เรียนออนไลน์..จ้ำม่ำถ้วนหน้า ผลกระทบที่พึงหาทางป้องกัน


เพิ่มเพื่อน    

มีรายงานการศึกษาล่าสุดพบว่า การใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไปเสี่ยงโรคอ้วนในเด็กก่อนวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา  

            สำหรับการศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการใช้เวลาหน้าจอ กับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวในเด็กก่อนวัยรุ่นของอเมริกา โดยนักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยของพวกเขาในวารสารคู่มือการดูแลโรคอ้วนในเด็กอย่าง “Pediatric Obesity” ซึ่งพบว่าแต่ละชั่วโมงที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอเพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับดัชนีมวลกายที่สูงขึ้นในเด็กช่วงอายุ 9-10 ปี และขยายไปในช่วงอายุดังกล่าวได้อีก 1 ปีถัดมา

            ทั้งนี้ ข้อมูลนักวิจัยยังกล่าวอีกว่า การเพิ่มของน้ำหนักอาจไม่เพียงเป็นผลมาจากพฤติกรรมประจำวันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์และอุดมคติของร่างกายที่ไม่สามารถทำตามได้ เช่น การคาดหวังหุ่นเพรียวลม กระทั่งอดอาหาร และนำไปสู่การกินมากเกินไปในภายหลัง หรือเมื่อพวกเขาเริ่มโตเป็นหนุ่มเป็นสาวนั่นเอง ที่น่าสนใจจากการสำรวจของสถาบันเด็กของอเมริกายังพบอีกว่า เด็กที่เป็นโรคอ้วนนั้นเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุก็ว่าได้ แต่ชัดเจนมากที่สุดคือเด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี

            สำหรับบ้านเรานั้น ล่าสุดก็มีการส่งสัญญาณบอกว่า การเรียนออนไลน์ส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็ก โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ชี้ว่า ในปีการศึกษา 2564 เบื้องต้น พบว่าจะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน แต่อีกเดือนเศษจะเพิ่มเป็นหมื่นคน และคาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คน ถ้าหลุดจากระบบประถมศึกษาอาจจะไม่มาก เพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับราว 4% มัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 19-20% มัธยมปลายอยู่ที่ 48% และในจำนวนนี้โอกาสเข้ามหาวิทยาลัยได้เพียง 8-10%

            ในส่วนของปัญหาเรื่องของสุขภาพ เพราะเด็กจำเป็นต้องเรียนทางออนไลน์ อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ปรากฏพบว่าผู้ปกครองหลายคนยอมรับว่าลูกหลานกินอาหารมากกว่าไปโรงเรียนเสียอีก โดยเฉพาะเวลาที่เด็กว่างเว้นจากการเรียนทางไกลอยู่ที่บ้าน เรียกได้ว่าว่างปุ๊บหยิบขนมกินปั๊บ...  เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาโรคอ้วนในเด็กก่อนวัยรุ่นทั้งในต่างประเทศและบ้านเรา และช่วยกันหาทางป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพดังกล่าวนั้น นับเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

ใช้เวลาหน้าจอมาก..ส่งผลทางตรง

            เริ่มจากข้อมูลการวิจัยในเด็กก่อนวัยรุ่นล่าสุด หรือเด็กอายุ 9-10 ปีของอเมริกาจำนวน 11,066 คน เกี่ยวกับภาวะน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของวัยรุ่น พวกเขาถูกถามคำถามเกี่ยวกับเวลาที่ใช้ไปกับหน้าจอที่แตกต่างกัน 6 รูปแบบ ได้แก่ โทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย การส่งข้อความ YouTube วิดีโอแชต และวิดีโอเกม ซึ่งการศึกษาข้างต้นเกิดขึ้นก่อนการระบาดใหญ่ ทั้งนี้ทีมนักวิจัยกล่าวว่า “ในช่วงแรกของการศึกษานั้นเด็กร้อยละ 33.7 ถือว่ามีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และอีกหนึ่งปีต่อมาก็เพิ่มขึ้นเป็น 35.5% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นอีกด้วย

            แม้ว่าโรคอ้วนในเด็กจะพบว่ามีความชุกเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดของ COVID-19 ก็ตาม แต่การศึกษาก่อนหน้านี้ของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) เกี่ยวกับโรคอ้วนในเด็กประมาณ 2 ปี หรือตั้งแต่เดือนมกราคม 2019 ถึงธันวาคม 2020 ที่ได้ทำการนัดพบเด็กๆ และประเมินลักษณะทางกายภาพพวกเขา โดยพบว่าระดับโรคอ้วนเพิ่มขึ้นในทุกช่วงอายุ แต่มีความชัดเจนมากขึ้นในผู้ป่วยอายุ 5-9 ปี

            ผศ.ดร.เจสัน นางาตะ กุมารเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) เมืองซานฟรานซิสโก ผู้จัดทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับข้อมูลเด็กอ้วนก่อนวัยรุ่นล่าสุด กล่าวว่า “การศึกษาได้ดำเนินการก่อนการระบาดของ COVID-19 แต่ผลการวิจัยมีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการระบาดใหญ่ อาทิ การเรียนรู้ทางไกล หรือเรียนออนไลน์ การยกเลิกการแข่งขันกีฬาเยาวชน และการกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เด็กๆ ต้องเผชิญกับเวลาหน้าจอมากขึ้นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน”

            พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.เจสันตั้งข้อสังเกตว่า “แม้ว่าการใช้เวลาหน้าจอจะมีประโยชน์ เช่น การศึกษาและการขัดเกลาทางสังคม การสื่อสารทางไกลกับผู้ปกครอง แต่ควรลดความเสี่ยงจากการใช้เวลาอยู่หน้าจอ ซึ่งรวมถึงเวลาที่นั่งหน้าจอมากเกินไป อีกทั้งและลดกิจกรรมทางกาย เช่น การออกกำลังกาย การเดิน เป็นต้น ที่สำคัญพ่อแม่ควรพูดคุยกับลูกๆ เป็นประจำเกี่ยวกับการใช้เวลาหน้าจอให้ลดน้อยลง และพัฒนาแผนการใช้สื่อสำหรับครอบครัว เช่น การจำกัดเวลาในการอยู่กับโลกโซเชียลเพื่อให้พ่อแม่ได้เล่นหรือพูดคุยกับลูก”

อาหารจานด่วน..อร่อยปากลำบากกาย

            พญ.อรวรรณ เอี่ยมโอภาส กุมารแพทย์ผู้ชำนาญการ หัวหน้าแผนกโภชนคลินิก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ข้อมูลว่า “เนื่องจากช่วงโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ จึงทำให้ยังไม่มีโอกาสทำการวิจัยเกี่ยวกับเด็กอ้วน แต่จากประสบการณ์ในการทำงานด้านเวชปฏิบัติที่คลินิกโภชนาการของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ ที่ดูแลเด็กอ้วนนั้น จากการสังเกตทั้งจากตัวหมอเองและผู้ปกครองที่อยู่รอบข้าง ในช่วงที่โควิดระบาดเป็นช่วงที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ดังนั้นอาหารที่รับประทานจึงเป็นอาหารจานด่วนที่ไม่สามารถเลือกได้ และผู้ปกครองเองนั้นก็ไม่สะดวกในการออกไปซื้ออาหารนอกบ้านมารับประทาน เด็กจึงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถเลือกรับประทานอาหารได้นอกจากอาหารจานด่วน นั่นจึงทำให้การควบคุมอาหารทำได้ไม่ดีมากนัก จึงทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

            ประกอบกับที่เด็กอยู่บ้านมากขึ้น ก็ทำให้ติดมือถือ อีกทั้งเมื่อกินอาหารจานด่วนแล้วก็มักจะขาดการออกกำลังกาย ขาดการออกไปเล่นที่พื้นที่ธรรมชาติ โดยสรุปแล้วปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กไทยมีปัญหาโรคอ้วนจริง แต่ยังเป็นตัวเลขที่ไม่ชัดเจน และจากประสบการณ์ในการดูแลเด็กอ้วน และความรู้สึกของผู้ปกครองนั้น มองว่าเด็กไทยอ้วนเยอะขึ้น ซึ่งมีเหตุผลมาจากหลายปัจจัยข้างต้นที่บอกเอาไว้ และก็เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถควบคุมได้ หรือควบคุมได้ยาก เพราะต้องปฏิบัติตามหลักของความปลอดภัย ในช่วงที่กักตัวเมื่อโควิดระบาด

            “สำหรับเด็กไทยในบ้านเรา เช่น กลุ่มเด็กเล็กวัยอนุบาลนั้น โดยทั่วไปจะมีรูปร่างที่ค่อนข้างอวบชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องปกติและเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ถ้าเป็นเด็กวัยประถมศึกษาตอนต้น ไปจนถึงวัยมัธยมต้นตอน (7-13 ปี) ที่ต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้าน ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่พบโรคอ้วนได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะสิ่งที่เราจะลืมไม่ได้โดยเฉพาะในช่วงที่เด็กต้องกักตัวอยู่บ้าน และเรียนออนไลน์ที่บ้านนั้น ทุกคนจะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม และทำกิจกรรมนอกบ้านน้อยลง หรือแม้แต่การกินอาหารจานด่วน จึงเป็นสาเหตุของโรคอ้วนในช่วงวัยดังกล่าว

            ดังนั้น หมอจะแนะนำให้คนไข้เด็กที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกินที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม อีกทั้งต้องกักตัวอยู่บ้าน โดยให้ออกไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะ แต่ถ้าไปไม่ได้หรือสวนสาธารณะแห่งนั้นปิด หมอจะให้ผู้ปกครองชวนลูกหลานทำกิจกรรมร่วมกันขณะอยู่บ้าน เช่น ช่วยกันรดน้ำต้นไม้ ช่วยกันกวาดบ้านถูบ้าน กระโดดเชือกเพื่อออกกำลังกายด้วยกัน โดยมีข้อแม้ว่าพ่อแม่จะต้องกระโดดเชือกกับลูกๆ ด้วย หรือเล่นด้วยกับทุกกิจกรรมของลูกๆ

            ส่วนการรับมือกับการรับประทานไม่ถูกสุขลักษณะในช่วงเรียนออนไลน์ หมอแนะนำให้ผู้ปกครองเตรียมอาหารไว้ให้เด็กที่ต้องเรียนออนไลน์อยู่บ้านเมื่อพ่อแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เช่น ให้เตรียมอาหารมื้อเช้ากับมื้อกลางวันที่เด็กสามารถอุ่นร้อนเพื่อรับประทานได้เอง และเป็นอาหารที่สามารถควบคุมพลังงานได้ในตัว เช่น มื้อเช้าให้ทำต้มจืด แกงจืดเต้าหู้หมูสับ หรือต้มเลือดหมูกินกับข้าวสวย ส่วนมื้อกลางวันแนะนำให้ทำเป็นเมนูข้าวผัดไข่ใส่น้ำมันน้อย หรือข้าวปลาเค็มและใส่ผักลงไป ส่วนมื้อเย็นก็เป็นเมนูทั่วไปที่ผู้ปกครองสามารถปรุงเอง หรือเลือกซื้ออาหารที่มีประโยชน์มารับประทานในครอบครัว ที่ลืมไม่ได้นั้น อาหารว่างของลูกๆ ให้เลี่ยงขนมขบเคี้ยวที่มีไขมัน เกลือ และน้ำตาลสูง ที่เป็นสาเหตุของโรคอ้วน แต่ให้เปลี่ยนเป็นการหั่นผลไม้ใส่ตู้เย็นไว้ให้เด็กๆ เช่น ส้ม แอปเปิล หรือถ้าเป็นไปได้อาหารของสมาชิกในครอบครัว 3 มื้อที่หลายบ้านมักจะซื้อเป็นอาหารสำเร็จทุกมื้อ ให้ลองเป็นเป็นการทำอาหารเองที่บ้าน 1 มื้อ เพราะอาหารที่ปรุงเองจะสามารถควบคุมพลังงาน หวาน มัน เค็มได้ดีกว่าอาหารสำเร็จรูป ก็จะช่วยทำให้เด็กมีสุขภาพดีปราศจากโรคอ้วนได้เช่นเดียวกัน ควบคู่กับการออกกำลังกายร่วมกับสมาชิกในครอบครัว”

บทบาทผู้ปกครอง..กำหนดอาหาร

            ด้าน “พี่แวว-แววตา เอกชาวนา” นักกำหนดอาหารอิสระ และที่ปรึกษาโครงการกินผักและผลไม้ดีวันละ 400 กรัม สสส.ให้ข้อมูลว่า “ปัญหาหนึ่งของการที่เด็กเรียนออนไลน์คือ การกินมื้ออาหารมากเกินไป พูดง่ายๆ ว่าหิวเมื่อไรกินเมื่อนั้น ทั้งนี้วิธีการปรับการกินอาหารที่ดีของเด็กๆ ที่ต้องเรียนออนไลน์ที่มักจะหยิบอาหารมากินแม้ว่าจะไม่หิวก็ตาม คือ ผู้ปกครองไม่ควรวางขนมหรืออาหารว่างไว้ที่โต๊ะกลาง แต่ควรใช้วิธีการให้เด็กกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กวัยประถมต้นจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1 (7-13 ปี) ที่ถือว่าเป็นปีทองของความสูง ดังนั้นถ้าเด็กวัยนี้ได้กินอาหารที่ดีและมีสารอาหารครบถ้วนก็จะทำให้เขาสูง ซึ่งความสูงนั้นจะช่วยป้องกันโรคอ้วนลงพุง และป้องกันโรคโควิดได้อีกด้วย ดังนั้นเทคนิคที่ดีคือให้ผู้ปกครองปรับการกินอาหารของลูกๆ วัยนี้ให้เหมือนกับเวลาที่ต้องไปโรงเรียน หรืออยู่โรงเรียนกินอย่างไร เวลาที่เรียนออนไลน์อยู่บ้านต้องกินแบบนั้น

            “หากเวลาที่เด็กไปโรงเรียนและต้องกินอาหาร 3 มื้อนั้น หากต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน แนะนำว่ามื้อเช้าควรให้ลูกกินอาหารเช้าที่เป็นกลุ่มอาหารหลักที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าวสวย ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ เส้นก๋วยเตียว สปาเกตตี ขนมปังแผ่น เพราะเมื่อกินอาหารเช้าในกลุ่มนี้ คาร์โบไฮเดรตจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสที่เป็นอาหารของสมอง ซึ่งคุณแม่อาจทำอยู่ในรูปของโจ๊ก หรือข้าวต้ม เพื่อให้เด็กกินอาหารมื้อหลักดังกล่าวให้อิ่ม และกินอาหารว่างหรือขนมกรุบกรอบน้อยลง จากนั้นร่างกายจะใช้เวลาย่อยประมาณ 3-4 ชั่วโมง กระทั่งถึงมื้อต่อไปคือมื้อเที่ยงนั่นเอง เพราะการที่พ่อแม่ให้เด็กกินอาหารเช้าซึ่งควรเป็นอาหารหลักในกลุ่มคาร์โบไฮเดรต แต่กลับให้เด็กกินอาหารว่างในมื้อเช้าแทน เช่น มื้อเช้าเด็กกินคุกกี้ กล้วยทอด ขนมปังหน้าหมู หรือแม้แต่ขนมขบเคี้ยวแบบซอง ซึ่งอาหารว่างกลุ่มนี้จะให้พลังงานที่มีประโยชน์น้อย ซึ่งไม่เพียงทำให้ส่วนสูงของเด็กน้อยลง แต่ยังมีน้ำตาล ไขมัน เกลือในปริมาณที่สูง ทำให้เด็กเป็นโรคอ้วนและเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งจะก่อโรคเรื้อรังในภายหลังได้

            ทางที่ดีนั้นอาหารว่างของเด็กๆ แนะนำให้เปลี่ยนมากินขนมไทย เช่น กล้วยบวชชี ฟักทองเชื่อม ขนมกล้วย หรือกล้วยปิ้ง มันญี่ปุ่นย่าง แทนที่จะกินขนมเค้กหรือขนมขบเคี้ยวเพียงอย่างเดียว หรือให้กินสลับกันระหว่างขนมไทยกับขนมขบเคี้ยวทั่วไป ที่สำคัญอย่าลืมว่าขนมคือขนม ดังนั้นเวลาที่เด็กรับประทาน ผู้ปกครองควรจำกัดปริมาณในการกิน เช่น หากเด็กกินอาหารมื้อหลักที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตแล้ว เด็กสามารถกินอาหารว่างเป็นขนมถ้วยเล็กๆ ได้ เพราะเด็กได้กินอาหารหลักที่อยู่ในกลุ่มแป้งไปแล้ว ก็จะทำให้อิ่มในระดับหนึ่ง แต่ยังสามารถกินของว่างได้เล็กน้อย หรือพ่อแม่สามารถเปลี่ยนเมนูของว่างจากขนมเป็นผลไม้ เช่น มะม่วงหั่นชิ้นเล็กๆ หรือระหว่างที่เด็กๆ พักจากการเรียนออนไลน์ 15-20 นาที ก็สามารถให้ลูกแกะส้มเขียวหวานที่แช่ตู้เย็นกินเองได้ หรือจะเปลี่ยนเมนูของว่างเป็นนมกล่อง UHT ก็ได้เช่นกัน แต่ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกนมกล่อง UHT แบบนมขาวจะให้พลังงานอยู่ที่ 200 แคลอรี แต่นมกล่องช็อกโกแลตนั้นจะให้พลังงานมากกว่านมกล่องแบบขาวถึง 210 แคลอรี ดังนั้นหากบ้านไหนมีลูก 3 คน แนะนำให้ดื่มนมกล่องคนละ 1 กล่องแทนอาหารว่างก็ได้เช่นกัน หรือจะเลือกดื่มนมช็อกโกแลต 1 กล่อง ก็ดีกว่าการกินขนมเค้กหรือคุกกี้เป็นอาหารว่าง”

            “นักกำหนดอาหารอิสระ” บอกอีกว่า “ สำหรับผู้ปกครองที่สั่งอาหารเดลิเวอรีหรืออาหารจานด่วนเช่นไก่ทอดหรือพิซซ่ามากิน และเด็กๆ เองก็ต้องกินอาหารดังกล่าวด้วย ก็ถือว่าไม่ผิดอะไร เพราะการออกไปซื้อกับข้าวบ่อยๆ อาจจะไม่ค่อยเหมาะสมมากนักสำหรับการที่เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม เพียงแต่จะต้องไม่กินไก่ทอดเพียงอย่างเดียว แต่ควรกินคู่กับผักใบเขียวอย่างแตงกวา มะเขือเทศ หรือผักสลัดต่างๆ เพราะในเมนูไก่ทอดจะมีไขมัน พลังงานสูง น้ำตาล เกลือสูง (นักเก็ตไก่ทอด 68 ชิ้นจะให้พลังงานเท่ากับการกินข้าว 1 ทัพพี) โดยสรุปแล้วเราไม่สามารถเลี่ยงการเรียนออนไลน์ในเด็กยุคใหม่ได้ แต่ผู้ปกครองสามารถสร้างวินัยการกินของลูกๆ ให้เหมือนกับเวลาที่เด็กไปโรงเรียน โดยการให้เด็กกินมื้อเช้าด้วยกลุ่มอาหารหลักที่อุดมไปด้วยแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตเพื่อให้เด็กอิ่มท้อง และตามด้วยอาหารว่างที่เน้นผลไม้ หรือนมกล่องแบบนมขาว คู่กับการออกกำลังกายร่วมกับผู้ปกครอง เช่น การดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับการนับก้าวเดินในชีวิตประจำวัน ลงบนโทรศัพท์มือถือเพื่อจับเวลานับก้าวเดินที่ควรเกินวันละ 50 ก้าวต่อวัน เป็นต้น ทั้งนี้หากสมาชิกคนไหนที่เดินได้น้อยอาจจะมีการท้าในการเดินแข่งกันในวันถัดไปให้มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายร่วมกัน”.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"