เศรษฐกิจยังสำลักพิษ“โควิด-19”


เพิ่มเพื่อน    

การระบาดของ “โควิด-19” ที่ยืดเยื้อยาวนานมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ไม่เพียงส่งผลกระทบอย่างหนักในด้านสาธารณสุข แต่ในด้านของ “เศรษฐกิจ” ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักไม่แพ้กัน จากการระบาดในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลได้ตัดสินใจใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดในการควบคุมการระบาด นั่นคือ “ล็อกดาวน์” ที่ต้องยอมรับว่าเป็นยาแรงที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้จริง จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ จีดีพีในปีที่ผ่านมาก็ติดลบไปถึง 6.1% ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

                สถานการณ์การระบาดที่ดูเหมือนจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาพของเศรษฐกิจด้วย แต่ท้ายที่สุดก็ต้องมาสะดุดลงเมื่อเจอการระบาดในระลอกที่ 2 ต่อเนื่องมาจนถึงระลอกที่ 3 ที่ปัจจุบันรัฐบาลเองยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งในแง่การระบาดผ่านคลัสเตอร์ใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ด จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวนผู้ติดเชื้อที่อาการหนัก ไปจนถึงจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเร่งการฉีดวัดซีน แต่ก็ดูเหมือนจะยังล่าช้ากว่าแผนอย่างมาก

                แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลจะตัดสินใจใช้ “มาตรการกึ่งล็อกดาวน์” ด้วยการขอความร่วมมือจากภาคประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ดีขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันพุ่งทะลุ 1 หมื่นคนไปเรียบร้อยแล้ว “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” ได้ประเมินว่า การที่รัฐบาลออกมาตรการกึ่งล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดครั้งนี้ หากยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาส 3/2564 ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการขยายตัวของตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้ให้ลดลงเหลือ 1.2% จากปัจจุบันคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2.2% ขณะที่ปี 2565 จีดีพีจะลดลงเหลือ 2.1% จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 5.1%

                ไม่เพียงเท่านี้ “เวิลด์แบงก์” ยังมองว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงและความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่ๆ รวมถึงจากสายพันธุ์ของไวรัสที่รุนแรงขึ้น มีการกลายพันธุ์ของไวรัสด้วย ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวจะยิ่งทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ยากมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ ปัจจัยเสี่ยงเรื่อง “การจัดซื้อและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ล่าช้ากว่าคาดการณ์มาก” ก็ยังเป็นอีกประเด็นกดดันสำคัญที่อาจจะทำให้ในอนาคต รัฐบาลยังต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ การลดการเดินทาง เพื่อควบคุมการระบาดในระลอกต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก

                ขณะที่ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” เอง ระบุว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลักๆ ที่จะมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ที่ต้องจับตา นั่นคือการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจจะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง จนส่งผลให้การระบาดรุนแรงมากขึ้น รวมถึงต้องจับตามองแรงกระตุ้นทางการคลัง เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ลดลง จะมีผลต่อแรงกระตุ้นทางการคลังในระยะต่อไป อีกทั้งฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจในปัจจุบันอาจจะนำไปสู่การจ้างงานที่จะส่งต่อไปยังฐานะทางการเงินของครัวเรือน ทั้งหมดจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

                ทั้งนี้ โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ “การจัดหาและกระจายวัคซีนที่เหมาะสม เพียงพอ และทันการณ์” โดยเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวชะลอลงจากเดิมเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น นั่นหมายถึงทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ส่งผลให้การระบาดรุนแรงขึ้น

                ขณะที่ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ลงเช่นกัน อยู่ที่ 1% เนื่องจากผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบให้ระบบสาธารณสุขของไทยเผชิญข้อจำกัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งตามมาด้วยผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั่นเอง

                แม้ว่ารัฐบาลจะมีการออกมาตรการเยียวยา วงเงินรวม 4.2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยชดเชยแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยครอบคลุม 10 จังหวัดในพื้นที่สีแดงเข้ม เป็นระยะเวลา 1 เดือน รวมถึงมีมาตรการช่วยบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟฟ้าแก่ประชาชนทั่วไป เป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งคาดว่าจะช่วยประคองการดำรงชีพที่จำเป็นของประชาชน แต่ไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยรวม.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"