‘แบงก์รัฐ’ลุยพักหนี้2เดือน เอสเอ็มอี-รายย่อย10จว.


เพิ่มเพื่อน    

รัฐบาลแจงอาชีพอิสระสมัครประกันสังคม  ม.40 เพื่อรับเยียวยาใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม  สำหรับ 9 กลุ่มอาชีพไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระ สร้างความมั่นคงระยะยาว “แบงก์รัฐ” ลุยออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอี-รายย่อยในพื้นที่เสี่ยง 10 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากล็อกดาวน์เร่งด่วน สั่งพักชำระหนี้ 2 เดือน  พร้อมออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมอย่างตรงจุด
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม น.ส.รัชดา  ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม 10 จังหวัด ครอบคลุม 9 กลุ่มอาชีพ ซึ่งการเยียวยาในครั้งนี้หากมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์แล้ว จะต้องเป็นผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคมด้วย โดยผู้ประกันตนแต่ละมาตราไม่ว่าจะเป็น 33, 39 และ 40  จะได้รับการเยียวยาที่แตกต่างกันออกไปตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด และสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 1 เดือน
    น.ส.รัชดากล่าวว่า กรณีผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” ที่ไม่มีลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือฟรีแลนซ์ที่ยังประกอบอาชีพอยู่ หากไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมยังคงมีสิทธิ์ได้รับการเยียวยา แต่จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เสียก่อน โดยเตรียมหลักฐานยื่นลงทะเบียนภายในเดือนนี้ (กรกฎาคม 2564) เพื่อรับเงินช่วยเหลือ 5,000  บาท ซึ่งมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ไม่เป็นภาระ และยังถือว่าเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตระยะยาวอีกด้วย 
    ทั้งนี้ ผู้สมัครมี 3 ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบรายเดือนระยะยาวเพื่อรับการคุ้มครองที่ต่างกัน คือ ทางเลือกที่ 1 จ่าย 70 บาท ทางเลือกที่ 2 จ่าย 100 บาท ทางเลือกที่ 3 จ่าย 300 บาท มากไปกว่านั้นรัฐบาลได้ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 40  ให้เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบ (เดิม) เป็นระยะเวลา  6 เดือน เริ่มตั้งแต่ ส.ค.64-ม.ค.65 ดังนี้ ทางเลือกที่  1 จากเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่ เป็น 42 บาท/เดือน คุ้มครองเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต, ทางเลือกที่ 2 จากเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 60 บาท/เดือน คุ้มครองเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ, ทางเลือกที่ 3 จากจากเดิมจ่ายในอัตรา 300 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น  180 บาท/เดือน คุ้มครองเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ สงเคราะห์บุตร
    วิธีสมัครสามารถทำได้ง่ายๆ ตามช่องทางดังนี้ สมัครด้วยตนเองผ่านมือถือที่เว็บไซต์ www.sso.go.th  (เมื่อกรอกข้อมูลครบให้รอรับ SMS ยืนยัน), สมัครผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11), สมัครผ่านเคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), สมัครผ่านเคาน์เตอร์บิ๊กซี (Big C) และสมัครผ่านผู้แทนเครือข่ายประกันสังคม
    “เมื่อสมัครแล้วสามารถจ่ายเงินสมทบประกันสังคม  ม.40 ได้ทันที ซึ่งนอกจะได้สิทธิ์รับเงินเยียวยา 5,000  บาทสำหรับกลุ่มแรงงานอิสระที่เข้าข่ายใน 9 กลุ่มอาชีพ และอยู่ใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงแล้ว รัฐบาลหวังให้แรงงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าสู่ระบบประกันสังคม ถือเป็นการออมในระยะยาวช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิตอีกด้วย ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือสายด่วน 1506 ตลอด  24 ชั่วโมง” น.ส.รัชดากล่าว
    วันเดียวกัน สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ (สงร.)  และธนาคารสมาชิกทุกแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) หรือไอแบงก์ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ร่วมกันออกมาตรการเร่งด่วน ด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมให้แก่ลูกหนี้เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน
    ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการ ทั้งในพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการของทางการ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือน ก.ค.64 หรือเริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือน ส.ค.64 เป็นต้นไป แล้วแต่กรณี และเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้
    สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยอ้อม คือลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้ แต่รายได้ลดลงจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ สถาบันการเงินเฉพาะกิจจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ โดยการให้ความช่วยเหลือตามแนวทางข้างต้น ลูกหนี้สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อแสดงความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.64 หากลูกหนี้สามารถให้ข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนถึงผลกระทบของกิจการหรือการจ้างงาน จะทำให้การพิจารณาให้ความช่วยโดยเจ้าหนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ดี สมาคมสถาบันการเงินของรัฐจะร่วมกันเร่งรัดและผลักดันการให้ความช่วยเหลือจากมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"