โควิดกระจายครบ77จังหวัด!


เพิ่มเพื่อน    

ไทยพบติดเชื้อใหม่อีก 9,317 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 87 ราย ศบค.รับตอนนี้เชื้อกระจายครบ 77 จังหวัด กำชับ 6 จังหวัด “ชลบุรี-โคราช-แปดริ้ว-มหาสารคาม-ศรีสะเกษ-ราชบุรี” คุมเข้ม หลังยอดผู้ป่วยทะลุหลักร้อย สปสช.จับมือแพทย์ชนบทจัดตรวจเชิงลึก 30 ชุมชนใน 3 วัน สธ.ยันบริหาร “ยา-เตียง” ได้แม้ต่างจังหวัดเริ่มออกอาการ
    เมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวัน ว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,317 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,180 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,159 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 2,021 ราย มาจากเรือนจำและที่ต้องขัง 129 ราย มาจากต่างประเทศ 8 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 363,029 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 5,129 ราย หายป่วยสะสม 260,584 ราย อยู่ระหว่างรักษา 99,511 ราย อาการหนัก 3,201 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 828 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 87 ราย เป็นชาย 44 ราย หญิง 43 ราย อายุน้อยสุด 24 ปี อายุมากสุด 104 ปี อยู่ใน กทม. 55 ราย, ปทุมธานี 6 ราย, ยะลา 5 ราย,  นราธิวาส 4 ราย, ปัตตานี 3 ราย,  สมุทรปราการ เชียงใหม่ เชียงราย กำแพงเพชร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตาก นครพนม ระยอง สงขลา สุโขทัย สุพรรณบุรี และอุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,934 ราย 
    พญ.อภิสมัยกล่าวว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 14 ก.ค. ได้แก่ กทม. 2,332 ราย, สมุทรปราการ 1,006 ราย, สมุทรสาคร 577 ราย, ชลบุรี 513 ราย, ปทุมธานี 398 ราย, นนทบุรี 347 ราย, ฉะเชิงเทรา 339 ราย, นครปฐม 202 ราย, ปัตตานี 195 ราย และนราธิวาส 191 ราย ซึ่งการเดินทางในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการติดเชื้อกระจายครบ 77 จังหวัด โดยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีพื้นที่สีเข้มมากขึ้น โดยนอกจากกลุ่มจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด และมีอีก 6 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 100 รายในวันนี้ ประกอบด้วย ชลบุรี, นครราชสีมา, ฉะเชิงเทรา, มหาสารคาม, ศรีสะเกษ และราชบุรี 
“จากการสอบสวนโรคพบว่า ส่วนหนึ่งยังมีการจัดเลี้ยง จัดงานวันคล้ายวันเกิด มีการติดเชื้อในแคมป์คนงาน โรงงาน และตลาด จึงเน้นย้ำ 6 จังหวัดดังกล่าว แม้ยังไม่ได้จัดอยู่กลุ่มจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม แต่การเฝ้าระวังต้องสูงสุด เพราะตอนนี้เชื้อกระจายทั่ว 77 จังหวัดแล้ว” พญ.อภิสมัยย้ำ  
      พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ภาพก่อนหน้านี้ที่จังหวัดต่างๆ รับคนกลับบ้านไปรักษาตัว ตอนนี้ต่างจังหวัดประกาศว่าเริ่มเต็มศักยภาพกันแล้ว จะไม่สามารถรองรับผู้เดินทางกลับจากพื้นที่สีแดงเข้ม ดังนั้น หากใครตั้งใจเดินทางไปรักษาตัวที่บ้าน ขอให้ตรวจสอบจังหวัดปลายทางก่อน ขณะที่ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กยังเป็นห่วงเจ้าหน้าที่ตามด่านต่างๆ เพราะอาจมีผู้ติดเชื้อเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อไปรักษาตัวทำให้เกิดความเสี่ยงได้ และที่น่าเป็นห่วงผู้เดินทางเข้าไปตรวจเชื้อในพื้นที่ กทม. พบติดเชื้อถึง 17% ถือว่าสูงมาก จึงขอให้เข้มงวดต่อไป  
ศบค.ขอบคุณร้านเสริมสวย
    “พื้นที่ กทม. มีคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 130 แห่ง ซึ่งที่ประชุมพูดทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จ 69 ทีม ที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 15 ก.ค. ทีมดังกล่าวจะมีหลายหน่วยงาน จะระดมตรวจหาเชื้อในชุมชน โดยจะใช้การตรวจแบบแรพิดแอนติเจนเทสต์ เพื่อให้การตรวจกว้างขวางที่สุด หากตรวจพบเชื้อจะนำเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว ทั้งแยกกักที่บ้านและแยกกักที่ศูนย์พักคอย แต่หากผลเป็นลบก็อย่านิ่งนอนใจ ให้ตรวจซ้ำภายใน 3-5 วัน ซึ่งทีมเคลื่อนที่เร็วแบบเบ็ดเสร็จจะเพิ่มปริมาณให้ได้ 200 ทีมให้ได้โดยเร็วที่สุด” พญ.อภิสมัยระบุ   
    เมื่อถามถึงกรณีข้อสงสัยคลินิกเสริมความงาม ร้านตัดผม ร้านทำเล็บ ร้านสัก ในพื้นที่ล็อกดาวน์สามารถเปิดได้หรือไม่ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ได้ประกาศระบุ 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรสาคร และสมุทรปราการเท่านั้น ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 4 จังหวัดทางภาคใต้นั้นไม่ได้อยู่ในหลักการเดียวกันนี้ แต่พบว่าคลินิกเสริมความงามหรือร้านเสริมสวยต่างๆ ที่แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในห้างสรรพสินค้า โดยหลักการจังหวัดอนุญาตให้เปิดได้ แต่เจ้าของกิจการคลินิกเหล่านี้หลายที่ก็ปิดชั่วคราวช่วงนี้ จึงต้องขอขอบคุณคลินิกเหล่านี้ที่มีความเป็นห่วงและร่วมด้วยช่วยกัน อาจจะต้องเดือดร้อนสูญเสียรายได้ แต่ในระยะที่ปิดชั่วคราวนี้ก็เพื่อลดการเดินทางลดการที่ประชาชนจะออกนอกบ้าน ถือได้ว่าให้ความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในการให้ความช่วยเหลือควบคุมการแพร่ระบาด โควิด-19 
    นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากที่ สปสช.ได้ร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์คิต เพื่อให้สามารถตรวจได้จำนวนมาก รู้ผลเร็ว ทำให้สามารถค้นหาและรีบนำผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษาที่บ้านหรือที่ชุมชน หรือแบบ Home isolation และ Community Isolation โดยเร็วที่สุด ล่าสุด สปสช.ยังได้ร่วมมือกับชมรมแพทย์ชนบทระดมทีมบุคลากรทางการแพทย์จากจังหวัดต่างๆ เข้ามาร่วมตรวจเชิงรุก โดยชมรมแพทย์ชนบทจะเข้าไปตรวจเชิงรุกในชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ กทม.ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค.2564 รวมทั้งหมดกว่า 30 ชุมชน 
    ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า การตรวจโควิด-19 เชิงรุก 3 วันครั้งนี้ คาดว่าจะตรวจโควิดได้ 20,000-30,000 ราย โดยทีมชุดแรกที่มาปฏิบัติการครั้งนี้ 6 สาย จำนวน 60 คน ประกอบด้วย ทีมจากนครศรีธรรมราช, ขอนแก่น, รพ.จะนะ, รพ.สมเด็จพระบรมราชินีนาถ จ.สงขลา, รพ.ตากใบ จ.นราธิวาส, รพ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี และ รพ.บ่อเกลือ จ.น่าน    
    วันเดียวกัน นพ.กรกฤช ลิ้มสมมุติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข และ นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน แถลงข่าวถึงการบริหารจัดการทรัพยากรด้านเวชภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ โดย นพ.กรกฤชกล่าวว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 13 ก.ค. มียาเหลือในประเทศ แบ่งเป็น 1.ฟาวิพิราเวียร์ 4,017,781 เม็ด ซึ่งอยู่ในองค์การเภสัชกรรม (อภ.) 2,170,782 เม็ด สำนักงานปลัด สธ.ที่ดูแลภูมิภาค กระจายอยู่ในทุกจังหวัด 1,015,284 เม็ด กรมการแพทย์ดูแลใน กทม. 801,567 เม็ด และกรมควบคุมโรค 30,148 เม็ด และ 2.ยาเรมเด็บซิเวียร์ มีอยู่ใน อภ. 1,613 ไวอัล ซึ่งสามารถสนับสนุนให้กับพื้นที่ได้อย่างเพียงพอและยังมีการสนับสนุนผ่านเครือข่ายทุกวัน ซึ่งเป็นไปตามปริมาณใช้จริง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกระจายทรัพยากรสูงสุด
    “แผนการจัดหาที่วางไว้เดือน ก.ค.-ก.ย. 21 ล้านเม็ด เดือนนี้เรามีผู้ป่วยจำนวนมาก จึงจะจัดซื้อรวม 16 ล้านเม็ด เดือน ส.ค. 2 ล้านเม็ด และ ก.ย.อีก 2 ล้านเม็ด แต่หากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป เราสามารถจัดหาได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการติดต่อไว้กับผู้ผลิตในหลายประเทศ” นพ.กรกฤชกล่าว และว่า ในส่วนของอุปกรณ์ป้องกัน 10 รายการ มีการจัดซื้อมาเสมอภายใต้งบประมาณเงินกู้ โดยเฉพาะก้อนล่าสุดรวม 1,900 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลคงคลังเวชภัณฑ์ปัจจุบัน เช่น หน้ากาก N95 จำนวน 1.9 ล้านชิ้น และชุดโคฟเวอร์ออล 4.2 ล้านชิ้น 
แจงยิบทรัพยากรเตียง
    ด้าน นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า ขณะนี้ทรัพยากรเตียงทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศยังเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่ง สธ.ไม่อยากให้เกิดข่าวว่าผู้ป่วยรอเตียงหรือเสียชีวิตที่บ้าน โดยการบริหารเตียงมี 2 ส่วน คือ 1.จำนวนเตียงที่มีอยู่ในมือ และ 2.การนำผู้ป่วยเข้าสู่การดูแลรักษาในเตียงแต่ละกลุ่มสี ซึ่ง 2 ส่วนนี้ต้องสัมพันธ์กัน ซึ่งสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ เตียงผู้ป่วยสีเขียว รพ.สนามทั้งหมด 2,470 เตียง ว่าง 500 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 20%, ฮอสพิเทล ทั้งหมด 17,823 เตียง ว่าง 4,201 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 24% ยังมีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยสีเขียว และตอนนี้พยายามปรับให้ฮอสพิเทลให้ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองมากขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลืองได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ป่วยสีเขียวจะทดแทนเตียงที่หายไปด้วยการใช้แนวทางโฮมไอโซเลชันและคอมมูนิตีไอโซเลชัน 
สำหรับเตียงผู้ป่วยสีเหลือง COHORT รพ.ทั้งหมด 6,834 เตียง ว่าง 415 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 6%, ห้องแยก ทั้งหมด 3,526 เตียง ว่าง 449 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 13% และเตียงผู้ป่วยสีแดง AIIR ทั้งหมด 217 เตียง ว่าง 31 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 14%, Modified AIIR ทั้งหมด 538 เตียง ว่าง 49 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 9%,  Cohort ICU ทั้งหมด 323 เตียง ว่าง 37 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 11%
    “การที่จะดูแลเตียงสีแดงให้เพียงพอ พยายามจำกัดหรือลดการเจ็บป่วยที่จะกลายเป็นสีแดง เพราะฉะนั้นกลุ่มผู้ป่วยเป็นสีแดงเร็วคือผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค จึงอยากให้มารับวัคซีน เพราะลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยได้ในกรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงนี้ โดย สธ.ปรับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนใน กทม.เพื่อระดมฉีดให้ 2 กลุ่มนี้ ให้ครอบคลุม 80% ของประชากร 2 กลุ่มนี้ในกรุงเทพฯ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ด้วย” นพ.วิฑูรย์กล่าว
    นพ.วิฑูรย์กล่าวว่า ส่วนทั่วประเทศไม่รวมกรุงเทพฯ จากที่มีคนที่กลับภูมิลำเนา พบว่าภาพรวมประเทศทรัพยากรที่ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองลดลงเร็วมาก หมายความคนที่กลับจากกรุงเทพฯ ไปยังภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นสีเขียวแก่ถึงสีเหลือง เพราะฉะนั้นจะพยายามดูแลอย่างดีที่สุด เพราะฉะนั้นหลักการเคลื่อนย้ายต้องถูกต้องตามวิธีการและมีหลายภาคส่วนเข้ามาช่วยดูแล หากต้องการเดินทางกลับสามารถติดต่อ สายด่วน 1330 ในการขอกลับภูมิลำเนา จะมีการจัดหารถ การส่งตัวกลับอย่างปลอดภัย กรณีกลับเองจะมีคำแนะนำและไปยังจุดที่กำหนดในแต่ละจังหวัด
    นพ.วิฑูรย์กล่าวอีกว่า ทรัพยากรเตียงและทรัพยากรที่ใช้ดูแลผู้ป่วยสีแดงในภูมิภาคสัดส่วนยังเพียงพอ ยังสามารถดูแลได้เป็นอย่างดี ในส่วนของการดูแลผู้ป่วยสีแดงแต่ละส่วนยังมีเหลือ 30% ซึ่งสามารถเพิ่มขยายได้ในศักยภาพที่ สธ.ดูแลอยู่ และมีการติดตามให้ทรัพยากรเพียงพอ ในส่วนเตียงผู้ป่วยสีเขียว รพ.สนามทั้งหมด 27,111 เตียง ว่าง 11,423 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 42%, ฮอสพิเทล ทั้งหมด 13,625 เตียง ว่าง 5,116 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 38%, เตียงผู้ป่วยสีเหลือง COHORT รพ. ทั้งหมด 29,795 เตียง ว่าง 5,449 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 18%, ห้องแยก ทั้งหมด 15,257 เตียง ว่าง 3,752 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 25% และเตียงผู้ป่วยสีแดง AIIR ทั้งหมด 483 เตียง ว่าง 140 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 29%,  Modified AIIR ทั้งหมด 2,201 เตียง 645 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 29%, Cohort ICU ทั้งหมด 868 เตียง ว่าง 267 เตียง คิดเป็นเตียงว่าง 31%
    “พบว่าเขตสุขภาพหลายแห่งใช้ทรัพยากรเกิน 80% ต้องเป็นแผนวางล่วงหน้าในการป้องกันการขาดแคลนทรัพยากรในส่วนของเตียง ส่วนทรัพยากรอื่นๆ ได้เตรียมไว้อย่างเพียงพอ เพราะฉะนั้นการขาดแคลนทรัพยากรจะพยายามไม่ให้เกิดขึ้น ส่วนการบริหารจัดการเตียง ในเขตจะบริหารเตียงอย่างดีที่สุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ รพ.สามารถดูแลประชาชนที่มีการติดเชื้อช่วงนี้ และถ้าปฏิบัติตามข้อแนะนำและการควบคุมการเคลื่อนย้ายตามแนวทางที่รัฐบาลได้สั่งการไป เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น” นพ.วิฑูรย์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"