปมาหาสู่กัน ซึ่งก็เป็นมาตรการที่น่าจะได้ผลพอสมควร แต่หากดูจากประสบการณ์การล็อกดาวน์ก่อนหน้านี้ มีสองเรื่องสำคัญ คือ ทำยังไงให้ล็อกดาวน์แล้วได้ผล ที่ก็มีคนเสนอออกมาจำนวนมากในเรื่อง การให้แรงจูงใจ เพราะรัฐก็คงไม่มีกำลังพอที่จะไปไล่ติดตามได้ทุกคน เพราะประชาชนที่เดือดร้อน ก็คงมีปัญหาว่าจะดำเนินชีวิตอยู่อย่างไรหลังออกมาตรการออกมา

            ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ควรทำเพื่อให้มาตรการล็อกดาวน์ได้ผล ก็คือมาตรการจูงใจ เช่น การให้เงินช่วยเหลือ เงินอุดหนุน ซึ่งมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนอยู่ให้ได้โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ คิดว่าเรายังไม่ได้คิดกันละเอียดพอ ไม่อย่างนั้นก็เป็นไปได้ว่า มาตรการที่จะล็อกดาวน์ เช่นใช้เวลาประมาณสิบสี่วัน ก็อาจไม่ได้ผลเท่าไหร่ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่

            ...ผมดีใจที่รัฐบาลยืนยันว่าการล็อกดาวน์แล้วต้องตามมาด้วยสองอย่าง คือการเร่งการติดตามผู้ติดเชื้อและการกักตัว แยกผู้ติดเชื้อออกมา เพราะการหยุดไม่ให้เชื้อมันแพร่ขยาย ต้องมีสามอย่าง คือการ ตาม-ตรวจ-แยก ที่หลักก็คือ ต้องตามสอบสวนโรคให้ได้มากที่สุด และมีการตรวจเพื่อจะได้ยืนยันและคัดแยกคนที่น่าจะมีความเสี่ยงสูงในการแพร่เชื้อ สามอันนี้ต้องไปด้วยกัน ซึ่งการทำให้สามเรื่องนี้ไปด้วยกันได้ต้องมีทีม ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ โดยการดำเนินการในส่วนนี้พบว่าช่วงหลังดีกว่าปีที่แล้วเยอะ แต่ก็ยังไม่ดีมากพอ ที่ส่วนหนึ่งก็เพราะสถานที่กัก-แยกตัวมีน้อย จนเกิดปัญหา คนหาเตียง รัฐบาลจึงต้องเพิ่มการจัดการให้ครบวงจร 

            ...การล็อกดาวน์ หากมาตรการ ตาม-ตรวจ-แยก ผู้ติดเชื้อยังไม่ดีพอ ก็ไม่มีทางทำได้ภายในสิบสี่วัน พูดง่ายๆ มันก็จะมีการขยายตัวต่อไป อย่างเรื่องการตาม ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทีมตาม (ตามผู้ติดเชื้อ-สอบสวนโรค) ยังไม่เข้มแข็ง เข้าใจว่าที่ผ่านมายังไม่มีการพูดถึงว่าทีมตาม จะมีกี่ทีม และแต่ละทีมจะดูแลพื้นที่อย่างไรเพื่อให้การทำงานเคลื่อนไหวได้เร็ว ซึ่งหากเราทำตรงนี้ได้ดี ก็อาจไม่ต้องมีการล็อกดาวน์ตอนนี้ก็ได้ แต่เมื่อวันนี้ล็อกดาวน์แล้วก็มีความจำเป็นต้องทำเรื่องทีมตามสอบสวนโรคให้ดี

นพ.สมศักดิ์-อดีต รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า  เหตุผลหนึ่งที่มีการให้ล็อกดาวน์ ก็พูดกันว่า หากไม่ทำคนติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเร็วมากจนโรงพยาบาลจะรับไม่ไหว จนทำให้คุณภาพการบริการจะไม่ดี จนเกิดผลตามมา เช่น มีคนไข้ป่วยหนัก ทั้งที่ไม่ควรป่วยหนัก ซึ่งหากเราไม่มีการจัดระบบให้ดี เพื่อให้คนที่ติดเชื้อมีอาการได้รับการดูแลอย่างดี จะได้ไม่ป่วยหนัก การล็อกดาวน์ก็อาจไม่สามารถผ่อนคลายความตึงของระบบบริการได้ เมื่อไม่ผ่อนความตึงดังกล่าวได้ ระบบก็อาจบอกว่ายังรับไม่ไหว ก็จะต้องล็อกดาวน์ต่อไปอีก

            - มาตรการที่ออกมาเมื่อ 9 ก.ค. เป็นเดิมพันครั้งสำคัญของรัฐบาลและนายกฯ หรือไม่ เพราะหากตัวเลขคนติดเชื้อยังมากทะลุหลักหมื่น รัฐบาลจะอยู่ลำบากหรือไม่ในทางการเมือง?

            ก็เชื่ออย่างนั้น ความจริง หากพูดกันตรงไปตรงมา การประกาศล็อกดาวน์ก็เท่ากับเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าที่ผ่านมา ยังสู้ได้ไม่ดีพอ ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา คือจะโทษว่าเชื้อโควิดมันกลายพันธุ์ ก็คงว่าได้ แต่การที่มันแย่ลงมาเรื่อยๆ คือพยายามสู้มาแล้วเท่าไหร่แต่ก็ยังสู้ไม่ได้ ก็แสดงว่าต้องมี  something wrong และตัวอย่างหนึ่งที่คนจะพูดถึงเรื่อยๆ ก็คือการกระจายฉีดวัคซีน ก็เป็นตัวอย่าง ซึ่งผมเห็นด้วยว่า เรื่องนี้ในทางการเมืองก็ถือว่าเป็น turning point ครั้งสำคัญ ซึ่งผมก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลจะทำได้สำเร็จ จนเกิดระบบที่จะทำงานได้ต่อเนื่อง และไม่ล็อกดาวน์นาน เพราะหากทำนาน คนเดือดร้อนมากที่สุดคือคนเล็กคนน้อย.

                                                                        โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

.....................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"