ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร?


เพิ่มเพื่อน    

ในช่วงนี้คำถามในหัวคนไทยทุกคนในประเทศก็คงคิดคล้ายๆ กันว่าจากนี้ ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร? เพราะต้องยอมรับการระบาดของโควิดระลอก 3 หรือ 4 ตอนนี้ ถือว่า หนักหนาสาหัสพอสมควร เพราะตัวเลขผู้ป่วยพุ่งทะยานไม่หยุด เฉลี่ยเฉียดหลักหมื่นมาหลายวันแล้ว ซึ่งแน่นอนตัวเลขนี้วัดการแพร่ระบาดไม่ได้ เพราะไม่ใช่ตัวเลขจริงๆ แน่ ส่วนหนึ่งด้วยกำลังในการตรวจหาเชื้อมีจำกัด และรวมถึงยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ตรวจเพราะโรงพยาบาลไม่รับตรวจ

            ดังนั้นสามารถอนุมานในทางสูงไว้ก่อนว่า ตัวเลขของผู้ป่วยที่รายงานเป็นรายวัน อาจจะเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง  ซึ่งยังมีผู้ติดเชื้อที่อาจจะติดแต่ไม่ป่วย และพร้อมที่จะแพร่เชื้ออีกจำนวนมาก อย่างวานนี้ก็เป็นวันแรกในการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว 10 จังหวัด ซึ่งถือเป็นมาตรการคุมเข้มเชื้อโรคที่แรงสุดในรอบ 1 ปีนับตั้งแต่มีการระบาดขึ้นมา ก็คงต้องติดตามว่า จะสามารถกดตัวเลขผู้ป่วยให้ลดลงมาได้มากน้อยแค่ไหน โดยการจำกัดการเดินทางและลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วง 14 วันข้างหน้านี้

            แต่ปัญหาในตอนนี้คือ เจ้าเชื้อโรคร้ายมันแทรกซึมลงไปในทั่วทุกหัวระแหง ซึ่งแตกต่างจากการระบาดรอบแรกที่มาจากคนต่างประเทศ หรือรอบสองที่มาจากแรงงานต่างด้าว แต่ส่วนมากก็พอจะจัดการควบคุมได้ ซึ่งระลอกนี้ หนักกว่า แรงกว่า ขยายวงกว้างกว่า ทำให้เกิดคำถามว่า  รัฐบาลจะจัดการอย่างไร ลำพังการขอความร่วมมือให้อยู่กับบ้านน่าจะแก้ปัญหาได้ไม่จบ ขณะเดียวกันวัคซีนก็มีไม่มากพอที่จะนำมาฉีดให้ทันกับความต้องการ และถึงมีก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ไม่ค่อยดี

            การเกิดภาวะอึมครึมแบบนี้ ภาคธุรกิจ เอกชนคงไม่ชอบนัก เพราะไม่สามารถวางแผนการทำงานได้ การเปิดๆ ปิดๆ แบบที่รัฐบาลทำในปัจจุบันมันไม่ใช่เรื่องดี เอาจริงๆ  เอกชนชอบแบบ "เจ็บแต่จบ" มากกว่าการเลี้ยงไข้ไปเรื่อยๆ แล้วไม่หายด้วยซ้ำ อย่างที่ผ่านมา การปิดแคมป์คนงานและร้านอาหาร ก็กลายเป็นการแก้ปัญหาแบบเกาไม่ถูกที่คันมาแล้ว

            ที่น่าห่วงตอนนี้ นอกจากประเด็นสุขภาพแล้ว เรื่องเศรษฐกิจก็มีความเปราะบางและน่ากังวลเช่นกัน ล่าสุด นักวิชาการอย่างนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่า การล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เสี่ยงและยกระดับมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.64 นั้นจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณอย่างต่ำวันละ 3,500-4,500  ล้านบาท ก่อให้เกิดความเสียหายโดยรวมขั้นต่ำในระยะเวลา 2 สัปดาห์ประมาณ 49,000-63,000 ล้านบาท โดยผลกระทบความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ครั้งนี้น้อยกว่าการล็อกดาวน์ทั้งประเทศในช่วงปี พ.ศ.2563

            พร้อมกันนี้ยังย้ำว่า การล็อกดาวน์ครั้งนี้ซ้ำเติมความยากลำบากทางเศรษฐกิจต่อครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงานรายวัน และธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก ขนาดย่อมอย่างรุนแรง เนื่องจากกลุ่มคนและกิจการเหล่านี้อยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอมากอยู่แล้ว ประกอบกับข้อจำกัดทางด้านการคลังและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมากตามลำดับ ทำให้การเยียวยาอาจจะไม่ทั่วถึง

            ถึงจุดนี้ก็วกกลับมาที่คำถามข้างต้น ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร? โดยเฉพาะการควบคุมการระบาด ซึ่งแผนการของรัฐยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนพอว่าจะจัดการกับการระบาดอย่างไร ขณะที่การเยียวยาและการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน และยังไม่มีแนวทางการกระตุ้นที่ชัดเจนออกมา ทั้งๆ ที่มีการขอวงเงินกู้ไว้จำนวนหลายแสนล้านบาทแล้ว ก็คงต้องมาดูกันว่าจะนำเงินในส่วนนี้มาจัดการอย่างไร และมีประสิทธิภาพหรือไม่.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"