6องค์กรสื่อโวย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปิดกั้นเสรีภาพ


เพิ่มเพื่อน    

6 องค์กรวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์จี้ทบทวนข้อกำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หวั่นปิดกั้นการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็น เป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ย้อนหน่วยงานรัฐก็สื่อสารผิดพลาดทำให้สังคมสับสน "บิ๊กปั๊ด" ลงพื้นที่ตรวจด่านเคอร์ฟิว สรุปคืนที่ 3 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 95 ราย
    เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนที่ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย,  สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ออกแถลงการณ์กรณีที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  (ฉบับที่ 27) เมื่อวันที่ 10 ก.ค.64 โดยในข้อ 11  ของข้อกำหนดดังกล่าวได้ระบุถึง “มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า...การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์  หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา  9 (3) แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548”
    องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร มีความเห็นร่วมกันดังต่อไปนี้ 1.การออกข้อกำหนดฯ โดยมีมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดดังกล่าว มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกันที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ ซึ่งมีความชัดเจนกว่าเพราะได้มีการระบุว่าต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องเป็นการเสนอข่าวหรือทำให้เผยแพร่ข้อความอันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ต้องเตือนให้ระงับหรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อนการตัดข้อความอันเป็นเงื่อนไขสำคัญดังกล่าว จึงเป็นการให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้ดุลยพินิจจนอาจกระทบต่อการทำหน้าที่เสนอข้อมูลข่าวสารและแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนได้
    2.ในทางปฏิบัติแล้วมีกฎหมายหลายฉบับที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐระงับยับยั้งหรือดำเนินคดีกับประชาชนและสื่อมวลชนที่เสนอข่าวหรือข้อมูลต่างๆ โดยมีเจตนาบิดเบือนจนก่อให้เกิดความเสียหายและเป็นอันตรายต่อสาธารณะ  เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฯลฯ เป็นต้น การออกข้อกำหนดดังกล่าวจึงทำให้เกิดข้อกังวลว่า รัฐบาลเจตนาที่จะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อปิดกั้นการนำเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อำนาจเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่มุ่งเน้นการจำกัดการนำเสนอข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ มิใช่นำมาใช้กับสถานการณ์โรคระบาด
    3.จากสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมากว่าปีครึ่งนั้น มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายครั้งว่า หน่วยงานของรัฐเองได้มีการสื่อสารผิดพลาด ทำให้ประชาชนและสื่อมวลชนเกิดความสับสน ขณะที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ให้ความร่วมมือในการประสานงานเพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ผ่านสื่อมวลชนที่เป็นสมาชิกมาโดยตลอด ดังนั้น รัฐบาลควรใช้กลไกความร่วมมือที่มีอยู่ในการสื่อสารเพื่อขจัดปัญหาการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ มากกว่าที่จะใช้กลไกทางกฎหมายที่ไม่เป็นผลดีต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน
    องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนดพร้อมแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน เพื่อมิให้มีนำข้อกำหนดดังกล่าวไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสารของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติโรคระบาดที่กำลังเป็นปัญหาหลักของประเทศไทยและคนไทยในขณะนี้
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา เวลา  21.00 น. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พร้อมด้วย  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.และคณะ ได้ออกตรวจเยี่ยมจุดตรวจจุดสกัด รวมถึงจุดตรวจป้องกันอาชญากรรม เพื่อกำชับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจำนวน 2 จุด  คือ จุดตรวจ สภ.โพธิ์แก้ว จ.นครปฐม และ จุดตรวจ สภ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร 
    พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า การตั้งจุดตรวจจุดสกัดดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยมาตรการจำกัดการเคลื่อนย้ายและกิจกรรมของบุคคลในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 4  จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งได้กำชับไปยังทุกหน่วยงานในสังกัดให้ปฏิบัติตามประกาศ ข้อกำหนด ตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 27) ในการควบคุม ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัด, สาธารณสุขจังหวัด,  ฝ่ายปกครอง เพื่อตั้งจุดตรวจจุดสกัด ตรวจตราห้ามมิให้บุคคลออกนอกเคหสถานในช่วงระหว่างเวลา 21.00-04.00  น. นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำมาตรการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย แต่หากพบว่าประชาชนคนใดที่จงใจฝ่าฝืนต้องจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีข้อยกเว้น
    ทั้งนี้ ผบ.ตร.ยังได้แนะนำให้มีการนำเทคโนโลยีที่ ตร.จัดหาให้ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการปฏิบัติหน้าที่สำหรับการตั้งจุดตรวจจุดสกัดในพื้นที่ 10 จังหวัดด้วย รวมทั้งได้มอบสิ่งของบำรุงขวัญ ได้แก่ หน้ากากอนามัย, เฟซชีลด์, ถุงมือ, เจลแอลกอฮอล์ให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ 
     พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สรุปภาพรวมผลการปฏิบัติการตั้งจุดตรวจประจำวันที่ 15 ก.ค. (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.ค.64) มีดังนี้ 1.พื้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ฐานความผิดออกนอกเคหสถาน 38 ราย 2.พื้นที่ตำรวจภูธรภาค 1 ฐานความผิดออกนอกเคหสถาน 1 ราย 3.พื้นที่ตำรวจภูธรภาค 7 ฐานความผิดออกนอกเคหสถาน 7 ราย 4.พื้นที่ตำรวจภูธรภาค 9 ฐานความผิดออกนอกเคหสถาน 49 ราย รวมทั้งสิ้น 95 ราย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"