วิกฤติเตะฝุ่นทำค่าครองชีพโคม่า!


เพิ่มเพื่อน    

สถานการณ์การจ้างงานของประเทศไทยในปัจจุบันยังอยู่ในจุดที่เปราะบาง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลที่เข้มข้นจากการระบาดในระลอกแรกเมื่อช่วงต้นปี 2563 และสืบเนื่องมาจนถึงมาตรการควบคุมล่าสุด ที่ยังเป็นประเด็นกดดันภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก สายป่านไม่ยาวพอ ต้องปิดกิจการ เลิกจ้างงาน ซึ่งส่งผลกระทบกับอัตราการจ้างงานอย่างมาก ยังไม่รวมถึงแรงงานจบใหม่ ที่โอกาสในการเข้าถึงงานในระบบก็อาจจะยากยิ่งขึ้นในภาวะปัจจุบันด้วย

            “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” เอง ก็มองว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นประเด็นท้าทายต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง “ตลาดแรงงานของไทย” ด้วย ซึ่งรัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลไกในการคุ้มครองทางสังคม ตลาดแรงงาน รวมถึงประชากรสูงวัยที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถรับมือและเข้าใจกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงจากปัจจัยดังกล่าวได้

            การระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งและเป็นแรงกดดันสำคัญต่อตลาดแรงงานไทย โดยงานบางอย่างถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ นั่นหมายความว่าแรงงานจะต้องมีการเพิ่มทักษะให้มากขึ้น ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญและเป็นโอกาสที่ดีของตลาดแรงงานไทยที่จะเร่งดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงเรื่องภาวะประชากรสูงวัยในตลาดแรงงานไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น ก็เป็นอีกประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานไทย และจะมีผลสูงมากในเรื่องการจัดการปัญหาหนี้สินของครัวเรือน

            ทั้งนี้ พบว่าในช่วงไตรมาส 2/2563 ตลาดแรงงานไทยได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนทำให้ตำแหน่งงานสูงถึง 7 แสนตำแหน่งหายไปจากตลาดแรงงาน รวมถึงชั่วโมงการทำงานก็ลดลงด้วย ส่งผลกระทบต่ออัตราค่าแรงในระบบ ก่อนสถานการณ์จะฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา

            แต่เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 2 ต่อเนื่องมาจนถึงระลอกปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานอีกครั้ง สะท้อนจากข้อมูล ณ ไตรมาส 1/2564 พบว่า ชั่วโมงการทำงานมีการปรับตัวลดลงกว่าปีก่อน ตรงนี้บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานไทย “ไม่มีการฟื้นตัว” หรือ “ฟื้นตัวได้ช้า” แรงงานในภาคอุตสาหกรรมหายไปจำนวนมาก ขณะที่แรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด

            ไม่เพียงเท่านี้ ข้อมูลยังระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังประสบกับปัญหาความยากจนอยู่ แม้ว่าปัจจุบันอัตราความยากจนจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ โดย “เวิลด์แบงก์” มองว่า หากรัฐบาลไม่มีนโยบายการจัดการแรงงานที่ดีเพียงพอ อัตรางานที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชากรใช้ชีวิตประจำวันอยู่ได้อย่างเพียงพอ!!

            ซึ่งเรื่องนี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มีมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์การจ้างงานของไทยในปัจจุบันว่า สถานการณ์ที่เปราะบางนี้ จะส่งผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยครัวเรือนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะค่าครองชีพเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ได้ส่งผลกระทบต่อมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานให้ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าเป็นอย่างมาก และเมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การปรับลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา หรือปรับลดเงินเดือนลงชั่วคราวแทนการเลิกจ้าง กลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจเพิ่มเติมที่ระบุว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รายได้ของครัวเรือนส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงและส่งผลกระทบให้ครัวเรือนเริ่มปรับพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้จ่าย

            อย่างไรก็ดี “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจากภาครัฐ ทั้งโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และมาตรการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะเข้ามาช่วยประคับประคองกำลังซื้อของครัวเรือนได้บางส่วน แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่สิ้นสุดจะยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจให้ยังไม่สามารถกลับมาอยู่ในระดับปกติได้ ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงยังมีความจำเป็นควบคู่ไปกับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดรวมถึงการจัดหาและการกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ.

ครองขวัญ รอดหมวน

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"